เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์และดินแดนแห่งเสรีภาพกัญชา ‘อัมสเตอร์ดัม’ ได้ปูแนวทางของ consumption lounge หรือพื้นที่สีเขียวที่สามารถไปนั่งสูบกัญชาได้ตั้งแต่ยุค 70’s
เสรีภาพก่อนควัญกัญชา
ชาวดัตช์ให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นอย่างมาก เสียงของประชาชนในเวลานั้นจึงดังกว่ารัฐบาล หากมีการกระทำใดที่ไม่เหมาะสมในสายตาสังคม ก็สามารถทำให้เกิดการประท้วงให้ผู้ว่าลงจากตำแหน่งได้โดยเด็ดขาด
ในระหว่างปี ค.ศ. 1964-1966 เป็นช่วงเวลาที่เห็นการเรียกร้องถึงประเด็นอย่างการสิทธิในการใช้จักรยานในเมือง การแบนยาเส้นบุหรี่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การประนามสื่อที่ออกข่าวบิดเบือน ฯลฯ ที่ส่งผลให้ปัจจุบันอัมสเตอร์ดัมเป็นหนึ่งในเมืองสีเขียว (green city) ที่สุดในยุโรป และเป็นหนึ่งในเมืองที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ ที่สุดในโลก
ถึงแม้ว่ากลุ่มฮิปปี้จะเข้ามาพร้อมกับยาเสพติดอย่าง LSD และแฮช (hash) แต่อัมสเตอร์ดัมกลับพบปัญหาของเฮโรอีนระบาดอย่างหนักในช่วงศตวรรษที่ 60-70’s ทำให้นักศึกษาและเยาวชนหลายคนถูกจับพร้อมมีคดีติดตัว หมดสิทธิในสายอาชีพ ติดยา และเสพยาจนเสียชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน ปัญหาในกลุ่มเยาวชนทำให้รัฐบาลดัตช์ลองทางเดินใหม่ในการแก้ปัญหา โดยมีการเปลี่ยนกฎหมาย Opium Act และการเสนอนโยบายยอมรับ รวมถึงยินยอม Gedoogbeleid
กลยุทธ์ของชาวดัตช์ในการจัดการปัญหายาเสพติดระบาด คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติด้วยแนวคิดแบบ harm reduction (ลดความรุนแรง) ที่พยายามเข้าใจธรรมชาติของผู้ใช้ยาเสพติด มากกว่ามองว่าเป็นปัญหาอาชญากรรมในสังคม
Green Space แห่งแรกของโลก
หลังจากการปรับกฎหมายและเสนอนโยบายใหม่ๆ ทางรัฐบาลดัตช์ก็ได้ประกาศว่ากัญชาไม่ใช่ปัญหา และมุ่งการจับกุมไปหากลุ่มผู้ใช้เฮโรอีนมากกว่า จุดนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มุมมองสังคมดัตช์ที่มีต่อกัญชาและกลุ่มคนใช้เปลี่ยนไป กัญชาถูกจัดประเภทเข้าเป็นหนึ่งในสารเสพติดไม่ร้ายแรง (soft drug) ไม่ต่างจากกาแฟ บุหรี่ หรือเบียร์
ในช่วงเวลานั้น กลุ่มฮิปปี้ที่มักจะร่วมตัวกันอยู่ตาม youth center ตามวงสนทนาดื่มชาก็มักจะสูบและใช้แฮช (ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่าช่อดอกในยุโรป) ไอเดียของจุดรวมตัวสังสรรค์เวลาสูบกัญชาจึงเกิดเป็น ‘ร้าน coffeeshop แรกในอัมสเตอร์ดัม’
‘Mellow Yellow’ ได้เปิดขึ้นในปี ค.ศ. 1972 โดยนาย ‘เวอร์นาร์ด เบรินนิ่ง’ (Wernard Bruining) ที่มองเห็นช่องทางการเปิดร้านกัญชา พร้อมกับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ เหล่าบุปผาชน เวอร์นาร์ดให้คอนเซ็ปต์ร้านว่าเป็น ‘ร้านน้ำชา’ (tea house) ที่ทุกคนสามารถเข้ามานั่งดื่มชาและสูบแฮชได้ โดยมีการซื้อขายจากพนักงานที่นั่งเนียนๆ อยู่ด้วยกัน การที่ร้านที่ไม่มีบาร์ ไม่มีเมนู และไม่มีเอกสารการค้าใดๆ จึงสามารถเลี่ยงการจับกุมจากตำรวจมาได้หลายปี
“เราเป็นแค่กลุ่มวัยรุ่นที่หาทางใช้ชีวิต หากัญชาดูด และเติมเต็มหน้าที่ของการแบ่งปันต่อไป ถ้าพูดถึงร้านที่ตั้งใจอย่างจริงจัง คงจะต้องเป็น Bulldog น่ะ” – Mellow Yellow พูดถึงการเป็นร้าน coffeeshop แห่งแรกของอัมสเตอร์ดัม
