“Errorvisionary” สไตล์ลิสต์รุ่นใหม่ คิดไกลเหนือจินตนาการ!

จากเด็กติดเกมในวันนั้นกลายเป็น เกม - อธินพ นิติเจริญ สไตล์ลิสต์ในวันนี้ และเป็นเจ้าของ Errorvisionary ที่หยิบจับและดีไซน์เสื้อผ้าแต่ละคอลเลคชันจากการลองผิดลองถูก ทั้งในโลกของเกมและในโลกในชีวิตจริงของเขา ถือว่าเป็นอีกสไตล์ที่มีคาแรกเตอร์และตัวตนที่ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์จนถึงทุกวันนี้ก็ทำมานาน 6 ปีแล้ว 

ชื่อเกมก็ได้มาจากการที่เขาติดเกมหนักมาก จนแม่ต้องตั้งเป็นชื่อเล่นให้ เพราะเขาเล่นแบบจริงจังและเสียตังค์ไปกับเกมทุกประเภท! ทำให้เขาค้นพบ "ความผิดพลาด" ที่เกิดจากการใช้ชีวิต ณ ช่วงนั้น แต่ถ้าเขาไม่พลาดไปติดเกมในวั้นนั้น เขาก็คงไม่ได้ทดลองสร้างเกมแฟชั่นขึ้นมาใหม่ในแบบที่เขาอยากให้เป็นในวันนี้

“เกมมีองค์ประกอบเยอะมาก ทุกคนสามารถเลือกแต่งตัวได้ในแบบที่เขาอยากเป็น ผมเลยเปลี่ยนโลกความจริงให้เป็นเกมที่ผมอยากเล่น เหมือนเราได้แต่งตัวแบบโลกในเกม และช่วยคนแต่งตัวในชีวิตจริง”

เล่นเกมจนแยกโลกในเกมกับความจริงไม่ได้!

"กว่าจะแยกโลกจากเกมออกมาเราใช้เวลา 5 ปี ผมเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่าต้องเลิกเล่นเกมแบบจริงๆ แล้วไปเอาดีด้านการใช้ชีวิตดีกว่า ไปเรียนหนังสือ ไปแข่งขัน ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เหมือนทำเควสในเกมเลยครับ เราเลยทิ้งแบบนั้นไว้ข้างหลังหมดและพยายามเลิกเล่นเกม เพื่อเอาเวลามาดีไซน์ชีวิตจริงของเรา ทุกวันนี้ผมไม่เล่นเกมในคอม ผมใช้ชีวิตเป็นเกมและเล่นเกมในชีวิตจริง เพื่อดีไซน์เกมให้เหมือนชีวิตจริงที่ตัวเองสร้าง"

เลิกเล่นเกม แล้วหันมาสนใจด้านแฟชั่น

"พอโตขึ้นมาหน่อยก็เริ่มดูแฟชั่นโชว์ เริ่มรู้สึกว่าในแฟชั่นโชว์มันมีองค์ประกอบเยอะเหมือนในเกมเลย ทั้งเสื้อผ้า คอนเซ็ปต์ รูปแบบ คาแรกเตอร์ของตัวละคร และเพลงกับดนตรีประกอบ เลยเริ่มรู้สึกว่าแฟชั่นโชว์คือสิ่งที่ตอบโจทย์เรา เลยลองพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับแฟชั่นมาเรื่อยๆ จนได้มาฝึกงาน และรู้สึกว่างานสไตล์ลิสต์เป็นงานที่ตอบโจทย์เรามากที่สุด และเริ่มทำงานสไตล์ลิสต์ตั้งแต่ตอนเริ่มฝึกงานทันที ลองผิดลองถูกและช่วยคนอื่น และนำมาปรับมาใช้ในรูปแบบของเราเอง พอเริ่มมีโอกาสได้ทำคอนเซ็ปต์ส่วนตัวมันก็หยุดไม่อยู่แล้ว เหมือนได้เล่นเกมไปเรื่อยๆ เหมือนคนติดเกม"

Errorvisionary

"Error มาจากที่ผมกล้าลองผิดลองถูกตั้งแต่เด็กๆ ที่แยกโลกไม่ออกว่าอันไหนความจริงอันไหนคือเกม พลาดตรงนั้นมาก็รู้แล้วว่า ควรจะเอามาปรับใช้ให้มันดีขึ้นยังไงกับทั้งตัวเองและคนรอบข้าง มันเหมือนอิคิไก ที่พยายามหาตรงกลางในสิ่งที่ตัวเองชอบ ส่วน visionary มาจากผมไปทำควิชๆ หนึ่ง ช่วงหลายปีก่อน เป็นควิชเกี่ยวกับ คุณเป็นคนแบบไหนในครีเอทีฟโซไซตี้ แล้วผมได้ visionary ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่น่าสนใจ เลยเอามารวมกันให้ได้คำใหม่ขึ้นมา"

"งานที่ทำเหมือนเกมที่ผมสร้าง มีตัวละคร รายละเอียดต่างๆ และคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้คนที่เข้ามาเล่นมีความสุขไปกับเกมของเรา เพราะทุกคนพยายามเล่นเกมเพื่อให้งานออกมาประสบความสำเร็จอย่างงดงามที่สุด”

