‘วัชรสิทธา’ พื้นที่ทางจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่เมื่อวัดไม่ใช่คำตอบ

ถ้าไม่รู้จะทำอะไรกับชีวิต มีคำถามต่อชีวิตและจิตวิญญาณ ต้องการแหล่งพักพิงทางจิตวิญญาณ คำตอบของยุคสมัยก่อนก็คือการเดินทางไปวัด แต่ในยุคนี้แล้ว วัด อาจไม่ใช่คำตอบในการตามหาคำตอบและคุณค่าทางจิตวิญญาณของคนยุคใหม่อีกต่อไปแล้ว ‘วัชรสิทธา’ ชุมชนทางจิตวิญญาณแห่งนี้จึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์เป็นพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เปิดกว้างให้ใครก็ได้ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมทั้งพักพิงทางใจและพัฒนาทางจิตวิญญาณ นี่คือเสียงจากตัวแทนผู้ดูแลวัชรสิทธาที่มาเล่าเรื่องราวของพื้นที่ทางจิตวิญญาณของคนยุคใหม่นี้

จุดเริ่มต้นของวัชรสิทธามาจากความคิดของผู้ก่อตั้ง ‘วิจักขณ์ พานิช’ ที่มีความสนใจเรื่องศาสนา จิตวิญญาณ การศึกษา เขาไปซึมซับการเคลื่อนไหวของพุทธธรรมในโลกตะวันตกที่มหาวิทยาลัยนาโรปะและศูนย์ภาวนาชัมบาลา ในเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งโดยธรรมาจารย์ในพุทธวัชรยานที่ชื่อ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช วิจักขณ์ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบการสื่อสารพุทธศาสนาและจิตวิญญาณในโลกตะวันตก ที่มีความเรียบง่าย เปิดกว้าง และเท่าเทียมกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน จึงคิดฝันว่า เมื่อกลับมาไทยก็อยากเปิดศูนย์ หรือสถาบันการเรียนรู้ ที่มีบรรยากาศเช่นนั้นบ้าง  

ชื่อวัชรสิทธา วัชระ หมายถึง ดุจเพชร หรือสภาวะที่ไม่อาจทำลายได้ ซึ่งสื่อสารถึงธรรมชาติพื้นเดิมของจิตที่ว่าง ปราศจากตัวตน ตื่นรู้ ประภัสสร การดำรงอยู่ในธรรมชาติของจิตเช่นนั้นคือความแข็งแกร่งสูงสุดทางจิตวิญญาณ ส่วน สิทธา หมายถึง ผู้ฝึกฝนและแสวงหาการรู้แจ้งทางจิตวิญญาณ ที่เป็นคนธรรมดาใช้ชีวิตอยู่ในโลก วัชรสิทธา มีนัยยะถึงความเป็นสถานที่ที่พร้อมเปิดรับทุกผู้คนที่สนใจมาเรียนรู้เรื่องภายในและค้นพบศักยภาพการตื่นรู้ในชีวิตของตัวเอง

วัชรสิทธา มีกิจกรรมพัฒนาทางจิตวิญญาณอะไรบ้าง พวกเขาเล่าว่า ในทางพุทธศาสนาเรียกวิธีการพวกนี้ว่า อุปายโกศล นั่นคือวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ฟังหรือผู้เรียนเกิดประสบการณ์ของการรู้แจ้งกับตัวเอง ถ้าในทางการศึกษา ก็อาจเรียกว่า รูปแบบการสอน กิจกรรม หรือกระบวนการ ซึ่งสามารถมีได้หลากหลายมากๆ และในสังคมสมัยใหม่เราผ่านยุคการรู้แจ้งในทางวิชาการมาแล้ว ดังนั้นศาสตร์ต่างๆ ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารคุณค่าทางจิตวิญญาณได้ 

“วัชรสิทธา เรามีห้องเรียนจิตวิทยา ห้องเรียนศาสนธรรม ห้องเรียนศิลปะกับการภาวนา ห้องเรียนศิลปะการเคลื่อนไหว เป็นต้น เรามีกิจกรรมที่หลากหลายไม่ว่าเป็นการนั่งภาวนา การจัดดอกไม้ การวาด การปั้น หรือการเต้น ทั้งหมดนี้คือรูปแบบของการเข้าถึงประสบการณ์ด้านในที่หลากหลาย และชุดภาษาที่หลากหลายในสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านในเหล่านั้น”

