จะเป็นแรงงานทั้งทีขอเป็นแรงงานที่ประเทศโลกที่หนึ่งแล้วกัน

ปัญหาค่าแรง และค่าครองชีพในประเทศไทยยังส่งผลต่อเนื่องมาหลายปี ชนชั้นแรงงานต้องดิ้นสู้ชีวิตเพื่อเอาตัวรอดไปแต่ละวัน โดยไม่มีทางที่จะสามารถพัฒนา หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองได้เลย ถ้าการเป็นแรงงานในไทยนั้นแย่จริงๆ การคว้าโอกาสไปเป็นแรงงานในต่างประเทศล่ะจะเป็นอย่างไร?

Photo Credit: GNIING / Lin Prh

Work and Travel โอกาสที่ใฝ่หา หรือแค่ขายฝัน?

โครงการ ‘Work and Travel’ ที่ได้รับความนิยมมากในหมู่นักศึกษาชาวไทยก็คือ โครงการของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาสามารถสมัครเข้าร่วมได้ รายละเอียดของโครงการคือ การบินไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ‘วีซ่า J1’ ในตำแหน่งงานที่ดูเหมือนจะเป็นแรงงานในบ้านเรา และให้ใช้เงินจากการทำงานเหล่านั้นมาท่องเที่ยวในอเมริกา นี่คือจุดประสงค์ของโครงการ แต่ความต้องการที่แท้จริงของผู้เข้าร่วมโครงการดูเหมือนจะเป็นการ ‘Make Money’ มากกว่า

เราจะเห็นรีวิวที่หลากหลายของโครงการนี้ ปะปนกันไปทั้งรีวิวดี และรีวิวแย่ รีวิวที่ดีส่วนมากก็จะมาแนะนำว่า งานไหนปัง สามารถ Make Money ได้คุ้มกับค่าโครงการที่เสียไป บางคนสามารถหาเงินจากการเข้าร่วมโครงการได้มากกว่าครึ่งล้านบาทเลย ผู้คนที่อ่านรีวิวดีเหล่านี้ก็มีความสนใจเข้าร่วม โดยหวังว่าจะสามารถหาเงินได้มากขนาดนั้นในเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน แต่จะมีสักกี่คนที่ทำได้ เพราะนอกจากรีวิวดีแล้ว ยังมีรีวิวประสบการณ์ที่แย่ ที่บางคนถึงกับบอกว่าเป็น ‘ประสบการณ์ที่แย่ที่สุด’ ทั้งโดนรังแกจากที่ทำงาน เจอเพื่อนร่วมงานไม่ดี การเหยียดเชื้อชาติ ประสบการณ์เหล่านี้คือ อีกแง่มุมหนึ่งของโครงการที่ตัวแทนในไทยไม่ได้บอก หรือรีวิวให้ฟัง

การขายฝันก็เป็นหนึ่งในปัญหาของโครงการ ในขั้นตอนการหางานความต้องการ และหน้าที่ที่นายจ้างระบุไว้ จะลงรายละเอียดที่ชัดเจนเพื่อการตัดสินใจสมัครของผู้เข้าร่วมโครงการ ปัญหามันมักจะเกิดขึ้นในตอนที่ทำงานแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้ ทำให้ฝันของเหล่าผู้ร่วมโครงการต้องดับสลายไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในการเข้าร่วมโครงการ Work and Travel แต่ปัญหาที่แท้จริงแล้วของ Work and Travel มันคืออะไรกันแน่ การหาโอกาสของเหล่านักศึกษา การทำตามความฝัน หรือการเป็นแรงงานชั้นสองของประเทศเขา

Photo Credit: ReviewPromote

ศึกษาในระดับปริญญาแต่ไปเป็นแรงงานที่ต่างประเทศ?

