ความสัมพันธ์ของกัญชาและดนตรีเร็กเก้นั้นเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกผ่านนักดนตรีชาวจาเมกาชื่อดังอย่าง ‘บ็อบ มาร์เลย์’ (Bob Marley) แต่รู้ไหมว่าเบื้องหลังจังหวะทำนองและเนื้อเพลงที่ขับร้องคือประวัติศาสตร์ของคนผิวดำที่ต่อสู้เรียกร้องถึงความยุติธรรมในสังคม
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เสียงดนตรีมีบทบาทสำคัญในตัวตนของเหล่าประชากรแอฟริกาผิวดำบนเกาะมาเสมอ โดยเฉพาะกลางเมือง Kingston ในย่าน Trenchtown
หลังจากที่ Pinnacle แตกสลาย เหล่าราสตาฟาเรียนก็กระจัดกระจายไปทั่วจาเมกา และได้ไปรวมกลุ่มใน Trenchtown ส่วนที่ยากจนที่สุดของเมือง พวกเขาขับขานและร่ำร้องถึงพระเจ้า Jah ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาตามโบสถ์ในชุมชุน
ชาวราสตาฟาเรียนที่ไว้ผมเดรดล็อคมักถูกมองว่าเป็นภัยสังคมมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม เพราะความเชื่อของพวกเขาที่ขัดกับรัฐบาลปกครอง รวมไปถึงการยุ่งเกี่ยวกับกัญชาที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่พวกเขาเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการปูทางให้ดนตรีเร็กเก้ในเวลาต่อมา
Rhythm and Ska
ท่ามกลางสลัมใน Trenchtown หนึ่งในราสตาฟารีนั้นคือนักดนตรี ‘Count Ossie’ ผู้นำสไตล์การตีกลองจังหวะพิธีกรรมราสตาฟารี Nyabinghi ร่วมกับกลิ่นอายแจ๊สจากคนผิวดำในรัฐนิวออร์ลีนส์ฝั่งทางใต้ของสหรัฐฯ ร่วมกับจังหวะ Rhythm and Blues และกวนเข้ากับทำนองเพลงดั้งเดิมของเกาะอย่าง Mento และ Calypso
อิทธิพลทั้งหมดถูกนำมารวมกัน จนออกมาเป็นยุคแรกของดนตรีสกา (Ska) ในเพลง ‘Oh Carolina – Count Ossie & Mystic Revelation of Rastafari’
นอกจากนี้ ในวันที่ประเทศจาเมกาได้รับเอกราช (6 สิงหาคม ค.ศ. 1962) Count Ossie ก็ได้มีโอกาสเล่นโชว์ต่อหน้า Princess Margaret แห่งสหราชอาณาจักรอีกด้วย
The Wailers – เสียงโอดครวญของสลัม
ในสลัมของ Trenchtown ที่ถูกมองข้ามจากรัฐฯ มักจะมีเสียงเพลงดังอยู่ตามถนนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลงจากโบสถ์ จากเครื่องเสียงหน้าร้านชำ หรือจากกีตาร์และกลองของวงสนทนาเพื่อนฝูง เสียงดนตรีเหล่านั้นช่วยบรรเทาและฆ่าเวลาที่ดูเหมือนไร้ค่าของพวกเขาไปวันๆ
ความยากจนและเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นใน Trenchtown ถูกสะท้อนและก่อให้เกิดจังหวะของ ghetto music จังหวะชีวิตที่มาจากการผจญกับความดิ้นรน แต่ภายใต้ความยากแค้นก็มีกลุ่มวัยรุ่นหลายคนหันมาเล่นดนตรีเพื่อหวังจะเป็นทางออกจากชีวิตใต้ห่วงโซ่สังคม
‘บ็อบ มาร์เลย์’ เกิดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ระหว่างพ่อผิวขาวซึ่งเป็นคนคุมไร้อ้อยและแม่ผิวดำ โดยที่เขาไม่เคยมีโอกาสได้เจอกับพ่อ แม่ลูกทั้งสองคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชนบทและได้ย้ายเข้ามา Trenchtown ด้วยฐานะที่ยากจนถึงขนาดที่บางวันต้องคุ้ยขยะหาอาหารกิน
