คำเตือน: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนายุยง ส่งเสริม หรือชี้นำให้เกิดการใช้ยาหรือสารเสพติด รวมถึงสารออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาทใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการเผยแพร่ข้อมูลจากข้อเท็จจริง ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณในการอ่านเป็นอย่างยิ่ง และบทความนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด)
สารไซคีเดลิค (Psychedelic) คือสารเคมีที่ถูกขึ้นบัญชีไว้ว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีโทษร้ายแรงในหลายประเทศ แม้ว่าคุณสมบัติภายในตัวของมันไม่ได้นำพาไปสู่การเสพติด แต่การออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดภาพหลอน และเกิดผลกระทบที่มีจะเกิดเฉพาะระหว่างการใช้ ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นขณะที่ยังอยู่ใต้อิทธิพลการออกฤทธิ์ของสารนั้นๆ แต่ส่วนใหญ่สารจำพวกไซคีเดลิคจะไม่ค่อยส่งผลอะไรต่อร่างกายเมื่อหมดฤทธิ์ลงแล้ว ถึงแม้ว่าสารจำพวกนี้จะมีชื่อเสียงในทางฉาวโฉ่มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารไซคีเดลิคที่มีชื่อว่า ‘LSD’ หรือ ‘Lysergic Acid Diethylamide’ หรือรู้จักกันอีกชื่อว่า ‘แอซิด’ ก็ยังถูกใช้งานใน Drug Culture เสมอมาจวบจนปัจจุบัน ด้วยคุณสมบัติที่ทำหน้าที่เป็นสารเปิดจิตของมัน ทำให้หลายๆ คนสามารถเข้าถึงสภาวะจิตใจของตัวเอง และนำพาไปสู่ความคิดอ่านในเรื่องราวต่างๆ ที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ในแบบที่ยามปกติไม่สามารถจะเข้าใจได้ ทุกอย่างนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของผู้ใช้ในขณะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลบางประเทศจะมองสิ่งเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ ดังที่เกิดขึ้นกับขบวนการผู้ต่อต้านสงครามในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงยุคปี 70’s ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้สารกลุ่มนี้ รวมถึงการใช้กัญชาอีกด้วย พวกเขามักจะแสดงผลงานจากการต่อต้านสงครามเวียดนามที่รัฐบาลกลางสหรัฐเป็นฝ่ายริเริ่ม ผ่านการแสดงดนตรีและศิลปะที่ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สารไซคีเดลิค
ในปี 1967 รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี ‘ริชาร์ด นิกซ์สัน’ (Richard Nixon) ที่กำลังเริ่มแคมเปญสงครามต่อต้านยาเสพติด (War on Drugs) ประกาศให้ LSD เป็นสิ่งผิดกฎหมายที่มีโทษร้ายแรงโดยทันที ส่งผลให้คนหนุ่มสาวหัวใจใฝ่สันติภาพนับหมื่นคนจากทั่วทุกสารทิศพากันหาดอกไม้มาประดับบนศีรษะ แล้วก้าวเท้าเปลือยเปล่าออกเดินทางมุ่งหน้าเข้าสู่ถนน Haight-Ashbury ในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย นำไปสู่เหตุการณ์ ‘Summer of Love’ ทางฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา และเทศกาลวู้ดสต็อก ในปี 1969 ทางฝั่งตะวันออก เป็นการประท้วงแบบสันติของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นบุปผาชน หรือ Flower People พวกเขาเชื่อในความรักและการแบ่งปันสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสารไซคีเดลิคและกัญชา จึงได้รับการแจกจ่ายให้แก่กันและกัน เพื่อให้ได้ทดลองใช้อย่างทั่วถึงในสถานที่ชุมนุมประท้วง พวกเขาโอบกอดและแสดงออกถึงอิสระภาพทางเพศกับนิยามความรักแบบที่คนรุ่นพ่อแม่เขาไม่เคยมีโอกาสได้ลิ้มลองและสัมผัส
(ทิโมธี เลียรี่ – ริชาร์ด อัลเพิร์ต – อัลเลน กินส์เบิร์ก – จิมี่ เฮนดริกซ์ – แจนิส จอปลิน)
