Reggae, Ganja, and the Rastafari Movement – ประวัติศาสตร์และการต่อสู้ของชาวราสตาฟาเรียน ไอคอนสายเขียวที่ชาวโลกจดจำ

Photo credit: Starr Fm

บางคนมองว่า ‘ราสตาฟารี’ (Rastafari) คือศาสนาแห่งกัญชาที่เหล่าผู้ติดตามไว้ผมทรงเดรดล็อคยาวประบ่าราวกับโยคีบำเพ็ญศีล บางคนเห็นสีเขียวเหลืองแดงพร้อมกับทำนองเพลงของ ‘Bob Marley and The Wailers’ แต่ราสตาฟารีนั้นมีมากกว่าเสียงดนตรีที่มีกลิ่นอายกัญชาชาวเกาะ พวกเขาร่ำร้องถึงประวัติศาสตร์การกดขี่ระหว่างสีผิวและการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ทางสังคมของคนผิวดำ โดยจากขบวนการเคลื่อนไหวนั้น ราสตาฟารีก็ได้กลายเป็นศาสนาที่นำด้วยความเชื่อและแนวคิดด้านลัทธิปรัชญาให้กับคนทั่วโลกผ่านเสียงเพลงเร็กเก้

หากคุณรักในเสียงดนตรีและกลิ่นสมุนไพร มาเข้าใจถึงอิทธิพลของดนตรีที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ด้วยกันได้

การเป็นทาสในจาเมกา

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15-16 ประชากรผิวดำจากแอฟริกาจำนวนมากได้ถูกจับไปเป็นทาสใต้อำนาจอาณานิคมของสเปน (ต่อมาเป็นอังกฤษ) และถูกส่งไปใช้แรงงานในไร่นาของหมู่เกาะแคริบเบียนเป็นจำนวนมาก

Photo credit: British Library

ประเทศจาเมกาในเวลานั้นถือว่าเป็นแหล่งปลูกอ้อยชั้นดี แรงงานทาสผิวดำบนเกาะจึงได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั้งหมด ในขณะที่น้ำตาลได้ขึ้นตำแหน่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง อุตสาหกรรมการค้าขายของราชอาณาจักรอังกฤษจึงรุ่งเรืองทั้งในการค้าทาสและการผลิตน้ำตาลไปตามๆ กัน

นับเป็นเวลานานกว่าจะมีการประกาศเลิกทาสต่อมาในปี ค.ศ. 1834 ในขณะที่ประชากรบนเกาะจาเมกากว่า 90% ยังคงใช้ชีวิตอยู่ภายใต้อำนาจรัฐอาณานิคมของอังกฤษอยู่ มีการบังคับใช้พลวัตอำนาจรัฐให้สาบานความเคารพต่อสหราชอาณาจักรอังกฤษและต่อโบสถ์ศาสนาคริสต์ ผู้คนเหล่านั้นต่างถูกบังคับให้ละทิ้งตัวตนและวัฒนธรรมไปโดยสิ้นเชิง 

การหยั่งรู้ของคนผิวดำและความหวังครั้งใหม่

ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1910-1920 คนผิวดำเริ่มมีโอกาสในการเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ (หลังจากที่โดนปิดกั้นมานาน) นับว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้เกิดการหยั่งรู้ของคนดำทั่วโลก (global rise of black conciousness) หลายคนเริ่มโยกตัวเข้าเมืองหลวงเพื่อหาโอกาสทำงานและอีกหลายคนย้ายประเทศเพื่อหาชีวิตใหม่

(Pan-African Movement ในสหรัฐอเมริกา) Photo credit: Uchicago Arts

ในเวลานั้น การรวมตัวเพื่อความเคลื่อนไหวของเหล่าคนผิวดำใน Negro Movement และ Pan-African Movement ที่กลายมาเป็นการฟื้นตัวทางศิลปะวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในนิวยอร์ก หรือที่เรียกกันว่า Harlem Renaissance (ค.ศ. 1917-1937) ในยุคนั้นได้มีการสร้างผลงานมากมายทางด้านวรรณกรรม บทกวี และดนตรี ที่ได้รับอิทธิพลจากการต่อสู้ของพลเมืองที่ถูกกดขี่ตลอดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและ The Great Depression

