“หมาก…หนีไปไอ้ยูมัน11รด!” เสียงตะโกนของ ‘มี’ จากตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง ‘เธอกับฉันกับฉัน’ (YOU&ME&ME) ชวนให้นึกถึงลีลาการพลิกแพลงภาษาและสะกดคำที่เป็นเอกลักษณ์ในยุค 2000 จนอดฉุกคิดตามไม่ได้ว่า นานแค่ไหนกันนะ ที่ไม่ได้พูดคุยกับเพื่อนด้วยคำสแลงแบบนี้ และนานเท่าไรแล้วที่ไม่ได้เห็นเรื่องราวของตัวละครฝาแฝดบนจอภาพยนตร์ โดยฝีมือของผู้กำกับคนไทย
ก่อนภาพยนตร์ ‘เธอกับฉันกับฉัน’ จะเกิดขึ้น ‘แวววรรณ – วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์’ เคยสร้างผลงานในแวดวงสื่อไว้ไม่น้อยทีเดียว เริ่มตั้งแต่ภาพยนตร์สารคดี ‘WISH US LUCK ขอให้เราโชคดี’ และหนังสือจากซีรีส์เดียวกัน ซึ่งบอกเล่าประสบการณ์ของทั้งคู่ผ่านการเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษสู่ประเทศไทยด้วยรถไฟ รวมถึงเป็นผู้กำกับและร่วมเขียนบทให้กับทีมของค่าย Nadao Bangkok ในหลายผลงาน เช่น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ‘Great Men Academy’ และ MV เพลง ‘รักติดไซเรน’ ที่ฮิตติดหูวัยรุ่นทั่วประเทศ
วันนี้ EQ เลยถือโอกาสชวนแวววรรณ-วรรณแวว ผู้กำกับฝาแฝดผู้อยู่เบื้องหลังผลงานคุณภาพมาบอกเล่าเรื่องราวระหว่างทางของภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอกับฉันในวันที่ต้องตัดสินใจใช้นักแสดงเพียงคนเดียวมาเล่นเป็นฝาแฝด พร้อมเบื้องหลังความบังเอิญที่ดึงดูดพลังงานของคนรุ่นใหม่ให้มารวมตัวกัน
แววและวรรณ ฝาแฝดนักเล่าเรื่อง สู่เรื่องเล่าของยูกับมี
เมื่อถามถึงนิยามของบทบาทที่เธอทั้งคู่กำลังเป็นอยู่ แววและวรรณบอกกับเราว่าตัวเองเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ซึ่งการเล่าในงานต่างๆ จะถูกสื่อสารด้วยวิธีการที่ต่างกันไป และให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่นับเป็นก้าวใหม่ของเธอสองคน เพราะเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวที่ได้ร่วมกันเขียนบทและกำกับเองเป็นครั้งแรก
“เราสั่งสมประสบการณ์ด้านสื่อจากการทำงานมาพอสมควร จนถึงจุดที่คิดว่าต้องลองทำหนังกันแล้วนะ ก็เลยหยิบประเด็นเรื่องฝาแฝดขึ้นมา เพราะเป็นประเด็นที่รู้จักกันดี แล้วเราสองคนก็เคยตั้งคำถามกันว่า ทำไมสื่อในไทยรวมถึงสื่อสากลชอบนำเสนอฝาแฝดในมุมที่สุดโต่ง เช่น จับคู่กับความคอมเมดี้ จับคู่กับความน่ากลัว หรืออะไรก็ตามที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน ทำให้แฝดเกลียดกัน อิจฉากัน ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นแฝดในเรื่องแต่ง ก็เลยอยากลองนำเสนอเรื่องของแฝดจริงๆ บ้าง นี่เป็นโปรเจกต์ที่เราเขียนบทกันเองเป็นเรื่องที่อยากจะทำจริงๆ เลยลองเอาโครงเรื่องที่คิดมาเสนอกับ GDH พอเขาซื้อก็มาจับคู่กับพี่ ‘โต้ง – บรรจง ปิสัญธนะกูล’ ให้เป็นโปรดิวเซอร์”