Photo credit: The New Yorker / Psychedelic Science Review / PBS / DW / NPR
ความเป็นปัจเจกชนได้รับการยอมรับและเชิดชูอย่างเต็มที่ผ่านแนวคิดบทกวี เสียงดนตรี ศิลปะ รวมถึงแฟชั่นที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง พวกเขากอดจูบและเต้นรำท่ามกลางการบรรยายปราศรัยสุดเข้มข้น โดยบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีคุณูปการต่อวงการไซคีเดลิคอย่างศาตราจารย์ ‘ทิโมธี เลียรี่’ (Timothy Leary) นักวิจัยด้านจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขาอย่าง ‘ริชาร์ด อัลเพิร์ต’ (Richard Alpert) หรือที่ภายหลังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ราม แดส’ (Ram Dass) และแน่นอน กวีคนสำคัญแห่งยุคสมัย อย่าง ‘อัลเลน กินส์เบิร์ก’ (Allen Ginsberg) ก็ไม่พลาด ในขณะเดียวกัน เสียงดนตรีร็อคแอนด์โรลที่กรีดร้องจากปลายนิ้วของเทพเจ้ากีตาร์ ‘จิมี่ เฮนดริกซ์’ (Jimi Hendrix) ผู้มีสถานะเป็นพระเจ้าของดนตรีไซคีเดลิคร็อก ควงคู่มาสร้างสีสันพร้อมกับตำนานร็อคแอนด์โรลอมตะอีกหนึ่งอย่าง ‘แจนิส จอปลิน’ (Janis Joplin) หรือวงดนตรีหัวหอกอย่าง Grateful Dead และ Jefferson Airplane ที่พร้อมใจกันสำแดงพลังคนหนุ่มสาวให้เห็นเป็นประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ยังไม่รวมศิลปินแห่งยุคอย่าง The Beatles หรือ Wes Wilson ที่พากันออกมายืนหยัดอยู่เคียงข้างชาวบุปผาชน โดยผลิตผลงานที่ได้รับอิทธิพลจากสารไซคีเดลิคอันโด่งดังอย่าง LSD อย่างต่อเนื่อง ณ ช่วงเวลานั้น
(Grateful Dead – Jefferson Airplane – The Beatles – Wes Wilson)
Photo credit: Tidal / The New York Times / Far Out Magazine / Zeka Design
แต่ชื่อเสียงของ LSD ณ ตอนนั้นมันกู้กลับมาไม่ได้อีกแล้ว หลังจากที่มีเรื่องราวทั้งจริงและเท็จถึงเหตุการณ์สูญเสียจากการใช้มันในทางที่ผิด เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยจากดังๆ ที่ปลิดชีวิตตัวเองขณะอยู่ในทริป หรืออุบัติเหตุอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ หรือในบางรายก็สูญเสียสติและจดจำตัวเองไม่ได้ไปชั่วขณะ Summer of Love เองก็จบลงด้วยคนหนุ่มสาวจำนวนมากพากันสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องไร้เงิน ไร้งาน ไร้อนาคต และที่แย่ที่สุดคือ ไร้ซึ่งความหวัง พวกเขาเริ่มเผชิญกับปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรม สื่อบางกลุ่มพยายามสร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบให้กับพลวัตรนี้มาโดยตลอด เนื่องจากบรรดากลุ่มคนที่สื่อพากันเรียกว่า ‘ฮิปปี้’ นี้มองตัวเองว่าเป็นกลุ่มคนที่รักอิสระเสรีภาพและการดำเนินชีวิตอันเรียบง่าย ทั้งการแต่งกายที่ไม่หรูหราฟุ้งเฟ้อ และรูปแบบการรับประทานอาหารในรูปแบบมังสวิรัติเป็นหลักนั้น แท้จริงเป็นการต่อต้านสิ่งที่วัฒนธรรมกระแสหลักอย่าง American Dream ให้คุณค่า เพราะหลังจากที่อเมริกาประกาศชนะสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศก็ได้พยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้งด้วยการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เน้นการบริโภคและครอบครองซึ่งวัตถุเป็นหลัก
