กัญชา – ภวังค์ฝันและความหวังใหม่สำหรับโรคนอนไม่หลับ

Photo credit: Cannabis Health

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนอนนั้นมีความสำคัญต่อชีวิต ทำให้ศาสตร์แห่งการหลับนั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนและแพทย์ต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการมีสุขภาพจิตและกายที่แข็งแรง

อาการนอนไม่หลับนั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลเสียให้กับการทำงานและใช้ชีวิต ในปัจจุบันคาดว่ามีคนไทยกว่า 19-22 ล้านคน (ร้อยละ 30-40% ของประชากร) และกว่า 230 ล้านคนทั่วโลกที่ประสบกับปัญหานี้ จึงไม่แปลกที่จะมีหนังสือ สินค้าและยาเสริมออกมามากมายเพื่อตอบโจทย์กับสิ่งที่กำลังกระทบผู้คนทุกเพศและวัยทั่วโลก

Photo credit: Fierce Pharma

ด้วยฤทธิ์ที่ผ่อนคลายง่วงเคลิ้ม กัญชาจึงดูเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยโดยเฉพาะในบทบาทของการเป็นยาทางเลือกนั่นยิ่งเด่นชัดมากขึ้น หลังการปลดล็อกทางกฎหมายในหลายประเทศ และมีการใช้กัญชาทางการแพทย์มากขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างกัญชากับการนอนหลับที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปคือ การทำงานของสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) กับระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ (endocannabinoid) ในร่างกายมนุษย์เพราะสารแคนนาบินอยด์สำคัญอย่าง THC กลับไม่ใช่ตัวเอกแต่เป็น CBD ต่างหากที่เป็นความหวังใหม่ของโรคนอนไม่หลับ (insomnia)

Photo credit: Study Finds

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565 สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย (Sleep Society of Thailand) ออกแถลงจุดยืนว่าไม่สนับสนุนให้คนไทยใช้กัญชารักษาอาการนอนไม่หลับ เพราะแพทย์ยังไม่มีข้อสรุปอย่างแน่ชัดว่ากัญชานั้นดีต่อการช่วยหลับของมนุษย์หรือจะเป็นผลเสียในระยะยาวมากแค่ไหน

สมาคมฯ ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาบำบัด เพราะผลเสียที่ตามมาของคนที่ใช้ว่าคุณภาพของการนอนแย่ลงและไม่สามารถหยุดใช้ได้ เมื่อหยุดใช้จะเกิดภาวะขาดกัญชา ซึ่งทำให้การนอนหลับยากขึ้น ส่งผลให้กลับไปใช้กัญชาอีกครั้ง

ทางสมาคมฯ กล่าวถึงผลเสียที่อาจเกิดจากการใช้กัญชา แต่กลับไม่ได้พูดถึงผลข้างเคียงของยาทางการแพทย์ที่นิยมจ่ายอย่าง Diazepam, Lorazepam, Triazolam, Amitriptyline, Perphenazine, etc. ที่มีผลข้างเคียงรุนแรง แถมยังมีค่ารักษาที่สูง เพราะต้องมีการรักษาต่อเนื่อง 1-6 เดือน รวมไปถึงโอกาสที่จะติดยา การหยุดใช้ยานอนหลับเหล่านี้สามารถทำให้พบกับอาการนอนไม่หลับที่รุนแรงกว่าเดิม (rebound insomnia) และเมื่อเลิกทานยาจะทำให้นอนหลับยากกว่าเดิม นอกจากนี้มีอาการดื้อยา ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณยาไปเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลระยะยาวต่อความทรงจำและผลข้างเคียงอื่นๆ 

Photo credit: Health Essentials

วิธีการเดียวที่จะเลิกยาได้คือการลดปริมาณยา แต่ก็มีหลายคนที่เลิกยาไม่ได้ และทำให้มีคนป่วยติดยานอนหลับเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน ประเด็นของการใช้กัญชาเพื่อช่วยอาการนอนไม่หลับจึงไม่ได้รวมการทำงานของสารแคนนาบินอยด์ทั้งหมด แต่แบ่งออกเป็นการทำงานของสาร THC และ CBD ที่ออกฤทธิ์และส่งผลต่อการนอนหลับที่แตกต่างกันออกไป

กรึ๊บสักแก้ว หรือ เติมสักหลุม ดีจริงรึเปล่า?