ในตอนนั้น การเล่นดนตรีเป็นสิ่งที่จะพาชีวิตออกจากสลัมได้เร็วที่สุด บ็อบจึงนำความเจ็บปวดในวัยเยาว์พร้อมความขยันทุ่มลงไปกับเสียงเพลง และตั้งใจว่าจะเป็นศิลปินให้ได้
ฝีมือและความขยันหมั่นเพียรของบ็อบทำให้เขาได้มีโอกาสได้เจอกับ ‘ปีเตอร์ ทอช’ (Peter Tosh) และ ‘บันนี่ ลิฟวิงสตัน’ (Bunny Livingston หรือ Bunny Wailer) ในสมัยวัยรุ่นที่เมือง Kingston ช่วงต้นปี ค.ศ. 1960s พวกเขาจึงตัดสินใจรวมกลุ่มด้วยกันในนาม ‘The Wailers’ – เสียงโอดครวญจากสลัม
การแข่งขันของวงการดนตรีนั้นสูงมากใน Kingston หลายครั้งที่พวกเขาต้องยืมเครื่องดนตรีและยอมขายเพลงให้กับโปรดิวเซอร์ ที่มักเอาเปรียบนักดนตรีและนำแผ่นเสียงอัดไปขายต่อเอง เพื่อแลกกับเงินอันน้อยนิด หวังจะได้มีโอกาสติดหูใครสักคน
The Wailers ซ้อมกันหามรุ่งหามค่ำ โดยมีบ็อบเป็นคนแรกและคนสุดท้ายในสตูดิโอเสมอ แต่เพลงของพวกเขาก็ไม่เคยได้ถูกเลือกเล่น เพราะวิทยุยังคงถูกควบคุมโดยรัฐฯ ที่มักเลือกเปิดเพลงจากศิลปินชาวอังกฤษและอเมริกัน
…แต่เสียงเพลงที่ต้องห้าม มันช่างหวานจับใจเสียจริง
DJ Put the Beat On
ในช่วงนั้น ซาวน์ของจังหวะดนตรีสกาที่ถูกเร่งให้เร็วพร้อมกับเครื่องดนตรีหลายชนิดผ่านเพลงอย่าง ‘Freedom Sounds – The Skatalites’ มันได้ช่วยสร้างความครึกครื้นและฟื้นฟูชีวิตของชาวจาเมกาเป็นอย่างมาก และถึงแม้ว่าจะมีการแบนดนตรีจากแหล่งกระแสหลัก แต่เหล่าผู้คนก็ยังหาทางรวมตัวกันได้ผ่าน ‘Sound System’ (คล้ายกับดิสโก้เคลื่อนที่) โดยการเอาเครื่องเสียงมารวมเป็นแหล่งแฮงค์เอ้าท์ด้วยลำโพงไซส์จัมโบ้เสียงกระหน่ำ มี DJ คอยเปิดแผ่นเพลง และให้โอกาสผู้คนได้เต้นกันอย่างอิสระจากหัวค่ำยันรุ่งเช้า
การแข่งขันระหว่างดิสโก้เคลื่อนที่นั้นเป็นไปอย่างจริงจัง หากคุณมีเพลงเด็ด ทุกคนก็จะแห่มาและสามารถขายเหล้า (ซึ่งส่วนมากเป็นรัมที่ทำมาจากอ้อย) ได้ เพลงยิ่งดีคนก็ยิ่งมา เพราะฉะนั้น การไล่ล่าหาแผ่นเพลงหรือดนตรีแนวใหม่ๆ นั้นเป็นหัวใจสำคัญของ Sound System
หากจะฟังเพลง สกา ร็อกสเตดี้ หรือเร็กเก้ในเวลานั้นก็ต้องออกไปตามแดนซ์ฮอล์ หรือไปฟังกับกลุ่ม Sound System เพราะไม่มีทางได้ยินนักดนตรีจาเมกาเล่นดนตรีบนวิทยุหลัก อำนาจทางดนตรีอยู่ในคลื่นวิทยุที่ไม่ต้องการเปิดโอกาสให้กับเหล่าคนจาเมกาสักเท่าไหร่ ขนาดโรงงานแผ่นเสียงก็ยังไม่ยอมอัดเพลงแนวนี้ เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาออกแนวปลุกปั่น
แต่ The Wailers ก็ไม่ยอมแพ้ และหันหน้าเข้าทำดนตรีอย่างไม่ย่อท้อ พวกเขาจึงไปกับสตูดิโอของ Coxone Dodd ในนามของ ‘Studio One’ และใช้ Sound System ของเขาเปิดทางให้กับเพลง ‘Simmer Down’ ในปี ค.ศ. 1964 โดยที่บ็อบเป็นคนแต่งเนื้อร้องเกี่ยวกับการเป็นวัยรุ่นใจร้อนที่มักหาเรื่องกันในแดนซ์ฮอล์อยู่เสมอ
ความทะเยอะทะยานที่เอ่อล้นของพวกเขาได้ทำให้เพลงนี้ขึ้นติดชาร์ต #1 นาน 8 สัปดาห์บนเกาะจาเมกา และได้สร้างชื่อเสียงอันน่าติดตามในเส้นทางดนตรี