ในเมื่อภาพลักษณ์ของฮิปปี้ผ่านสายตาสื่อมันช่างตรงข้ามกับภาพความฝันแบบ American Dream จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่พลวัตรนี้จะค่อยๆ ถูกทำให้หายไปโดยสื่อกระแสหลัก ยังไม่รวมถึงกรณีที่นักเคมีผู้มีชื่อเสียงเองอย่าง ‘อัลแบร์ท โฮฟมัน’ (Albert Hofmann) บิดาของ LSD เอง ออกมาเรียกมันว่า ‘Problem Child’ หรือ ‘เด็กเจ้าปัญหา’ ในหนังสือของเขา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในอีก 12 ปีหลังจากที่สารชนิดนี้ถูกแบนไปเมื่อปี 1967 ส่งผลให้แทบไม่มีความเคลื่อนไหวหรือรายงานทางวิชาการใดๆ เกี่ยวกับสารไซคีเดลิคในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทั้งที่มันยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่ามันน่าจะได้รับการวิจัยอย่างลับๆ อยู่เรื่อยมา ดังจะเห็นได้จากงานสัมนาที่จัดโดยองค์กรใหญ่ที่ไม่แสวงหากำไรอย่าง Multidisciplinary Association for Psychedelic Studies หรือ MAPS. ที่คอยให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งฐานสมาชิกขององค์กรและผู้ให้ความสนใจที่นับวันยิ่งขยายจำนวนมากขึ้น จนกระทั่งในช่วงยุค 1990’s นี่เองที่เริ่มมีงานวิจัยจากสถาบันดังๆ อย่าง Johns Hopkins University หรือ Imperial College London ที่รายงานถึงประโยชน์ในการรักษาโรคซึ่งเกี่ยวข้องกับอาการทางจิตของสารไซคีเดลิค นับว่าเป็นจุดกำเนิดของ ‘Psychedelic Renaissance’ ในวงการวิชาการ จวบจนกระทั่งในปี 2010 สมาคมอย่าง American Psychological Association ได้ตีพิมพ์บทความที่พูดถึงการกลับมาของสารไซคีเดลิคในแวดวงวิชาการ โดยยกตัวอย่างงานวิจัยของสารประเภทต่างๆ ภายใต้หัวข้อที่เกี่ยวกับสารไซคีเดลิคว่ามีประโยชน์ในการรักษาโรคอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษานำร่องทดลองใช้เห็ดวิเศษในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย แสดงให้เห็นว่า ภายใต้การดูแลของแพทย์ สารไซโลไซบิน (Philocybin) ที่เป็นหนึ่งในสารไซคีเดลิคจากธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในเห็ดวิเศษ มีประสิทธิภาพในการเยียวยาผู้ป่วยจากภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล แม้ใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตอยู่อีกอย่างน้อยอีก 6 เดือนหรือนานกว่านั้น หลังการใช้เพียงไม่กี่ครั้ง รวมทั้งมีรายงานว่าผู้ป่วยพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนใกล้ชิดมากขึ้นด้วย แม้แต่ MDMA หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า ‘ยาอี’ (มาจากคำว่า Ecstasy) หนึ่งในสารไซคีเดลิคร่วมสมัย ก็มีรายงานเช่นเดียวกันว่าสามารถช่วยรักษาอาการในกลุ่มผู้ป่วย PTSD หรือผู้ป่วยที่เคยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงทางจิตใจจากเหตุการณ์เลวร้าย ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขมากขึ้น ตัวอย่างงานวิจัยเหล่านี้ได้กลายเป็นที่มาของการรายงานการวิจัยสารไซคีเดลิคอีกมากมายในแวดวงวิชาการตั้งแต่นั้น โดยมีเป้าหมายไปที่การช่วยฟื้นฟูกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้จากไปอย่างสงบ และคนที่ต้องการมีชีวิตอยู่บนโลกอย่างปกติสุข ซึ่งก็ดูเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการในยุคปัจจุบันเป็นอย่างดี
