​​Cannabis Before Globalization : เรื่องราวของกัญชาก่อนการโลกาภิวัตน์

Photo credit: Fortune

วัฒนธรรมการปลูกกัญชาในร่ม, ที่มาของดอกไฮโดรโปนิกส์ (hydroponics), การไล่ล่าจับกุมของรัฐบาล และการใช้ดนตรีฮิปฮอปเป็นกระบอกเสียงสู่สังคม

ก่อนที่อัมสเตอร์ดัมจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของโลกกัญชา กัญชาที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดใต้ดินยุคก่อน มักจะถูกนำเข้ามาจากประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร ที่เป็นการปลูกและลักลอบขายเป็นขบวนการใหญ่ 

Photo credit: Dominican University

แม้ว่ากัญชาจะได้รับความนิยมและกระแสตอบรับที่ดีจากกลุ่มฮิปปี้ นักเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม รวมไปถึงคนป่วยและนักศึกษา แต่รัฐบาลก็ต่างพากันผวาถึง “หญ้าเมา” และไม่ยอมรับถึงประโยชน์ของมัน อีกทั้งยังถูกเหมารวมไปกับนโยบายสงครามยาเสพติด (War on Drugs) ในปี ค.ศ. 1971 ของรัฐบาล ‘โรนัลด์ เรแกน’ (Ronald Reagan) ที่ยังส่งผลต่อกฎหมายกัญชาทั่วโลกในปัจจุบัน

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศสหรัฐฯ ไม่ได้เพียงแค่มีผลกระทบต่อคนบางกลุ่ม แต่เป็นส่วนสำคัญที่ได้ผลักดันวงการอุตสาหกรรมกัญชามาจนถึงทุกวันนี้ 

“Gedoogbeleid” นโยบายการยอมรับและเข้าใจ 

Photo credit: EVIDENCE FOR CHANGE

ช่วงหลังสงครามเวียดนามในปี ค.ศ. 1972 เหล่าผู้ค้าเฮโรอีนจากทวีปเอเซียจำนวนมากเริ่มมองหาลู่ทางการค้าใหม่ในยุโรป และไม่นานนักถนน Zeedijk ในย่าน Chinatown ของเมืองอัมสเตอร์ดัมก็กลายเป็นจุดศูนย์กลางยาเสพติดตัวใหม่ หากไม่รวมชาวดัตช์และชาวซูรินาม (อาณานิคมของเนเธอร์แลนด์) ก็มีชาวอเมริกันและเยอรมันเดินทางเข้ามาและติดเฮโรอีนกันเป็นจำนวนมาก 

ในช่วงที่ระบาดหนัก รัฐบาลดัตช์เลือกที่จะแก้ปัญหาอย่างสมเหตุสมผลด้วยวิธีการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (harm reduction) ซึ่งคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และยึดความพร้อมของผู้ป่วยเป็นฐาน การที่รัฐบาลพยายามเข้าใจธรรมชาติของผู้ใช้ยาเสพติด จึงช่วยเหลือผู้ติดยาให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง

Photo credit: EVIDENCE FOR CHANGE

ในเวลาเดียวกัน ดอกกัญชาและแฮช (hash) ก็เป็นที่นิยมอย่างมาก แต่กลับไม่ได้สร้างปัญหาในสังคมเมื่อเทียบกับเฮโรอีน ด้วยเหตุผลนี้ในปี ค.ศ. 1972 รัฐบาลจึงได้ตีพิมพ์รายงาน “Touwtrekken om hennep” จำนวน 27 หน้า กล่าวว่าการใช้กัญชานั้นไม่ต่างไปจากการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมดัตช์ (โดยมีรายงานของ Shafer Commission จากประเทศสหรัฐฯ และ Le Dain Commission จากประเทศแคนาดาออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน)

นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1976 ยังมีการปรับกฎหมาย “Opium Act” ที่ได้แบ่งยาเสพติดออกเป็น 2 ประเภทคือ ยาเสพติดร้ายแรง (hard drugs) เช่น โคเคน เฮโรอีน แอลเอสดี แอมเฟตามีน ฯลฯ และยาเสพติดไม่ร้ายแรง (soft drugs) เช่น กัญชา นิโคติน แอลกอฮอล์ ทรัฟเฟิล ฯลฯ พร้อมกับใช้นโยบายการยอมรับและเข้าใจ “Gedoogbeleid” รวมไปถึงการลดทอนโทษการเป็นความผิดทางอาญา (decriminalization) กับกลุ่มยาเสพติดไม่ร้ายแรง

ถึงแม้จะไม่ใช่กฎหมายเสรีอย่าง 100% ประชาชนก็สามารถปลูกและมีกัญชาในครอบครองได้ รวมไปถึงการเปิดร้าน coffeeshop ที่มีมาตรการควมคุมจากรัฐ เช่น การจำกัดอายุผู้ซื้อ จำกัดปริมาณในการซื้อ ไม่มีการโฆษณาสินค้า และห้ามขายแอลกอฮอล์ในร้าน

Photo credit: Sprudge

ไม่นานนัก หลังจากที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ปรับเปลี่ยนกฎหมายกัญชา ก็มีร้าน coffeeshop ผุดขึ้นมานับร้อยในตัวเมือง ดอกกัญชาส่วนใหญ่ที่ขายในร้านมักจะมาจากประเทศเขตภูมิร้อนอย่างแอฟริกา โคลัมเบีย ไทย และอินโดนีเซียเป็นหลัก ส่วนแฮชจะมาจากโมร็อกโก อัฟกานิสถาน และเลบานอน

การที่ยอมให้มีการเปิดค้าขายกัญชาผ่านร้าน coffeeshop เป็นเพราะรัฐบาลเชื่อว่า หากประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาและยาเสพติดไม่ร้ายแรงอื่นๆ จากร้านค้าทั่วไปได้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปพึ่งกลุ่มผู้ค้ายาใต้ดิน

นิตยสาร High Times และโลกก่อนยุคอินเทอร์เน็ต

Photo credit: Amazon

ในปี ค.ศ. 1974 ประเทศสหรัฐฯ เปิดตัวนิตยสารในตำนานอย่าง “High Times” ที่ตีพิมพ์บทความวารสารเกี่ยวกับกัญชา การเมือง เซ็กซ์ ยาเสพติด ดนตรี ฯลฯ เป็นนิตยสารที่ผลักดันกฎหมายเสรีและเป็นเสมือน ‘ไบเบิลของนักปลูกกัญชา’ ของทุกคนในเวลานั้น

นอกจากนิตยสาร “High Times” แล้วก็ยังมีนิตยสาร “Sensimilla Tips” และ “The Growing Edge” ที่เขียนถึงเทคนิคการเพาะปลูกกัญชาโดยเฉพาะ 

ในยุคที่ไร้อินเทอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์เป็นทางเดียวที่จะส่งต่อข้อมูลหากันและกัน ศัพท์เฉพาะและวิธีการสอนเพาะปลูกกัญชาถูกส่งต่อ จากเหล่านักปลูกและนักเขียนรุ่นใหญ่ อย่าง Mel Frank, Jorge Cervantes, Ed Rosenthal และนักเขียนรุ่นต่อมาอย่าง Bobby Black, Kyle Kushman และ Danny Danko ทุกคนต่างมารวมตัวกันด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ความรู้ต้องแบ่งปัน’

Operation Code Green

ตามที่ได้กล่าวไว้ว่าในช่วงยุค 60’s-70’s กัญชาที่อยู่ในท้องตลาดประเทศสหรัฐฯ มักจะถูกลักลอบเข้ามาจากประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างเม็กซิโก โคลัมเบีย อินโดนีเซีย ไทย แอฟริกา ‘แดนนี่ แดนโค’ (Danny Danko) บรรณาธิการเพาะปลูกของ “High Times” กล่าวว่ามีปัจจัยหลายสิ่งที่ทำให้นักปลูกในประเทศสหรัฐฯ และแคนาดาหันมาสนใจการปลูกแบบระบบภายในหรือระบบปิด (indoor)