หนึ่งในพลังขับเคลื่อนนั้นคือชาวจาเมกาที่ชื่อว่า ‘มาร์คัส การ์วีย์’ (Marcus Garvey) นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ตลอดชีวิตการทำงานในสหภาพแรงงาน เขาได้เห็นการบังคับใช้กฎหมายแบ่งแยกสีผิวในแต่ละประเทศ ได้เห็นความเป็นอยู่ที่ถูกกดขี่ของคนผิวดำในสังคม และถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในหน้าที่การงาน

(มาร์คัส การ์วีย์) Photo credit: Biography

ต่อมาในปี ค.ศ. 1914 เขาได้ก่อตั้ง ‘Universal Negro Improvement Association and African’ (UNIA) ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนระดับชาติเพื่อพัฒนาชีวิตคนผิวดำ เขาได้สร้างความเชื่อมั่นให้คนดำกล้าฝันอีกครั้ง ด้วยการผลักดันให้พวกเขาเหล่านั้นมองเห็นความสามารถและศักยภาพของตนเอง ก่อตั้งบริษัทหนังสือพิมพ์ ‘Negro World’ อีกทั้งยังสร้างองค์กรเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าทางอาชีพการงานและเพิ่มโอกาสในการเปิดธุรกิจของคนผิวดำอีกเป็นจำนวนมาก

(ขบวนของ UNIA ค.ศ. 1924) Photo credit: Intro to African American History 

ต่อมา แนวคิดของการ์วีย์ก็ได้ถูกยอมรับและเรียกว่า ‘Garveyism’ ถึงแม้จะไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไหร่ในแนวคิดสุดโต่งของการพลิกบทบาทระหว่างสีผิวในสังคม เพราะคนผิวดำชนชั้นกลางมองว่าเป็นการปลุกปั่นในสังคม หลายคนยอมรับในสิ่งที่ถูกหยิบยื่นให้ และอีกหลายคนเองก็กลัวที่จะลุกขึ้นสู้ต่อการกดขี่

การเคลื่อนไหวของการ์วีย์ไม่หยุดลงเพียงเท่านั้น เขาได้เริ่มเผยแพร่แนวคิดเรื่อง ‘ไซออน’ (Zion) หรือ ‘ดินแดนศักดิ์สิทธิ์’ พร้อมประกาศว่าประเทศเอธิโอเปียเป็นแหล่งกำเนิดคนผิวดำที่แท้จริง และได้เริ่มการเคลื่อนไหว ‘Back to Africa Movement’ โดยเปิดเส้นการเดินเรือ Black Star Line เพื่อขนส่งสินค้า พัฒนาเส้นทางธุรกิจ และนำพาผู้คนกลับสู่แผ่นดินแอฟริกา

Photo credit: History

นอกจากนี้ การ์วีย์ยังกล่าวคำทำนายจากพระคัมภีร์ไบเบิลของชาวฮีบรู (Old Testament) ถึงกษัตริย์ผิวดำคนใหม่ที่จะนำทุกคนกลับสู่แอฟริกา คำทำนายของเขาครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเคลื่อนไหวราสตาฟารีที่กำลังจะก่อตัวขึ้น 

“Look to Africa where a black King shall be crowned, he shall be your Redeemer”

จงเฝ้ามองไปที่แอฟริกา พลันกษัตริย์ผิวดำขึ้นครองราชย์ เขาคนนั้นจะเป็นผู้มาปลดปล่อยพวกเจ้า

All Hail to the King of Ethiopia

ทันใดนั้นในปี ค.ศ. 1930 ก็ได้มีการแต่งตั้งกษัตริย์เอธิโอเปีย ‘ไฮเล เซลาสซี’ (Haile Selassie) ซึ่งหลายคนมองว่าตรงกับคำทำนายของการ์วีย์ที่กล่าวว่าจะมีผู้นำมาปลดปล่อยพวกเขา และพาทุกคนกลับไปสู่ดินแดนแห่งไซออน เซลาสซีจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังครั้งใหม่ของคนดำ และเป็นหลักสำคัญในการก่อตัวของราสตาฟารี

(ไฮเล เซลาสซี) Photo credit: Encyclopedia Britannica

ความเชื่อในหลักศาสนาราสตาฟารีได้มองว่าเซลาสซีสืบเชื้อสายตรงมาจากกษัตริย์โซโลมอนกับพระราชินีแห่งชีบา จุติมาเพื่อปลดปล่อยคนแอฟริกาจากการกดขี่ของคนขาว และความเป็นทาสอาณานิคม 

ความสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของเซลาสซีนั้นได้ตรงต่อทำนายของการ์วีย์ และตอกย้ำถึงความความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นพลังยึดมั่นในความเชื่อของเหล่าราสตาฟารี การ์วีย์มองการขึ้นครองกษัตริย์ของเซลาสซีในมุมโลกิยนิยม (Secular View) และเป็นบุคคลสำคัญใน Pan-African Movement แต่ในมุมของ ‘ลีโอนาร์ด โฮเวลล์’ (Leonard Howell) เขามองตัวกษัตริย์เป็นดั่งพระเจ้า และได้แต่งตั้งเซลาสซีให้เป็นจุดยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวราสตาฟารี

Back to Jamaica

ไม่น่าแปลกใจที่กลุ่ม UNIA จะถูกรัฐบาลอเมริกันจับตามองอยู่เสมอ เนื่องจากกระแสปลุกปั่นที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งทำให้การ์วีย์ถูกเนรเทศกลับจาเมกาในปี ค.ศ. 1927 หลังจากนั้นเขาก็ได้มีโอกาสทำงานต่อในสภาเมือง แต่ก็พบกับความยากลำบาก เพราะรัฐบาลจาเมกาก็จ้องใส่ร้ายว่าเป็นกบฎ การ์วีย์จึงได้ย้ายไปประเทศอังกฤษพร้อมกับครอบครัว และจบชีวิตที่นั่นโดยไม่กลับมายังจาเมกาอีก ถึงอย่างไรก็ตาม การ์วีย์ก็ได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นหนึ่งในวีรบุรุษของชาติคนแรกแห่งจาเมกา และเป็นศาสดาของราสตาฟารี

(ลีโอนาร์ด โฮเวลล์) Photo credit: Leonard P. Howell Foundation

ส่วนอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการก่อตั้งราสตาฟารีคือ ลีโอนาร์ด โฮเวลล์ ชาวจาเมกาวัย 26 ที่เดินทางมานิวยอร์กในปี ค.ศ. 1924 ซึ่งเป็นช่วงรุ่งเรืองของ Harlem Renaissance พอดี โฮเวลล์ได้มีโอกาสศึกษางานเขียนต่างๆ ของการ์วีย์และได้เข้าร่วม UNIA ด้วยอุดมการณ์เดียวกัน เขาสนับสนุนการสร้างพลังเศรษฐกิจของคนดำ และได้ร่วมสร้างกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นจำนวนมาก

ในช่วงนั้น กัญชาถูกขายและสูบตาม tea house หรือ viper den ที่มีมากกว่า 400 แห่งทั่วนครนิวยอร์ก โฮเวลล์เองก็หาเงินเลี้ยงชีพโดยการขายกัญชาและเครื่องดื่มบัง (bhang) ภายในตึกเช่าทำงานของ UNIA แต่เพราะการใช้กัญชานั้นขัดกับภาพลักษณ์ของกลุ่ม หลายคนมองว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ดูแย่ต่อสังคม จึงได้ขับไล่โฮเวลล์ออกจากกลุ่มไป

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในอีกไม่กี่ปีถัดมา (ค.ศ. 1932) โฮเวลล์เองก็กลับสู่จาเมกา (หลังจากถูกเนรเทศเพราะการเผยแพร่เรื่องเซลาสซีเป็นพระเยซูที่เสด็จกลับมาครั้งที่สอง) แต่ครั้งนี้เขากลับมาด้วยแนวคิดที่แตกต่างไปจาก Garveyism เพราะต้องการที่จะมองหาวิธีการรวมตัวของคนดำในด้านจิตวิญญาณมากกว่าทางวิชาการ

(จากซ้ายไปขวา: โฮป โฮเวลล์ – ลีโอนาร์ด โฮเวลล์ – มาร์คัส การ์วีย์) Photo credit: 876 Icons & Voices

ในขณะที่ประชาชนชาวจาเมกากำลังหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ โฮเวลล์ก็ได้เริ่มออกเทศน์ให้กับผู้คน โดยเฉพาะชนชั้นแรงงานและคนยากจน ด้วยอุดมการณ์และแนวคิดที่ได้เรียนรู้ผ่าน Pan-African Movement ทำให้เขามีไอเดียของการรวมพลังคนผิวดำขึ้นมาอีกครั้ง โดยใช้การขึ้นครองราชของกษัตริย์เซลาสซีที่ตรงตามคำทำนายของการ์วีย์เมื่อหลายปีก่อน อันเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นชื่อศาสนา ตั้งตามชื่อเดิมของเซลาสซี ซึ่งก็คือ ‘ตาฟารี มาคอนเนน’ (Tafari Makonnen) โดยเพิ่มคำว่า ‘Ras’ ซึ่งแปลว่า ‘พระเจ้า’ เกิดเป็น ‘Ras’Tafari’ โดยพลัน

