เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อท่องไปในจักรวาลของไซคีเดลิค – Part 2

คำเตือน: บทความนี้มิได้มีเจตนา ยุยง ส่งเสริม หรือชี้นำให้เกิดการใช้ยา หรือสารเสพติด รวมถึงสารออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาทใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการเผยแพร่ข้อมูลจากข้อเท็จจริง ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณในการอ่านเป็นอย่างยิ่ง และบทความนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด)

หลังจากที่ทาง EQ ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บางส่วนของสารไซคีเดลิค (Part 1) และวิธีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะเริ่มทริปในส่วนแรกไปแล้ว สิ่งที่แม้แต่นักทริปหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ คือเวลาที่เรามีประสบการณ์แย่ๆ ที่ควบคุมไม่ได้อย่าง ‘แบดทริป’ (Bad Trip) เราสามารถหยุดมันลงได้ด้วย ‘ตัวหยุดทริป’ (Trip killer) นั่นเอง

อะไรคือ Bad Trip

แบดทริป คือประสบการณ์ที่เราเผชิญกับภาวะหรือเห็นภาพ และรับรู้สิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องการ สำหรับผู้ใช้สารไซคีเดลิคแล้ว นี่คือโอกาสทองที่จะได้สัมผัสถึงปมที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใต้สำนึก (หรือก็คือเงามืดที่อยู่ภายในจิตใจ) ปล่อยให้มันได้แสดงตัวตนออกมา เพื่อใช้เป็นบทเรียนที่นำมาซึ่งข้อมูลสำคัญที่เราจะใช้ในการเยียวยาตัวเองให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เราจึงไม่ควรใช้ตัวหยุดทริปในขณะที่เผชิญหน้ากับแบดทริป เพราะนั่นคือการปิดประตูไปสู่การค้นพบสิ่งที่ปิดกั้นจิตใจไม่ให้พบกับความสุขและความสงบในชีวิตอย่างแท้จริง และยอมที่จะอยู่กับแผลเก่าๆ จากประสบการณ์ในอดีตต่อไป

Photo credit: Narconon

ตัวหยุดทริป (Trip Killer) คืออะไร?

ตัวหยุดทริปเป็นสารที่ช่วยทำให้นิ่งขึ้นและนำเรากลับสู่ความเป็นจริง เมื่อการทริปไม่เป็นไปอย่างที่คาดคิดไว้

โดยตัวหยุดทริปดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่จะถูกใช้โดยมีเจตนายุติการทริปจากการใช้สารไซคีเดลิค ซึ่งไม่มีสารใดที่จะช่วยยุติประสบการณ์ดังกล่าวได้ และไม่ใช่ว่าตัวหยุดทริปทั้งหมดจะได้ผลกับผู้ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสารไซคีเดลิคทุกคน แต่เราต้องใช้มันให้เหมาะสม ขึ้นอยู่กับว่าสารที่ใช้อยู่คืออะไร

ทำไมต้องเตรียม ‘ตัวหยุดทริป’

อย่างที่ทราบกันดีว่าสารไซคีเดลิคยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่ จึงควรพึงระลึกไว้เสมอว่า มีความเสี่ยงทุกครั้งที่ใช้ เพราะนอกจากคุณจะไม่ทราบว่ามันมีสารแปลกปลอมเจือปนมาด้วยหรือไม่ หากเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงขึ้นมา คนที่คุณต้องไปขอความช่วยเหลืออาจจะไม่มีความเข้าใจหรือรู้จักสารชนิดนี้เลยด้วยซ้ำ จึงสำคัญมากจริงๆ ที่จะต้องมี ‘Trip Sitter’ หรือคนที่นั่งอยู่กับคุณโดยไม่ใช้สารนี้ในขณะที่คุณกำลังทริปอยู่ และหากจำเป็น เขานี่แหละที่จะเป็นผู้จัดเตรียมยาหยุดทริปให้แก่คุณ แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่านี่คือการตัดโอกาสในการรู้จักและเรียนรู้ปมสำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่การไขปัญหาที่ทำให้ชีวิตคุณไม่สมดุลอยู่ในขณะนี้ จึงควรใช้มันเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้นจริงๆ 

Photo credit: Psychedelic Health

ถ้าอย่างนั้น เราจะใช้ตัวหยุดทริปตอนไหน?