“ตัวละครฝาแฝดชื่อ ‘ยู’ กับ ‘มี’ เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยที่เราทำซีรีส์เรื่อง ‘Great Men Academy’ พอได้เริ่มทำหนังก็ยังชอบชื่อนี้ เพราะรู้สึกว่าเป็นชื่อที่คู่กันและมีความหมายที่สัมพันธ์กัน ก็เลยคงชื่อตัวละครไว้ ส่วนชื่อโปรเจกต์ก็เป็น You&Me มาตลอดจนกระทั่งต้องมาคิดชื่อไทย ก็แปลตรงตัวว่า ‘เธอกับฉัน’ เพราะทำให้นึกถึงนิตยสารที่อยู่ในยุคเดียวกับหนัง ซึ่งเราใช้เป็นพร็อพด้วย ก็เลยคุยกันว่าจะล้อชื่อนี้กันไปเลยดีไหม แล้วพี่โต้งก็มาเสริมให้เป็น ‘เธอกับฉันกับฉัน’ จะได้ดูเป็นชื่อที่พิเศษขึ้นมา”
“หนังเรื่องนี้มีความบังเอิญเยอะมาก เราเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ พี่โต้งเป็นโปรดิวเซอร์หน้าใหม่ แล้วพา ‘แป้ง – สองศักดิ์ กมุติรา’ ที่ทำโปรดักชั่นดีไซน์ให้เรื่อง ‘ร่างทรง’ มาเป็นเฮดในเรื่องนี้เรื่องแรก ส่วน ‘เบนซ์ – กฤษดา นาคะเกตุ’ ฝ่ายช่างภาพก็ทำ MV มาก่อน เราเห็นงานแล้วชอบมาก มันตรงกับสิ่งที่อยากได้ แต่เขาไม่เคยถ่ายหนัง ก็มีจุดที่คิดว่าเขาจะรับมือได้ไหม ในเชิงการจัดการงานที่ใหญ่ขึ้น แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่าอยากลองเสี่ยง เพราะเราอยากให้มีพลังงานของความทุ่มเทในเรื่องแรกไปด้วยกัน อีกอย่างคือคิดว่างานดีขนาดนี้ สักวันก็ต้องมีหนังเรื่องแรกอยู่ดี แล้วทำไมถึงจะไม่เป็นเรื่องนี้ล่ะ อีกคนก็ ‘พีท – กษิดิ์เดช สุนทรารชุน’ ฝ่ายเสื้อผ้า เคยทำโฆษณามาก่อน นี่เป็นหนังใหญ่เรื่องแรกเหมือนกัน แล้วพีทกับแป้งอายุรุ่นเดียวกับเรา เขาจะช่วย input บรรยากาศในยุคนั้นด้วย ไม่ใช่แค่ดูเรื่องเสื้อผ้า แต่ช่วยหลายอย่าง แม้กระทั่งสอนน้องนักแสดงเต้นเป็นโบ-จอยซ์”
หนังฝาแฝดที่ไม่มีนักแสดงฝาแฝดในกองถ่าย
การตามหานักแสดงฝาแฝดให้ตรงกับบทไม่ใช่เรื่องง่าย แววและวรรณจึงเลือกที่จะทำให้นักแสดงเพียงคนเดียวมีแฝดขึ้นมา ด้วยเทคนิคการถ่ายทำที่เพิ่มงานขึ้นเป็นสองเท่าตัว และใช้ประสบการณ์ของทั้งคู่ ถ่ายทอดให้ตัวละครมีความเป็นฝาแฝดอย่างสมบูรณ์ที่สุด
“ตอนแรกเราอยากได้แฝดจริงๆ เพราะเป็นหนังเรื่องแรกจะให้ถ่ายโดยใช้เทคนิคมากมายเราก็ไม่เซลฟ์ อยากจะคีพทุกอย่างให้ซิมเปิลเพื่อจะตัดความยากในการถ่ายทำออกไป แล้วถ้าได้นักแสดงที่เป็นแฝดจริงเขาอาจจะมีเคมีบางอย่างซึ่งเราเขียนขึ้นมาไม่ได้ มีหลายคนทักนะว่าหาไม่ได้หรอก แต่เราก็พยายามหาอยู่ดี”
“ก่อนที่จะแคสต์แฝดเคยเรียก ‘ใบปอ – ธิติยา จิระพรศิลป์’ มาแคสต์แล้วเพราะชอบหน้าน้องมาก ดูมีเสน่ห์ มีความเป็นธรรมชาติ มีมุมห้าวกับมุมหวานในคนเดียว คิดว่าถ้าจะให้ใบปอเล่นเป็นแฝดก็พอจะเป็นไปได้ แต่เราจะเหนื่อยมาก เราหาแฝดกันถึงที่สุดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็ยังไม่มีใครที่ตรงกับบท จนวันหนึ่งพี่โต้งถามว่า ถ้าใบปอมีสองคนจะเลือกไหม ก็ตอบว่าเลือกค่ะ เลยคุยกันว่าคงต้องก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ไปด้วยการทำให้ใบปอมีสองคน ซึ่งทุกแผนกก็ลุ้นว่าเราจะตัดสินใจยังไง เพราะทุกคนรู้ว่าถ้าเลือกใบปอมาแสดง การถ่ายทำจะยากขึ้นไปอีกเท่าตัว แต่เราก็คิดแล้วว่ามันคุ้มเหนื่อย”
