Culture

คดีฆาตกรรมสู่เรื่องเล่า ‘True Crime’ ที่ได้กลายเป็นบทเรียนสำหรับหญิงสาวในการเอาตัวรอด

Photo credit: The Guardian

จากแอ็กเคานต์เรื่องเล่าเขย่าขวัญที่เกิดขึ้นทั่วโลกบนทวิตเตอร์ ติ๊กต็อก และยูทูป สู่สารคดีติดอันดับคนดูมากที่สุดในเน็ตฟลิกซ์ ไปจนถึงรายการพอดแคสต์แนว ‘True Crime’ ที่เล่าเรื่องราวการสืบสวนคดีฆาตกรรม หรือประวัติของฆาตกรต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้คือคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำไมคนเราถึงหลงใหลในการติดตามเรื่องราวคดีฆาตกรรมที่น่ากลัวและชวนให้จิตตก แล้วความนิยมคอนเทนต์แนวนี้ที่เพิ่มมากขึ้นสะท้อนความเป็นไปของสังคมอย่างไร EQ จะร่วมหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้

คนชอบเรื่องราวเลือดสาดมานานแล้ว

จริงๆ แล้วความชอบเรื่องเล่าอาชญากรรมเลือดสาดสุดสยองขวัญไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าเคยได้ยินเรื่องเล่าของคนสมัยก่อนที่ยอมจ่ายเงินเข้าไปดูการประหารชีวิต ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะทำให้เราเห็นภาพความชื่นชอบเรื่องราวน่ากลัวของคน

Photo credit: Encyclopedia Britannica

หลักฐานแรกๆ ที่แสดงให้เห็นว่าคนชอบเรื่อง True Crime คือในช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราการรู้หนังสือของคนเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ที่ได้รับการพัฒนา ก็ทำให้เรื่องราวอาชญากรรมถูกเผยแพร่มากขึ้น เกิดเป็นจุลสารขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 6-24 หน้า ที่บรรยายเหตุการณ์ฆาตกรรมอันแสนโหดร้ายทารุณอย่างละเอียด และได้รับความนิยมจากคนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ต่อมาในยุควิคตอเรียน ซึ่งเป็นยุคที่ผู้คนหมกมุ่นอยู่กับความตาย ก็มีเรื่องราวของ ‘แจ็ค เดอะ ริปเปอร์’ (Jack the Ripper) ฆาตกรต่อเนื่องผู้โด่งดัง ที่กลายเป็นเรื่องที่สร้างความเขย่าขวัญให้กับคนในสมัยนั้น โดยวิธีการฆ่าของเขาถูกบรรยายอย่างละเอียดในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

Photo credit: Encyclopedia Britannica

แม้ความนิยมคอนเทนต์ True Crime ในรูปแบบของสารคดี ภาพยนตร์ หรือพอดแคสต์จะเป็นเรื่องใหม่ แต่เรื่องเล่าและนิยายที่บรรยายเรื่องราวอาชญากรรมซึ่งเกิดขึ้นจริงก็ได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปมาเป็นเวลานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากความนิยมอ่านนิยายหรือหนังสือแนวอาชญากรรม ที่มักจะติดอันดับยอดนิยมอยู่เสมอ

ทำไมคนจึงชอบเรื่อง True Crime

แล้วทำไมคนถึงชอบเสพเรื่องราวเหล่านี้? ‘ดีน ไฟโด’ (Dean Fido) อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา University of Derby Online Learning ระบุว่า True Crime มีความแตกต่างจากรายการทั่วไปที่มีเรื่องราวพื้นหลังอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากมันคือสิ่งที่เราต้องให้ความสนใจในรายละเอียดของเรื่องราวที่ถูกเล่าออกมา เราจะไม่สามารถเล่นโทรศัพท์ในขณะที่ฟังเรื่องเล่าพวกนี้ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็อาจจะพลาดส่วนที่สำคัญของเรื่องไปเลย

Photo credit: Lacie Slezak

“ในฐานะมนุษย์ เราต่างมองหาบางอย่างที่เป็นเรื่องที่มีความแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม เราต้องการอะไรบางอย่างที่จะช่วยสร้างความตื่นเต้นให้กับเรา เมื่อผสมความต้องการเหล่านี้เข้ากับเรื่องราวอาชญากรรม มันก็จะกระตุ้นอารมณ์พื้นฐานของคนเรา นั่นคือความกลัว แต่เป็นความกลัวในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย” ดีนกล่าว 

เมื่อเราทำตัวเป็น ‘นักสืบบนโซฟา’ หรือในยุคนี้อาจเรียกว่าเป็น ‘นักสืบโซเชียล’ เราก็พร้อมที่จะซึมซับทุกรายละเอียดของคดีที่เกิดขึ้น เหตุผลข้อหนึ่งของพฤติกรรมดังกล่าวคือความสนุกที่ได้ไขคดีที่เป็นปริศนา แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือ เราต้องการจะได้เห็น ‘คนร้าย’ ได้รับการลงโทษจากการกระทำของตัวเอง ‘ลินดี บูสเต็ดท์’ (Lindy Boustedt) โปรดิวเซอร์และผู้กำกับแห่ง First Sight Productions ชี้ว่า True Crime ทำให้คนทั่วไปมองเห็นว่าท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย การเกาะติดข่าวคดีฆาตกรรมก็ทำให้มองเห็นความยุติธรรมอยู่บ้าง ว่าในท้ายที่สุดแล้ว คนดีจะได้รับชัยชนะ และคนชั่วจะได้รับการลงโท​ษ

