Identity

อะไรเอ่ย เซ็กซี่ เป็นปิศาจ แถมยังเป็นเควียร์ — สิ่งนี้มีชื่อเรียกว่า ‘แวมไพร์’

ในศตวรรษที่ 21 นี้ จะมีปิศาจตนไหนที่เหมาะกับวลี “Be gay, do crimes” ไปยิ่งกว่า ‘แวมไพร์’ (Vampire) หรือที่เราเรียกกันจนชินปากว่า ‘เคานต์ แดร็กคูล่า’ (Count Dracula) อีก โดยเฉพาะเมื่อมีหนังและซีรีส์แวมไพร์มากมายที่ตัวเอกเป็นเควียร์ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะความหลากหลายทางเพศเป็น sub-text ในสื่อที่มีแวมไพร์มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่นิยายเรื่องแรกที่มีผีดูดเลือดตนนี้เลยทีเดียว ไม่สงสัยเลยว่าทำไมมันถึงได้กลายเป็นหนึ่งในไอคอนของชาว LGBTQ+ ตะวันตก

(Dracula ฉบับปี 2020) Photo credit: iNews

แวมไพร์นั้นถูกเล่าออกมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่เจียงซือ (จีน) ปีนังกาลาน (มาเลเซีย) หรือแม้กระทั่งกระสือของไทยก็นับว่าเป็นแวมไพร์ เพราะพื้นฐานของมันคือผีดูดเลือด แต่แวมไพร์ที่เรากำลังจะกล่าวถึงนั้นมาจากแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นรูปแบบของแวมไพร์ที่เรารู้จักกันโดยทั่วไป มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ทุกกระเบียดนิ้ว แถมยังงดงามชวนดึงดูด เว้นเสียแต่ว่าผิวขาวซีด เขี้ยวฟันแหลมคม มีอาการแพ้แสงแดด สามารถแปลงร่างเป็นสัตว์อื่น และเป็นอมตะ ถือว่าเป็นปิศาจจากตำนานพื้นเมืองที่ได้ปรากฏในหลากหลายสื่อ ตั้งแต่นิยาย ภาพยนตร์ เพลง เกม ฯลฯ ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน บ่งบอกได้ชัดว่าความนิยมของมันไม่เคยเสื่อมคลายเลยแม้แต่น้อย

(Carmilla) Photo credit: Biblio Blog

แวมไพร์ได้ปรากฏบนหน้านิยายเป็นครั้งแรกด้วยฝีมือของ ‘โจเซฟ แชริดัน เลอฟานู’ (Joseph Sheridan Le Fanu) ในปี 1872 กับเรื่อง ‘Carmilla’ เล่าเรื่องราวของ ‘ลอร่า’ (Laura) ที่มักจะฝันถึงผู้หญิงอีกคนหนึ่งมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งได้พบกับ ‘คาร์มิลล่า’ (Carmilla) ที่ประสบอุบัติเหตุรถม้าชนแถวปราสาทของพ่อเธอ และยังหน้าตาเหมือนกับหญิงในฝันของเธอ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าคาร์มิลล่าจะมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ไม่สวดมนต์ภาวนา นอนหลับในช่วงกลางวัน และดูเหมือนจะนอนละเมอในตอนกลางคืน ระหว่างนั้นลอร่าก็มีอาการฝันร้ายที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เธอสุขภาพอ่อนแอลงหลังพบว่ามีแผลเจาะบริเวณเต้านม เด็กสาวคนอื่นในหมู่บ้านเองก็ป่วยตายด้วยแผลคล้ายๆ กัน

ซึ่งถ้าใครได้อ่านเรื่อง Carmilla ก็คงจะสัมผัสได้ถึงความ ‘เกินเพื่อน’ ระหว่างลอร่าและคาร์มิลล่า กับการจูบแก้มกัน และบอกว่า “You are mine, you shall be mine, you and I are one forever” ถึงแม้ว่าสุดท้ายคาร์มิลล่าจะถูกกำจัด ความทรงจำที่ลอร่ามีต่อแวมไพร์ตนนี้ก็ไม่จางหาย จนถึงขนาดที่ว่าเวลาได้ยินเสียงฝีเท้ายามกลางคืนก็จะนึกถึง แต่สาเหตุที่นิยายเรื่องนี้ไม่เคยถูกแบนแม้จะเขียนขึ้นในยุคที่การเหยียดเพศยังคงรุนแรง คงเป็นเพราะความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่สามารถมีแรงปรารถนาทางเพศ หรือมองว่าที่ลอร่าหลงคาร์มิลล่านักหนาก็เพราะต้องมนต์สะกดของแวมไพร์ผู้ทำทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้ครอบครองชีวิตของหญิงสาวบริสุทธิ์