จุดเด่นและจุดแข็ง Errorvisionary

"จุดเด่นคือ ผมเข้าไปคุยกับลูกค้าแล้วผมช่วยออกแบบคาแรกเตอร์ ช่วยดูข้อดีข้อเสียของเขา คือไปทำความเข้าใจแล้วมาอธิบายกับสิ่งที่เขาเป็นอยู่ ส่วนจุดแข็งคือ การเคารพในตัวตนที่เขาแตกต่าง เหมือนกับว่าทุกคนมีความแตกต่างของแต่ละคน รูปร่างไม่เหมือนกัน ผมก็จะเคารพความเป็นตัวเขา คือถ้าเราเคารพเขาเราก็จะรู้ว่าข้อดีของเขาคืออะไร เราก็จะนำมาปรับใช้เป็นไอเดียของเรา เหมือนเอาข้อมูลของเขามาบวกตัวตนของเรา มันก็จะได้สิ่งใหม่ขึ้นมา"

ผลงานที่ภาคภูมิใจ 

"ชิ้นที่เคยทำเมื่อตอนเริ่มต้นทำงานสไตล์ลิสต์ช่วงแรกๆ 3 - 4 ปีก่อนที่เป็นงานของตัวเอง เพราะได้ปลดปล่อยสิ่งที่อยากทำจริงๆ เป็นงานที่ลงใน FGUK เรื่อง LGBT เพราะผมพยายามสื่อสารเรื่องนี้ ผ่านรูปลักษณ์ที่ไม่ตรงตาม Stereotype ผมแค่เริ่มรู้สึกว่า Stereotype ของแต่ละคน มันมี Beauty Standard มันครอบคนเยอะเกินไป ทำไมการที่เราเป็น LGBT เราฟังเพลงร็อคไม่ได้เหรอ เราต้องดูอ่อนหวานเหรอ เราเป็นคนแข็งกร้าว ชอบใส่เสื้อผ้าสีดำ ใส่หมุดไม่ได้เลยเหรอ ทุกคนแตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ ทำไมเราต้องมานิยามคนผ่าน Beauty Standard ผมรู้สึกดีและโอเคที่ได้พูดออกไป เลยพยายามทำงานให้ฉีกกรอบของคนทุกคนออกมา เพื่อให้ทุกคนกล้าที่จะเป็นตัวเองมากยิ่งขึ้น"

ส่วนหนึ่งของความงดงามในความสำเร็จ

"คนแต่งตัวเขาก็มีสไตล์การแต่งตัวของเขา ถ้าเขาต้องการสไตล์ลิสต์แสดงว่า เขาต้องมีความไม่มั่นใจบางอย่างที่ต้องศึกษา เราก็พยายามกระโดดไปหาข้อดีของเขาก่อนว่าคืออะไร และสิ่งที่เขารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาของเขาหรือข้อเสียของเขาคืออะไร เหมือนเขากำลังพยายามทำความสำเร็จของเขาให้มันออกมางดงามที่สุด เหมือนเราเข้าไปช่วยประดับความสำเร็จของเขา เสื้อผ้าที่สไตล์ลิสต์จัดให้จะใช้ในโอกาสสำคัญที่เขาจะออกงานหรือทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขากำลังจะโชว์ความสำเร็จของเขา แต่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จ เพื่อให้งานออกมางดงามงดงามยิ่งขึ้น"

หลักการทำงานของคุณเกมเริ่มจาก ดูคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ โดยทำงานควบคู่กับไดเรกเตอร์เพื่อทำความเข้าใจตัวตนของแต่ละคนอย่างชัดเจน เน้นดึงข้อดีหรือจุดเด่นเพื่อโชว์ให้ประจักษ์แก่สายตาผู้ที่พบเห็น ในส่วนของจุดด้อยหรือข้อเสียก็จะเบี่ยงเบนสายตาและความสนใจของคนดู เพราะฉะนั้น งานเสื้อผ้าจากสไตล์ลิตส์คนนี้ใส่แล้วปังไม่มีโป๊ะแน่นอน

1 วันกับการทำงานสไตล์ลิสต์

"อันดับแรกก็จะเริ่มพูดคุยกับลูกค้าก่อน เราต้องไปเรียนรู้สิ่งที่เขาเป็นและทำความเข้าใจกับเขาก่อน เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันในทีม ต่อมาก็จะเป็นส่วนของคอนเซ็ปต์ เขียนคอนเซ็ปต์ และวางรูปแบบการสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน จากนั้นก็คุยรายละเอียดเรื่องเสื้อผ้า อาจจะตัดใหม่ หรือตามหาจากดีไซน์เนอร์เพื่อช่วยผลักดันแบรนด์เสื้อผ้าให้ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น ซึ่งใน 1 วันจะวุ่นวายไปกับการประสานงานซะมากกว่า (หัวเราะ) เพราะคอนเซ็ปต์ส่วนใหญ่ผมมีอยู่ในหัวแล้ว เราทำการบ้านเอาไว้เยอะ ผมเลยสามารถดึงมาใช้กับงานที่ทำได้เสมอ"