Visit from the King
หลังจากที่ได้เริ่มก้าวเข้าสู่วงการ บ็อบก็ต้องการหาเงินเพื่อมาทำสตูโอและดนตรีต่อ เขาจึงบินไปหาแม่ที่ได้ย้ายไปอยู่รัฐแดลาแวร์ในประเทศสหรัฐฯ เพื่อรับจ้างทำความสะอาดโรงแรมและรับงานในโรงงาน
ประจวบเหมาะกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของโลกราสตาฟารี กับการมาเยือนครั้งแรกของกษัตริย์ ‘ไฮเล เซลาสซี’ (Haile Selassie) ในเมือง Kingston ประเทศจาเมกาวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1966
การมาเยือนครั้งนั้น (ถึงแม้ว่าตัวบ็อบในเวลานั้นจะอยู่ในประเทศสหรัฐฯ) ภรรยาของเขา ‘ริต้า แอนเดอร์สัน’ (Rita Anderson) ก็ได้ตามไปดูและเล่าให้เขาฟังด้วยน้ำเสียงที่สุดจะบรรยาย มีการรวมตัวนับพันคนเพื่อต้อนรับพระเจ้าผู้เป็นที่รักของชาวราสตาฟารี เสียงตะโกนร้อง “Jah Ras’Tafari” ดังไปทั่วพื้นที่โดยรอบ มีป้าย “Selassie is Christ” พร้อมกับควัญกัญชาฟุ้งทั่วฟ้าบนรันเวย์สนามบิน Norman Manley Airport
บ็อบเองที่นับถือคริสต์ในเวลานั้นก็เริ่มหันมาให้ความสนใจ ศึกษาราสตาฟารีและไอเดียของพระเจ้า Jah ที่ได้เปรียบเสมือนพ่อในช่วงเวลาที่เขาโตในสลัมของ Trenchtown อีกทั้งประสบการณ์ในอเมริกาที่เขาได้เห็น civil uprising ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มคนผิวดำและตำรวจในทุกๆ วัน
หลังจากทริปนั้น บ็อบ มาร์เลย์ ในวัย 21 ปีก็ได้เดินทางกลับมาประเทศจาเมกาด้วยการเริ่มไว้ผมยาวและประกาศตัวว่าเป็นราสตาฟารีอย่างเต็มตัว
Rock-me-Steady to the Revolution of Reggae
ดนตรีสกาได้นำเสียงเพลงของเกาะจาเมกาไปไกลถึงระดับนานาชาติ โดยเฉพาะหลังจากเพลงฮิตติดชาร์ตในปี ค.ศ. 1964 อย่าง ‘My Boy Lollipop – Millie Small’ ที่สามารถเจาะเข้าสู่ตลาดฝั่งอังกฤษและสหรัฐฯ แต่ไม่นานนัก จังหวะดนตรีก็เริ่มช้าลง และเป็นการเข้ามาของแนวร็อกสเตดี้ซึ่งเหมาะกับการเต้นมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองในช่วงเดียวกับโซลและ R&B
ร็อกสเตดี้เข้ามาเป็นแนวเพลงสไตล์ป๊อปแรกของจาเมกาที่ร้องถึงความรักของหนุ่มสาว ด้วยจังหวะที่เต้นเคียงคู่กันได้ อย่างเพลง ‘Cry Tough – Alton Ellis’ ซึ่งมาแทนเครื่องดนตรีชุดใหญ่เต้นกระหน่ำของสกา แต่ความหอมหวานของมันก็คงอยู่ได้ไม่นาน เมื่อความจริงอันโหดร้ายและรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอยู่บนถนนในเมือง Kingston
ก่อนหน้านั้น ดนตรีในจาเมกามักจะเกี่ยวกับความรักและโรแมนซ์ตามแบบฉบับเพลงในกระแสหลัก แต่พอเข้าช่วง ค.ศ. 1969 บีทดนตรีเริ่มช้าลง และก็ได้หลบทางให้กับร็อกสเตดี้และเร็กเก้ เข้ามาด้วยเพลงฮิตติดชาร์ตอย่าง ‘Do the Reggay – Toots & The Maytals’
ในช่วงปลายยุค 60’s เสียงเพลงเร็กเก้ที่ดังลั่นสนั่นถนนในจาเมกาก็ได้ส่งเสียงดังไปไกล และครองใจผู้คนบนเกาะอังกฤษเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มดนตรีใต้ดินที่เริ่มมีอิทธิพลต่อกระแสหลักมากขึ้นทุกๆ วัน