ในเวลาต่อมา Carmilla ก็ได้กลายเป็นต้นแบบของนิยายแวมไพร์อีกหลายเรื่อง (แน่นอนว่าในเรื่องเหล่านั้นก็มีตัวละครที่เป็น LGBTQ+) หนึ่งในนั้นก็คือ ‘Dracula’ นิยายสุดคลาสสิกที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อย่างซ้ำๆ

(Dracula ฉบับปี 2020) Photo credit: Polygon

บางคนอาจจะสงสัยว่า “ผีดูดเลือดเนี่ยนะ เกย์ตรงไหน? เคานต์ แดร็กคูล่าก็มีผีสาวเป็นเมียและบริวาร” ต้องขอบอกว่าขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ของแต่ละคน แต่เป็นความจริงที่ว่า ‘บราม สโตเกอร์’ (Bram Stoker) ผู้แต่งเรื่องนี้เคยมีความสัมพันธ์อันกำกวมกับผู้ชายอยู่ 3 คน นั่นก็คือ ‘เซอร์ เฮนรี เอิร์ฟวิง’ (Sir Henry Irving) นักแสดงและผู้จัดการโรงละคร Lyceum ‘ออสการ์ ไวลด์’ (Oscar Wilde) นักเขียนชาวไอริชผู้มีข่าวฉาวกับเด็กหนุ่มอยู่บ่อยๆ และ ‘วอลต์ วิตแมน’ (Walt Whitman) นักกวีชาวอเมริกันที่เป็นไอดอลของสโตเกอร์ ซึ่งตัวละครแดร็กคูล่าอาจจะถูกเขียนขึ้นโดยมีเอิร์ฟวิงหรือไวลด์เป็นแรงบันดาลใจหลัก

(รูปที่ 1 - บราม สโตเกอร์ / รูปที่ 2 - เซอร์ เฮนรี เอิร์ฟวิง) Photo credit: Ireland Information / Henry Poole & Co

หากจะให้เข้าใจกันอย่างลึกซึ้งก็คงต้องเล่าเรื่องราวของนักเขียนคนนี้กันก่อน เมื่อครั้งที่ยังเป็นเด็ก สโตเกอร์ป่วยหนักและไม่ได้เข้าสังคมมากนัก จนกระทั่งหายดี เขาก็เริ่มผันตัวเป็นคนเล่นกีฬาเก่ง ชาญฉลาดด้านวิชาการ แถมยังได้แต่งงานในวัยที่เหมาะสม ชีวิตของสโตเกอร์อยู่ในกฎเกณฑ์ของ ‘ผู้ชายที่ดี’ ในยุคนั้นมาโดยตลอด และวันหนึ่งก็ได้ไปเป็นผู้ช่วยของเซอร์ เฮนรี เอิร์ฟวิง ด้วยความที่เขายกย่องและนับถือเอิร์ฟวิงในฐานะนักแสดงเป็นอย่างมาก แถมอีกฝ่ายยังเป็นผู้เบิกทางให้เข้าไปสู่สังคมชนชั้นสูง สโตเกอร์จึงได้แสดงความรักที่มีต่อเอิร์ฟวิงอย่างชัดเจน แม้จะไม่มีใครรู้ว่าเป็นความรักรูปแบบไหน แต่เขาตั้งชื่อลูกชายว่าเอิร์ฟวิง และเขียนหนังสืออุทิศให้กับชายผู้นี้เมื่อตอนที่เสียชีวิต

(ออสการ์ ไวลด์) Photo credit: Quotes of Famous People

ส่วนความสัมพันธ์ที่สโตเกอร์มีต่อออสการ์ ไวลด์ คงจะเรียกได้ว่ากำกวมที่สุดและดูเหมือนทั้งรักทั้งเกลียด สโตเกอร์กับไวลด์มีหลายอย่างที่คล้ายกัน อย่างเช่นสถานที่เรียนและอาชีพนักเขียน หากแต่ต่างกันตรงที่สโตเกอร์ปิดกั้นตัวเองในเรื่องของเพศวิถี ในขณะที่ไวลด์เกี่ยวพันกับผู้หญิงและผู้ชายมากหน้าหลายตาเสียจนถูกจับด้วยข้อหามีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันในปี 1895 ก่อนหน้านั้น ทั้งคู่เคยจีบผู้หญิงคนเดียวกัน นั่นก็คือ ‘ฟลอเรนซ์ บัลคอมบ์’ (Florence Balcombe) ซึ่งภายหลัง เธอก็ได้กลายมาเป็นภรรยาของสโตเกอร์ ทั้งสองคนจึงบาดหมางกันอยู่สักพักหนึ่ง แต่หลังจากที่ไวลด์จำคุกอยู่ 2 ปีและถูกเนรเทศไปยังฝรั่งเศส สโตเกอร์ก็เคยเดินทางไปเยี่ยมถึงที่ ถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่อธิบายยากทีเดียว