หลายๆ คนที่ยังไม่เคยเจอแบดทริปอาจจะยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เจอนั้น (เงามืดในจิตใจที่ฉายออกมาเป็นแบดทริป) คืออะไร และอาจจะรู้สึกว่ารับมือกับมันไม่ได้ ไปต่อไม่ไหวแล้ว และกำลังเผชิญกับความทรมานขั้นสุดในวังวนแห่งฝันร้าย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตราบใดที่เราใช้สารไซคีเดลิคด้วยความเข้าใจ ให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ความตั้งใจที่เราใส่ลงไปก่อนจะทริป และการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสำหรับการทริปหรือ Set and Setting หากทำทุกอย่างด้วยวิธีนี้ แม้ว่าจะเกิดแบดทริปขึ้นมา เราก็สามารถรับมือกับมันได้สบาย โดยที่ไม่ต้องใช้ตัวหยุดทริปเลย เราจึงควรใช้เมื่อมันอาจก่อให้เกิดอันตรายได้เท่านั้น

Photo credit: Bicycle Health

ตัวหยุดทริปที่พบบ่อยที่สุดก็คือ ‘เบนโซไดอะซีพีน’ (Benzodiazepine) แต่ยาตัวอื่นๆ เช่น ยารักษาโรคทางจิตเวช (antipsychotic medications) บางชนิดก็สามารถให้ผลได้เช่นกัน สารเหล่านี้บางตัวก็มีฤทธิ์ที่ค่อนข้างรุนแรงเป็นพิเศษ จึงควรใช้มันด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              โดยเฉพาะในปริมาณที่ถูกต้อง และใช้มันเฉพาะเมื่อผลกระทบของการทริปเริ่มนำไปสู่สิ่งที่ไม่คาดคิด ทั้งต่อตนเองหรือผู้อื่น 

ตัวหยุดทริป 7 อันดับที่มักจะพบได้ในปัจจุบัน

ตัวหยุดทริปที่ได้ผลและถูกนำมาใช้บ่อยที่สุดก็คือ ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีน ซึ่งมีกลไกออกฤทธิ์ที่แรงที่สุด และเร็วที่สุดในการยุติประสบการณ์อันเกิดจากการใช้สารไซคีเดลิค แต่ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีนก็ไม่สามารถใช้ได้สำหรับทุกคน บางคนควรหลีกเลี่ยงโดยสิ้นเชิง จึงควรศึกษาให้ดีก่อนว่าคุณเหมาะกับยาประเภทไหน

สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ หากผสมเบนโซไดอะซีพีนกับยากล่อมประสาท (sedative drugs) อื่นๆ หรือแอลกอฮอล์ มันก็สามารถนำไปสู่การเสพติดได้อีกด้วย การใช้เบนโซไดอะซีพีนอย่างเป็นประจำจึงไม่ใช่คำตอบที่ดีสำหรับทุกคน

มาดูกันว่าตัวหยุดทริปที่พบบ่อยที่สุดมีอะไรกันบ้าง

1. อัลปราโซแลม (Alprazolam) หรือ ซาแน็กซ์ (Xanax)

Photo credit: BBC

อัลปราโซแลม ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวหยุดทริปที่ออกฤทธิ์เร็วที่สุดในตระกูลของเบนโซไดอะซีพีน แต่ก็เป็นหนึ่งในยาที่ออกฤทธิ์สั้นที่สุดเช่นกัน แม้ผลจะออกฤทธิ์เร็ว มันก็อยู่ได้แค่ประมาณ 4-6 ชั่วโมงเท่านั้น

ข้อเสียคือมันมักจะลบล้างความทรงจำของเราไปอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ร่วมกับสารอื่น หรือใช้ในปริมาณที่สูงเกินไป หลังจากรับประทานตัวหยุดนี้ ให้นอนลงและปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อนทันที

2. ลอราซีแพม (Lorazepam) หรือ เอติแวน (Ativan)

