Life

รู้หมือไร่? เพื่อนสี่ขาก็มีอาหารจากสัตว์ป่ากับเขาเหมือนกัน

เวลาที่เดินเข้าไปในร้านขายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง เราจะเห็นอาหารและขนมหลากหลายชนิดให้ได้เลือกสรร ซื้อกลับไปให้เจ้าตัวน้อยที่บ้านทานอย่างเอร็ดอร่อย โดยทั่วไปแล้ว เนื้อสัตว์ทั้งที่บรรจุในอาหารเม็ด อาหารกระป๋อง หรือกระทั่งอบแห้ง มักจะเป็นเนื้อที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด เช่น ไก่ ปลา เป็ด วัว ฯลฯ แต่ในมุมหนึ่งของร้านก็มักจะมีอาหารสัตว์จากเนื้อที่ ‘แตกต่าง’ ออกไป

เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา คลิปวิดีโอหนึ่งใน TikTok ก็ได้ริเริ่มประเด็นร้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมา เมื่อเผยให้เห็นภาพของ ‘ฉลามหนูใหญ่’ ที่ยังไม่เจริญพันธุ์ดี ถูกอบแห้ง และกลายมาเป็นขนมทานเล่นของสุนัขหมดคราบผู้ล่าที่เคยเป็นใหญ่ในท้องทะเล ก่อให้เกิดการถกเถียงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและโภชนาการว่า เนื้อประเภทนี้สามารถนำมาป้อนให้สัตว์เลี้ยงทานได้จริงเหรอ?

Photo credit: fxrjun3

ในความเป็นจริงแล้ว ชิ้นส่วนของฉลามได้ถูกนำมาทำเป็นอาหารและขนมสำหรับสุนัขกับแมวมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอาหารเม็ดบางยี่ห้อที่ระบุว่ามีส่วนผสมของ ‘เนื้อสัตว์ทะเล’ จากการปั่นรวมเศษซากของสัตว์ทะเลทุกชนิดที่ติดอวนขึ้นมา หรือ ‘คอนดรอยติน ซัลเฟต’ (chondroitin sulfate) สารที่พบได้ในกระดูกอ่อนของฉลามและวัว เรียกได้ว่ายากที่จะตรวจสอบว่าอาหารเม็ดนั้นๆ มีเนื้อฉลามปะปนอยู่หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีกระดูกอ่อนฉลามที่หาซื้อได้ง่าย โดยโฆษณาว่ามีแคลเซียม โปรตีน และโอเมก้า 3 สูง ช่วยขจัดหินปูน มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไขมันต่ำ ฯลฯ

Photo credit: Bonza Dog Treats

ฉลามที่ถูกนำมาวางขายเป็นอาหารสัตว์นั้นมักจะเป็นฉลามที่ว่ายมาติดอวนลากแผ่นตะเฆ่ของชาวประมง ซึ่งอวนนั้นจะจับสัตว์น้ำที่อยู่ด้านในขึ้นมาทั้งหมด ฉลามที่บังเอิญติดมาด้วยจึงกลายเป็นสัตว์น้ำพลอยได้และถูกนำไปทำเป็นอาหารสัตว์โดยปริยาย ‘เพชร มโนปวิตร’ นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมผู้เป็นที่ปรึกษาองค์กร WildAid อธิบายว่า การนำฉลามวัยอ่อนมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์จะส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศ เทียบได้กับการที่คนเอาลูกเสือดาวมากิน และการที่ฉลามถูกทำให้ดูเหมือนอาหารทั่วไปสำหรับสัตว์เลี้ยง คนส่วนมากก็จะเข้าใจผิดว่ามันคืออาหารทางเลือก

Photo credit: Clear Dog Treats

ในทางกลับกัน ยังมีสัตว์ป่าที่ถูกนำมาแปรรูปและส่งต่อไปยังชามของสัตว์เลี้ยง ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อระบบนิเวศ เช่นตัวพอสซัมที่สามารถแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วเพราะไม่มีศัตรูทางธรรมชาติ เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ และเป็นภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เนื้อพอสซัมในอาหารสัตว์นั้นยังไม่แพร่หลายเท่า ‘จิงโจ้’

ประเทศออสเตรเลียมีจิงโจ้ประมาณ 45 ล้านตัว มากกว่าจำนวนประชากรถึง 1 เท่าตัว ทางรัฐบาลจึงรณรงค์ให้มีการบริโภคจิงโจ้ อีกทั้งยังมีการการุณยฆาตจิงโจ้เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ (ข้อมูลนี้อัปเดตล่าสุดเมื่อปี 2017) ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่ออสเตรเลียจะผลิตอาหารเนื้อจิงโจ้สำหรับสัตว์ออกมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งอาหารเม็ด เนื้อบดก้อน เนื้ออบแห้ง กระดูกสำหรับแทะเล่น ฯลฯ แถมยังส่งออกไปตามประเทศต่างๆ อีกด้วย

