‘บึงกัญชา’ – วิสาหกิจชุมชนและการผลักดันกัญชาของชาวบึงกาฬ  

‘กัญชา’ สำหรับคนในจังหวัดบึงกาฬ นับเป็นพืชสามัญประจำบ้านที่ช่วยรักษาอาการป่วยไข้ให้หายขาดหรือทุเลาลงไปได้ เช่น อาการนอนไม่หลับ โรคมะเร็ง ฯลฯ หรือบางคนก็นำมาประกอบอาหารแบบพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ต้มเป็ด ลาบ ก๋วยเตี๋ยว ซึ่งจะนิยมนำใบหรือยอดอ่อนของกัญชามาเป็นวัตถุดิบประกอบสำคัญ เพื่อดึงรสชาติของอาหารให้มีความอร่อยมากยิ่งขึ้น สำหรับบางคนที่ไม่อยากอาหาร ก็สามารถนำกัญชามาเป็นตัวช่วยให้ทานได้เยอะขึ้น

ในทุกวันนี้ ตามแต่ละจังหวัดเองก็มีโครงการวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชกัญชาเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ และจังหวัดบึงกาฬก็เป็นหนึ่งในนั้น วันนี้ EQ เดินทางมาไกลถึงเขตภาคอีสานตอนบนของประเทศ เพื่อสอบถามและพูดคุยกับ คุณฟราย – สราวุฒิ ภูอ่าว และ คุณเฟิร์ส – ปรวรุจน์ ภูอ่าว สองพี่น้องสายเขียวตัวจริง ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกัญชาในจังหวัดบึงกาฬ

คุณฟรายและคุณเฟิร์สได้เล่าถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจทำวิสาหกิจชุมชนว่า เมื่อก่อนก็มีโครงการคล้ายๆ กันนี้ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ซึ่งในปัจจุบันจะดูเปิดกว้างมากกว่า และสามารถจับต้องได้ ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางการทำธุรกิจ แต่ที่สำคัญก็คือทั้งสองคนได้เห็นถึงประโยชน์ และใช้กัญชาด้วยความเคารพ จากการที่คุณเฟิร์สประสบปัญหาในการนอนจึงทำให้มีโอกาสได้ใช้กัญชา และผลลัพธ์นั้นก็ออกมาดีมาก จึงถือโอกาสศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจัง

จุดเริ่มต้นในการทำวิสาหกิจชุมชน 

เฟิร์ส: เริ่มจากการศึกษาตอนมีโครงการปลูกกัญชาเข้ามาในไทยแรกๆ เลยครับ พวกเราไปตามงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับกัญชา แล้วก็มีการเข้าร่วมอบรมอีกหลายครั้ง จนได้ไปปรึกษาพี่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเขาได้นำร่องไปก่อนแล้วว่าต้องทำอย่างไร แบบไหนบ้าง จากนั้นพวกผมก็เริ่มมาปรึกษากันอย่างจริงจังว่ากัญชานี่ไม่ใช่เล่นๆ แล้วนะ อีกไม่นานกัญชาไทยต้องไปไกลแน่นอน และจะสามารถสร้างมูลค่าได้อีกมาก ทั้งต่อผู้คนและระบบเศรษฐกิจ เลยตัดสินใจลงมือร่วมทำวิสาหกิจ ‘ชุมชนปลูกพืชสมุนไพรทางการแพทย์ศรีวิไล’ ขึ้นมาครับ

กังวลเรื่องปัญหาการขาดทุนไหม? 

ฟราย: ไม่เลยครับ เพราะวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชสมุนไพรศรีวิไลของเราได้มีการทำสัญญา MOU กับกรมการแพทย์ เราสามารถส่งออกผลผลิตของดอกได้ทั้งหมด และส่วนที่เหลือก็สามารถนำไปแปรรูปหรือจำหน่ายต่อได้ครับ อย่างใบกัญชา เราก็เข้าหาตลาดรับซื้อรายใหญ่ ซึ่งจะนำใบกัญชาไปเป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่ม ส่วนอื่นๆ ของต้นกัญชาเองก็สามารถใช้ทำประโยชน์ได้เหมือนกันครับ 

วิสาหกิจชุมชนมีการเพราะปลูกพืชกัญชาแบบไหน?

ฟราย: ตอนนี้เราปลูกลงดินครับ แต่อยู่ในกระถางแอร์พอต (Air pot) เพราะการใช้กระถางประเภทนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการหายใจของต้นไม้ จึงทำให้ตัวต้นเจริญเติบโตได้ดีกว่าการใช้กระถางปกติ อากาศเข้าถึงรากได้มากกว่า และวิสาหกิจชุมชนของเราก็ใช้ทุกอย่างที่เป็นออร์แกนิค เพราะเรามุ่งเน้นไปที่คุณภาพของส่วนดอก เพื่อผลผลิตที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้นำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสกัดหรือการบริโภคด้วยวิธีอื่นๆ ผู้บริโภคก็ควรได้รับแต่สิ่งที่ดี นี่คือหลักสำคัญอีกอย่างของเราครับ