ลอราซีแพมนั้นมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างยอดเยี่ยมในการพาเราออกจากแบดทริป แต่อาจทำให้ง่วงนอนจนเผลอหลับไป นี่อาจเป็นข้อดีเพราะมันช่วยให้เราพักผ่อนได้สบายๆ หลังจากผ่านประสบการณ์แย่ๆ มา แต่มันจะหยุดประสบการณ์การใช้สารไซคีเดลิคของเราโดยสิ้นเชิง ซึ่งสำหรับชาว psychonauts นั้น เราจะเรียกว่าอาจเป็นการ ‘เสียของ’

3. ไดแอซิแพม (Diazepam) หรือ แวเลียม (Valium)

ไดแอซิแพม อาจจะไม่ออกฤทธิ์เร็วเท่ากับลอราซีแพมหรืออัลปราโซแลม แต่เป็นหนึ่งในตัวหยุดทริปของตระกูลเบนโซไดอะซีพีนที่ได้รับความนิยมมายาวนานที่สุด ซึ่งผลของยาไดอะซีแพมสามารถอยู่ได้นานกว่า 12 ชั่วโมง

เนื่องจากมันใช้เวลานานมากกว่าจะออกฤทธิ์หากกลืนกินในรูปแบบเม็ด หากต้องการให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้นก็สามารถทำได้โดยการเคี้ยวยา เพราะจะทำให้ร่างกายดูดซึมมันเข้าทางใต้ลิ้นได้

ตัวหยุดทริปนี้ทำงานได้ดีในการพาเราออกจากวังวนความคิดฝันร้าย แต่ไม่มีผลเช่นเดียวกับลอราซีแพมหรืออัลปราโซแลมในแง่ของอาการง่วงนอน หลายคนรายงานว่า การใช้ยาไดอะซีแพมในระหว่างที่มีแบดทริปช่วยให้พวกเขาสงบลงได้โดยไม่ทำให้ฤทธิ์ของสารไซคีเดลิคนั้นหายไปหมด (ไม่แบดแต่ยังคงหลอนต่อไป) ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับคนที่ต้องการจะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองด้วยประสบการณ์ที่ได้จากการทริป หรือก็คือไม่เสียของนั่นเอง

4. โคลนาซีแพม (Clonazepam) หรือ โคลนาพิน (Klonopin)

Photo credit: Ahwatukee Health Care

โคลนาซีแพมถือเป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีนที่ออกฤทธิ์ช้าที่สุด อาจใช้เวลาประมาณ 1-4 ชั่วโมงหลังได้รับถึงระดับสูงสุดในเลือด แน่นอนว่าเราสามารถเร่งความเร็วได้โดยการเคี้ยวยา และปล่อยให้มันดูดซึมใต้ลิ้น

แม้ว่าตัวหยุดทริปนี้จะใช้เวลาออกฤทธิ์นาน แต่ผลกระทบอาจอยู่ได้นานถึง 12 ชั่วโมง และครึ่งชีวิต (half-life) ก็ยาวนานเช่นกัน (กว่าสารจะสลายไปทีละครึ่งหนึ่งตามช่วงเวลานั้นยาวนาน ทำให้เวลาที่สารจะหมดฤทธิ์ก็นานตามไปด้วย) โดยอยู่ที่ประมาณ 40 ชั่วโมง

5. โซลพิเดม (Zolpidem) หรือ แอมเบียน (Ambien)

Photo credit: USA Today

โซลพิเดมจัดอยู่ในประเภทของยารักษาโรคนอนไม่หลับกลุ่มซีดรักส์ (Z-drug) ยาเหล่านี้ทำงานในลักษณะเดียวกับเบนโซ และถือว่ามีประโยชน์ในฐานะตัวหยุดทริป แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อเสีย นั่นคือยาเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะกดประสาทมากกว่ากลุ่มตระกูลเบนโซ ผู้ที่รับโซลพิเดมเพื่อหยุดทริปมักจะผล็อยหลับไปหลังจากนั้นไม่นาน และอาจมีประสบการณ์ความทรงจำหายไปในเช้าวันรุ่งขึ้น