ความอึดอัดและคับข้องใจของผู้คนในสลัมของ Trenchtown เริ่มถูกได้ยินผ่านทำนองเบสที่หนักและชัดเจนขึ้น เพราะเพลงเหล่านั้นเองก็มีเนื้อหาที่พูดถึงสังคมและความเป็นอยู่ของชีวิตผู้คนที่ลำบาก
สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลและอิทธิพลต่อนักดนตรีและเพลงอย่าง ‘Pressure Drop – Toots and the Maytals’, ‘The Harder They Come – Jimmy Cliff’ และอัลบั้ม ’Screaming Target – Big Youth’
แต่ถึงอย่างไร เหล่าเพลงเร็กเก้ที่กำลังถูกเปิดบนวิทยุก็ยังมีความป๊อปด้วยเนื้อหาที่เบากุ๊กกิ๊ก ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อก้าวเข้าสู่ต้นยุค 70’s จังหวะดนตรีมีการเปลี่ยนแปลงพร้อมกับชีวิตคนบนเกาะที่เริ่มมีปัญหา กับกลุ่มรัฐบาลที่ต้องการควบคุมประชาชน รวมไปถึงสภาพความยากจนและรุนแรงในหลายชุมชนบนเกาะ
Roots Reggae & Rebel Music
ในช่วงยุค 70’s ที่คึกคักไปด้วยดนตรีร็อกจากฝั่งอังกฤษ แต่ในประเทศจาเมกา หัวใจสำคัญของแนวเพลง ‘รูตส์ เร็กเก้’ (Roots Reggae) คือการร้องถึงการต่อสู้ของทาสผิวดำที่ถูกกดขี่และอัตลักษณ์ของคนแอฟริกา ซึ่งได้ประกาศตัวสู่หูฟังคนทั่วโลก
เวลานั้น ระหว่างการทำเพลง บ็อบก็ได้ศึกษาและอ่านงานเขียนของ ‘มาร์คัส การ์วีย์’ (Marcus Garvey), ‘ลีโอนาร์ด โฮเวลล์’ (Leonard Howell), ‘มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์’ (Martin Luther King Jr.) และ ‘มัลคอล์ม เอ็กซ์’ (Malcolm X) หลังจากนั้นมา เนื้อเพลงของบ็อบก็เริ่มพูดถึงความจริงในสังคม เพราะเขาเชื่อว่าดนตรีจะเป็นตัวกลางในการส่งสารเกี่ยวกับความหวังและความเป็นจริงไปสู่คนฟังได้ แนวคิดของราสตาฟารีซึ่งต่อต้านการเมืองที่มองข้ามความยากจนและการถูกกดขี่ของประชาชน ความเชื่อเหล่านี้ได้ปฏิวัติความคิดและมุมมองโลกของบ็อบเป็นอย่างมาก
ต่อมา ‘คริส แบล็คเวลล์’ (Chris Blackwell) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Island Record ก็ได้เห็นแววของการวางตัวของวง The Wailers ในชุด ‘Catch A Fire’ (ค.ศ. 1973) ที่มีปกอัลบั้มเป็นรูปไฟแช็ก Zippo เพื่อตีตลาดคนฟังเพลงร็อกฝั่งอังกฤษในเวลานั้น ซึ่งได้ผลอย่างมาก และเริ่มมีกลุ่มคนฟังเพลงเร็กเก้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อีกไม่กี่ปีต่อมา อัลบั้มนี้ก็ได้เปลี่ยนรูปปกมาเป็นรูปของบ็อบที่กำลังสูบจ๊อยนท์พันลำใหญ่ พร้อมแสงแดดสะท้อนบนใบหน้า ประดับด้วยชื่อวง Bob Marley and the Wailers เป็นปกที่แสดงถึงองค์ประกอบความเชื่อของราสตาฟารีและเสียงข้างในจิตใจของพวกเขาอย่างแท้จริง
เพลง ‘Slave Driver’ ของอัลบั้มนี้ได้ประนามความชั่วร้ายและผลกระทบของทาสที่ยังส่งผลในสังคมปัจจุบัน
“Every time I hear the cracking of the whip, my blood run cold.
I remember on the slave ship, how they brutalize our very soul
Today they say that we are free, only to be chained in poverty.”