เป็นเรื่องที่น่าจะสร้างความงงงวย และย้อนแย้งได้อย่างชัดเจน เราต่างก็เข้ารับการศึกษาเพื่อที่จะไม่ต้องเข้าสู่ระบบแรงงานของประเทศไทย ที่ค่าตอบแทนมันน้อยเสียจนแทบจะไม่สามารถดำรงชีวิตประจำวันอยู่ได้ แต่กลับกันเราดันคว้าโอกาสที่ประเทศโลกที่หนึ่งเสนอมาให้เราไปทำงาน และท่องเที่ยวในประเทศของเขา แต่อยู่ในฐานะแรงงานชั้น 2 งานที่จัดหาให้ก็ไม่หลากหลาย ถ้าไม่ใช่งานในครัว ก็จะเป็นงานที่สวนสนุก แล้วโอกาสที่เราคว้ามันไว้ คืออะไรกันแน่ การได้ไปเที่ยว หรือการไปเป็นแรงงานทาส?

เราเห็นได้ถึงความไม่สมเหตุสมผล และไม่เป็นธรรมของโครงการเลยแม้แต่น้อย ที่มาตามหากลุ่มนักศึกษาปริญญาตรี หรือสูงกว่านั้นเข้าร่วมโครงการ แต่งานที่จัดให้กลับเป็นงานแรงงาน เป็นเพราะเราคือประเทศโลกที่สามหรือไม่ เขาเลยคิดว่าความสามารถของเรามันเหมาะสมกับแค่การเป็นแรงงานชั้น 2 ที่ใช้แรงกายแลกกับค่าครองชีพ ไม่สมควรได้เข้าทำงานที่ตรงกับสายที่เรียนมา? 

แต่หากมองในเรื่องของการฝึกฝนภาษา เรามองว่า มันเป็นโครงการที่ดีพอตัวเลย ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ฝึกภาษาอย่างแท้จริง ก็คงเปรียบเสมือนคอร์สสอนภาษาที่มีราคาแสนกว่าบาทเท่านั้นเอง เป็นการผูกมัดทางด้านโอกาสกับคนมีเงินอย่างชัดเจน และที่น่าตลกคือ คนชนชั้นแรงงานไม่สามารถแม้แต่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองในประเทศที่อยู่ได้ กลับกันชนชั้นกลาง และสูงกลับใช้เงินสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อไปเป็นแรงงานในต่างแดน 

สรุปแล้วนักศึกษาปริญญาที่เข้าร่วมโครงการก็เต็มใจที่จะทำงานในตำแหน่งแรงงาน ไม่จำเป็นต้องทำงานตามที่เรียนมาก็ได้ เพียงแต่แรงงานนั้น ไม่ใช่ในไทยนะ เพราะคงไม่พอกินพอใช้ในแต่ละวัน สู้ทิ้งความรู้ไว้ที่ไทยแล้วถอดสมองไปใช้แรงงานอย่างเต็มที่ที่อเมริกาดีกว่า 

Photo Credit: Eater / Insider

เหตุผลที่แท้จริงที่เป็นสาเหตุให้ Work and Travel บูมในหมู่นักศึกษา?

โง่หรือเปล่าที่จะไปทำงานแรงงานทั้งที่จบปริญญาตรี” 

ความเห็นของคนบางกลุ่มที่มองว่า เหล่านักศึกษาพวกนี้ ‘โง่’ ที่เอาร่างกายไปแลกกับเงินในต่างแดน ทั้งๆ ที่ถ้าทำงานในประเทศไทยจะอยู่ในชนชั้นกลาง ที่ได้ใช้ความสามารถที่เรียนมาอย่างเต็มที่ 