แม้ว่า Z-drugs จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าเบนโซไดอะซีพีนส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงสูงในการใช้ จึงควรรับในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการผสมกับยากดประสาทชนิดอื่น และใช้เฉพาะเมื่อได้รับการอนุมัติจากแพทย์เท่านั้น

6. ควิไทอะปีน (Quetiapine) หรือ เซโรควิล (Seroquel)

Photo credit: IndiaMART

ควิไทอะปีนจัดเป็นยาระงับอาการทางจิตที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่ายารักษาโรคทางด้านจิตเวชทั่วไป มันเป็นตัวหยุดทริปที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีน หรือยากลุ่มซีดรักส์ (Z-drug)

7. โอแลนซาปีน (Olanzapine) หรือ ไซเพร็กซา (Zyprexa)

Photo credit: NetDoctor

โอแลนซาปีน เป็นยาระงับอาการทางจิตอีกชนิดหนึ่งที่รายงานว่ามีประสิทธิภาพในการลดผลกระทบของอาการประสาทหลอน สารประกอบนี้มีความสัมพันธ์สูงเป็นพิเศษกับตัวรับเซโรโทนิน ดังนั้น มันจึงดีกว่าสำหรับการหยุดทริปจากสารไซคีเดลิคที่อยู่ในกลุ่มทริปทามีน เช่น LSD สารไซโลไซบิน และ DMT

ตัวหยุดทริป ทำงานอย่างไร?

ในกลุ่มของเบนโซไดอะซีพีน เช่น diazepam, lorazepam หรือยากล่อมประสาทชนิดยาคลายกังวล (anxiolytics) อื่นๆ มักจะเป็นสารที่แพทย์ใช้หากเราถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลจากการใช้สารไซคีเดลิคมากเกินไป (แพทย์ส่วนใหญ่จะประเมินอาการเป็นการกำเริบของกลุ่มภาวะวิกลจริตหรือโรคจิต) โดยมันจะไปลดการทำงานของสมอง ทำให้รู้สึกสงบและผ่อนคลายมากขึ้น

ตัวหยุดทริปในกลุ่มยาระงับอาการทางจิตบางชนิดจะย้อนกลับผลกระทบของอาการประสาทหลอนโดยการปิดกั้นตัวรับ 5-HT2A ซึ่งเป็นหนึ่งในตำแหน่งรับหลักที่สารไซคีเดลิคอย่าง LSD และสารไซโลไซบิน ไปจนถึงสารไซคีเดลิคบางตัว จับกับตัวรับเหล่านี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดผลด้านไซคีเดลิค

ทำไมตัวหยุดทริปไม่ทำงาน?

ตัวหยุดทริปไม่ได้ทำงานกับสารไซคีเดลิคทุกชนิด ยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน และยาระงับอาการทางจิตนั้นมีประสิทธิภาพสำหรับสารไซคีเดลิคที่มีความเกี่ยวข้องกับเซโรโทนินเป็นหลัก เช่น LSD และ psilocybin แต่มีสารบางอย่างที่ไม่มีสารตัวใดสามารถเป็นตัวหยุดทริปได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ

Photo credit: Diabetes UK

สารไซคีเดลิคไหนบ้างที่ตัวหยุดทริปช่วยได้?

รายชื่อสารไซคีเดลิคที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งมีผลในการหยุดทริป

– LSD (lysergic acid diethylamide) และ lysergamide อื่นๆ

– Psilocybin สารออกฤทธิ์ในเห็ดวิเศษ (magic mushroom)

– 4-AcO-DMT สารที่ได้จากการสังเคราะห์คล้ายกับสารในเห็ด

– 5-MeO-DMT สารประกอบที่ออกฤทธิ์ในพิษของคางคก (bufo toad venom)

– N,N-DMT สารออกฤทธิ์ในอายาวัสกา (ayahuasca)

– 2C-B และสารไซคีเดลิคในกลุ่ม 2C อื่นๆ)

– NBOMes (N-bombs)

– Cathinones สังเคราะห์ (bath salts)

– MDMA และ MDXX อื่นๆ

– Mescaline สารประกอบที่ออกฤทธิ์ในกระบองเพชรพิโยเต (Peyote) และซาน เปโดร (San Pedro)

สารไซคีเดลิคที่ไม่มีตัวหยุดทริป มีอะไรบ้าง?

