Culture

Talk with Zombie (Books) – บทสนทนาจากเจ้าของ ‘เห็นอกเห็นใจ โภชนา’ ร้านอาหารที่ยังคงมีหนังสือจัดวางไว้ในทุกพื้นที่

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 21 มาถึงแล้ว หลายคนอาจมีหนังสือที่หมายตาเอาไว้เพื่อรอซื้อในราคาที่ถูกลง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกสำหรับโลกแห่งทุนที่ทุกย่างก้าวล้วนต้องใช้จ่ายด้วยเงิน โดยเฉพาะในประเทศที่แวดวงหนังสือไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากเท่าที่ควร การเข้าถึงและจับต้องราคาของหนังสือในปัจจุบันได้โดยที่กระเป๋าสตางค์ไม่บอบช้ำจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงผู้อ่านเท่านั้นที่ต้องใช้จ่ายทว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหนังสือย่อมมีต้นทุนที่ต้องแบกรับเช่นเดียวกัน

วันนี้ EQ จึงชวน ‘โต้ง’ – ประวิทย์ พันธุ์สว่าง เจ้าของร้านหนังสือ ’ซอมบี้ บุ๊กส์’ (Zombie Books) ซึ่งปัจจุบันได้ย่นย่อ และแปรสภาพร้านหนังสือดังกล่าวให้แทรกซึมไว้อยู่ภายในร้านอาหารที่ชื่อว่า ‘เห็นอกเห็นใจ โภชนา’ มาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์การทำร้านหนังสือที่สะท้อนทั้งภาพชีวิตของเจ้าของร้าน ขณะเดียวกันก็ฉายภาพสะท้อนบางสิ่งของสังคมไปพร้อมกัน

ก่อนการเกิดขึ้นของซอมบี้ (บุ๊กส์)

บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นในวันที่ร้าน ‘เห็นอกเห็นใจ โภชนา’ สาขานาคนิวาส เปิดทำการในวันแรกๆ ภายในร้านมีหนังสือจำนวนมาก และโต๊ะเก้าอี้สำหรับรองรับลูกค้าอย่างเป็นสัดเป็นส่วน แม้พื้นที่จะไม่ได้กว้างขวางอย่างร้านสาขาแรกที่ RCA แต่กลิ่นอายความเป็นซอมบี้ บุ๊กส์ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ไม่น้อย หากให้เท้าความสำหรับใครที่ไม่เคยรู้จักร้านหนังสือซอมบี้ บุ๊กส์ อาจจะเล่าถึงสถานการณ์โดยสรุปได้ว่า ซอมบี้ บุ๊กส์เคยเป็นร้านหนังสือที่ซ่อนตัวอยู่ในย่าน RCA มาก่อน ในระยะหลังที่สถานการณ์ต่างๆ ไม่สู้ดีนักจึงมีข่าวคราวว่า ร้านหนังสือแห่งนี้กำลังจะปิดตัวลง กระทั่งโต้งได้ลองหันมาทำร้านอาหาร และพบว่าธุรกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงตัดสินใจใช้ร้านอาหารนำร้านหนังสือ และย้ายหนังสือจากร้านซอมบี้ บุ๊กส์ที่ปิดกิจการจากสาขา RCA มาไว้ในร้านอาหารที่สาขานาคนิวาส ซึ่งหนังสือที่เรียงรายอยู่ในร้านนั้นเรียกได้ว่า หากใครเห็นก็อาจจะเผลอเข้าใจว่า นี่คือ ร้านหนังสือที่มีอาหารขายควบคู่ไปด้วยกัน ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่สะท้อนเสน่ห์จำเพาะของร้านอาหารที่มีเจ้าของเป็นผู้คลุกคลีในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน

ในช่วงต้นของบทสนทนาเราเลือกที่จะถามถึงชีวิตของโต้งก่อนที่จะมาเปิดร้านหนังสือซอมบี้ บุ๊กส์ เพราะอยากทำความรู้จักกันมากขึ้น และคำตอบที่ได้ฟังก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะโต้งไม่ใช่หนอนหนังสือตั้งแต่วัยเยาว์อย่างเราที่คาดการณ์ไว้ แต่เพิ่งเริ่มอ่าน และชื่นชอบหนังสือในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อได้เจอหนังสือที่อ่านแล้วชอบจึงอ่านมาเรื่อยๆ และอยู่ในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับหนังสือมาจนถึงปัจจุบัน