– Slave Driver, Catch a Fire
เส้นทางเพลงแนวรูตส์เร็กเก้นั้นจะเป็นธีมหลักของ The Wailers และการเคลื่อนไหวราสตาฟารี เนื้อเพลงหลังจากนี้จึงเกี่ยวกับกบฏและการปฎิวัติ ความจนและความรุนแรงในสังคม การเหยียดสีผิวและการกดขี่จากรัฐบาล พลังความรักของพระเจ้าและกัญชา
ดนตรีรูตส์เร็กเก้กลายเป็นการรายงานข่าวในสังคมผ่านเสียงเพลง ทุกคนในจาเมกาได้รับแรงบันดาลใจและกำลังใจจากเสียงเพลงเหล่านี้ เสียงเพลงที่ขับร้องได้เชื่อมคนผิวดำหลายคนที่อาศัยเป็นชนกลุ่มน้อยตามทุกมุมของโลกเข้าไว้ด้วยกัน
ต่อมาในปีเดียวกัน The Wailers ก็ออกอัลบั้ม ‘Burnin’ โดยมีเพลงดังอย่าง ‘Get Up Stand Up’ และเพลง ‘I Shot The Sheriff’ ซึ่งเกี่ยวกับคนปลูกกัญชาที่โดนจับอยู่เสมอ
“Sheriff John Brown always hate me, for what, I don’t know. Every time I plant a seed, he said, kill it before it grow. He said, kill them before they grow.” – I Shot The Sheriff, Burinin’
เพลงนี้ถูกนำไปร้องคัฟเวอร์โดย ‘เอริค แคลปตัน’ (Eric Clapton) ทำให้เพลงดังขึ้นติด Billboard Hot 100 อันดับ 1 ในฝั่งสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น กระแสของดนตรีเร็กเก้ก็แผ่กระจายไปทั่วทุกมุมโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นับว่าเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายที่ทำงานร่วมกันระหว่าง บ็อบ มาร์เลย์, ปีเตอร์ ทอช และ บันนี่ ลิฟวิงสตัน ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายไปทำงานเพลงเดี่ยวของตัวเอง แต่บ็อบยังคงเก็บชื่อวง Bob Marley & The Wailers ไว้ใช้สำหรับงานเพลงเดี่ยวของเขา
The Rastaman
ในช่วงกลางยุค 70’s บนถนนของ Kingston ได้สะท้อนถึงความโกรธและคับเคืองใจของผู้คน ความผิดหวังที่มีต่อนักการเมือง สัญญาลมปาก และกลเกมการเมือง
ถึงแม้ว่าตัวบ็อบอาจจะไม่ได้ต้องการเล่นประเด็นของการเมืองเป็นหลัก แต่เขาแค่เพียงต้องการอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้กับผู้คนทุกชนชั้นในสังคมได้เข้าใจ เขาได้นำความคับแค้นใจของผู้คนลงไปในบทเพลง
นอกจากสัญลักษณ์ทางบุคคลอย่างกษัตริย์เซลาสซีแล้ว อีกหนึ่งตัวแทนของราสตาฟารีก็คือเสียงดนตรีเร็กเก้ที่มาจากบ็อบ มาร์เลย์ เขาได้นำสีเขียว เหลือง แดง ทรงผมเดรดล็อค และศาสนาราสตาฟารีสู่โลกกว้าง ร่วมไปถึงได้สร้างกระแสการเล่นดนตรีการเมืองกับแนวเพลงอื่นๆ อีกด้วย
ตั้งแต่บ็อบได้เริ่มออกงานเพลงเดี่ยวตั้งแต่ชุด ‘Natty Dread’ (ค.ศ. 1974) ก็ทำให้หลายคนเริ่มแปะโปสเตอร์ไว้ตามผนังห้องนอนและไว้ผมยาวทรงเดรดล็อคตามศิลปินคนโปรด รวมไปถึงเชื่อมโยงการใช้กัญชากับเสียงดนตรีและสามสีสำคัญ อีกทั้งยังสร้างกระแสสนับสนุนในการปรับเปลี่ยนกฎหมายเสรีกัญชาไปพร้อมๆ กัน
อัลบั้มชุด ‘Rastaman Vibration’ (ค.ศ. 1976) ที่เป็นแนวเพลงเร็กเก้เต็มตัว มีมิติทางจังหวะเสียงกลอง และสำนวนเนื้อที่เพ่งเล่งรัฐบาลมากขึ้น
เนื้อร้องของเพลงดังอย่าง ‘War’ มาจากสุนทรพจน์ของเซลาสซีต่อหน้า UN นับว่าเป็นอัลบั้มที่ดังติดชาร์ตเพลงในสหรัฐฯ มากที่สุด มันได้นำพาความนิยมมาสู่ดนตรีเร็กเก้ และเนื้อเพลงนั้นยิ่งทำให้กระแสของบ็อบกับราสตาฟารีโด่งดัง โดยเฉพาะในประเทศจาเมกาและแอฟริกา