ความท้าทาย ความยากง่าย

"ส่วนใหญ่โปรเจคของผมจะเป็นมนุษย์ทดลอง เราก็ต้องดีไซน์ขึ้นมาใหม่หมดเลยว่าคาแรกเตอร์เป็นยังไง และการทำให้ออกมาใกล้เคียงกับภาพในจินตนาการของทุกคนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีองค์ประกอบเยอะมาก การเป็นสไตล์ลิสต์ไม่ใช่งานภาพวาด เป็นการประสานงาน นำนางแบบ นำทีมงานทุกคนมารวมกัน อยู่ในจุดประสงค์หลักเดียวกัน ต่อให้กองถ่ายมี 50 คน แต่ทุกคนเติบโตและมีมุมมองไม่เหมือนกัน ทำยังไงให้งานชิ้นนี้ออกมาแล้วทุกคนมีความสุขให้ได้มากที่สุด เพราะกว่าจะทำภาพในจินตนาการให้เป็นภาพจริง ต้องประสานงานกับหลายฝ่าย ตั้งแต่ตัวแบบ ทีมอาร์ต ทีมเซ็ท ทีมกล้อง ความยากที่สุดและสิ่งที่ท้าทายคือ เขาจะเห็นด้วยและอยากทำกับเราไหม?"

คอนเซ็ปต์งานที่คน (ส่วนใหญ่) เข้าไม่ถึง!

"บางคอนเซ็ปต์ผมมันอาจนามธรรมเกินไป อาจเล่าสิ่งที่มีอยู่ในหัวยากเกินไป มันอาจไม่ตรงกับตลาด เพราะงานส่วนใหญ่ต้องการ Engagement  ต้องการสิ่งที่คนชอบเหมือนกันซึ่งอาจไม่ตรงกับเรา เลยไม่ได้ใช้คอนเซ็ปต์เราก็ต้องปรับหาคอนเซ็ปต์ที่โลก สังคม และลูกค้าต้องการ ส่วนคอนเซ็ปต์ที่ผมคิดไว้ ที่เคยเสนอไปแล้วไม่ได้ใช้ ผมก็เอาคอนเซ็ปต์ที่คิดไว้เยอะๆ มาทำโปรเจคของตัวเอง อาจเป็นโปรเจคที่นำเสนอต่างประเทศ หรือแมกกาซีนต่างประเทศ หรือใครก็ได้ที่อยากจะทำงานร่วมกับผม ผมทำงานเพื่อเอาเงินมาซ่อมแซมจิตวิญญาณตัวเอง มันก็เป็นบาลานซ์และทำให้ผมอยู่ได้"

การเป็นสไตล์ลิสต์ที่ดีในแบบฉบับของคุณเกมคือ ต้องรู้จักตัวเองให้ดีพอและเคารพผู้อื่น เพราะการเคารพผู้อื่นทำให้เรามองเห็นข้อดีของเขาและทำให้เขาดีกว่าที่เป็น ที่สำคัญคือ เราสามารถเป็นสไตล์ลิตส์ในแบบที่เราอยากเป็นได้ ด้วยการเอาชนะสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นแล้วลงมือทำทันที 

“พยายามรักษามาตรฐานของตัวเองและทำออกมาให้ดีกว่าสิ่งที่ตัวเองทำไว้ ต้องพยายามทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมจากการสร้างคู่แข่งจากตัวเองอีกคน แล้วค่อยๆ แข่งกับเขาไป”

สถานการณ์โควิดกับอาชีพสไตล์ลิสต์

"สไตล์ลิสต์ต้องทำงานร่วมกับคนเยอะ การรวมกลุ่มจึงเกิดข้อจำกัด เลยต้องทำงานโอเว่อร์โหลดและต้องทำมากกว่าสิ่งที่ตัวเองต้องแบก ออกกองได้ไม่เกิน 5 คน ทำยังไงให้งานมันเกิดขึ้นได้ ต้องปรับตัวและทำหลายอย่าง ตอนนี้ได้ลองทำอาร์ทไดเรกเตอร์และครีเอทีฟไดเรกเตอร์ รวมทั้งงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างประสานงานกับบางฝ่าย พอโควิดมาผมเลยถือโอกาสเทคคอร์สเรียนอาร์ทเรียนครีเอทีฟผ่านการลงมือทำจริง ไปลองผิดลองถูกดู ปรับไปเรื่อยๆ จนเห็นข้อบกพร่องของตัวเองผ่านงานที่ทำ เทคคอร์สแบบไม่ต้องเสียตังค์ แต่เข้าไปเรียนรู้กับงานและได้สกิลใหม่เพิ่มขึ้นมา"

"สุดท้ายการที่ผมได้เข้าไปเจอคนต่างๆ ก็เหมือนได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ เพราะทุกคนเหมือนเป็นคู่มือการใช้ชีวิตของผมไปหมดแล้ว"

ติดตามและอัพเดทผลงานแฟชั่นได้ที่ Errorvisionary, gamerror