หากเราตั้งใจจะใช้สารใดก็ตามในรายการที่ระบุดังต่อไปนี้ ขอเตือนว่าหากเกิดแบดทริปขึ้น เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องท่องไปกับประสบการณ์ดังกล่าวจนกว่าสารจะหมดฤทธิ์

– Datura ดอกไม้หลอนประสาทจากวงศ์มะเขือ (nightshade)

– Brugmansia รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นทรัมเป็ตของทูตสวรรค์

– Phencyclidine และ Arylcyclohexylamines อื่นๆ

– เคตามีน (Ketamine) และสารในกลุ่มดิสโซสิเอทีฟ (dissociative) ประเภทอื่นๆ 

– เกรยาโนทอกซิน (Grayanotoxins) พบในดอกโรโดเดนดรอน (Rhododendron flowers)

– ก๊าซซีนอน (Xe) หรือก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O)

Photo credit: NPR

ใครบ้างที่ไม่ควรใช้ตัวหยุดทริปที่มีสารในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีน?

แม้ว่าสารไซคีเดลิคส่วนใหญ่จะไม่เสพติด แต่สารในกลุ่มเบนโซมีคุณสมบัติที่ทำให้เสพติด ดังนั้น หากคุณมีบุคลิกเสพติด เคยเสพติดสารในกลุ่มเบนโซหรือสารที่คล้ายกันมาก่อน ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเหล่านี้เป็นตัวหยุดทริป

ความป่าเถื่อนของตัวหยุดทริปกลุ่มเบนโซไดอะซีพีนคือ มันทิ้งผลกระทบที่สามารถอยู่ได้นานหลายเดือนในร่างกาย หากเราติดและใช้สารเหล่านี้เป็นเวลานาน การเลิกใช้โดยทันทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากร่างกายจะเข้าสู่ภาวะการเสพติดสารและลงแดง

ดังนั้น หลีกเลี่ยงใช้ตัวหยุดทริปที่มีเบนโซเป็นส่วนประกอบจะดีกว่า หากมีโอกาสที่เราจะเสพติดมัน

สิ่งที่คาดหวังได้เมื่อเราหยุดทริป

ตัวหยุดทริปจะไม่ทำให้เราสร่างเมาทันทีที่เม็ดยาสัมผัสกับลิ้น ปัจจัยสำคัญอย่างเช่น เวลาที่เริ่มต้น ประเภทของตัวหยุดทริป ปริมาณที่ใช้ สารไซคีเดลิคที่ใช้ และระยะเวลาในการทริป ล้วนมีผลต่อการออกฤทธิ์ของมัน

และนี่คือแนวทางคร่าวๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อใช้สารในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีนระหว่างมีประสบการณ์เลวร้ายหรือแบดทริป

1. หลังจากที่คุณเพิ่งได้รับประสบการณ์อันสวยงามในดินแดนแห่งไซคีเดลิค ที่ที่สีสันมีมากมายเกินกว่าที่โลกใบนี้จะมีให้คุณเห็น หรือเสียงดนตรีอันแสนไพเราะที่คุณอาจไม่เคยได้เสนาะรับฟังมันมาก่อน ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา คุณตกไปอยู่ในวังวนแห่งความคิดที่มืดมนราวอนธการ คุณพยายามต่อสู้ดิ้นรนที่จะหลุดออกมา แต่กลับรู้สึกเหนื่อยล้ากว่าเดิม คุณจึงเฝ้าบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไร ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเพราะเราอยู่ในทริปเท่านั้น เดี๋ยวมันก็หายไป” แต่แล้ว คุณก็เริ่มโน้มน้าวใจตัวเองว่านี่คือเรื่องจริง แล้วเริ่มจมดิ่งสู่วังวนฝันร้าย หรือแบดทริป

Photo credit: Britannica

2. ทันใดนั้น คุณหรือผู้ดูแลทริปของคุณตระหนักดีว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องหยุดทริป