เรื่องราวที่บ็อบเล่านั้นตรงไปตรงมายิ่งกว่าข่าวที่ถูกปิดบังโดยสื่อและรัฐบาล ผู้คนจึงยิ่งมีความเชื่อมั่นในเสียงเพลงที่ขับขานมากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ ในปีเดียวกัน ปีเตอร์ ทอชก็ได้ออกชุดเดี่ยวและเพลงดัง ‘Legalize It’ (1976) ซึ่งได้กลายเป็นอัลบั้มเร็กเก้สุดคลาสสิกที่พูดถึงความยากลำบากของตัวปีเตอร์ในการมีปัญหากับตำรวจเรื่องกัญชาอยู่เสมอ
Freedom Fighter
เนื้อหาของเพลงที่บ็อบเขียนมีความหมายอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านระบบทุนนิยมหรือปัญหาการเหยียดสีผิว เสียงดนตรีของเขาได้ให้กำลังใจทุกคนที่กำลังผ่านช่วงเวลายากลำบาก และให้ความหวังกับผู้คนที่มองไม่เห็นเส้นทางชีวิตข้างหน้า
ผลงานเพลงหลายชุดต่อมาได้รับอิทธิพลจากราสตาฟารีเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเพลงอย่าง ‘Iron Lion Zion’ ที่เล่าถึงการต่อสู้ในสงครามระหว่างอิตาลีและเอธิโอเปีย (Italo-Ethiopian War) ‘Buffalo Soldier’ ที่เล่าถึงเรื่องราวของเหล่าราสต้าผู้ถูกจับไปจากแอฟริกา และ ‘One Drop’ ที่เกี่ยวกับการถูกกดขี่จากระบบ
ราสตาฟารีถูกหล่อหลอมด้วยเสียงเพลงแนวรูตส์เร็กเก้ เนื้อร้องที่บอกถึงความทุกข์ยากจากความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งบ็อบนั้นมีจุดยืนทางการเมืองค่อนข้างชัดเจน จากการที่มักจะสนับสนุนความสงบ และเขามักจะเข้าร่วมงานเฟสติวัลคอนเสิร์ตเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองเสมอ
ในช่วงยุค 70’s ประเทศจาเมกากำลังผ่านช่วงยากลำบากทั้งในด้านเศรษฐกิจ คอรัปชั่น ผู้คนหิวโหยและตกงาน มีสงครามกลางเมือง แบ่งแยกพื้นที่ทางการเมืองระหว่างพรรคสังคมนิยมและพรรคแรงงาน เสียงปืนดังอยู่ตามถนน จนผู้คนต้องก้มหัวหลบกระสุนที่ถูกยิงจากรัฐบาลทั้งสองฝั่ง
ในช่วงนั้น ธุรกิจการค้ากัญชาระหว่างจาเมกาและสหรัฐฯ รุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าสินค้าเกษตรส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจาเมกาคือกัญชาคุณภาพดี โดยมีการลักลอบนำกัญชาที่นำขบวนโดยกลุ่มอีลิทและนักการเมืองที่นำเงินค้ายาเสพติดมาเป็นทุนอาวุธสงครามภายในประเทศจาเมกาต่อ
ขณะเดียวกัน เหล่านักการเมืองในพรรคแรงงานมองเห็นว่าดนตรีมีอิทธิพลมากแค่ไหนต่อประชากรในจาเมกา เพราะมันทำให้ผู้คนฉุกคิดและลุกขึ้นมาต่อต้านหรือสนับสนุนการเมืองได้ ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งจึงมีการชวนให้บ็อบมาร่วมงานคอนเสิร์ต ‘Smile Jamaica’ ใน ค.ศ. 1976 แต่กลับกลายเป็นว่านักการเมืองใช้บ็อบเป็นหมาก และโดนผู้ร้ายบุกเข้ายิงประชิดตัวถึงบ้านก่อนขึ้นเวทีเพียงสองวัน
ในครั้งนั้นบ็อบถูกยิงแต่ก็รอดปลอดภัยและขึ้นเล่นโชว์ในที่สุด แต่การข่มขู่ครั้งนั้นเป็นการสะกิดบอกเขาว่า หากยังคงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองจาเมกาก็คงไม่ได้มีชีวิตรอดไปเล่นดนตรีต่อเป็นแน่