“ตอนที่กำลังตัดสินใจว่าจะเลือกใบปอซึ่งไม่ใช่แฝดมาเล่น ก็กังวลนะว่าจะสูญเสียอิมโพรไวซ์บางอย่างที่แฝดมีต่อกันตามธรรมชาติไหม แต่พอเดินทางมาถึงวันนี้แล้วมองย้อนกลับไป รู้สึกว่าการที่เราเป็นแฝดกันจริงๆ แล้วต้องทำให้ใบปอมีสองคน เราสามารถสื่อสารให้น้องเข้าใจได้ว่าต้องไปในทิศทางไหน ใบปอถึงจะกลายเป็น ‘ยู’ กับ ‘มี’ ในเรื่องได้สมจริง และข้อดีของการใช้นักแสดงหน้าใหม่คือ คนดูไม่ติดภาพจำจากเรื่องไหนมาก่อน ภาพแรกที่เห็นน้องก็คือในหนังเรื่องนี้เลย ก็อาจจะทำให้เชื่อได้ง่ายขึ้นว่าน้องเป็นฝาแฝดจริงๆ”
พาสเทลของนครพนมกับยุคสมัยที่ความทรงจำเด่นชัดที่สุด
ความบังเอิญของกระแส Y2K ที่หวนกลับมาทำให้ ‘เธอกับฉันกับฉัน’ ได้รับความสนใจไม่น้อยจากสายตาผู้ชม ผนวกกับงานภาพที่สวยสะดุดตาซึ่งมีที่มาจากความตั้งใจและทุ่มเทของทีมงาน เพื่อให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะสมกับการฉายบนจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์
“ยุคปัจจุบันมันยากที่จะสับสนว่าแฝดคนนี้คือใครเพราะทุกคนมีโซเชียลมีเดียของตัวเอง เราแค่อยากสร้างโลกแฝดที่ไม่มีมือถือ ไม่มีโซเชียลมีเดีย ก็เลยคิดว่าคงต้องย้อนยุค ในบทร่างแรกๆ ยังไม่มีเซ็ตอัปยุค Y2K เข้ามา แต่ด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับความสับสนทางความรู้สึกของตัวละคร เลยทำให้นึกถึงช่วงนั้น ไม่ได้คิดเลยว่าจะกลายมาเป็นกระแส บังเอิญช่วงที่เรากำลังจะทำโปรโมตกระแส Y2K ก็เข้ามาในเทรนด์พอดี ถือเป็นดวงล้วนๆ”
“พอคิดว่าต้องใช้บรรยากาศย้อนยุคก็เริ่มรีเสิร์ช บวกกับค้นความทรงจำของตัวเองแล้วภาพในปี 1999 ที่จะข้ามไปปี 2000 ก็เด่นขึ้นมา เพราะมีข่าวลือว่าโลกจะแตกแล้ว เป็นช่วง 90’s ที่เฉพาะตัว มีความกึ่งเก่ากึ่งใหม่ เป็นปีที่ให้ความรู้สึกของการเปลี่ยนผ่าน ทั้งเทคโนโลยี แฟชั่น ซึ่งตัวละครเองก็เปลี่ยนผ่านเหมือนกัน เลยรู้สึกว่ายุคนี้เข้ากับหนังของเรา”
“เรารีเลทกับวัฒนธรรมอีสานเพราะมีครอบครัวฝั่งแม่เป็นคนอีสาน เขียนตั้งแต่ในบทว่าอยากให้เป็นพื้นที่ภาคนี้ แต่อยากนำเสนอมุมที่ไม่ใช่สไตล์ไทบ้านอย่างเดียว เพราะสื่อส่วนใหญ่จะนำเสนอภาพอีสานในแถบชนบท พวกเราคิดว่าอีสานมีหลายแบบ ก็เลยเลือกนำเสนอพื้นที่ในเมืองที่มีการผสมวัฒนธรรมทั้งจีน อีสาน และไทย”
“ภาพในจินตนาการเริ่มมาจากความทรงจำวัยเด็กที่ได้ไปอยู่บ้านยาย เป็นตึกแถวที่ทำร้านค้าขาย สุดท้ายมาจบที่นครพนม เพราะบรรยากาศในหนังต้องย้อนยุค จำเป็นต้องเลือกเมืองเล็กที่มีบรรยากาศแบบหวนถึงอดีต ต้องมีความเก่า จะใช้เมืองใหญ่ในอีสานไม่ได้ เพราะตอนนี้พัฒนากันไปไกลแล้ว พอทีมโลเคชั่นเอาภาพนครพนมมาให้ดูก็เห็นว่ามีโซนที่อนุรักษ์ไว้ เป็นตึกรามบ้านช่องที่เก่าแล้วเข้ากับยุคในหนัง แล้วเราก็ชอบสีสันของเมืองนครพนม เพราะเป็นสีพาสเทลที่ไม่หวานเลี่ยนจนเกินไป เป็นพาสเทลที่มีโทนหม่นๆ พอเห็นโทนสีของนครพนม นี่แหละ เลยเป็นที่มาของสีที่ใช้ในหนังเรื่องนี้ด้วย”