การกินเหล้าก่อนนอน (nightcap) ให้หลับสบายนั้นเป็นเรื่องที่คุ้นหูกันดี แต่รู้ไหมว่าแอลกอฮออล์มีส่วนทำให้ง่วง ไม่ได้มีส่วนช่วยให้หลับสนิท ซึ่งส่งผลเสียต่อคุณภาพของการนอนหลับโดยรวม

การทำงานของแอลกอฮอล์สามารถช่วยลดระยะเวลาก่อนหลับ (sleep latency) แต่ส่งผลกระทบต่อช่วงเวลา REM (Rapid Eye Movement sleep) จึงไม่แปลกที่คืนไหนดื่มแล้วจะหลับสนิท แต่ตื่นมาก็ยังไม่หายง่วง แถมยังเพลียกว่าเดิมในบางครั้ง

ช่วงเวลาของ REM นั้นมีความสำคัญต่อการซ่อมแซมระบบร่างกาย ความทรงจำ และการพักผ่อนของสมอง มันจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการตัดสินคุณภาพของการนอนหลับ เมื่อร่างกายไม่เข้าสู่ช่วง REM ก็จะพบกับการหลับแบบไม่ฝัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการเก็บข้อมูลของสมองอีกด้วย

Photo credit: Okotoks TODAY

รวมไปถึงสาร THC ในกัญชาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลับแต่คุณอาจจะพบกับอาการมึนงงเมื่อตื่นนอนและการไม่ฝันเมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการทำงานของ THC ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายกับแอลกอฮอล์ที่ช่วยลดระยะเวลาก่อนหลับ แต่กลับมีผลเสียต่อ REM รวมไปถึงการพบกับอาการดื้อหลับเมื่อใช้ไปสักพักเช่นเดียวกัน

สำหรับคนเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง การกรึ๊บเหล้าหรือเติมกัญชาก่อนหลับก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสักเท่าไหร่เมื่อมองในระยะยาว การใช้กัญชาที่มีสาร THC สูงแล้วส่งผลให้ไม่ฝัน กลับกลายเป็นว่ามีส่วนช่วย โดยเฉพาะกับผู้ป่วย PTSD ที่พบเหตุการณ์รุนแรงอย่างการโดนทำร้ายร่างกาย ข่มขืน ฯลฯ ที่พบกับภาพหลอนติดตาหรือฝันร้ายแบบเดิมๆ การใช้กัญชาก็สามารถช่วยให้หลับโดยไม่ฝันถึงเหตุการณ์เหล่านั้นได้ 

ทางเลือกของกัญชาบำบัด

‘กัญชาบำบัด’ เป็นหนึ่งทางเลือกที่ถูกบันทึกในตำรับยาแผนไทยจากคัมภีร์ธาตุพระนารายน์ และถูกปรับใช้ในปัจจุบัน ภายใต้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมเพื่อช่วยรักษาผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับคือ ‘ยาศุขไสยาศน์’ 

Photo credit: MGR Online

“ยาศุขไสยาศน์จะช่วยทำให้นอนหลับสบายมากขึ้น ลดอาการวิตกกังวล เนื่องจากยาศุขไสยาศน์ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิดที่ช่วยให้ผ่อนคลาย บำรุงจิตใจให้แจ่มใส รวมถึงส่วนผสมสำคัญก็คือกัญชา ซึ่งมีสัดส่วนในยาศุขไสยาศน์มากที่สุด เป็นตัวหลักที่ช่วยให้นอนหลับและลดอาการวิตกกังวลได้ นอกจากนี้ ยาศุขไสยาศน์ไม่เพียงแต่ช่วยให้นอนหลับได้ดี แต่ยังสามารถช่วยให้เจริญอาหาร ทำให้ระบบย่อยทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย” – วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 

อีกทั้งในปี พ.ศ. 2564 วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกระบุว่า การรักษาด้วยตำรับยาศุขไสยาศน์นั้นใช้ได้ผลดีในการรักษาช่วง 5 เดือนแรก ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะวิธีการรักษาด้วยยาจำหน่ายตามใบสั่งยาก็มักจะมีช่วงเวลาการรักษาราว 1-6 เดือนเช่นเดียวกัน 

กัญชาอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการใช้ยานอนหลับ เพราะกัญชานั้นมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่ายาตามใบสั่งแพทย์ (prescription drug) เป็นอย่างมาก 

Photo credit: Natural Care

ความหวังยามนิทราของ CBD

ในโลกแห่งความวุ่นวายที่สูบฉีดไปด้วยคาเฟอีน นิโคติน และความเครียดในชีวิตประจำ ไม่แปลกที่จะพบว่าหลายคนมีปัญหาการนอนไม่หลับ ปัจจุบันนี้โรคนอนไม่หลับจะมีการรักษาอยู่ 2 วิธีหลัก หนึ่งในนั้นคือการรักษาที่สาเหตุ โดยการปรับความคิด พฤติกรรม และการใช้ยา 

โรคนอนไม่หลับที่ไม่รุนแรงมักจะมาจากปัจจัยนอก ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความวิตกกังวล ฯลฯ สิ่งที่แพทย์แนะนำคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ตั้งตารางเวลาเข้านอนให้ชัดเจน ออกกำลังกายเป็นประจำ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ลดคาเฟอีน ควบคุมความเครียด ฯลฯ  

หากการปรับพฤติกรรมไม่เพียงพอ แพทย์จะต้องสั่งจ่ายยาซึ่งมักจะแบ่งเป็น 3 ตัวหลักคือ

​​1. ยาต้านเศร้า (Antidepressants)

2. ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ยากลุ่มนี้จัดเป็นยาคลายกังวล (Anxiolytic)

3. ​​ยานอนหลับกลุ่ม Z-drug ที่ออกฤทธิ์เร็ว

Photo credit: The Recovery Village

เหล่ายาพวกนี้ทำหน้าที่ปรับสมดุลของร่างกายและจิตใจ คลายเครียด คลายอาการวิตกกังวล ต้านอาการซึมเศร้า และมักเป็นตัวพื้นฐานที่หมอจัดให้กับคนที่นอนไม่หลับ 

คนป่วยจึงสามารถหลับได้ แต่มันก็มาพร้อมกับผลข้างเคียงรุนแรง อย่างเช่น ภาวะเสียความจำชั่วขณะ อาการตาลาย หูแว่ว เดินเซ กล้ามเนื้ออ่อนล้า หัวใจเต้นช้า หายใจลำบาก หมดสติ คออักเสบ โพรงไซนัสอักเสบ ปากแห้ง อาการร้อนวูบวาบ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร ท้องผูก ปวดหลัง ปัสสาวะติดขัดหรือบ่อยขึ้น ความต้องการทางเพศลดลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผิวหรือตาเหลือง ผื่นแดง อาการสั่นอย่างควบคุมไม่ได้ สูญเสียการควบคุมทางการเคลื่อนไหว ฯลฯ 

Photo credit: Dinafem Seeds

เมื่อหันกลับมามองการทำงานของ CBD ในกัญชา ซึ่งทำหน้าที่ปรับสมดุลของร่างกายมนุษย์ผ่านระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ ออกฤทธิ์ลดความวิตกกังวล และช่วยลดระยะเวลาก่อนหลับ หากใช้ในปริมาณมาก มันจะยังช่วยลดการตื่นตัวขณะหลับ และทำให้หลับยาวตลอดคืนอีกด้วย อีกทั้งสารแคนนาบินอยด์ CBD นั้นช่วยในการปรับอุณหภูมิในร่างกาย ซึ่งก็มีผลช่วยทำให้นอนหลับง่ายขึ้น

การทำงานของ CBD ไม่ได้ทำให้เราหลับโดยตรง แต่เพราะมีการปรับสมดุลของระบบในร่างกาย ซึ่งส่งผลให้เราหลับ ไม่ต่างจากยาต้านเศร้าหรือยาคลายกังวล แต่ผลข้างเคียงกลับน้อยกว่ามาก

Photo credit: Peter Attia

‘แมธธิว วอล์กเกอร์’ (Matthew Walker Ph.D.) นักประสาทวิทยาและเจ้าของหนังสือ “Why We Sleep” กล่าวว่า “CBD มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นตัวช่วยหลักของคนที่นอนไม่หลับในอนาคตข้างหน้า เพราะสาร CBD นั้นมีส่วนลดความวิตกกังวล (anxiolytic) และเมื่อเราวิตกกังวลน้อยลง ก็จะนอนหลับได้ง่ายขึ้นเช่นกัน”

“ถึงแม้ว่ายังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีหลักฐานมากพอที่จะสรุปได้ว่า CBD นั้นเป็นทางเลือกใหม่แห่งการนอนหลับของมนุษย์หรือไม่ แต่ความเป็นไปได้นั้นค่อนข้างที่จะสูง ในอนาคตเราคงจะมีบทสรุปที่ชัดเจนยิ่งกว่านี้” 

Photo credit: Harvard Medical School

ถึงแม้ว่ากัญชาทางการแพทย์นั้นจะถูกกฎหมายในหลายประเทศ แต่งานวิจัยต่างๆ ก็ยังเป็นไปได้อย่างล่าช้า เนื่องจากขาดทุนสนับสนุนจากรัฐบาล รวมไปถึงการขัดผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทย

สุดท้ายแล้วการเลือกใช้ยาหรือกัญชาก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจส่วนบุคคล การที่เราเข้าใจความเสี่ยงของตัวเลือกการใช้ยารักษานั้นเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน การศึกษาด้วยตัวเอง​​เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราควรเข้าใจถึงการทำงานของสารแคนนาบินอยด์และร่างกายของเรา เพื่อจะได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับมากขึ้นในสังคม ในแง่ของการเป็นยาทางเลือก และถึงแม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีหลักฐานมากพอในการสรุปว่า CBD เป็นทางเลือกใหม่สู่การนอนหลับของมนุษย์หรือไม่ ความเป็นไปได้นั้นก็ค่อนข้างที่จะสูง และในอนาคตเราคงจะมีบทสรุปที่ชัดเจนยิ่งกว่านี้ 

Photo credit: Leafwell

อ้างอิง

จะเลิกยานอนหลับอย่างไรให้ปลอดภัย, โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์

แถลงจุดยืนของการใช้กัญชากับปัญหานอนไม่หลับ, สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย, 

Why We Sleep, Matthew Walker

Can Cannabis Help You Get A Good Night’s Sleep?, Forbes, A.J. Herrington