หากเซลาสซีเป็นพระเจ้า การ์วีย์ก็เป็นดั่งศาสดา และโฮเวลล์ก็เป็นผู้เผยแพร่ศาสนาราสตาฟารี

The First Rasta

Photo credit: Steel Pulse

“คนดำควรรู้ไว้ว่าเราก็มีประวัติศาสตร์ที่งดงามไม่ต่างจากคนขาว” – ลีโอนาร์ด โฮเวลล์

ลีโอนาร์ด โฮเวลล์ ได้เป็นผู้ก่อตั้งศาสนาราสตาฟารีขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1933 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้มาพร้อมกับความคิดใหม่ของเขาที่ต้องการพัฒนาและปรับปรุงอัตลักษณ์ของคนดำในสังคม โดยรื้อฟื้นแนวคิดของ Garveyism และยึดหลักจากพระคัมภีร์ไบเบิล (Old and New Testament) เพื่อนำมาช่วยฟื้นฟูจิตใจ และให้ความหวังกับผู้คนอีกครั้ง

โฮเวลล์นำแนวคิดชาตินิยมผิวดำและการเป็นไทที่แท้จริงของคนผิวดำของ Garveyism มาสานต่อ สนับสนุนให้ทุกคนภูมิใจในความเป็นตัวเอง และกระตุ้นจิตสำนึกต่ออิสรภาพ รวมไปถึงปรับแต่งความเชื่อให้เป็นศาสนา เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนยากจนท่ามกลางความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในจาเมกา

สิ่งที่เขาทำคือการสร้างศาสนา โดยรวมความเชื่อของประชาชนและจุดประกายปรากฏการณ์ที่โลกจะไม่มีวันลืม

พระคำภีร์ของคนผิวดำ ‘Holy Piby’

Photo credit: Audible

พื้นฐานความเชื่อและคำสอนของราสตาฟารีมาจาก ‘Holy Piby’ พระคำภีร์ไบเบิลของคนดำที่ถูกเขียนโดย ‘โรเบิร์ต แอธลีย์ โรเจอร์ส’ (Robert Athlyi Rogers) ในปี ค.ศ. 1924 ที่กล่าวว่าประเทศเอธิโอเปียคือแหล่งต้นกำเนิดคนดำ และพวกเขาเป็นกลุ่มมนุษย์ที่ถูกเลือกโดยพระเจ้า โดยมีพื้นฐานมาจากคำสอนศาสนาคริสต์/ยิว (New และ Old Testament) แต่ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนตามหลักปรัชญาของ Garvevyism และวัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวจาเมกา

นอกจาก Holy Piby แล้ว การเคลื่อนไหวของราสตาฟารีนั้นก็ยังใช้หนังสือ ‘The Promised Key’ และ ‘The Royal Parchment Scroll of Black Supremacy’ เป็นหลักธรรมคำสอนหลักเช่นเดียวกัน

Photo credit: Goodreads

หลักคำสอนของราสตาฟารีนั้นก็มีการเชื่อมโยงศาสนาฮินดูอยู่ด้วย เพราะในจาเมกาเองก็มีกลุ่มคนดำเชื้อสายอินเดียรวมอยู่เป็นจำนวนมาก ราสตาฟารีจึงได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูและเหล่าโยคี อย่างเช่นการถือศีล การไว้ผมยาว การใช้บัง (กัญชา) การรับประทานมังสวิรัติ รวมไปถึงการสรรเสริญพระเจ้าอย่าง ‘Jah Ras’Tafari’ ก็มาจากคำว่า ‘Jai’ ในการสรรเสริญพระเจ้าของศาสนาฮินดู 

Ganja, the Tree of Life

Photo credit: NPR

“The herb is the healing of the nations” (Revelation 22:2)