(วอลต์ วิตแมน - Leaves of Grass) Photo credit: Lapham’s Quarterly / The Marginalian

สุดท้ายก็คือวอลต์ วิตแมน ผู้ที่สโตเกอร์เคยเขียนจดหมายอันมีเนื้อหาลึกซึ้งให้จนนักวิชาการหลายคนเรียกมันว่า ‘จดหมายรัก’ เพราะสโตเกอร์ชื่นชอบผลงานกลอนยาว ‘Leaves of Grass’ ของวิตแมนเอามากๆ ท่อนหนึ่งของจดหมายระบุเอาไว้ว่า “I only hope we may sometime meet and I shall be able perhaps to say what I cannot write” และ “You have shaken off the shackles and your wings are free. I have the shackles on my shoulders still — but I have no wings” อย่างที่ได้บอกไปว่าสโตเกอร์ค่อนข้างปิดกั้นในเรื่องเพศ และอาจจะไม่ได้โอบรับมันอย่างเต็มที่ ขัดกับวิตแมนที่มีท่าทีเหมือนว่าจะเป็นไบเซ็กชวล ไม่ต่างจากไวลด์เสียสักเท่าไหร่ แถมเนื้อหาของ Leaves of Grass ก็ยังแฝงไปด้วยความรักที่มีต่อเพศเดียวกัน การที่สโตเกอร์ชอบมันและเขียนจดหมายเยินยอวิตแมนเสียยาวเหยียด (เปรียบได้ว่าประมาณ 5 หน้ากระดาษ A4) ก็บ่งบอกอะไรบางอย่างได้เช่นกัน

(Dracula ฉบับปี 1992) Photo credit: The Mary Sue

ย้อนกลับมาที่เรื่อง Dracula กันบ้าง เป็นที่ถกเถียงกันยกใหญ่ในหมู่นักวิเคราะห์วรรณกรรมว่า แท้จริงแล้ว แรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดตัวละครแดร็กคูล่าเป็นใครกันแน่ ผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้ที่จะเป็นออสการ์ ไวลด์ เพราะแดร็กคูล่ากับไวลด์นั้นมีความคล้ายกันตรงที่ยุ่งเกี่ยวกับผู้ชายอายุน้อยกว่า และสุดท้ายก็ได้รับการลงโทษจากสังคม ไวลด์ติดคุก ส่วนแดร็กคูล่าถูกลิ่มแทงอกตาย จะบอกว่างานชิ้นนี้มีความเกลียดกลัวการรักเพศเดียวกันแบบแฝง (internalised homophobia) ก็ไม่ผิดนัก เพราะจนถึงวันนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าสโตเกอร์ยอมรับเพศวิถีของตัวเองหรือไม่ โดยเฉพาะในยุคที่คำว่าโฮโมเซ็กชวลยังไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลายด้วยซ้ำ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ เขารู้จักกับ ‘เฮนรี่ ลาบูแชร์’ (Henry Labouchere) ผู้ที่แก้กฎหมายให้สามารถลงโทษกลุ่มชายรักชายได้โดยไม่ต้องมีการสอดใส่ทางทวารหนัก ไม่แน่ว่าสโตเกอร์อาจจะกลัวถูกทำโทษเหมือนไวลด์ เขาจึงต้องเก็บซ่อนมันไว้ ในนิยายที่ตนเขียนขึ้นเองกับมือ

ภายในเรื่อง Dracula มีจุดที่น่าสงสัยอยู่ไม่น้อย เริ่มจากการที่ ‘โจนาธาน ฮาร์เคอร์’ (Jonathan Harker) ถูกขังอยู่ในปราสาทของท่านแดร็กคูล่าเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่ถูกดูดเลือดเสียที แม้ว่าฮาร์เคอร์จะจับได้คาหนังคาเขาว่าแดร็กคูล่าเป็นแวมไพร์ก็ตาม และเมื่อหนีออกมาได้ เขาก็ขอเลื่อนแต่งงานกับ ‘มินา เมอร์เรย์’ (Mina Murrey) ที่เป็นคู่หมั้นโดยไม่บอกเหตุผลอะไร ซึ่งขณะที่ฮาร์เคอร์ยังติดอยู่ในปราสาทและเกิดการแย่งชิงเพื่อเอาตัวเขาไปนั้น แดร็กคูล่าก็ได้บอกกับเมียและบริวารของเขาว่า “This man is mine”