หลังคอนเสิร์ตจบ บ็อบก็บินไปอยู่อังกฤษถึงสองปีพร้อมกับการได้เข้าใจถึงธรรมชาติและความโหดร้ายของมนุษย์บางคน ในเวลานั้นเขาได้ออกอัลบั้มที่ถูกยกย่องเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมแห่งศตวรรษ ‘Exodus’ (ค.ศ. 1977) ซึ่งออกมาในช่วงที่เกิดความรุนแรงในชุมชนจาเมกาอย่างหนัก โดยมีเพลงดังอย่าง ‘Exodus’ ‘Waiting in Vain’ ‘Jamming’ และ ‘One Love’
ดนตรีของเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งกบฏและการต่อต้านอำนาจที่ไม่เป็นธรรม บ็อบจึงได้กลายเป็นศิลปินระดับโลกที่ใครๆ ก็ต้องเคยได้ยินชื่อ
ต่อมาอัลบั้มในปีเดียวกัน ‘Kaya’ (ค.ศ. 1977) น่าจะเป็นชุดที่เปิดเผยถึงการใช้กัญชามากที่สุด โดยใช้ชื่อเรียกในจาเมกาอย่าง Kaya รวมไปถึงอาร์ตเวิร์คที่มีรูปจ๊อยนท์ บ็อบร้องถึงการสูบ spliff (ชื่อเรียกพันลำฝั่งอังกฤษ) ในเพลง ‘Easy Skanking’ นอกจากนี้เขาก็เป็นเสียงหลักของการสนับสนุนเสรีกัญชามาเป็นเวลาหลายปี ด้วยการออกรณรงค์ให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย พร้อมเชื่อมั่นในหลักของราสตาฟารี และไม่เคยปิดบังเรื่องการใช้กัญชา ทั้งในด้านยาและความศรัทธา
“The more you accept herb, the more you accept Rastafari” – Bob Marley
อัลบั้ม Kaya ชุดนี้ออกมาหลังจาก Bob โดนจับข้อหามีกัญชาในครอบครองขณะใช้ชีวิตในลอนดอน รวมไปถึงเป็นช่วงเวลาที่หมอเพิ่งตรวจพบมะเร็ง melanoma ในเล็บเท้าพอดี
และแน่นอนที่สุด ‘Kaya’ ที่ร้องถึงการสูบกัญชาทันทีที่ตื่นนอนและในยามที่ฝนพร่ำที่อาจจะหมายถึงช่วงเวลาที่พบเจอกับมะเร็งร้าย
“I got to have kaya now. For the rain is falling” – Kaya
Modern Rastafari
ในปี ค.ศ. 1978 เขาได้เดินทางกลับมาประเทศจาเมกาเพื่อเล่นงาน ‘One Love Peace Concert’ ร่วมกับศิลปินอย่าง ‘Big Youth’ ‘Inner Circle’ ‘Mighty Diamonds’ และ ‘ปีเตอร์ ทอช’ เพื่อดึงประเทศที่แบ่งแยกจากการเมืองกลับคืนสู่กัน ไคลแม็กซ์ในงานครั้งนั้นคือการที่ บ็อบดึงผู้นำทางการเมืองทั้งสองฝ่ายขึ้นมาจับมือเพื่อแสดงถึงความเคารพและสงบของประเทศ เป็นการแสดงถึงพลังของรูตส์เร็กเก้ในสังคมอย่างแท้จริง และได้ให้ความหวังกับผู้คนแห่งจาเมกาเป็นอย่างมาก
สุดท้ายแล้ว งานคอนเสิร์ตครั้งนั้นก็เป็นแค่จุดพักยกกับความรุนแรงทางการเมืองที่ยังคงคุกรุ่นในจาเมกา ในขณะหนึ่งก็เหมือนว่าเสียงดนตรีจะสามารถหยุดความรุนแรงได้ แต่แล้วปัญหามันก็ใหญ่เกินกว่าที่เสียงดนตรีจะช่วยเอาไว้ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สิ้นของประเทศในเวลานั้น ทุกอย่างจึงดูยากเกินแก้ไข
ตลอดเวลาที่ผ่านมา บ็อบไม่เคยละทิ้งความเชื่อของราสตาฟารีและไม่เคยลืมถิ่นกำเนิด เขากลับมาจาเมกาและเปิดสตูดิโอเป็นของตัวเองภายใต้ชื่อ ‘Tuff Gong’ และคอยให้ความช่วยเหลือ รวมไปถึงแจกอาหารและดูแลคนในชุมชนกว่าหลายพันคนในทุกๆ วัน
อัลบั้ม ‘Up Rising’ (ค.ศ. 1980) ชุดสุดท้ายของบ็อบมีธีมและโทนขับร้องที่เกี่ยวกับศาสนามากที่สุด ด้วยเพลงอย่าง ‘Redemption Song’ กับ ‘Forever Loving Jah’ มันทำให้เขาได้เป็นศิลปินเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกเชิญไปเล่นในประเทศซิมบับเว เนื่องในโอกาสที่ได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ แต่รัฐบาลในแอฟริกาเห็นว่าบทเพลงของบ็อบอาจนำไปสู่การปลุกปั่นในสังคม จึงมีการเซ็นเซอร์แผ่นเสียงและไวนิลที่ถูกนำไปขายหรือเปิดบนวิทยุ