แต่แล้วเมื่อโลกเข้าสู่ยุคโรคระบาดแพนเดมิค และอาการซึมเศร้าได้อาละวาดกัดกร่อนจิตใจผู้คนทั่วโลกอย่างรุนแรงพอๆ กับการระบาดของเชื้อโควิด-19 สารไซคีเดลิคจึงได้กลับมามีบทบาทจริงๆ อีกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากการพูดถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสารไซคีเดลิคที่ผุดขึ้นเป็นจำนวนมากในสื่อสังคมออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม มีทั้งแบบเพื่อให้ความรู้และแสวงหาผลกำไร และดูเหมือนว่ากฎหมายกัญชาเสรีจะยิ่งส่งผลให้กระแสนี้บูมมากขึ้นไปอีก ตอบรับข่าวที่รัฐบาลกำลังผลักดันออกกฎหมายเพื่อการวิจัยเห็ดวิเศษ ซึ่งกำลังเป็นจุดสนใจไปทั่วโลก จึงเรียกได้ว่าขณะนี้พวกเรากำลังอยู่ในยุค Psychedelic Renaissance กันอย่างแท้จริง และเพื่อให้การเดินทางแต่ละทริปของผู้อ่าน EQ เป็นไปโดยสวัสดิภาพ ปราศจาก bad trip หรือมีน้อยที่สุด เราจึงอยากย้ำเตือนให้ทุกท่านตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมตัวอย่างรัดกุมที่สุด ก่อนจะท่องไปในจักรวาลแห่งไซคีเดลิค เพราะผู้ใช้ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในทริปแต่ละครั้ง ดังที่เห็นในรายงานข่าวอยู่เรื่อยๆ เช่น กรณีของการใช้อายาฮวาสกา (ayahuasca) ที่แม้มีให้เห็นไม่บ่อย แต่ก็เป็นที่รู้กันว่ามีการเสียชีวิตเกิดขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่เดินทางไปทำพิธีกรรมกับชาแมนหรือหมอผีแถบป่าแอมะซอนจริงๆ ตั้งแต่สมุนไพรชนิดนี้เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ดังนั้นจึงสำคัญมากที่ต้องกำหนดปริมาณการใช้ให้เหมาะสม
และสิ่งสำคัญอันดับแรกที่นักทริปทุกท่านต้องตระหนักให้ขึ้นใจและเตรียมให้พร้อมคือ ‘Set and Setting’ ซึ่งเราจะอธิบายแบบพอสังเขปดังนี้
‘Set’ ย่อมาจาก Mindset ของผู้ใช้ โปรดพึงระลึกไว้เสมอว่า การใช้สารไซคีเดลิคที่จริงแล้วจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ หากคุณไม่สามารถตามหาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญให้มาดูแลคุณได้ แต่พบว่ามียาอยู่ในมือแล้วล่ะก็ จงสำรวจจิตใจของคุณก่อนว่าอยู่ในสภาวะที่พร้อมหรือไม่ เพราะสารไซคีเดลิคสามารถดึงเอาความลับที่ลึกที่สุดในจิตใจของคุณขึ้นมา และมันอาจไม่ได้นำพาความรื่นรมย์มาให้เสมอไป ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในภาวะจิตที่ปกติสุข มันอาจนำไปสู่ทริปที่เลวร้าย หรือ bad trip ได้ และในผู้ป่วยที่มีอาการทางประสาท เราไม่แนะนำให้ใช้เป็นอย่างยิ่ง เพราะสารเหล่านี้สามารถไปกระตุ้นให้อาการทางประสาทแสดงออกอย่างชัดเจนหรือทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งไม่แนะนำให้ใช้หากคุณยังจัดการกับภารกิจบางอย่างไม่ลุล่วง จำไว้ว่าคุณต้องมั่นใจให้ได้ว่า จะไม่มีใครโทรมาตามงานคุณแน่ๆ ในขณะที่กำลังทริปอยู่ นอกจากนี้ Set ยังรวมไปถึงความคาดหวังและตั้งใจของผู้ใช้อีกด้วยว่าต้องการอะไรจากประสบการณ์ครั้งนี้ และนี่คือตัวอย่างคำถามที่ผู้ใช้สารไซคีเดลิคควรมีคำตอบให้ตัวเองเรียบร้อยแล้วก่อนเริ่มทริป
ลองถามตัวเองดูว่าคุณต้องการให้ประสบการณ์นี้ช่วยคุณในเรื่องอะไร? ด้วยคุณสมบัติดังที่กล่าวมาข้างต้นของสารไซคีเดลิค โดยเฉพาะเห็ดและ LSD สามารถช่วยเยียวยาภาวะซึมเศร้าได้ บวกกับประสิทธิภาพในการทำให้ภาพที่ปรากฏขึ้นกับดวงตาและประสาทการรับรู้อื่นๆ ทำงานผิดเพี้ยนไปจากปกติ ทำให้เปิดมุมมองความคิดใหม่ๆ หลุดพ้นไปจากกรอบความคิดเดิมๆ และรู้สึกมีความมั่นใจในตัวตนที่ชัดเจนขึ้น
ถ้าคุณเพียงต้องการสำรวจอะไรบางอย่างในจิตใจของตัวเอง สารไซคีเดลิคจะพาให้หลุดออกไปจากข้อจำกัดของเวลาและสถานที่ คุณจึงอาจมีประสบการณ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจักรวาลได้เมื่อเข้าไปสู่สภาวะปราศจากเงื่อนไขเหล่านี้ และเมื่อคุณหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสรรพสิ่งแล้ว ให้ลองสำรวจตัวเองดูว่าสภาวะจิตใจของเราในขณะนี้แตกต่างกับตอนที่ไม่ได้ใช้มันอย่างไร เชื่อสิว่าคุณจะได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะเลย!