(แวนเฮลซิงใน Dracula ฉบับปี 1992) Photo credit: Flickering Myth

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ‘อับราฮัม แวนเฮลซิง’ (Abraham Van Helsing) ผู้เข้ามาร่วมแผนการปราบแดร็กคูล่าเองก็มีผู้ชายทั้งสามที่คอยจีบ ‘ลูซี่ เวสเทนรา’ (Lucy Westenra) มาเป็นผู้ช่วย ที่สำคัญคือทั้งสี่คนนี้แสดงอารมณ์ออกมามากมาย ซึ่งค่านิยมในยุควิคตอเรียที่ Dracula ได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกนั้น ผู้ชายถูกคาดหวังให้เคร่งขรึมและใจเย็นในทุกสถานการณ์ ส่วนการแสดงอารมณ์ต่างๆ เป็นเรื่องของเพศหญิง การที่ตัวละครชายเหล่านี้อยู่ร่วมกันและร้องไห้อย่างไม่เก็บอาการก็อาจเป็นการนำเสนอกลุ่มเพศหลากหลาย (ในความคิดของสโตเกอร์) ได้เช่นกัน

(Interview with the Vampire ฉบับปี 1994) Photo credit: Attitude

ไม่ใช่แค่ Dracula ที่ซ่อนความเป็นเควียร์เอาไว้ในเนื้อเรื่อง ยังมี ‘Interview with the Vampire’ นิยายของ ‘แอนน์ ไรซ์’ (Anne Rice) ที่ตีพิมพ์ขึ้นเมื่อปี 1976 เห็นได้ชัดว่ามันสื่อถึงชีวิตของคู่รักเกย์ที่ต้องหลบซ่อนอยู่ในเงามืด จุดเริ่มต้นมาจาก ‘ลีสแตท’ (Lestat) แวมไพร์ตนหนึ่งที่ดูดเลือดและทำให้ ‘ลูอิส’ (Louis) ชายหนุ่มผู้หมดอาลัยตายอยากกลายเป็นแวมไพร์ ถึงทั้งสองคนจะเห็นต่างจนมีเหตุทะเลาะอยู่บ่อยๆ แต่ก็พยายามประคับประคองให้อยู่รอดไปด้วยกัน ในช่วงกลางเรื่อง ลีสแตททำให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังจะตายเพราะกาฬโรคมาเป็นลูกสาวของพวกเขาด้วย Interview with the Vampire จึงนำเสนอเรื่องราวระหว่างผู้ชายทั้งสองคนที่มีกลิ่นอายความโรแมนติกปน toxic และบทบาทการเป็นพ่อ ไม่ต่างจากคู่ชายรักชายทั่วไปที่รับเด็กมาเลี้ยงร่วมกัน

Photo credit: Gayety / Gay Times / Screen Rant / Polygon

เพราะแวมไพร์ไม่มีวันตายและต้องอยู่ต่อไปในทุกๆ เจเนอเรชั่น แวมไพร์ที่ดูเหมือนจะอยู่แต่ในเซ็ตติ้งของยุคโบราณก็ได้ถูกนำมาดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น จนในปัจจุบันเองก็มีนิยาย หนัง และซีรีส์แวมไพร์อีกหลายเรื่องที่ให้ตัวละครหลักเป็น LGBTQ+ อย่างเช่น Vampire Diaries, The Originals, คู่เจ้าหญิง Bubblegum กับ Marceline จาก Adventure Time และล่าสุดกับ First Kill ที่เพิ่งเริ่มฉายผ่านทาง Netflix ในปีนี้ ซึ่งไม่มีการอ้อมแอ้มเรื่องเพศกันอีกต่อไป ด้วยความเข้าใจและการยอมรับต่อเพศหลากหลายที่มีมากขึ้น ต่างจากยุคของเลอฟานูหรือสโตเกอร์ที่ต้องทำให้คลุมเครือเข้าไว้ ไม่อย่างนั้นก็คงมีจุดจบอันน่าเศร้า เหมือนกับแวมไพร์ที่มีแรงปรารถนาต่างจากขนบ ถูกสังคมกีดกัน และต้องคอยใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ใต้เงาจันทร์เรื่อยไป

สิ่งที่น่ายินดีก็คือการที่ทุกวันนี้แวมไพร์ไม่ได้ถูกวาดภาพให้เป็นเพียงแค่ปิศาจชั่วร้ายกระหายเลือด มันมีหลากหลายมิติและสีสันให้ผู้ชมอย่างเราๆ ได้เลือกเสพ เช่นเดียวกับการที่ LGBTQ+ เองก็ไม่ได้ถูกนำเสนอในสื่อเพียงด้านใดด้านหนึ่งอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีอสุรกายอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของคนชายขอบ หากคุณสนใจก็อย่าลืมติดตาม EQ ซะล่ะ แล้วพวกเราจะนำเรื่องราวแบบนี้มาเล่าอีกเมื่อมีโอกาส

อ้างอิง

Book Riot

Medium