ผ่านช่วงสงกรานต์กันมาแบบหมาดๆ ชนิดที่เรียกว่าตัวยังไม่ทันหายเปียก ช่วงหยุดยาวนี้คงมีทั้งทีมที่ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด ทีมพักผ่อนอยู่บ้าน หรือทีมปาร์ตี้แฮงเอาท์ แต่ไม่ว่าจะทีมไหน กิจกรรมประจำช่วงวันหยุดก็คงหนีไม่พ้นการดื่มสังสรรค์กันตามประสา แต่รู้ไหมว่า ช่วงปีที่ผ่านมาวัยรุ่นในหลายๆ ประเทศเริ่มเปลี่ยนจากการสังสรรค์ด้วยสุรา มาสังสรรค์ด้วยกัญชากันมากขึ้นแล้ว ไหนๆ ก็ใกล้ช่วงของการฉลอง 420 แล้ว EQ ก็มีเรื่องของกัญชา กับการเข้าสังคมมาให้ผู้อ่านได้ลองพูดคุยกันสักหน่อย เผื่อว่าจะเป็นตัวเลือกให้กับหลายๆ คนได้ลองเปลี่ยนจากปาร์ตี้ดื่มเหล้าแบบเดิมๆ มาเข้าสังคมจอยๆ แบบสายเขียวดูบ้าง
ในวันที่ Gen Z ดื่มน้อยลง กัญชาเลยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
พอพูดถึงการสังสรรค์ หรือการเข้าสังคม เรามั่นใจว่า คนจำนวนไม่น้อยต้องเห็นภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ แสงสี และผู้คน มาเป็นอันดับต้นๆ แน่นอน ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่า การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย และที่สำคัญยังเป็นกิจกรรมที่คนจำนวนหนึ่งมองว่า ‘เสียเวลา’ เนื่องจากเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการปาร์ตี้แบบจัดหนักจัดเต็ม คนจำนวนไม่น้อยมักจะต้องเสียเวลาไปกับ ‘อาการเมาค้าง’ และความไม่สดชื่นที่ทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่คิดจะทำในวันนั้นผิดแผน ช้าลง หรือล่มไป ด้วยเหตุผลนี้ทำให้มีคนส่วนหนึ่งริเริ่มมูฟเมนต์ที่เรียกว่า ‘Dry January’ หรือก็คือ การงดดื่มแอลกอฮอล์ตลอดเดือนมกราคม หลังจากปาร์ตี้ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่กันไปอย่างหนักหน่วง แล้วแบบนี้หากสายปาร์ตี้อยากเข้าสังคมระหว่างกิจกรรมนี้จะทำอย่างไร?
ข้อมูลจาก CivicScience ระบุว่า กว่า 60% ของผู้ที่เข้าร่วมมูฟเมนต์ Dry January จะใช้ทางเลือกอื่นๆ เข้ามาแทนการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์, น้ำอัดลม, คอมบูฉะ, กัญชา และผลิตภัณฑ์ CBD โดยหากแบ่งตามเกณฑ์อายุจะพบว่า คนในช่วงอายุ 21 – 24 ปี มองกัญชาเป็นตัวเลือกแรกในการทดแทนการดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็น 34% ในขณะที่คนในวัย 25 – 34 ปี ก็เลือกใช้กัญชาถึง 24% (เป็นรองเพียงแค่น้ำอัดลมเท่านั้น)
นอกจากนี้รายงานของ Berenberg Research ยังแสดงให้เห็นว่า ชาว Gen Z ดื่มแอลกอฮอล์น้อยลงกว่า 20% ต่อคน เมื่อเทียบกับปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่ม Millennials เท่านั้นยังไม่พอ รายงานนี้ยังระบุอีกว่า กลุ่ม Millennials เองก็ดื่มแอลกอฮอล์น้อยลงกว่ากลุ่ม Gen X และ Baby Boomer
ขณะที่การศึกษาของ University of New South Wales ยืนยันเทรนด์การดื่มของวัยรุ่นทั่วโลกว่า 44% ของวัยรุ่นอายุ 18 – 24 ปี มีพฤติกรรมการดื่มที่น้อยลงกว่าหลายๆ เจนที่โตกว่า นอกจากนั้น University of Michigan ยังพบว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีคนในวัยมหาวิทยาลัยที่งดดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 28% ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่เลิกดื่มสุราโดยสิ้นเชิง พฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกิดจากการดื่มมากขึ้นนั่นเอง
ข้อมูลเหล่านี้ก็อาจจะพอทำให้เข้าใจได้มากขึ้นแล้วว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเลือกใช้แอลกอฮอล์ในการเข้าสังคมกันน้อยลง และเราอยากชวนทุกคนมาดูถึงเหตุผลว่า ทำไมกัญชาถึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการเข้าสังคมในปัจจุบัน
ยกตัวอย่างงานวิจัยของ Anastase Georgotas และ Phillip Zeidenberg ที่ระบุว่า ในกลุ่มนักศึกษา 153 คน มีกว่า 70% ที่บอกว่า การใช้กัญชาทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น เนื่องจากเกิดความรู้สึกเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นหนึ่งเดียวกัน นอกจากนี้กว่า 80% ยังระบุอีกด้วยว่า การใช้กัญชาทำให้พวกเขาเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Neuroscience ระบุไว้เช่นกันว่า การใช้กัญชาทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นจริงๆ แล้วยังทำให้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีขึ้นด้วย เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้