อ้างอิงจากเว็บไซต์อาหารสัตว์ต่างๆ เช่น Big Dog Pet Foods เนื้อจิงโจ้นั้นอุดมไปด้วยโปรตีน เป็นอาหารทางเลือกที่ดีสำหรับสุนัขที่แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์อื่นหรือต้องควบคุมน้ำหนัก เพราะเนื้อจิงโจ้มีไขมันต่ำ ย่อยง่าย มีสารเคมีจากสิ่งแวดล้อมปนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จึงยิ่งเหมาะสำหรับสัตว์ที่แพ้ง่าย เจ้าของที่ต้องการให้น้องๆ ทานอาหารออร์แกนิคบางคนเองก็มีเนื้อจิงโจ้เป็นหนึ่งในตัวเลือกเช่นกัน

Photo credit: Kelly & Co

เนื้อจิงโจ้นั้นยังเป็นกรณีที่สามารถเข้าใจได้เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอยู่มาก แต่ที่พีคขั้นกว่าคือ ‘จระเข้’ นักล่าหน้าดุซึ่งได้กลายมาเป็นอาหารสุนัขและแมว ในประเทศออสเตรเลีย ทาง IUCN (องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ) สนับสนุนให้มีการใช้หนังกับเนื้อของจระเข้น้ำเค็มและจระเข้น้ำจืดโดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์พันธุ์จระเข้เอาไว้ ขณะที่ใช้ประโยชน์จากมันเช่นกัน

เหตุผลที่เนื้อจระเข้ได้กลายมาเป็นอาหารสัตว์ก็เพราะคุณค่าทางโภชนาการที่คล้ายกับจิงโจ้ มันเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ไขมันต่ำ โปรตีนสูง เหมาะสำหรับสุนัขและแมวที่แพ้โปรตีนได้ง่ายหรือต้องการลดน้ำหนัก ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อจระเข้ยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ โอเมก้า 3 กรดไขมัน และมีโซเดียมต่ำ หากให้ทานดิบจะดีต่อสัตว์เลี้ยงที่มีโรคไต

Photo credit: Pet Age

สัตว์อีกชนิดที่บ้านเราอาจจะคุ้นเคยกันดีเพราะมนุษย์เองก็ได้บริโภคบ้างคือ ‘นกกระจอกเทศ’ สัตว์ปีกตัวโตจากประเทศแอฟริกา ไม่น่าเชื่อว่า อุตสาหกรรมเนื้อนกกระจอกเทศจะยั่งยืนกว่าเนื้ออื่นๆ ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เสียอีก ด้วยความที่มันผลิตก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อยยิ่งกว่าอุตสาหรรมเนื้อวัว และฟาร์มนกกระจอกเทศในแอฟริกามักจะเป็นการเลี้ยงระบบปล่อยอิสระ ไม่ก่อความเครียดให้กับสัตว์ขณะที่ยังมีชีวิต ยังมีจริยธรรมมากกว่าเมื่อเทียบกับฟาร์มไก่หลายๆ แห่งที่แออัด ใช้สารเคมี และเน้นการผลิตในปริมาณมาก

ที่สำคัญคือ เนื้อนกกระจอกเทศมีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าเนื้อไก่และไก่งวง ย่อยสะดวก ชิ้นส่วนอื่นๆ อย่างเช่นกระดูกก็สามารถนำมาให้สัตว์เลี้ยงทานได้ นอกจากนี้ เนื้อของมันยังมีธาตุเหล็ก โอเมก้า 3 และ 6 กับกรดไขมันที่สูง ดีต่อสุนัขและแมวทุกวัย ไม่ว่าจะสุขภาพแข็งแรงหรือป่วยง่ายก็ตาม น้อยมากที่จะเกิดอาการแพ้เนื้อนกกระจอกเทศ

Photo credit: All About Cats

อย่างไรก็ตาม หากเพื่อนรักสี่ขาของคุณแพ้โปรตีนในอาหารสัตว์ทั่วไป ‘มาร์ก นิวเคิร์ก’ (Mark Newkirk) VMD และผู้อำนวยการของโรงพยาบาลสัตว์ Margate Animal Hospital แนะนำว่าให้ลองทานเนื้อสดหรืออาหารเม็ดที่ระบุว่าปราศจากเมล็ดธัญพืช (grain free) ดูก่อนที่จะตามหาอาหารทางเลือกอื่น เพราะธัญพืชมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่ก็จริง แต่อาจจะมีโปรตีนที่สัตว์แพ้ก็เป็นได้ อาหารสัตว์ไร้ธัญพืชจึงอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเนื้อสัตว์ป่าราคาสูง และบางชนิดก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าดี เช่น ฉลาม ซึ่งหากจำนวนน้อยลงก็จะสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศของท้องทะเลไปอย่างแน่นอน

แต่ถ้าสัตว์เลี้ยงยังคงแสดงอาการแพ้เนื้อที่ขายตามท้องตลาดจริงๆ การหาซื้ออาหารเม็ดหรือเนื้อสัตว์ป่าที่ถูกเลี้ยงและฆ่าอย่างมีจริยธรรมก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย จากมุมมองของผู้เขียน มันยังต่างจากกรณีที่ผู้คนล่าสัตว์ป่าเพื่อทานสนองความต้องการของตัวเองอยู่มาก เพียงแค่ควรตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อหากไม่เหลือบ่ากว่าแรงเท่านั้น

อ้างอิง

Shark Allies

The Active

The Bark

Post Today

Big Dog Pet Foods

Pet Cubes

Hartley’s Crocodile Adventures

Bunch For Pets

Furchild Pet Nutrition