แต่โชคชะตาเล่นกลหรืออย่างไร มะเร็งเนื้อร้ายจากแผลเล็บเท้าที่บ็อบไม่ยอมให้หมอทำการผ่าตัดเมื่อสามปีก่อนได้ลุกลามไปถึงปอดและสมอง โดยสาเหตุที่ไม่ยอมตัดนั้นก็เพราะมันขัดกับความเชื่อราสตาฟารีที่ไม่ให้ตัดผมหรือสิ่งใดออกจากร่างกาย
แผลอันลุกลามมาจากการที่บ็อบล้มตอนวิ่งอยู่ในสวน Central Park ขณะรอทัวร์รอบสหรัฐฯ ทำให้เขาเสียชีวิตลงด้วยวัย 36 ในปี ค.ศ. 1981 และได้รับพิธีงานศพทั้งแบบคริสต์และราสตาฟาเรียน ก่อนจะถูกฝังไปพร้อมกับกีตาร์ ลูกฟุตบอล กับดอกกัญชาก้านใหญ่
Music is a Cultural Weapon
หากเปรียบมาร์คัส การ์วีย์ และ ลีโอนาร์ด โฮเวลล์ เป็นศาสดาผู้ก่อตั้งราสตาฟารีแล้ว บ็อบ มาร์เลย์ก็เป็นผู้เผยแพร่ศาสนาต่อสู่โลกกว้างผ่านเพลงและนับว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20
ในขณะที่ดนตรีถูกขับร้องไปสู่ประชาชาชน เสียงร้องของคนผิวดำที่ถูกกดขี่เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการเรียกร้องหาความเท่าเทียมในสังคมปัจจุบัน บ็อบ มาร์เลย์ ก็ได้กลายเป็นเจ้าพ่อสายเร็กเก้ที่นำความเชื่อราสตาฟาเรียนใส่ลงไปในเสียงดนตรี ขับขานถึงการกดขี่และการไถ่บาป สร้างเสียงเพลงที่ให้ความหวังกับผู้คนในช่วงสงครามและสถานการณ์ทางการเมืองที่รุนแรง
ตลอดชีวิตการทำเพลงและดนตรี เขาใช้ชีวิตผ่านความยากลำบาก การถูกกดขี่ และร่ำร้องถึงความชั่วร้ายว่าทำไมถึงคืบคลานเข้ามาอย่างง่ายดาย ร่ำร้องถึงสันติภาพในจาเมกา และต่อต้านสงครามอยู่เสมอ
บ็อบ มาร์เลย์ใช้ทั้งชีวิตในการส่งสารของราสตาฟารีและเชิดชูแนวคิดของการ์วีย์ที่เป็นดั่งศาสดาอันทรงพลังผ่านเสียงเพลง ด้วยเนื้อร้องที่ถวิลหาความสงบและอิสระ เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงและเข้าใจเป็นอย่างดี ไม่ว่าคุณจะมีศาสนา สีผิว หรือชนชาติใด
ดนตรีของบ็อบนั้นเป็นเสียงแทนความในใจของคนรากหญ้าและคนจนทั่วโลกที่ถูกกดขี่ เขาเชื่อเสมอว่าสารที่ส่งผ่านเสียงเพลงจะดังไปสู่คนผิวดำชาวแอฟริกาทุกคน และแน่นอนว่ามันสำเร็จ ดนตรีของเขาได้ส่งสารแห่งความหวังจากเกาะจาเมกาสู่ผู้คนทั่วโลก แสดงให้เห็นว่ามันมีอิทธิพลและพลังมากเพียงใด คงต้องยกให้เร็กเก้ที่นำพาราสตาฟารีเป็นปรากฏการณ์ของเสียงเพลงพลังของประชาชน
Fun Fact: กฎหมายกัญชาในปัจจุบันของจาเมกาได้ลดทอนโทษไปเมื่อปี ค.ศ. 2015 ทำให้กัญชาเพื่อการแพทย์ถูกกฎหมาย ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้ 5 ต้นต่อครัวเรือน และการใช้กัญชาในเชิงศาสนาก็ถูกยอมรับในสังคมโดยรวม
Spotify Playlist
อ้างอิง
- Rastafarianism’s Antistate Beginnings: It’s More Than Bob Marley’s Music, Lipton Matthews
- Words of Our Mouth, Meditations of Our Heart: Pioneering Musicians of Ska, Rocksteady, Reggae and Dancehall, Ken Bilby
- Reggae Routes: The Story of Jamaican Music, Chang, Kevin O’Brien, and Wayne Chen
- Reggae, Rastafari, and the Rhetoric of Social Control, Stephen A. King
- Rastafari: The Secret History of the Marijuana Religion, Marc Emery
- Black History in Roots Reggae, Jake Homiak