นอกจากนี้การใช้กัญชายังสามารถช่วยให้รับมือกับ ‘โรคกลัวสังคม’ (Social Anxiety Disorder: SAD) ได้ดีมากขึ้นอีกด้วย โดยผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ใน The American journal on addictions ระบุว่า กว่า 36% ของผู้ที่เผชิญกับโรคกลัวสังคมเลือกใช้กัญชาเพื่อการรับมือกับสังคม นอกจากนี้ 65.9% ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการ SAD ขั้นรุนแรง มีแนวโน้มที่จะใช้กัญชาเพื่อรับมือกับการที่ต้องเผชิญสังคมอีกด้วย
เท่านี้ก็น่าจะทำให้ภาพของการใช้กัญชาเพื่อการเข้าสังคมแทนการดื่มแอลกอฮล์นั้น เป็นเหตุเป็นผล และเป็นไปได้มากขึ้นแล้ว
สุรา vs กัญชา ตัวเลือกไหนกันนะที่จะดีกว่ากัน
ถ้าจะให้พูดถึงการใช้กัญชา แทนการดื่มแอลกอฮอล์โดยที่ไม่เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของทั้งสองอย่างนี้ ก็อาจจะแปลกไปสักหน่อย เพราะฉะนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่า เมื่อ ‘กัญชา’ ต้องปะทะกับ ‘สุรา’ อะไรจะชนะ
เริ่มกันที่เอฟเฟกต์ระยะสั้นกันก่อน กัญชา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลกระทบในระยะสั้นที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็น การให้ความผ่อนคลาย, ก่อให้เกิดอาการมึนเมา, การรับรู้ และการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ลดลง รวมไปถึงอาการขาดน้ำด้วย ซึ่งในข้อนี้ทั้งสองฝั่งอาจจะดูไม่ต่างกันมาก นับว่ายังเสมอกันอยู่
ถ้าอย่างนั้นอาจจะต้องดูที่ผลระยะยาว อย่างที่เรารู้ๆ กันดีว่า การดื่มสุรามีผลต่อสุขภาพในระยะยาวเมื่อดื่มติดต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคตับแข็ง, ตับอ่อนอักเสบ, มะเร็งหลากชนิด, โรคหัวใจ, ระบบย่อยอาหารทำงานได้แย่ลง, ระบบประสาทส่วนกลางเสียหาย, สมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอย ไปจนถึงภาวะมีบุตรยาก ในขณะที่การใช้กัญชาติดต่อกันในระยะยาวอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาของสมอง (ซึ่งจุดนี้เอง การดื่มแอลกอฮอล์ก็มีผลเช่นกัน), เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดจากควันที่สูดเข้าไป ทั้งยังอาจก่อให้เกิดโรคจิตเภทอีกด้วย แต่เมื่อเทียบกันแล้วความเสี่ยงของกลุ่มโรคร้ายแรงจากการดื่มแอลกอฮอล์ก็ยังมีมากกว่า การใช้กัญชาอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เพิ่งออกประกาศเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า การดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่มีวิธี หรือปริมาณการดื่มในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ในขณะที่การใช้กัญชามีปริมาณในการบริโภคที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อสุขภาพกำหนดไว้อยู่ ทำให้แมทช์นี้การใช้กัญชาเป็นฝ่ายขึ้นนำอย่างชัดเจน
แต่ก็ใช่ว่าทั้งสองสิ่งนี้จะมีแต่ข้อเสียเท่านั้น เราลองมาดูถึงประโยชน์ต่อสุขภาพของการดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้กัญชากันดีกว่า การดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดก็มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ไวน์แดงที่มีสาร Polyphenol, การดื่มแอลกอฮอล์สามารถช่วยลดโปรตีนที่ทำให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่มและอุดตันได้ นอกจากนั้นยังสามารถเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดีให้กับร่างกายได้อีกด้วย ในขณะที่การใช้กัญชามีประโยชน์ด้านการลดความเจ็บปวด, สร้างความผ่อนคลาย, ลดอาการกลัวสังคม และความกังวล ทั้งยังช่วยเรื่องปัญหาการนอนหลับได้อีกด้วย ถ้าดูจากตรงนี้ทั้งแอลกอฮอล์ และกัญชา ต่างก็มีประโยชน์ในแบบของมันเอง (ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้อย่างเหมาะสมด้วย)
