Munchies – ทำไมเวลา ‘ไฮ’ ต้อง ‘หิว’

Photo credit: Weedmaps

ถ้าใครที่มีโอกาสได้อ่านรีวิวสายพันธุ์ของกัญชา นอกจากสาร THC และ CBD แล้ว น่าจะพอคุ้นตากับคำว่า ‘Munchies’ กันมาบ้าง ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงของการเสพกัญชาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว มาทำความรู้จักกับอาการ Munchies กันเสียหน่อยดีกว่า 

คำว่า Munchies อ้างอิงจากพจนานุกรมของ Oxford แล้ว จะแปลไทยได้ว่า อาหารชิ้นเล็กๆ อาหารว่าง หรืออาการอยากอาหารเฉียบพลัน หรือแปลไทยอีกครั้งก็น่าจะประมาณว่าอาการโหย ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ใช้กัญชาที่จู่ๆ ก็จะอยากทานอาหารขึ้นมา ไม่เกี่ยงว่าคาว หวาน หรือจะเป็นจังก์ฟู้ดได้ก็ยิ่งดี

Photo credit: Alchimia

ทำไมถึงเกิดอาการ Munchies ขึ้นได้ 

ที่มาที่ไปของอาการอยากอาหารนี้ ได้มีงานวิจัยจากการศึกษาจากหลากหลายสถาบัน หลากหลายนักวิจัย ที่ได้ตีพิมพ์เอาไว้ วันนี้เราจึงรวบรวมเหตุผลที่ดูฟังง่ายและเข้าใจได้เอาไว้ดังนี้ 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสาร THC (tetrahydrocannabinol) มีความเกี่ยวเนื่องกับความอยากอาหารอย่างมีนัยยะสำคัญ ยิ่งกัญชามีสาร THC สูงมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสเพิ่มอาการอยากอาหารขึ้นไปตามตัว เลยเป็นที่มาของสารพัดเหตุของความหิว

  • สาร THC เข้าไปกระตุ้นความรู้สึกอิ่มเอมในสมอง และการกระตุ้นในส่วนนี้ยังส่งผลถึงเรื่องการกิน 
  • เมื่อ THC เข้าสู่ร่างกายและไปกระตุ้นระบบกัญชาในร่างกาย (endocannabinoid) จะส่งผลกับความต้องการขั้นพื้นฐานของระบบสมองดั้งเดิม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการกินและอาหาร
  • เมื่อสาร THC เข้าสู่ร่างกาย นอกจากจะส่งผลกับการควบคุมอารมณ์และความเจ็บปวดแล้ว ยังส่งผลต่อการรับรู้และประสาทสัมผัส ทำให้เราได้กลิ่นมากขึ้น ได้รสชาติมากขึ้น ทำให้เราอยากทานอาหารมากขึ้น (เหมือนกับเวลาใช้กัญชาแล้วฟังเพลงเพราะขึ้น)
  • THC มีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการหลั่งของสารแห่งความสุข ‘โดปามีน’ แน่นอนว่ามันช่วยให้อาหารน่าทานขึ้น 100% และสารโดปามีนยังทำให้เราเสียการยับยั้งช่างใจในการกินอีกด้วย
Photo credit: Leafly

THCV ฮีโร่ลดความอยากอาหาร 

THCV (tetrahydrocannabivarin) เป็นอีกสารที่พบได้ในกัญชา ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ THC แต่ทำงานได้น้อยกว่าถึง 5 เท่า ส่วนผลตอบรับต่อร่างกายในแง่บวกนั้นแทบไม่ต่างกับ THC เลย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยในเรื่องของความผ่อนคลาย ลดการอักเสบ เพิ่มเติมด้วยความสามารถในการบล็อกความอยากอาหารที่เกิดจากการกระตุ้นการกิน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เป็นอีกหนึ่งสารเคมีในกัญชาที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักหรือมองข้ามไป และยังส่งผลดีต่อร่างกายอีกด้วย 

ความอันตรายของอาการ Munchies 

ด้วยร่างกายของเรามีกลไกควบคุมความหิวและอิ่มอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอาการ Munchies คงจะไม่ทำให้เรากินจนท้องแตกแบบชูชกอย่างแน่นอน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคอ้วน โรคความดันเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ลองเปลี่ยนจากกดสั่งข้าวมันไก่ หรือเรียกรถไปร้านข้าวต้มที่เค็มนำทุกเมนู พิซซ่า จั้งก์ฟู้ด มาเป็นเมนูเพื่อสุขภาพก็จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องอาหารลงไปได้ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการกินเช่น กรดไหลย้อน กระเพาะอาหาร อาจจะต้องระวังในเรื่องของระยะเวลาในการทานและเมนูที่ทานด้วย

Photo credit: Veriheal

สุดท้ายนี้แล้ว เราคงได้แต่บอกว่าควรใช้กัญชาแต่พอดี แน่นอนว่าการใช้กัญชา พร้อมอาการ Munchies ในทุกวัน และทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพก็ย่อมส่งผลไม่ดีต่อร่างกายอย่างแน่นอน “You are what you eat.” ใช้อย่างมีสติ ใช้แต่พอดี เพื่อส่งเสริมชุมชนและวัฒนธรรมการใช้กัญชาในไทยให้มีความยั่งยืน 

อ้างอิง

CNN

Veriheal

Green Theory