ต้นกัญชานั้นคาดว่าถูกนำจากประเทศอินเดียสู่เกาะจาเมกาในราวปี ค.ศ. 1882 ผ่านการค้าระหว่างอังกฤษ มีการบันทึกว่าถูกนำมาทำเป็นยาหยอด (tinctures) ยาทา (salve) และน้ำมัน (oil) แต่เริ่มการนำช่อดอกมาสูบในช่วงปี ค.ศ. 1919 และมักถูกใช้ในพิธีกรรมนับแต่นั้นมา 

“Thou shalt eat the herb of the field” (Genesis 3:18)

ในทางกลับกัน ชาวราสตาฟารีมองว่าการใช้กัญชาเป็นมากกว่าการสูบเพื่อความมึนเมา แต่ใช้เพื่อให้จิตใจใกล้กับพระเจ้าและเปิดจิตสำนึกสู่สัจธรรมชีวิต มันคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่กัญชามักถูกนำไปเชื่อมโยงกับพิธีกรรมทางจิตวิญญาณในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก

กัญชานั้นเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตราสตาฟารี เพราะพวกเขามองว่ามันเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ (sacrement) และถูกกล่าวในพระคัมภีร์ไว้หลายบทว่ากัญชาคือ ‘ต้นไม้แห่งชีวิต’ (Tree of Life) และการกินมังสวิรัติก็เป็นอีกส่วนสำคัญ เพราะไบเบิลได้กล่าวถึงพืชพรรณธรรมชาติที่พระเจ้าได้มอบให้

Photo credit: Cannabis Culture Magazine

แน่นอนว่าความเชื่อในการใช้กัญชาสำหรับราสตาฟารีนั้นขัดกับมุมมองฝั่งตะวันตกที่ไม่ต้องการให้ยาเสพติดมาเป็นส่วนหนึ่งในสังคม จึงมักจะทำให้ราสตาฟารีพบกับความขัดแย้งในสังคมและรัฐบาลอยู่เสมอ รวมไปถึงการที่กัญชาเป็น cash crop พืชเกษตรชั้นดี และถึงแม้ว่าสถานภาพของกัญชาภายในประเทศจาเมกายังถือเป็นพืชผิดกฎหมายภายใต้ข้อตกลง International Opium Convention ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1913 แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เหล่าราสตาฟารีกลัวกฎหมายหรือเปลี่ยนมุมมองต่อการใช้กัญชาแต่อย่างใด

รวมไปถึงพิธีกรรมสำคัญใน Grounation Day ที่มีการฉลองทุกวันที่ 21 เมษายนของทุกปี เพราะเป็นวันที่เซลาสซีมาเยือนประเทศจาเมกาเมื่อปี ค.ศ. 1966 ซึ่งในวันนั้นจะมีการรับประทานอาหาร สวดมนต์ สูบกัญชา และบูชาพระเจ้าร่วมกัน

(เซลาสซีเยือนประเทศจาเมกา 21 เมษายน ค.ศ. 1966) Photo credit: Rasta Ites

ในพิธีกรรมจะมีกลองเป็นเครื่องดนตรีหลัก โดยสวดมนต์ผ่านจังหวะของ Nyabinghi drumming ส่งจังหวะร้องไปสู่พระเจ้า และส่งต่อไปป์ (chalice) สูบกัญชาเพื่อสรรเสริญและเข้าถึง Jah พวกเขามักกล่าวคำเหล่านี้ก่อนจุดสูบว่า “Glory be to the father and to the maker of creation. As it was in the beginning is now and ever shall be World without end.”

นอกจากการใช้กัญชาแล้ว เอกลักษณ์ของชาวราสตาฟารีที่เห็นได้ชัดก็คือธงอันมีสีเขียว แดง เหลือง โดยสีเขียวคือดินแดนธรรมชาติเขียวชอุ่ม สีแดงคือเลือดเนื้อของบรรพบุรุษ สีเหลืองคือทรัพยากรแร่ธาตุในทวีปแอฟริกา รวมไปถึงสิงโตแห่งยูดาห์ที่เป็นสัญลักษณ์ของเอธิโอเปีย 

Photo credit: Medium

ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ เหล่าคนดำถูกบังคับให้ตัดแต่งผมสั้นตามแบบฉบับความเหมาะสมของสังคมคนผิวขาว การไว้เดรดล็อค (dreadlock) จึงเป็นการแสดงจุดยืนของคนผิวดำ อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความมศักดิ์ศรีของราสตาฟารี และสิ่งชี้วัดถึงระยะเวลาที่คนๆ หนึ่งได้หันมานับถือศาสนานี้