แต่น่าเสียดายที่กฎหมายที่ออกมาในปี ค.ศ. 2017 ได้จำกัดระยะบริเวณ 250 เมตรของการเปิดบริการ coffeeshop ใกล้สถาบันศึกษาและโรงเรียน ทำให้ Mellow Yellow ต้องปิดร้านไปอย่างถาวร
Consumption Lounge
เหล่าร้าน coffeeshops ในตำนานที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ยุค 70’s ได้ตั้งมาตราฐานและบรรยากาศของร้านกัญชาในเมืองอัมสเตอร์ดัม อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของพื้นที่สีเขียวและการแลกเปลี่ยนกัญชาอย่างโปร่งใส
ถึงแม้ว่ากัญชาจะเป็นที่ยอมรับ แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายมารองรับอยู่ดี คุณยังสามารถถูกจับในข้อหากัญชาได้หากมีการพกมากกว่า 30 กรัมหรือปลูกมากกว่า 5 ต้น และมีกฎบังคับที่รัฐบาลยื่นให้กับร้านคือ สามารถมีกัญชาในสต็อกได้ 500 กรัมต่อวัน และสามารถขายให้ลูกค้าได้เพียง 5 กรัมต่อคน โดยลูกค้าต้องมีอายุ 18-21 ปีขึ้นไป อีกทั้งเมนูภายในร้านควรมีชื่อสายพันธุ์ น้ำหนัก ราคา ฤทธิ์ ฯลฯ ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังห้ามสูบบุหรี่หรือผสมยาเส้นกับกัญชาในร้าน (ผลบังคับจากการเปลี่ยนกฎในปี ค.ศ. 2008) เพราะทุกที่จะมี tobacco substitute ไว้ให้ใช้ผสมแทนยาเส้น
ร้านในตำนาน ‘The Bulldog No. 90’ ถือว่าเป็นร้าน coffeeshop ร้านแรกในช่วงปี ค.ศ. 1974-1975 ที่ผู้ก่อตั้ง ‘เฮงก์ เดอ วรีส’ (Henk de Vries) ตั้งใจสร้างร้านที่ผู้คนสามารถเข้ามานั่งสูบกัญชาในบรรยากาศเคล้าเสียงเพลงในพื้นที่สไตล์เลานจ์ พร้อมกับมีเมนูสายพันธุ์กัญชา ชา และกาแฟให้เลือก แถมยังมีโซฟาที่นั่งภายในร้าน
Holland, Shangri La of Weed
หลังจากปี ค.ศ. 1976 และการเปลี่ยนกฎหมาย Opium Act กัญชากลายเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับในสังคมดัตช์ไม่ต่างจากเหล้าแอลกอฮอล์ เมืองอัมสเตอร์ดัมได้กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของสายเขียวนับตั้งแต่ต้นยุค 70’s และมีกัญชาลักลอบส่งมาจากทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น hash จากอัฟกานิสถานและโมร็อกโก รวมไปถึงช่อดอกกัญชาแห้งจากแอฟริกาและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมสำคัญของการแลกเปลี่ยนข้อมูล เมล็ดพันธุ์ และการพัฒนาสายพันธุ์ โดยเฉพาะนักปลูกชาวอเมริกันและชาวดัตช์
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตำรวจกำลังไล่ล่าจับกุมวงการกัญชาอย่างหนัก นักปลูกและ breeder อเมริกันหลายคนหนีความเสี่ยงในการถูกจับ และตัดสินใจย้ายไปอัมสเตอร์ดัมเป็นจำนวนมากเพื่อตามความฝันของตัวเอง ไม่เพียงแค่นั้น ชาวอเมริกันนำความรู้และสายพันธุ์ไฮบริดแบบใหม่ติดมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น Skunk#1 และ Original Haze
แต่ในช่วงแรก สายพันธุ์ใหม่พวกนี้กลับไม่ได้ถูกยอมรับในร้าน coffeeshops มากนัก เพราะตอนนั้นมีแฮชครองตลาดเป็นใหญ่ และช่อดอกที่ทุกคนคุ้นเคยก็มักจะแห้งกรอบ ไม่มีใครให้ความสนใจกับช่อดอกกัญชาที่กลิ่นแรงเหมือนเยี่ยวแมว แต่ไม่นานหลังจากร้านกัญชาได้เข้ายุค 80-90’s ก็เริ่มมีการพัฒนา ผสมสายพันธุ์ และเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเมนูสายพันธุ์หลากหลาย คุณภาพช่อดอกและฤทธิ์ความแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ตำนาน Skunk#1