Photo credit: Loren Cutler

ด้าน ‘รอส วอตกินส์’ (Roz Watkins) นักเขียนหนังสือชุด DI Meg Dalton อธิบายว่า ความหลงใหลใน True Crime ก็เหมือนกับความหลงใหลในเรื่องเล่าทั่วไป และเรื่องเล่า True Crime เหล่านี้ก็มักจะสอนเราเกี่ยวกับเรื่องคนอื่น เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยบนโลกใบนี้ โดยมันจะเปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสประสบการณ์ที่เลวร้ายของคนอื่น ทำให้เราเข้าใจการกระทำของอาชญากร พร้อมวิธีการเอาตัวรอดและหาทางออกจากสถานการณ์นั้นๆ ของเหยื่อ โดยที่เราไม่ต้องตกอยู่ในอันตรายจริง ซึ่งเหตุผลนี้ก็สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมผู้หญิงจึงติดตามเรื่องราวอาชญากรรมมากกว่าผู้ชาย 

ผู้หญิงติดตามเรื่อง True Crime มากกว่าผู้ชาย

ในปี ค.ศ. 2010 งานวิจัยเรื่อง “Captured by True Crime: Why Are Women Drawn to Tales of Rape, Murder, and Serial Killers?” ของ University of Illinois พบว่า 70% ของคนที่รีวิวหนังสืออาชญากรรมบนเว็บไซต์ Amazon คือผู้หญิง ความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ติดตามคอนเทนต์ True Crime มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อ ‘ไมค์ บูเด’ (Mike Boudet) ซึ่งเป็นพิธีกรพอดแคสต์เกี่ยวกับอาชญากรรมสุดโด่งดัง รายการ Sword and Scale ระบุว่า มากกว่า 70% ของแฟนรายการคือผู้หญิง อายุระหว่าง 25-45 ปี

Photo credit: Lwp Kommunikáció

จากงานวิจัยข้างต้น ระบุว่าเหตุผลที่ผู้หญิงติดตามเรื่อง True Crime เพราะเรื่องราวเหล่านี้ช่วยให้ข้อมูลที่ผู้หญิงรู้สึกว่า สามารถช่วยให้พวกเธอหลีกเลี่ยงภัยต่างๆ รอบตัวได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้าที่ชี้ว่า ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าผู้ชาย และการเรียนรู้จากเรื่องราวของผู้รอดชีวิต หรือคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาก่อน ก็ทำให้ผู้หญิงสามารถที่จะหาทางหนีทีไล่ให้กับตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม ดีนเสริมว่ารายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ปี ค.ศ. 2018 ระบุว่าผู้ชายกว่า 2.3% มักตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าผู้หญิงอยู่ที่ 1.2% แต่ผู้หญิงจะรู้สึกหวาดกลัวอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นกับพวกเธอมากกว่า เป็นสาเหตุว่าทำไมผู้หญิงจึงสนใจที่จะหาวิธีเข้าใจอาชญากรและสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเธอ ผ่านการติดตามคอนเทนต์ True Crime

Photo credit: Newsweek

“มันคือความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม ผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกสอนให้ระมัดระวังการกระทำของตัวเอง รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิด และบางครั้งก็ให้ระวังจินตนาการของตัวเอง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงชอบเรื่อง True Crime เพราะเวลาที่พวกเธอเห็นว่าพวกโรคจิตได้รับการลงโทษ หรือเห็นคนร้ายถูกจับเข้าคุก ผู้หญิงจะรู้สึกโล่งใจ โดยที่ไม่ถูกคนอื่นตัดสิน” – ‘ฟรานเซสกา ดอร์ริคอตต์’ (Francesca Dorricott) นักเขียนแนวอาชญากรรม

Photo credit: James Kovin

“ผู้หญิงที่ติดตามเรื่อง True Crime ส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกสงสารเหยื่อด้วย อาจเพราะมันเป็นเรื่องง่ายที่ผู้หญิงจะเอาตัวเองไปอยู่ในจุดเดียวกับเหยื่อผู้หญิงที่ปรากฏอยู่ในรายการเหล่านั้น” – ดีน

แน่นอนว่าผู้ชายและผู้หญิงต่างก็มีความชื่นชอบเรื่อง True Crime ได้เหมือนกัน แต่ในสังคมที่ยังมีความไม่เท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้น ‘เพศหญิง’ ซึ่งถูกมองว่าอ่อนแอกว่าเพศชาย ก็ยังได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างและมีอันตรายมากกว่า ดังนั้น คงจะดีกว่าหากทุกคนร่วมด้วยช่วยกันสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับคนทุกเพศและทุกวัยอย่างแท้จริง แล้วให้เรื่องราว True Crime กลายเป็นแค่เรื่องเล่าในอดีต ให้พวกเราได้เรียนรู้ และหาทางป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

อ้างอิง

  1. “The Bloody History of the True Crime Genre” by Pamela Burger
  2. “Why are we so obsessed with true crime? Here’s what the experts say” by Evelyn Richards
  3. “Why are we so obsessed with true crime?” by University of Derby
  4. “The Psychology Behind Society’s True Crime Obsession” by Jess Scherman
  5. “Women, more than men, choose true crime over other violent nonfiction” by Diana Yates