“ณ วันแรกที่จะเริ่มโปรเจกต์นี้ เราคุยกันว่าอยากให้เป็นหนังบรรยากาศ นอกจากเรื่องและตัวละครที่ดำเนินไป อยากให้เห็นดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ที่ถ่ายมา เห็นนกตัวเล็กที่บินอยู่ทางนี้ ละอองน้ำที่ตั้งใจทำ เราคิดว่าหนังเรามีงานภาพเด่น แล้วก็อยากให้ฟังเสียงดีๆ ด้วย พวกเราตั้งใจกับทุกองค์ประกอบในหนังจริงๆ เช่น ทำสีบางมุมให้สว่างขึ้น หรือทำแดดให้โกลว์ขึ้น รวมถึงในเชิงอาร์ตด้วย ที่ตั้งใจเซตขึ้นมาแบบเรียลๆ เอากิ๊บติดผมมาหนีบกระดาษ มีกล้วยเน่าแขวนอยู่ในมุมหนึ่ง ไม่มีคนกินนะ แต่ต้องมีแขวนไว้ อะไรแบบนี้ที่ตั้งใจใส่ลงไป ก็เลยอยากให้คนมาดูในโรงภาพยนตร์ เพื่อที่จะได้เห็นและซึมซับบรรยากาศที่พวกเราตั้งใจปั้นขึ้นมาอย่างเต็มที่”
ในช่วงท้ายของบทสนทนา เราถามถึงความคิดเห็นที่แววและวรรณเลือกนำเรื่องราวของฝาแฝด ที่ดูเหมือนจะชอบผู้ชายคนเดียวกันมานำเสนอ และให้ทั้งคู่ทิ้งท้ายด้วยสิ่งที่คาดว่าผู้ชมจะได้กลับไปหลังจากดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งคำตอบของสองผู้กำกับสาวยังคงเรียบง่าย ทว่ามีนัยยะสำคัญที่ชวนให้คิดว่า ท้ายที่สุด เรื่องราวของเธอกับฉันกับฉันจะจบลงอย่างไร และมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในระหว่างทาง
“เราคิดว่าไม่สามารถตัดสินได้ว่าในโลกนี้ไม่มีฝาแฝดคู่ไหนชอบผู้ชายคนเดียวกัน เหมือนเคยเห็นข่าวอยู่นะ ที่แต่งงานด้วยกัน 3 คน แต่ถามว่ามันเป็นเคสที่แปลกประหลาดไหม ก็คงใช่แหละ เรารู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องทั่วไปที่ฝาแฝดจะชอบคนเดียวกัน แต่ในหนัง เราใส่ที่มาที่ไปและเหตุผลที่ทำให้เกิดความชุลมุนทางความรู้สึกไว้หมดแล้ว อยากให้ทุกคนได้ดูเรื่องเต็มก่อน เพราะเห็นในทีเซอร์เป็นแบบนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าพล็อตจะเป็นอย่างที่ทุกคนคิด”
“คนที่ดูจบน่าจะได้ความรู้สึกอุ่นๆ อยู่ในตัว แล้วก็อาจจะได้รับความคิดถึงบางอย่างกลับไป เช่น คิดถึงยุคนั้น คิดถึงเพื่อนที่เคยสนิทมาก คิดถึงครอบครัว อะไรก็ตามที่มีมวลของความคิดถึงอยู่ในนั้น เราบอกได้แค่ว่าเรื่องนี้เป็นหนังฟีลกู้ดแน่ๆ แต่จะฟีลกู้ดแบบร้องไห้หรือไม่ร้องไห้ อันนี้แล้วแต่คนดูนะ ถ้ามีคนดูแล้วร้องไห้ เราว่าคงเป็นน้ำตาจากความรู้สึกที่ดีแหละ”
แม้คำตอบของบางคำถามจะยังไม่มีเฉลยที่แน่ชัด เพราะภาพยนตร์ยังไม่ได้เริ่มฉาย แต่การพูดคุยในวันนี้ก็ทำให้รับรู้ได้ว่า แวววรรณและวรรณแววทุ่มเทกับการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้มากแค่ไหน และการทำหนังฝาแฝดโดยไม่ใช้นักแสดงฝาแฝดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียวสำหรับผู้กำกับฝาแฝดทั้งสองคน หากอยากรู้ว่าหนังรักโรแมนติกอย่าง ‘เธอกับฉันกับฉัน’ จะเรียกน้ำตาของผู้ชมได้จริงหรือไม่ อาจจะต้องลองพิสูจน์ด้วยตาตัวเองตั้งแต่ วันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ที่โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