‘Ready to love’ ธีสิสคอลเลคชั่นแฟชั่นแสดง ความปกติที่ไม่ปกติในสังคมไทย

‘Ready to love’ คือธีสิสคอลเลคชั่นแฟชั่นจาก ‘หวีด – ภาวิต ประวัติ’ ที่นำประเด็นของสังคมไทยมาออกแบบให้เป็นชุดที่ชวนตั้งคำถามว่า ประเด็นสังคมเหล่านี้มันมาจากไหน ตั้งแต่ ทำไมต้องตื่นเช้าไปเคารพธงชาติ ทำไมผู้ชายต้องบวช ทำไมถ้าอ้วนแล้วจะต้องโดนล้อเลียน ทำไมแค่เป็นโสดมันเสียชาติเกิด ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นทางที่อยู่อาศัย บทความนี้ได้ชวนดีไซน์เนอร์หวีดมาคุยกันว่า ‘แฟชั่นที่โชว์ให้เห็นความปกติที่ไม่ปกติในไทย’ เป็นอย่างไร มันมาจากไหน และทำยังไงถึงออกแบบเสื้อผ้ามาได้เริ่ดตราตรึงใจขนาดนี้

หวีดเล่าจุดเริ่มต้นของธีสิสแฟชั่นนี้ว่า มาจากการใช้ชีวิตในเมืองไทยแล้วโดนกดทับด้วยค่านิยมเก่าๆ ที่ไม่เมคเซนส์ก็เลยสงสัยว่า ทำไมถึงมีปัญหาเหล่านี้ พอทำธีสิสก็เลยค้นคว้าศึกษาจนพบว่า เรื่องเหล่านี้มาจากการทำ Propaganda ของผู้มีอำนาจ พอรู้ที่มาที่ไปและเข้าใจมันมากขึ้นแล้วจึงนำสิ่งเหล่านั้นมาเสียดสีแบบไม่ตัดสินผิดชอบชั่วดี ออกแบบเป็นเครื่องแต่งกายสร้างสรรค์ ที่ใช้แนวคิดคือการเสียดสีภูมิปัญญาไทย เพื่อแสดงพลวัตของสังคมในยุคปัจจุบัน

“ธีสิสเราอยากทำประเด็นเดียวเลยคือประเด็นสังคม มันเริ่มมาจากตั้งแต่เด็กก็โตมาในบ้านที่มีความคิดทางการเมืองแบบสุดขั้วมากๆ มันมีความกดดันว่า เอ๊ะ เราต้องไปอยู่สักฝ่ายโดยที่ไม่รู้ตัวหรือเปล่า เราใช้ชีวิตอยู่พัทลุงซึ่งก็ดันอยู่อำเภอที่บ้านนอกมากอีก แต่เราไม่อยากอยู่ตรงนี้เลยไปสอบเรียนโรงเรียนในเมืองประจำจังหวัด โรงเรียนก็อยู่ไกล เราต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง เพื่อให้มาทันเคารพธงชาติตอนเวลา 07.30 น. แล้วมันก็เป็นความคิดในใจว่า อีดอก ทำไมกูต้องรีบตื่นมาเพื่อเคารพธงชาติให้ทัน ก็เลยเป็นลุคแรกที่ใช้ ธงชาติ ก็ใช้ซิลูเอทไปเลย เย็บเป็นธงชาติใหญ่ก่อนค่อยมาตัดแบ่งๆ แล้วก็เรียงสีใหม่ว่า ทำไมน้ำเงินต้องใหญ่สุดหรอในชุด”

“ลุคสองก็คือง่ายๆ ชีวิตช่วงมัธยมเป็นตุ๊ดก็โดนล้อ เป็นตุ๊ดอ้วนอื่นก็โดนล้อ ทำไมต้องมาทุกข์กับค่านิยมความงามที่ไม่เปิดกว้างพวกนี้ด้วย อ้วนแล้วมันเป็นปัญหาตรงไหน ทำไมกะเทยอ้วนต้องเป็นผีเสื้อสมุทร หรือมองย้อนไปรีเสิร์ชที่วาดวีนัสเอย อนาโตมี่เอง เราก็เปลี่ยนวีนัสให้เป็นตัวที่อ้วน เพราะวีนัสก็เป็นตัวกำหนดความงามตั้งแต่อดีต เปลี่ยนอย่างนี้ เพราะความงามทุกวันนี้มันเปลี่ยนแล้ว ส่วนการทำชุดเราก็ใช้โครงสร้างเต็นท์มือสองมาทำด้วย ชุดนี้ได้ใช้ทักษะเยอะมาก เข้าจักรไม่ได้ก็ต้องเย็บมือ นั่งสอยไปเรื่อยๆ เป็นลุคที่พรีเซนต์เราที่สุดและทำยากสุด” 

“ลุคบันไดไม้เป็นลุคที่สร้างจาก ปกติที่สถาปัตยกรรมภาคใต้ บ้านจะมักมีใต้ถุนกัน เพราะทุกฤดูมีฝนประจำปี บ้านพ่อตาเราจะเป็นบ้านยกสูง แต่บ้านเราไม่ได้มีใต้ถุนแล้ว เพราะอยู่ที่ดิมที่ถมดินสูง ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้เจอน้ำท่วมนะ แต่พอทางหลวงทำถนนสูง น้ำก็เลยมากองมากขึ้นก็เจอน้ำท่วมต้องขนของขึ้นบันได ต้องถมทุกปีหนีน้ำท่วม ในขณะที่บ้านคนรวยเขามีทางแก้ปัญหา ซื้อบันไดหนีความลำบากได้ผ่านชุดบันไดความเหลื่อมล้ำ ก็มีใส่สัตว์สูญหาย คนที่ต้องเสียสละรักษาป่า คุณสืบ นาคะเสถียร ใส่เกรต้าลงไปเพ้นต์ไว้ด้านหลังด้วย” 