หากสถานการณ์เริ่มไม่สู้ดีนัก อาจจะต้องใช้ตัวหยุดทริปเพื่อพากลับสู่สภาพความเป็นจริง คุณจึงเคี้ยว Xanax หนึ่งมิลลิกรัมเพื่อให้ยาที่อมใต้ลิ้นออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว

3. ภาวะ ‘ผลของยาหลอก’ (The Placebo Effect) เริ่มแสดงทันทีที่คุณเชื่อมโยงรสชาติอันเผ็ดร้อนของยาเข้ากับความความหวังว่าทริปอันโหดร้ายนี้กำลังจะสิ้นสุด เมื่อกลืนน้ำลาย คุณจะรู้สึกถึงคลื่นแห่งความสงบที่แล่นเข้ามาหา และรับรู้ได้ว่าฝันร้ายนี้จะจบลงในไม่ช้า

4. หลังจากนั้นประมาณ 15 ถึง 30 นาที (ขึ้นอยู่กับตัวหยุดทริป) คลื่นแห่งความผ่อนคลายจะค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาหาคุณ ความวิตกกังวลและความตื่นตระหนกเริ่มหายไปเมื่อยาเริ่มออกฤทธิ์

วงจรความคิดด้านมืดเริ่มลดน้อยลง คุณเริ่มรู้สึกว่าไม่ได้สนใจอะไรมากนัก ไร้อารมณ์ และสงบ ช่วงนั้นคุณอาจจะเห็นภาพหลอนหรือไม่ก็ได้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครมาดึงความสนใจจากคุณไปได้

5. 1 ชั่วโมงหลังจากกินตัวหยุดทริปเข้าไป อาการประสาทหลอนจะลดลงอย่างมาก สติเริ่มกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว คุณอาจจะเริ่มคิดทบทวนถึงฝันร้ายที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่แน่อาจจะเสียดายก็ได้ที่ทำให้มันจบลง หรือไม่ก็คิดว่า “ไม่เอาอีกแล้ว” 

6. ผ่านไป 2-3 ชั่วโมงหลังจากใช้ตัวหยุดทริป ผลกระทบส่วนใหญ่ของอาการด้านไซคีเดลิคจะหายไปแล้ว และหากคุณยังไม่ได้หลับ ตอนนี้แหละที่เหมาะสำหรับการหลับใหลมากที่สุด

ประเด็นด้านความปลอดภัยที่ต้องพิจารณาเมื่อใช้ตัวหยุดทริป

ตัวหยุดทริปที่ได้ผลดีที่สุดนั้นก็คือ Benzodiazepines แต่ถูกจำกัดในเงื่อนไขการขายและการใช้งาน อาจทำให้การซื้อยาเหล่านี้อย่างถูกกฎหมายเป็นเรื่องยาก ซึ่งเป็นประเด็นด้านความปลอดภัยอันดับแรกของเรา

1. ตัวหยุดทริปต่างๆ นั้นต้องได้มาจากแหล่งจัดหาที่มีผู้ควบคุมอย่างเข้มงวด

ผู้ค้าผิดกฎหมายที่จำหน่ายแวเลียมและซาแน็กซ์ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้เสมอไป ตัวอย่างของสารเหล่านี้มีตัวยาหลายชนิด เช่น เฟนทานิล (โอปิออยด์สังเคราะห์ที่อันตรายอย่างยิ่ง)

ผู้ผลิตยาลับใช้แม่พิมพ์ยาเม็ดที่สร้างแบบจำลองของยาเม็ดซาแน็กซ์และแวเลียม แต่มีส่วนผสมของสารที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ไม่ว่าเราจะกำลังทริปหรือไม่ การรับประทานยาเหล่านี้ในเวลาใดก็ตาม อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง

Photo credit: Brown University

หากคุณจำเป็นต้องซื้อตัวหยุดทริปจากตลาดมืด อย่าลืมทดสอบโดยใช้ชุดทดสอบเฟนทานิล (Fentanyl Test Kit) และชุดทดสอบเบนโซไดอะซีพีนเพื่อตรวจสอบสารเจือปนในยาก่อนที่จะต้องใช้มันด้วย