“ผมเริ่มอ่านหนังสือตอนโตแล้ว ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย พอดีมีพี่เขยเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เขาก็เอาหนังสือมาให้อ่าน บอกให้ลองอ่านดูเพราะเห็นว่า เราว้าวุ่น พอได้อ่านเล่มหนึ่งก็เริ่มติดแล้วอ่านมาเรื่อยๆ...เล่มแรกๆ น่าจำเป็น ‘ฤทธิ์มีดสั้น’ แล้วก็ ‘เหยี่ยวเดือนเก้า’ พออ่านจบก็ไล่อ่านครบชุด ตอนแรกผมอ่านแค่งานคนไทย สักพักก็เริ่มอ่านงานแปล ช่วงนี้ก็เริ่มอ่านเคโงะเหมือนกันนะ เพราะเดี๋ยวนี้เทรนด์นวนิยายจะเป็นแนวสืบสวนสอบสวน ผมคิดว่า การวางโครงสร้างของบทเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนเรื่องโคนัน คนอ่านก็คงชอบโครงสร้างในการเล่า แต่ถามว่าชีวิตจริงใครจะไปอยากอยู่ใกล้ พอไปใกล้เดี๋ยวต้องมีคนตายแน่เตรียมตัวเลย”

นอกจากนี้ก่อนจะมีซอมบี้ บุ๊กส์โต้งยังเคยเปิดร้านหนังสือมาแล้ว 2 แห่งคือ ร้าน ‘Ten Book Shop’ ที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเป็นผู้เริ่มทำร้านหนังสือ ‘Candide Books’ สาขาแรก ซึ่งในภายหลังได้มีผู้มาติดต่อซื้อกิจการไป จากนั้นจึงได้เริ่มมาเปิดร้านซอมบี้ บุ๊กส์ ที่ RCA และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ โต้งยังพ่วงตำแหน่งนักเขียนที่มีผลงานหนังสือกว่า 13 เล่ม และบทภาพยนตร์อีก 2 เรื่อง ซึ่งผลงานต่างๆ นี้ถูกเผยแพร่ผ่านนามปากกาที่โต้งขอสงวนไว้  

“ผมคิดว่า ผมเป็นมนุษย์ประเภททำอะไรก็ต้องสุดทุกอย่างในชีวิต ไม่เคยทำครึ่งๆ กลางๆ จะทำอะไรก็ต้องศึกษาไปให้สุด ตอนที่เริ่มเขียนหนังสือก็ไม่ได้คิดว่า จะตั้งใจเขียนแต่ทำไปทำมาก็กลายเป็นเขียนออกมาหลายเล่ม พอรู้ว่าตัวเองทำได้ ก็เขียนหนังสือมาเรื่อยๆ แล้วก็เริ่มเขียนบทภาพยนตร์ จากนั้นก็มาทำร้านหนังสือ ทำสำนักพิมพ์แบบที่เห็น”

เมื่อถามถึงเหตุผลที่โต้งคิดจะเปิดสำนักพิมพ์ซอมบี้ บุ๊กส์ หลังจากเปิดร้านหนังสือมาได้ระยะหนึ่ง คำตอบที่ได้ก็ช่วยตอกย้ำว่า โต้งเป็นคนที่ทำอะไรแล้วไปสุดทุกทางอย่างที่กล่าวไว้จริงๆ

“เมื่อก่อนผมคัดหนังสือเข้าร้านเองจะหนักกว่านี้นะ เดี๋ยวนี้ให้เด็กๆ ช่วยคัด สมัยก่อนถ้าเล่มไหนไม่ชอบผมไม่เอามาขายเลย เรียกว่า เราพอจะรู้จักทางของหนังสือ ก็ไม่ถึงกับเคยอ่านทุกเล่ม แต่เราดูหลายอย่าง ดูสำนักพิมพ์ด้วย เพราะบางสำนักพิมพ์ พิมพ์งานเล่มบางมากแต่ขาย 300 บาท ผมก็ไม่ขายให้นะ สาเหตุที่ผมทำสำนักพิมพ์ซอมบี้ บุ๊กส์ขึ้นมาเพราะ ผมไม่ชอบใจตรงนี้ ถ้าขายหนังสือกันแพงคนก็จะไม่ได้อ่านหนังสือไง”