การปฏิบัติภาวนาแตกต่างจากการฝึกสมาธิของวัชรสิทธาอย่างไร เขาเล่าให้เห็นความแตกต่างว่า การปฏิบัติภาวนา (meditation) พื้นฐานคือฝึกนั่งเฉยๆกับตัวเองในขณะที่วัชรสิทธาจะเรียกการฝึกสมาธิว่า ‘Somatic Meditation’ ที่จะเน้นการสัมพันธ์ร่างกายในฐานะต้นกำเนิดของปัญญาญาณ เขาอธิบายแบบเรียบง่ายอีกแบบหนึ่งว่า 

“พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ เราเริ่มต้นด้วยการผ่อนคลาย พาลมหายใจไปสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ ของร่ายกาย เมื่อกายกับใจ sync กัน จะเกิดกระบวนการตระหนักรู้ในกายหรือสัมปชัญญะแผ่ซ่านไปทั่ว จุดที่เกร็งตัวจะคลายออก พลังงานที่ติดขัดจะหาทาง release ออก ปมปัญหาที่ติดค้างในอดีตก็จะลอยขึ้นมาสู่การตระหนักรู้ของเรา ทั้งหมดทั้งปวงของการภาวนาคือการตระหนักรู้สิ่งที่เกิดขึ้นเฉยๆ ไม่ตอบโต้ ไม่วิ่งตาม ไม่กดทับ เปิดการรับรู้ให้กว้างและ “อุ้ม” ประสบการณ์นั้นด้วยความรู้สึกตัวจนมันจางคลายไปเอง” 

“กระบวนการภาวนาทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่วิธีการ “แก้ปัญหา” แต่จะนำไปสู่การเพิ่มพูนพลังของการตระหนักรู้ อิสรภาพ และสติปัญญาพื้นฐานที่มีอยู่แล้วในตัวเรา ผลลัพธ์ก็คือ ร่างกายเราผ่อนคลายขึ้น จิตใจเราเปิดกว้างและตื่นรู้มากขึ้น สิ่งที่หนักและถับถมอยู่ในจิตใจก็จะมีโอกาสได้ปลดปล่อยออกไป ทำให้เรามีสุขภาพกายและจิตดีขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น เปิดกว้าง และเติบโตทางจิตวิญญาณ”

คำถามสุดท้ายก่อนปิดบทสนทนาคือคำถามที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในสังคมไทย รัฐและศาสนาจำเป็นจะต้องแยกจากกันไหม ถ้าหากแยกแล้วการแสวงหาคำตอบทางจิตวิญญาณจะเป็นอย่างไรต่อไป เขาเล่าปิดท้ายว่า ตอนนี้สังคมสมัยใหม่ยึดถือคุณค่าประชาธิปไตยที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด วัฒนธรรม ประเพณี เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และ เพศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของบรรยากาศที่เปิดกว้าง เขาย้ำว่า สังคมที่แยกศาสนาจากรัฐ มิใช่ว่าจะทำให้คนไม่เห็นค่าศาสนา แต่มันจะนำไปสู่การเปิดกว้างยอมรับและการเติบโตทางจิตวิญญาณของผู้คนได้เรียนรู้กันมากขึ้นซึ่งเป็นความคาดหวังของวัชรสิทธา

“สังคมที่แยกศาสนาจากรัฐ ไม่ได้หมายความเป็นสังคมที่ไม่เห็นคุณค่าของศาสนา แต่ศาสนาจะกลายเป็นทางเลือกส่วนบุคคลที่แต่ละคนสามารถเลือกนับถือหรือไม่นับถือก็ได้อย่างถูกบังคับ และศาสนาจะเข้ามาสัมพันธ์และเรียนรู้กับสังคมอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ความเป็นโลกวิสัยที่เข้ามาบทบาทต่อศาสนานี่เอง ที่ทำให้ศาสนาถูกตีความ ถูกท้าทาย ถูกนำไปใช้ในบริบทชีวิตที่หลากหลาย และทำให้ศาสนาไปพ้นความเป็นศาสนา และค่อยๆ พัฒนากลายเป็น “คุณค่าทางจิตวิญญาณ” (spirituality) ในที่สุด”

ติดตามและค้นหาจิตวิญญาณของตัวเองได้ที่ วัชรสิทธา (Vajrasiddha)