ฟราย: นอกจากนี้แล้ว โดยส่วนตัวเราก็อยากทดลองการปลูกแบบธรรมชาติ เพราะเมื่อสมัยก่อนเรายังไม่มีโรงเรือนแบบอินดอร์ (Indoor) แต่ก็ยังสามารถปลูกและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกอย่างก็คือภูมิอากาศของบึงกาฬที่ค่อนข้างเป็นใจในการปลูกกัญชาแบบกลางแจ้ง ด้วยความที่ไม่ร้อนจนเกินไปในบางพื้นที่ โดยปกติตอนกลางคืนอากาศจะเย็นประมาณ 25-26 องศาในช่วงฤดูร้อน และมีอากาศหนาวถึง 5-6 องศาโดยประมาณในช่วงฤดูหนาวครับ

อนาคตวิสาหกิจชุมชนจะไปในทิศทางไหน 

เฟิร์ส: ในอนาคต มีความตั้งใจว่าจะผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนของเราเป็นศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในเรื่องของการปลูกและการต่อยอดของพืชชนิดนี้ เราอยากจะเป็นผู้นำทางด้านกัญชาในจังหวัดบึงกาฬด้วยครับ วางแผนเอาไว้แล้วว่าจะเปิดคาเฟ่ในสวนให้ทุกคนได้มาเที่ยวชม ฝากติดตามกันด้วยนะครับผม

มุมมองที่มีต่อกัญชา 

ฟราย: สำหรับผม กัญชาก็คือพืชชนิดหนึ่งนี่แหละครับ เป็นพืชพื้นเมืองซึ่งตามประเทศต่างๆ ก็จะมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ประเทศไทยเรามีกัญชาสายพันธุ์ซาติว่า (Sativa) ส่วนทางอินเดียจะเป็นอินดีก้า (Indica) บางประวัติศาสตร์จารึกให้กัญชาเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้ามอบให้แก่มนุษย์ เพื่อใช้รักษาและนำพาความสงบสู่จิตใจคน แต่ก็มีกฎหมายมาเป็นตัวกำหนดไว้เมื่อไม่กี่ร้อยปีนี้เอง ว่ามันเป็นพืชที่ผิดกฎหมาย เลยกลายเป็นว่ากัญชาได้ถูกกดขี่ไว้ แต่ในวันที่ 9 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ข้อบังคับหลายๆ อย่างเกี่ยวกับกัญชาก็คงปลดล็อกแล้วครับ

เฟิร์ส: ผมคลุกคลีกับกัญชาเชิงการแพทย์มานานแล้วครับ เพราะส่วนตัวก็ใช้เป็นยาเพื่อช่วยให้นอนหลับลึกขึ้น ผมเลยมองว่ากัญชาให้ประโยชน์มากกว่าโทษ หากเราได้รับคำแนะนำที่ดีจากผู้เชี่ยวชาญและเลือกใช้ประโยชน์จากมันให้ถูกทาง เราก็จะไม่มีทางติดกัญชาครับ 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจจะทำวิสาหกิจชุมชนเกี่ยวกับกัญชา

ฟราย: อยากให้ทุกคนศึกษาให้ดีก่อนจะลงมือทำครับ เพราะการปลูกกัญชานั้นไม่ยาก แต่ต้องดูแลเอาใจใส่ค่อนข้างมากเลยทีเดียว คือใครๆ ก็สามารถปลูกได้ เพียงแต่ว่าการจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเพื่อนำไปใช้ต่อในทางการแพทย์หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ นั้น ผลผลิตจะต้องตรงต่อมาตรฐาน เราจึงต้องศึกษาและเฝ้าดูแลอย่างดีครับ ถ้ามีใจรักในกัญชาด้วยก็จะยิ่งดี เพราะยังมีอีกหลายสิ่งเกี่ยวกับกัญชาที่เราต้องหมั่นเรียนรู้อยู่เสมอครับ อีกอย่างที่สำคัญก็คือเรื่องของตลาด อย่างที่ถามผมกว่ากลัวการขาดทุนไหม ที่ผมตอบว่าไม่ เพราะวิสาหกิจชุมชนของเรามีตลาดรองรับเรียบร้อยแล้วครับ ถ้าใครสนใจอยากจะทำจริงๆ ก็ต้องสำรวจตลาดด้วยนะครับ เพราะหลายครั้งที่มีการขาดทุนนั้นก็เพราะไม่มีตลาดรองรับ ไม่มีที่จำหน่าย หรือถ้าสนใจ สามารถมาดูงานที่ฟาร์มของเราได้นะครับ

อีกหนึ่งความมุ่งมั่นของพวกเขาก็คือการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาของบึงกาฬให้เป็นสายพันธุ์ประจำจังหวัด หลังจากที่ได้พูดคุยกับทั้งสองคนแล้ว ในฐานะที่ผู้เขียนซึ่งเป็นคนจังหวัดบึงกาฬเช่นเดียวกัน ก็รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่มีคนเข้ามาผลักดันเรื่องของกัญชาในจังหวัดนี้ และในปัจจุบัน จังหวัดบึงกาฬยังมีโครงการปลูกกัญชาอีกหลายแห่งให้ไปเยี่ยมชมและเรียนรู้  ซึ่งวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชสมุนไพรกัญชาในจังหวัดบึงกาฬเองก็มีจำนวนใบอนุญาตทั้งหมดประมาณ 11 รายการ และสถานที่ปลูกทั้งหมดกว่า 31 แห่ง เราจึงสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าจังหวัดบึงกาฬเป็น ‘บึงกัญชา’ อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

อ้างอิง:

กระทรวงสาธารณสุข