จากสิ่งที่เราหยิบขึ้นมาเปรียบเทียบกันในตอนนี้น่าจะทำให้ชาว EQ เปรียบเทียบได้แล้วว่า การใช้กัญชาเพื่อการเข้าสังคม น่าสนใจอย่างไร เมื่อเทียบกับการดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นเราลองมาดูกันดีกว่าว่า ถ้าเกิดเราสนใจในการใช้กัญชาเพื่อการเข้าสังคม มีอะไรที่เราต้องรู้บ้าง
เมื่ออยากให้กัญชาพาเข้าสังคม
การใช้กัญชาเพื่อการเข้าสังคมนั้นเราต้องรู้ก่อนว่า กัญชามีหลากหลายสายพันธุ์มากๆ แต่ละสายพันธุ์ก็มีทั้งรูปลักษณ์, กลิ่น, รส และเอฟเฟกต์ที่แตกต่างกันออกไป ด้วยความแตกต่างหลากหลายนี้เองที่ทำให้กัญชาบางสายพันธุ์กระตุ้นให้เราอยากพูดคุย สร้างสัมพันธ์กับผู้คน ในขณะที่บางสายพันธุ์ก็ทำให้เราดำดิ่งไปสู่ความสงบ และห้วงนิทรา
ซึ่งต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นเต็มไปด้วยข้อมูล คำแนะนำเกี่ยวกับสายพันธุ์ และการใช้กัญชาตามจุดประสงค์ต่างๆ แต่ก็ยังมีข้อถกเถียง และโต้แย้งถึงสายพันธุ์ที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดในการใช้งานอยู่ดี ดังนั้นข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เราต้องเข้าใจก่อนว่า เอฟเฟกต์ของกัญชานั้น นอกจากจะแตกต่างออกไปตามแต่ละสายพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนบุคคลด้วย เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนก็รับผลของการใช้กัญชาแต่ละสายพันธุ์ได้ต่างกัน อย่าไปคิดว่าอะไรที่ดีกับคนหนึ่ง (แม้ว่าเขาจะเป็นเพื่อนสนิทของคุณก็ตาม) แปลว่าจะต้องดี ต้องเหมาะสมกับเราเช่นกัน ดังนั้นการค่อยๆ ทดลองไปเรื่อยๆ (จะเริ่มจากสายพันธุ์ที่มีรีวิวเยอะๆ ก่อนก็ได้) จนกว่าจะเจอสายพันธุ์ที่ใช่ ก็เป็นวิธีการที่น่าสนใจที่จะทำให้คุณได้เรียนรู้ และค้นพบ ‘เนื้อคู่’ ของคุณ (ที่หมายถึง ‘เนื้อ’ ที่ถูกจริตคุณจริงๆ)
นอกจากเรื่องสายพันธุ์แล้ว เรายังมีกิจกรรมที่จะช่วยให้การใช้กัญชาร่วมกับการเข้าสังคมของคุณน่าสนใจขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็น การจับกลุ่มพูดคุยกับเพื่อน หรือพบปะพูดคุยกับคนในวงสังคมใหม่ๆ เพราะกัญชาจะช่วยให้คุณสร้างปฏิสัมพันธุ์กับคนอื่นๆ ได้สนุกขึ้นแน่นอน หรือจะเป็นการเดินป่า ชมธรรมชาติกันเป็นกลุ่มๆ ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากใช้กัญชา และเข้าสังคม เพราะนอกจากการเดินจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังได้ชมธรรมชาติที่สวยงาม (ซึ่งอาจจะสวยกว่าตอนไม่ใช้กัญชาเสียอีก) อีกทั้งยังได้สร้างสัมพันธ์กับคนในกลุ่มด้วย การสร้างสรรค์งานศิลปะก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องจากการใช้กัญชาจะเปิดประสบการณ์ด้านความครีเอทีฟให้กับคุณ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเพื่อการสร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราวิจารณ์ หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับผลงานของกันและกันได้อย่างบรรเจิดสุดๆ ไปเลย นอกจากนี้ยังมีการเล่นโยคะ, ทำสมาธิ, ทำสปา และกิจกรรมอีกมากมายที่สามารถรวมกลุ่มทำด้วยกันได้ พร้อมกับการใช้กัญชาไปด้วย
ท้ายที่สุดแล้วการใช้กัญชามีทั้งข้อดี และข้อเสีย ดังนั้นเราอยากให้ทุกคนค่อยๆ ค้นหาวิธีการใช้กัญชาในแบบที่ใช่ ปริมาณการใช้ที่พอ และสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณ ภายใต้ขอบเขตของความปลอดภัย จุดนี้ก็จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดี ให้คุณไม่ต้องเจอ Bad Trip ซึ่งการที่ EQ ชวนทุกคนมาคุยกันในหัวข้อนี้ ก็เพื่อเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของการใช้กัญชา เพื่อจุดประสงค์การเข้าสังคม เนื่องจากกระแสของการเข้าสังคมในกลุ่ม Gen Z เริ่มเปลี่ยนไปจากเจนก่อนๆ และการดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่ใช่ตัวเลือกเดียวสำหรับการสังสรรค์อีกต่อไปแล้ว
อ้างอิง
Forbes
CivicScience
GlobalNews
The Hill
Cannigma
GoodRx Health
Healthline
Burnt River Farms
Rose Mary Jane