หวีดเล่าย้อนไปว่าตอนมัธยมไม่ได้คิดจะเรียนแฟชั่นด้วยซ้ำ ตั้งใจจะเข้าศิลปกรรมมัณทศิลป์ เพราะชอบวาดรูปที่ได้แรงบันดาลใจจากพวกอนิเมะอย่าง ‘Naruto’  และ ‘John Galliano’ ที่ทำให้หลงใหลในแฟชั่นมากขึ้นว่า มันทำชุดแบบนี้ได้ด้วยหรอ พอโตขึ้น เข้าสู่ช่วงมหาลัยก็พบกับประเด็นเรื่อง ทำไมชายไทยต้องบวชและเรื่องโดนทักเวลากลับบ้านว่า มีแฟนหรือยัง ทั้งสองประเด็นนี้จึงกลายมาเป็นอีกสองลุคที่ทำให้ตั้งคำถามว่า ค่านิยมเหล่านี้มันปกติหรอจนพบข้อสรุปของธีสิส 

“ตอนแรกก็เป็นกะเทยเด็ก โลกมันไม่ได้กว้าง พอชนะรางวัลก็ได้มาสามหมื่น ก็เอาเงินประมาณหมื่นหนึ่งมาติวแฟชั่นในกรุงเทพประมาณเดือนหนึ่ง ก็ได้รู้แนวทาง ก็ให้พี่ที่สอนช่วยไกด์จนได้มาเรียนแฟชั่นที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แล้วพอช่วงวัย 20 ต้นๆ ก็จะมีเรื่องที่ ผู้ชายต้องบวช ทำไมเราอยู่ในสังคมที่บังคับคนต้องบวช ทำไมชายไทยต้องบวช ด้วยความเป็นกะเทยก็ไม่ได้อยากบวชไงเลยตั้งคำถามด้วย แล้วพอคนบวชบางคนก็ไม่ได้ทำเพราะความเลื่อมใสในศาสนาขนาดนั้นก็มี”

“ชุดบวช เราก็เพ้นท์เป็นไตรภูมิของคนไทยว่าคนไทย เราเปลี่ยนเขาพระสุเมรรุให้เป็น Central Embassy คนชนชั้นกลางก็ยืนเล่นโทรศัพท์ออฟฟิศ ชั้นล่างก็อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์สุด ก็ใส่ลายเส้นการ์ตูนผีเล่มละบาทไปด้วยว่า ผีเป็นการ์ตูนได้ ทำไมพระจะถูกล้อไม่ได้”

“พอโตขึ้นมาอีกกลับมาบ้านก็จะโดนถามว่า มีแฟนหรือยัง บ้างก็มีแซะว่า แฟนผู้หญิงหรือผู้ชายล่ะ ประเด็นการแต่งงาน มันเป็นค่านิยมก็จริง แต่เราก็ตั้งคำถามว่า มันควรหรือเปล่า เพราะโสดไม่ได้แปลว่าตาย อย่างเพลง เป็นโสดจะเสียชาติเกิด มันเสียชาติเกิดเลยหรอวะแค่ไม่มีผัว ส่วนชุดแต่งงาน วาดเป็นอดัมกับอดัมที่แบบสะพายกระเป๋า Dior และ Prada เราก็จะใช้โครงสร้างที่ต้องการความสนใจ เพราะการอยากเรียกร้องมันต้องการความสนใจ การไปประท้วงก็ต้องใช้ป้ายใหญ่สุดๆ”

“ทำไมการแต่งงานยังมีอยู่ หรือความรักเธอไม่มั่นคงพอจะอยู่ได้เลยต้องมีกฎหมายมาเสริม เราก็ไม่รู้ ก็ยังตั้งคำถามอยู่ พอแตกประเด็นออกมาเลยเอามันมาทำเป็นชุด สุดท้ายทุกอย่างโดนกำหนดไว้แล้วโดยผู้มีอำนาจ Propgranda อย่างการสร้างชาติ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เราต้องเคารพธงชาติ และปัญหาอื่นๆ ด้วยในสังคม”

คอลเลคชั่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าไม่เริ่มจากการตั้งคำถามต่ออะไรเลยเราก็อาจตกอยู่ใต้การกดขี่จากเรื่องปกติที่มันไม่ปกติโดยไม่รู้ตัวได้ หวีดเล่าสรุปถึงสิ่งที่ได้ตกตะกอนจากคอลเลคชั่นนี้ว่า

“คอลเลคชั่นที่ทำมา มันแฟชั่นประเด็นเรื่องปกติที่ไม่ปกติ เรากลายเป็นเหยื่อโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ในหลายๆ เรื่องเราก็รู้สึกว่าบางคนไม่ตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าตัวเองถูกกดขี่ เราเองก็เหมือนกันถ้าซึ่งถ้าไม่ตั้งคำถามอะไรเลยก็จะไม่รู้ว่าตัวเองโดนกดขี่อะไรบ้าง”  

ติดตามผลงานและอัพเดทคอลเลคชั่นแฟชั่นได้ที่ smveed