Photo credit: The Canna Chronicles

หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1969 “ปฎิบัติการ Intercept” ภายใต้การทำงานในปีแรกของรัฐบาล ‘ริชาร์ด นิกสัน’ (Richard Nixon) ที่ต้องการปิดเส้นทางลักลอบยา รวมถึงเข้าจับกุมผู้ค้ากัญชาและเฮโรอีนที่เข้ามาทางชายแดนเขตระหว่างประเทศเม็กซิโก หลายคนมองว่าการตัดสินใจครั้งนั้นไม่ต่างจากแนวคิด “Trump Wall” ที่ถูกสร้างขึ้นมาภายหลังในปี ค.ศ. 2016

อีกครั้งในปี ค.ศ. 1975 “ปฎิบัติการ Clearview” ได้ทำการพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืช (paraquat) เพื่อกำจัดไร่กัญชาและป็อปปี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ป่าในพื้นที่ อีกทั้งสารเคมีเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถฆ่าต้นกัญชาได้หมด และถึงแม้ว่าไร่กัญชาในเม็กซิโกจะเต็มไปด้วยสารเคมี พอถึงฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนาก็ส่งข้ามชายแดนไปขายอยู่ดี กัญชากว่า 20-30% ในเวลานั้นจึงมีสารเคมีเจือปน ทำให้ประชาชนต่างเริ่มกลัวที่จะซื้อกัญชาใต้ดินมากขึ้น

หลายคนเชื่อว่าการที่ตำรวจมุ่งจับกัญชามีส่วนทำให้ผู้ค้าหันไปลักลอบขายโคเคนแทน เพราะสามารถแพ็กได้ง่ายและมีค่าตอบแทนที่สูงกว่าเป็นอย่างมาก ผู้ค้ากัญชาหลายคนเองก็เลือกที่จะย้ายทำเลเข้ามาอยู่ในประเทศบริเวณรัฐแคลิฟอร์เนียและฮาวายที่อากาศยังพอเป็นใจให้ทำการลักลอบปลูกแบบกลางแจ้งได้

และอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เหล่านักปลูกกัญชาต่างเรียกว่า ‘Black Thursday’ คือวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1989 รัฐบาลใหม่ภายใต้ประธานาธิบดี ‘จอร์จ วอล์กเกอร์ บุช’ (George W. Bush) ได้ก่อตั้ง “ปฎิบัติการ Green Merchant” เพื่อมาขจัดกัญชาโดยเฉพาะ โดยทำการบุกจับกุมร้านจำหน่ายอุปกรณ์เพาะปลูก และจับกุมผู้คนเป็นจำนวนมากในภายในวันเดียว

Photo credit: The Canna Chronicles

นอกจากนั้นยังมีการสอบสวนเหล่าร้านจำหน่ายอุปกรณ์เพื่อตามรายชื่อลูกค้าและนิตยสารทั้งหลาย เป็นการพยายามปราบปราบและขจัดล้างขบวนการกัญชาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐฯ และระหว่างประเทศเนเธอร์แลนด์

มีเหตุการณ์การจี้จับกุมซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากรัฐบาลอย่างไม่หยุดหย่อนตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจนทำให้กัญชาต้องเกือบสูญหายไปกับหน้าประวัติศาสตร์ และบีบให้ผู้ปลูกต้องหาวิธีเอาตัวรอดจากการล้างบางในคราวนี้

เรื่องราวยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ สามารถติดตามต่อได้ในตอนที่ 2 – “Indoor Revolution”

อ้างอิง

  • How Pot Has Grown By Michael Pollan, The New York Times Magazine
  • A Timeline of Cultivation Technology By Allen St. Pierre
  • The History of Hydroponics by Danny Danko
  • American Weed: A History of Cannabis Cultivation in the United States by Nick Johnson
  • A History for the Blunted: How Weed Culture Evolved Through Hip-Hop by Anthony P. 
  • ‘We the Avant-Garde’. A History from Below of Dutch Heroin Use in the 1970s by Gemma Blok