คุณภาพของกัญชาโลก (โดยเฉพาะการร่วมงานระหว่างนักปลูกชาวอเมริกันและดัตช์) มีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดผ่านการแข่งขันของนิตยสารอเมริกัน ‘High Times’ ภายในงาน ‘High Times Cannabis Cup’ มีการจัดลำดับประเภทสายพันธุ์ ตั้งมาตรฐานการแบ่งเกรดดอก รวมไปถึงการขายเมล็ดพันธุ์บนปกหลังของนิตยสารให้กับผู้อ่านอีกด้วย
การแข่งขัน High Times Cannabis Cup เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 และมักจะจัดในเดือนพฤศจิกาของทุกปี เป็นโอกาสที่ร้านกัญชาจะสามารถนำของมาโชว์ และสร้างชื่อเสียงให้กับผลงานของตัวเอง ผู้ชนะในครั้งแรกก็คือ ‘แซม สกั๊งค์แมน’ (Sam Skunkman – ภายใต้ชื่อ Cultivators Choice) กับสายพันธุ์ Skunk#1 ที่ดังในฝั่งแคลิฟอร์เนียมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977
เป็นเวลากว่า 30 ปีของการแข่งขันจนกระทั่งปี ค.ศ. 2014 หลังจากที่มีเสรีกัญชาในประเทศอื่นๆ รวมไปถึงในสหรัฐฯ ที่เดินทางสะดวกและอากาศเป็นใจกว่า ทำให้จบตำนานของงาน Cannabis Cup ไปโดยปริยาย
ปัญหาและอนาคตของ Coffeeshops
นับตั้งแต่วันที่กัญชาถูกจัดเป็นสารเสพติดไม่ร้ายแรง และถูกยอมรับในสังคมตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1976 ก็ไม่มีการออกระเบียบหรือร่างกฎหมายที่จะทำให้การค้ากัญชาเป็นไปอย่างโปร่งใสแต่อย่างใด ทุกคนในวงการธุรกิจกัญชาดัตช์ต่างก็เรียกร้องให้รัฐเข้ามาทำให้มีระบบการค้าและเสียภาษีชัดเจน เพราะพบกับการจับกุมและปัญหาหลังบ้าน (backdoor problem) ที่ไม่มีระบบหรือกฎหมายควบคุมด้านการปลูกหรือขายส่งให้กับร้าน
ยิ่งผู้ว่าปัจจุบันของอัมสเตอร์ดัม ‘เฟมเก ฮาลส์มา’ (Femke Halsema) ตั้งใจออกมาตราการใหม่เพื่อลดสิทธิ์ของกัญชา อีกทั้งผลักดันกฎระเบียบใหม่ที่จะไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการร้าน coffeeshops เพื่อควบคุมเครือข่ายอาชญากรรมที่กำลังก่อตัวอยู่ในตลาดใต้ดิน
สถานการณ์ของร้าน coffeeshops และอนาคตเสรีกัญชาอย่างเต็มตัวอาจจะดูไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แม้ว่าเส้นทางของเสรีกัญชานั้นกำลังเดินหน้าในประเทศอย่างสหรัฐฯ และประเทศไทย ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะเคลื่อนไหวตาม
Dutch Social Institute
การเรียกร้านกัญชาว่า coffeeshops เป็นวิธีการที่คนดัตช์จะสร้างบรรยากาศห้องนั่งเล่น (living room atmosphere) ที่คนอื่นสามารถเข้ามาพักผ่อน และสูบกัญชาไปพร้อมกับดื่มชาร้อนหรือกาแฟได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนของวันก็ตาม
กว่า 50 ปีที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เปิดรับ coffeeshops เข้าสู่วัฒนธรรมชีวิตของขาวดัตช์ การสังสรรค์และการเข้าร้านสูบกัญชาก็ไม่ต่างจากการเลิกงานแล้วเข้าบาร์ไปดื่มสักแก้วก่อนกลับบ้าน ประชาชนดัตช์เห็นว่าการเลือกใช้กัญชาไม่ควรเป็นสิ่งที่ตัดสินศีลธรรมของมนุษย์คนหนึ่ง
อาจจะไม่ใช่แค่เพียงบราวนี่กัญชา space cake หรือดอกสายพันธุ์หลากหลายที่ทำให้อัมสเตอร์ดัมพิเศษกว่าที่อื่น แต่เพราะมันคือสถานที่ที่ทุกคนสามารถมานั่งสูบได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องกลัวกฎหมาย เป็นเมืองใน bucket list ที่สายเขียวต่างสัญญากันว่าสักวันหนึ่งจะต้องมาสูบกัญชาด้วยกันที่เมืองนี้ให้ได้
อ้างอิง
- Amsterdam’s Coffeeshop Culture, Dismas Barbito
- The History of The Mafia in Amsterdam, Steven Brown