วาทกรรมข้างบนมันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงอย่าง ค่าครองชีพที่สวนทางกับรายรับในประเทศไทย ถึงแม้ว่าคุณจะจบปริญญาตรี เงินเดือนคุณก็เริ่มต้นที่ 15,000 บาทอยู่ดี อย่าว่าแต่จะเหลือเก็บออมไหมเลย จะพอใช้ในเดือนนั้นๆ หรือเปล่าก็ยังไม่สามารถรู้ได้ เมื่อคุณภาพชีวิตในไทยมันแย่ขนาดนี้ โครงการเฟ้นหาแรงงานทาสของอเมริกาจึงดูดีขึ้นมาเลย ถ้าจะต้องทำงานใช้สมองให้สมกับที่เรียนจบปริญญามา ด้วยค่าตอบแทน 15,000 บาท สู้ไปเป็นแรงงานชั้น 2 ในสังคมที่พัฒนาแล้วดีกว่า ยอมให้คนด่าว่าโง่ ที่ลดชั้นตัวเองลงไปเป็นแรงงานในประเทศเขา นี่คือเหตุผลว่า ทำไมโครงการนี้มันถึงบูมในหมู่นักศึกษา ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาอยากจะเรียนระดับปริญญาแล้วไปใช้แรงงานที่ต่างประเทศ แต่มันเป็นเพราะทางเลือกของประเทศไทยนั้นดูมีแต่ความมืดมน ที่แสงสว่างไม่ส่องออกมาเลยแม้แต่น้อย 

ข้อดีของโครงการมันก็มีให้เห็นอย่างชัดเจน เติมเต็มความฝัน การเตรียมพร้อมในการไปลองใช้ชีวิตในต่างประเทศ หรือจะหนีออกจากประเทศเส็งเคร็งที่ลำพังแค่ค่าแรงขั้นต่ำคงไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้ ข้อดีทั้งหมดของโครงการชี้ให้เราเห็นปัญหาที่แท้จริงของประเทศไทย ต่อให้ประชากรจะเก่งขนาดไหนก็เกิดภาวะสมองไหลได้ เพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่เคยหันมาพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดเลย 

Photo Credit: USA Today

เราสนับสนุนให้ทุกคนทำตามความฝัน แต่ก็อยากให้คำนึงถึงความสมเหตุสมผล และปัญหาที่มันเกิดขึ้นจากรัฐบาลที่ผลักไสให้เราไปตามหาช่องทางล่าฝันของพวกเราเอง และโครงการจะน่าสนใจกว่านี้ ถ้ามีความเป็นธรรมในการจ้างงานมากยิ่งขึ้น ยิ่งจ้างงานในระดับแรงงาน คนที่ไปก็ยิ่งมีความรู้สึกอยากเก็บเงินจำนวนนั้นไว้กลับมาใช้ที่ไทยดีกว่าใช้ท่องเที่ยว เพราะเงินจำนวนนั้นมันแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ สุขภาพ กำลังแรงกาย ที่เสียหายไปกับการใช้แรงงาน 

ท้ายที่สุดนี้เราแสดงให้เห็นทั้งข้อดี และความเป็นไปได้ที่สามารถเกิดขึ้นในการเข้าร่วมโครงการ ถ้าให้แนะนำโครงการ มันเป็นโครงการของคนที่เงินเหลือพอจะคว้าโอกาส เพราะมันไม่มีอะไรการันตีว่า การไปทำงานครั้งนี้จะคุ้มเงินกลับมา และจุดประสงค์ของโครงการมันไม่ใช่การกอบโกยอยู่แล้ว มันคือการลองไปใช้ชีวิต และท่องเที่ยวอย่างมีความสุข สิ่งหนึ่งที่จะได้แน่นอนจากการเข้าร่วมโครงการคือ ทักษะการสื่อสาร ถ้าชั่งน้ำหนักว่าทักษะการสื่อสารคุ้มค่าที่จะซื้อมาในราคาเรือนแสน ก็เชียร์ให้เข้าร่วม อย่างไรก็ตาม งานมันก็คือแรงงาน เหนื่อยกว่าการทำงานออฟฟิศแน่นอน และอย่างที่บอกไป ถ้าอนาคตในไทยมันมืดมน ไปใช้ชีวิตเป็นแรงงานชั้น 2 ในอเมริกาอาจจะเป็นทางเลือกที่ฉลาดกว่าก็ได้