2. รับในปริมาณที่ถูกต้อง

การได้รับปริมาณที่ถูกต้องสำหรับสารแต่ละชนิดเป็นสิ่งสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาเกินขนาด แต่เราก็ต้องกะปริมาณให้เพียงพอเพื่อหยุดทริปนั้นๆ

น้ำหนัก เพศ และความคุ้นเคยกับยาล้วนส่งผลต่อปริมาณการใช้ยา เช่น การที่ใช้เบนโซฯ เป็นประจำหรือการมีน้ำหนักมาก จำเป็นจะต้องได้รับยาในปริมาณที่มากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า หรือคนที่แทบไม่เคยใช้เบนโซฯ เลย

และนี่คือปริมาณแนะนำของตัวหยุดทริปที่ได้รับความนิยมสูงสุด 4 ชนิด อ้างอิงจากรายงานโดยตรงและคู่มือการใช้ยาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม เราควรเริ่มใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย และทำการวิจัยด้วยตัวเอง ก่อนที่จะบริโภคอะไรเพื่อหยุดทริปต่างๆ เพราะสารเหล่านี้อาจจะเป็นอันตรายกับตัวเราได้

– อัลปราโซแลม หรือ ซาแน็กซ์: 0.5 ถึง 1 มิลลิกรัม

– ลอราซีแพม หรือ เอติแวน: 0.5 ถึง 1.5 มิลลิกรัม

– ไดแอซิแพม หรือ แวเลียม: 5 ถึง 10 มิลลิกรัม

– โคลนาซีแพม หรือ โคลนาพิน: 1 ถึง 1.5 มิลลิกรัม

ขอย้ำอีกครั้งว่าปริมาณที่ต้องใช้ของทุกคนจะแตกต่างกันเนื่องจากปัจจัยหลายประการ และเป็นสิ่งที่เราจะต้องค้นหาจากประสบการณ์ด้วยตัวเอง หากตัวหยุดทริปใช้ไม่ได้ผลในทันทีตามระยะเวลาที่มันควรจะเป็น จงอย่าใช้มันต่อไปเรื่อยๆ เพราะนั่นคือสาเหตุของการใช้ยาเกินขนาด

วิธีลดความเสี่ยงจากการเดินทางที่ไม่ดี หรือแบดทริปให้เหลือน้อยที่สุด

ดังที่เราได้อธิบายไปในครั้งที่แล้วถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมในเรื่องของ Set & Setting ที่มาจาก ‘ชุดความคิด’ ของผู้ทริป และ ‘สิ่งแวดล้อม’ ขณะที่กำลังทริป นี่คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการเดินทางที่เลวร้ายที่สุด และมีการเดินทางที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และใช้ตัวหยุดทริปเฉพาะในกรณีฉุกเฉินเมื่อการเดินทางเข้าสู่ด้านมืดอาจเป็นอันตรายต่อเรา หรือผู้อื่นรอบตัวเท่านั้น

Set (Mindset)

Set คือสภาวะทางความคิดและจิตใจของเรา เมื่อใช้สารไซคีเดลิค เราไม่ควรอยู่ในสภาพจิตใจที่เป็นลบ วิตกกังวล หรือไม่มั่นคง การเข้าสู่ทริปด้วยความคิดแง่ลบในหัวของเรานั้นคือการการันตีหนทางสู่ทริปฝันร้าย 100%

ควรพักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจให้เพียงพอก่อนทริป พยายามสร้างความคิดเชิงบวกและนึกถึงแต่ประสบการณ์ดีๆ ไว้ การฝึกสมาธิหรือโยคะก็เป็นปัจจัยวิเศษที่ทำให้ประสบการณ์การทริปของเราเป็นไปอย่างน่าจดจำยิ่งขึ้น

Photo credit: Forbes

Setting

การจัด Setting คือการจัดการพื้นที่ที่เราจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การทริปที่ล้ำค่าที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพลงที่ผ่อนคลาย ตกแต่งบรรยากาศด้วยภาพสวยๆ และจุดเทียนหอมสักสองสามเล่ม หาสิ่งที่คุณอยากทดลองความคิดสร้างสรรค์อย่างเช่นอุปกรณ์วาดรูป ระบายสีมาเตรียมไว้ ก็อาจทำให้คุณค้นพบพรสวรรค์บางอย่างที่รอการถูกปลดปล่อยออกมา