ต้องการได้รับการเยียวยาจากปมความสัมพันธ์ที่เกิดจากปัญหาสืบเนื่องจากประสบการณ์ในวัยเด็กหรือไม่?
สารไซคีเดลิคมีคุณสมบัติช่วยในการรื้อฟื้นความทรงจำ รวมไปถึงความทรงจำที่คุณอาจจะจำไม่ได้เลยว่าเคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาจากช่วงขณะที่กำลังออกมาลืมตาดูโลก หรือความทรงจำในอดีตอันเลวร้ายที่สมองใช้กลไกลบเลือนออกไปจากความทรงจำ จึงมีรายงานหลายกรณีที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปภายใต้การดูแลของบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถก้าวผ่านความทรงจำที่เลวร้ายได้ และออกจากทริปเพื่อมาพบกับชีวิตใหม่พร้อมกับจิตใจที่ให้อภัย และรักในชีวิตมากกว่าเดิม
หรือคุณอยากจะเชื่อมโยงกับธรรมชาติและโลกแห่งจิตวิญญาณให้มากขึ้น?
สารไซคีเดลิคมีคุณสมบัติที่สามารถพาคุณหลุดออกจากร่างไปมีประสบการณ์ใกล้ตาย (Near Death Experience หรือ NDE) หรือการที่จิตออกไปมีประสบการณ์รับรู้โลกจากนอกร่างกาย (Out of Body Experience หรือ OBD) ดังนั้น ประสบการณ์ที่คุณได้รับจะเป็นไปโดยปราศจากข้อจำกัดของร่างกาย ถ้าหากเกิดขึ้นแล้วก็คงได้แต่อวยพรว่า Have a Good Trip! แล้วกันนะ เพราะนอกจากชาแมนแล้ว คงไม่มีใครกล้าไปเป็นเพื่อนกับคุณหรอก
ในส่วนของ ‘Setting’ นั้น ก็คือสิ่งแวดล้อมที่ประกอบด้วยลักษณะทางกายภาพ และเชื่อหรือไม่ว่า ปัจจัยแวดล้อมอย่างสังคมและวัฒนธรรมล้วนมีผลต่อทริปของคุณว่าจะออกมาในรูปแบบใด ดังนั้น เราจึงขอย้ำว่า การอยู่กับบุคคลที่คุณเชื่อใจอย่างแท้จริงในสถานที่ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับสุขภาพจิตของคุณเองในขณะทริป และทุกครั้งที่ทำ คุณจะต้องมี ‘Trip Sitter’ หรือคนที่คอยอยู่เป็นเพื่อนคุณโดยไม่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของคุณโดยเด็ดขาดถ้าไม่จำเป็นจริงๆ การตระเตรียมบรรยากาศและตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม รวมทั้งจุดเครื่องหอมอย่างไวท์เซจ หรือ พาโล ซานโต และกำยาน ก็ช่วยเพิ่มบรรยากาศอันจรรโลงใจให้แก่ทริปของคุณได้เป็นอย่างดี
เคล็ดลับ: เพิ่มพูนประสบการณ์อันล้ำค่าในแต่ละทริปของคุณด้วยการอดอาหาร งดน้ำตาล และเกลือ รวมทั้งสารมึนเมาอื่นๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 วัน รวมทั้งรักษาอารมณ์ให้คงที่อยู่เสมอ อย่าลืมเตรียมสมุดบันทึกไว้เพื่อช่วยเรื่องการ integrate หรือการนำเอาประสบการณ์จากทริปในครั้งนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดหลังจากทริปได้สิ้นสุดลงแล้วด้วยล่ะ
ในฉบับหน้า เราจะมาต่อกันว่ายังมีอะไรที่จะต้องเตรียมตัวสำหรับการตะลุยจักรวาลแห่งไซคีเดลิค ใจเย็นนิดนึง และอย่าเพิ่งรีบทริปเป็นอันขาด ถ้ายังปราศจากขั้นตอนนี้!
อ่านต่อได้ที่ Part 2
อ้างอิง
American Psychological Association