ร้านหนังสือที่เป็นมากกว่าธุรกิจ

ซอมบี้ บุ๊กส์เป็นร้านหนังสือที่มีการเปรยอยู่หลายครั้งว่าจะปิดตัวลง และทุกครั้งที่แจ้งข่าวสารออกไปก็จะมีลูกค้าแวะเวียนไปช่วยอุดหนุน ทว่าสภาพการณ์ของรายได้ก็ยังคงเส้นคงวาผนวกกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตทำให้โต้งตัดสินใจปิดร้านหนังสือแห่งนี้ และหากใครติดตามแฟนเพจของร้านก็จะเห็นว่า มีการแชร์เรื่องราวต่างๆ ในมุมของคนทำร้านหนังสือ ซึ่งเป็นแง่มุมที่ไม่ค่อยได้เห็นจากร้านหนังสืออื่นๆ มากนัก นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราเลือกเดินเข้ามาพูดคุยกับโต้ง เพื่อแชร์ให้เห็นอีกด้านของการทำกิจการนี้ 

“ทำร้านหนังสือผมไม่ได้มองเป็นธุรกิจเลย แค่ทำให้ไม่เจ๊งก็ยากแล้ว แต่ทำให้มีกำไรเป็นแสนยากกว่า อย่างร้านที่ RCA ก่อนเลิกกิจการเราเปลี่ยนมาทำร้านอาหาร นี่เป็นงานที่ผมทำแล้วมันเลี้ยงตัวเองได้ ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อเอากำไร ตอนแรกคิดแค่ว่า อยากให้คนแถวนั้นกินข้าวไม่ต้องแพง ให้เด็กที่ร้านมีข้าวกินจะได้อยู่กันได้ เพราะแถว RCA ข้าวแพงมาก  

พอตรงนั้นได้กำไร ผมก็ได้สติว่า ชีวิตผมเสียเงินกับเรื่องที่สร้างรายจ่ายค่อนข้างเยอะ สุดท้ายเลยตัดสินใจเลิกทำร้านหนังสือ พอเลิกทำของก็เต็มบ้าน แล้วพอดีร้านนี้ (สาขานาคนิวาส) อยู่ใกล้บ้านผม ค่าเช่าก็ไม่แพงเลยมาเปิดที่นี่ บอกตรงๆ ว่าที่เห็นในร้านมีหนังสือเยอะเพราะ ไม่มีที่เก็บ ที่เห็นคือ 1 ใน 3 ของสต็อกที่มี ยังมีอยู่ที่ร้านเก่าอีกเยอะมาก ผมสามารถเอาหนังสือที่มีไปเปิดร้านอีก 2 สาขาได้สบายเลย เป็นเรื่องที่หนักใจเหมือนกัน ผมรู้สึกว่า บรรยากาศที่นี่ไม่รีแล็กซ์เท่าที่ควร ก็คงต้องค่อยๆ ปรับไป” 

“ตอนทำที่ RCA รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เดือนหนึ่งก็เกือบแสน หนังสือก็เรียกได้ว่า ขายวันละเล่มสองเล่ม หลายครั้งพอเราบอกจะปิดคนก็แวะมาช่วยอุดหนุน แต่พอเปิดร้านอีกครั้งยอดขายก็เหมือนเดิม ต้องทำใจให้ได้ว่า มันอยู่เท่านี้แหละ แต่ผมก็เข้าใจว่ามีร้านหนังสืออีกหลายแห่งที่เขาอยู่ได้ เพราะเน้นขายออนไลน์ ซึ่งต้องมีคนที่เป็นหนังสืออยู่ด้วย และคอยแอคทีฟบ่อยๆ อย่าง Readery กำมะหยี่ เขามีไฟก็ทำได้ดี ผมว่าสมัยนี้เป็นเรื่องของเด็กแล้ว เราคิดว่าเราก็เก่งเรื่องคอนเทนต์ แต่เด็กมันเก่งกว่า แล้วอีกอย่างก็เป็นเรื่องของยุคสมัย งานใหม่ๆ ผมเองก็ไม่ค่อยได้อ่าน รู้สึกว่าไม่ใช่ทางเรา แต่เด็กๆ หรือคนที่อยู่ในตลาดเขาอ่านงานแบบนี้กัน กลายเป็นว่าสิ่งที่เราชอบไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นชอบอีกต่อไป ”