หากมุ่งหน้าสู่ธรรมชาติเพื่อการทริปก็ควรตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายนอกให้ดี ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศและความปลอดภัยโดยรวม ไม่ควรมีการเดินเท้า  พูดง่ายๆ คือ ไม่มีปัจจัยภายนอกที่อาจทำให้เราวิตกในระหว่างทริปได้

อีกเทคนิคหนึ่งที่จะทำให้ทริปอย่างราบรื่นคือ การมีวัตถุที่มีความหมายกับเราอยู่ใกล้ๆ วัตถุนี้จะช่วยเชื่อมต่อเรากับโลกทางกายภาพ เมื่อไหร่ที่การเดินทางของเราดำดิ่งสู่ความมืด เพียงแค่ถือวัตถุไว้ในมือและมองดูมันก็อาจเพียงพอแล้วที่จะพาเรากลับสู่ความเป็นจริง

เทคนิคนี้เป็นสิ่งที่ควรลองก่อนที่จะหันไปใช้ตัวหยุดทริป

สรุปส่งท้าย: การใช้ตัวหยุดทริป

ตัวหยุดทริปดังกล่าวอาจเป็นส่วนสำคัญของชุดเครื่องมือสำหรับผู้ศึกษาด้านสภาวะการรับรู้ โดยเราต้องเตรียมตัวอย่างรัดกุมเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้มัน การพยายามทำงานผ่านประสบการณ์ที่ยากลำบากเพื่อก้าวข้ามคือเป้าหมายที่แท้จริงของการทริป จึงไม่ควรที่จะหยุดมันลงด้วยการใช้ด้วยสารเคมีต่างๆ

อย่างไรก็ตาม หากมีประสบการณ์ด้านไซคีเดลิคอย่างน่าสะพรึงกลัว สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรากลับสู่ความเป็นจริงได้เร็วและปลอดภัยที่สุด

ตัวหยุดทริปที่ได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ เบนโซไดอะซีพีนหรือซีดรักส์ แต่ยาระงับอาการทางจิตบางตัวก็มีประสิทธิภาพเช่นกัน และเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีบุคลิกเสพติดสารต่างๆ ได้ง่าย

เมื่อจัดหาตัวหยุดทริป สิ่งสำคัญก็คือต้องทดสอบความบริสุทธิ์ ยาหลายตัวในตลาดมืดปนเปื้อนเฟนทานิล ซึ่งเป็นโอปิออยด์สังเคราะห์ที่อันตรายมาก คล้ายกับมอร์ฟีนแต่แรงกว่ามาก ยานี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทดสอบยาจากตลาดมืดอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ไม่ว่าจะมีตัวหยุดทริปหรือไม่ เราควรฝึกการใช้สารไซคีเดลิคอย่างปลอดภัยเสมอ ตรวจสอบให้แน่ใจว่า Set and Setting ของเราสมบูรณ์แบบก่อนการทริปจะเริ่มขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของแบดทริป ดังที่เรากล่าวไว้  “เราไม่จำเป็นต้องใช้ตัวหยุดทริปเลยก็ได้ แต่ควรมีไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย”

เอาล่ะ หลังจากเตรียมทั้งตัวเตรียมทั้งใจแล้วก็จง Fasten your seatbelt! แล้วก็ตะลุยท่องไปในจักรวาลแห่งไซคีเดลิคกันเลย ขอให้ไม่มีใครต้องใช้เจ้ายาหยุดทริปที่ว่านี้กันหรอกนะ Have a safe trip!

ใครยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 ของบทความนี้ ตามไปอ่านกันได้ที่ >>> เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนท่องไปในจักรวาลของไซคีเดลิค Part 1 

อ้างอิง

Connor McElroy, Trip Killers: How To Stop an Acid Trip, September 21, 2022

Trip Sitter