“ซอมบี้ บุ๊กส์ขาดทุนมาจะสิบปีแล้ว ช่วงที่ขายดีเคยขายได้วันละหลายหมื่น เป็นช่วงเปิดร้านใหม่ๆ ซึ่งผมทำเองอยู่เกือบปี แต่ผมอยากบอกว่า คนที่จะทำร้านหนังสือ ถ้าไม่ได้ลงไปทำเองก็อย่าทำเลยเพราะสต๊อกจะหาย ถ้าสังเกตหลายๆ ร้านจะเห็นว่าเจ้าของทำเองทั้งนั้น เพราะถ้าคนที่ไม่ได้ชอบหนังสือจริงๆ จะอยู่ไม่ได้ หรืออยู่ได้ก็ไม่นาน อย่างผมเนี่ย หนังสือหายไป 400,00 - 500,000 บาท ถ้าขายแล้วเงินขาดทุนประมาณนี้ก็ยังโอเคนะ แต่หายแบบนี้น่าตกใจมากเพราะแปลว่า หนังสือต้องหายไปหลายพันเล่ม แต่ยังไงเราก็โทษตัวเองก่อนว่า เป็นเพราะเราไม่ลงไปทำเอง เหมือนคุณเอาลูกไปฝากพี่เลี้ยง พอมีปัญหาคุณก็ต้องโทษตัวเองก่อนแหละ ที่ไม่ยอมเลี้ยงลูกเอง”

แม้การรักษาธุรกิจร้านหนังสือเอาไว้ท่ามกลางภาระหลายอย่างที่ต้องแบกรับจะไม่ใช่เรื่องง่าย และการเปิดร้านสาขาใหม่ก็มีเรื่องที่ต้องแบกรับมากพอสมควร แต่ถึงอย่างไรร้านของโต้งก็ยังคงคอนเซ็ปต์ฆ่าไม่ตายตามแบบฉบับของซอมบี้ บุ๊กส์เสมอมา หลังจากที่ร้านหนังสือสาขา RCA ได้ปิดตัวลง และได้หันมาเปิดร้านอาหารภายใต้ชื่อ ‘เห็นอกเห็นใจ โภชนา’ เราก็ยังคงเห็นหนังสือจำนวนมากรายล้อมอยู่ภายในร้านอาหารทั้ง 2 สาขา ซึ่งทำให้กลิ่นอายความเป็นซอมบี้ บุ๊กส์ไม่ได้จางหายไปไหน

นอกจากนี้โต้งยังได้เล่าย้อนถึงเหตุผลที่เลือกเปิดร้านซอมบี้ บุ๊กส์สาขาแรกในย่าน RCA ว่า เขาคิดว่าเป็นโลเคชันที่ดีที่สุดแล้วในตอนนั้น แม้หลายคนจะติดภาพจำว่าเป็นย่านของสถานที่ท่องเที่ยวยามราตรีก็ตาม

“ผมอยู่มาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ HOUSE RCA ยังอยู่ ไม่เคยมีปัญหาเลย เรื่องความปลอดภัยนี่ 100% คนไปจำกันว่าเป็นที่รวมผับบาร์ ผมแค่รู้สึกว่า ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย ผมถึงเอาบาร์เข้าไปอยู่ในร้านไง เราน่าจะเป็นเจ้าแรกๆ ด้วยซ้ำ ที่มีบาร์ลับบนร้านหนังสือ แล้วผมก็คิดว่า RCA นี่ดีที่สุดแล้ว เพราะใกล้โรงเรียน ใกล้สถานีตำรวจ ใกล้โรงพยาบาล ใกล้ทางด่วน ใกล้ห้าง ใกล้ที่เที่ยวด้วย ผมคิดถึงคนที่จะมาว่า ถ้ามาแล้วจะมาอยู่อย่างไร อ่านหนังสือเสร็จแล้วสามารถไปไหนต่อได้บ้าง จะกินข้าวร้านข้างๆ ได้ไหม ไปดูหนังต่อได้ไหม เขาเสียเงินเดินทางมาหาเราแล้ว ควรจะมีอย่างอื่นทำด้วย ไม่ใช่ว่า มาปุ๊บซื้อหนังสือเล่มเดียวแล้วกลับบ้าน ค่ารถก็แพงกว่าค่าหนังสือแล้วถูกไหม ตอนทำร้านผมก็คิดแบบนี้ อยากให้คนที่มาได้ซึมซับบรรยากาศ เลยทำร้านให้มีที่นั่งเล่นได้ เพราะบางคนมาจากที่ไกลๆ เพื่อซื้อหนังสือ 1-2 เล่ม ถ้าจะให้เขากลับบ้านเลยผมก็รู้สึกว่าโหดเกินไป เลยอยากให้มีพื้นที่ในร้านที่ใช้เวลาอยู่ได้นานๆ แต่ผมก็ไม่ได้บังคับนะ ถ้าบางคนจะมาซื้อแล้วกลับไปเลยผมก็ยินดี”

คุณค่าที่มาจากคำว่า ‘ไม่สำเร็จ’

จากการสนทนาร่วมกันมาสักระยะหนึ่งทำให้ทราบว่า โต้งเป็นบุคคลหนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือ และสำนักพิมพ์มาพอสมควร แต่ด้วยระบบ และปัจจัยหลายๆ อย่าง จึงทำในภายหลังเขาตัดสินใจถอยออกมาทำร้านของตนเองเงียบๆ และปัจจุบันหนังสือส่วนใหญ่ที่เห็นในร้าน ‘เห็นอกเห็นใจ โภชนา’ ก็เป็นหนังสือที่รับมาขายจากสำนักพิมพ์ที่เป็นกัลยาณมิตรกันในชีวิตจริงเท่านั้น

“หลังๆ ผมเบื่อเรื่องการลดราคาหนังสือด้วย เมืองนอกเขาจะมีกฎหมายควบคุมเลยนะ ถ้าลดราคาหนังสือใหม่เกินที่กำหนด คุณติดคุกได้เลย เพราะการลดราคาทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ และกระทบระบบ... โดยทั่วไปทำหนังสือเล่มหนึ่งต้องแบ่งให้สายส่ง 40% ถ้าร้านเล็กๆ อยากได้หนังสือของสำนักพิมพ์ก็ต้องไปซื้อจากสายส่งใหญ่ๆ สมมุติผมรับหนังสือจากสายส่ง เขาให้ผม 25% แต่สำนักพิมพ์ออกหนังสือใหม่ Pre-order ลด 25% คุณจะทำอย่างไรต่อ ในเมื่อรายได้ก็เท่าทุน แต่ผมก็คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ สมัยก่อนตอนที่ประเทศไทยยังไม่มีงานหนังสือ และสำนักพิมพ์ยังไม่ค่อยมีทางเลือกด้วย  สายส่งที่มีร้านหนังสือเป็นของตัวเองก็จะมีเงื่อนไขว่า ถ้ายอมจ่ายเพิ่มขึ้น 45% จะเอาหนังสือไปวางในจุดที่ดีกว่าเดิมมีคนมองเห็นมากขึ้น จนกระทั่งมีสำนักพิมพ์มารวมตัวกันขายหนังสือแล้วลดราคา (ในงานสัปดาห์หนังสือ) พอขายดีก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเลย ต้องบอกว่าขายแค่ปีละสองครั้งก็อยู่ได้แล้ว เพราะปกติเวลาสำนักพิมพ์ตั้งราคาจะเผื่อไว้ 40% เพื่อหักค่าใช้จ่ายให้สายส่ง หนังสือที่ควรจะขายในราคา 120 ถึงต้องขาย 200 บาท พอเอาหนังสือของตัวเองมาลด 25% ในงานหนังสือก็ถือว่ายังได้กำไรเพิ่ม เพราะไม่ผ่านสายส่ง ผมถึงบอกว่า คนที่ทำหนังสือไม่ตาย เพราะผลกระทบจากงานหนังสือหรอก แต่คนที่เจ็บคือ คนทำร้านหนังสือมากกว่า เพราะเราลดราคาแข่งกับเขาขนาดนี้ไม่ได้”

“อย่างที่เคยบอกว่า ทำร้านหนังสือไม่ให้ขาดทุนก็ยากแล้ว ถ้าใครทำดีก็อาจจะรอดแต่คงต้องทำสาขาใหญ่นะ และสิ่งสำคัญที่สุดผมว่า ต้องจริงใจ ถ้าคุณชอบหนังสือเล่มนี้แล้วอยากขาย เพราะรู้สึกว่ามันดีจริงๆ คนอ่านก็จะเชื่อว่าดี แล้วจะช่วยคุณซื้อ ผมก็เพิ่งมารู้ว่าระยะหลังฝรั่งยังอ่านหนังสือน้อยลงเลย อันนี้น่ากลัวมาก แปลว่า คนอยู่กับหน้าจอเยอะ แต่ถ้าพฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนไปจริงๆ ก็ต้องให้มันเปลี่ยน เราจะไปทำอะไรได้ แต่กับเรื่อง E-book ผมไม่ได้มองว่าทำร้ายใครนะ ให้คนได้อ่านเถอะ สาระสำคัญอยู่ที่ยังอ่านอยู่ไหม ถ้าคนยังอ่านก็จบ จะอ่านจากไหนก็เรื่องของเขา ถ้าเขาอ่านจากหน้าจอแล้วได้รับ