“They shall not make baldness upon their head, neither shall they shave off the corner of their beard, nor make any cuttings in their flesh.” (Leviticus 21:5)

การที่ชาวราสตาฟารีไม่ตัดผมและไม่โกนหนวดนั้นแสดงถึงการละทิ้งทางโลก ไม่ยึดติดกับอุปกรณ์อย่างมีดโกนหรือกรรไกร เพราะถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์จาก Babylon (ดินแดนแห่งวัตถุนิยมและการจองจำของคนผิวขาว)

Rasta Village ‘Pinnacle Commune’ (1932-1954)

ลีโอนาร์ด โฮเวลล์ กลับสู่จาเมกาในปี ค.ศ. 1932 และได้เริ่มออกเทศน์ถึงการกลับมาเกิดของพระเจ้า และการขึ้นครองราชย์ของเซลาสซี ในเวลานั้น ประชาชนชาวจาเมกามีความเป็นอยู่ที่ยากจนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไม่มีตัวเลือกอื่นให้นอกจากงานไร่งานสวน หลังจากการการปลดทาส ชาวนาก็ยังคงไร้อำนาจในการต่อรอง หลายคนต้องอยู่อาศัยในชุมชนแออัดและสลัม แต่อิทธิพลของการขึ้นครองราชย์ของเซลาสซีทำมีผู้ติดตามศาสนานี้มากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดชุมชนราสตาฟารีมากมายทั่วเกาะจาเมกา

(Pinnacle) Photo credit: DSE SHORTS

ในปี ค.ศ. 1940 โฮเวลล์สามารถรวบรวมกลุ่มผู้ติดตามกว่า 5,000 คนให้มาศัยร่วมกันในบริเวณ St. Catherine หรือที่เรียกว่า ‘Pinnacle’ ซึ่งนับเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับชาวราสตาฟารี ด้วยความที่มันปกป้องพวกเขาจากการถูกรัฐควบคุมและต่อต้าน เพราะถึงแม้ว่าราสตาฟารีจะถูกยอมรับเป็นศาสนา ก็มีคนหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับมุมมองของพวกซึ่งขัดกับกฎหมายรัฐฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมา กลุ่มราสตาฟารีโดนบุกทำลายไร่นา มีการแบ่งกั้นพื้นที่รอบเมือง เพราะมีหลายกลุ่มที่ไม่ต้องการรวมสังคมกับเหล่าราสตาฟารี

ที่ Pinnacle พวกเขาอยู่กันอย่างพอเพียง สามารถพึ่งพากันเองโดยการค้าขายแลกเปลี่ยนพืชเกษตร มีการปลูกและขายกัญชาเป็นหลัก รองลงมาก็มีมันสัมปะหลัง ถั่ว และข้าวโพด ซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่าส่วนที่รัฐบาลหยิบยื่นมาให้เสียอีก

การก่อตัวของ Pinnacle ทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพของเหล่าราสตาฟารี แต่ก็ทำให้รัฐบาลไม่พอใจ และเริ่มกลัวถึงแนวคิดที่ให้ความหวังและอาจนำไปสู่การปฏิวัติ รัฐบาลที่ถูกนำโดยกลุ่มอีลีทผิวขาวต่างมองว่าสิ่งที่โฮเวลล์นำมาเผยแพร่มีความต่อต้านโบสถ์และรัฐ จนแม้กระทั่งตัวโฮเวลล์เองก็เคยถูกกล่าวหาว่าสติฟั่นเฟือน และถูกส่งเข้าสถาบันจิตเวชด้วยข้อหาที่เขียนหนังสือ The Promised Key ไปในปี ค.ศ. 1935

Photo credit: OpenEdition Journals

ต่อมารัฐบาลรับรู้ถึงการปลูกกัญชาภายใน Pinnacle จึงสั่งปรับเปลี่ยนกฎหมาย Dangerous Drug Law ในปี ค.ศ. 1941 โดยเพิ่มโทษและข้อหา (ครองครอง ขาย ปลูก และสูบกัญชาถือว่าเป็นโทษทางอาญา) เพื่อควบคุมและจับกุมเหล่าคนผิวดำที่ยากจน 

ท้ายสุดแล้ว ในปี ค.ศ. 1958 ชุมชนราสตาฟาเรียนก็ถูกทำลายและสั่งปิด เพราะรัฐบาลจาเมกาต้องการลบล้างทุกสิ่งที่โฮเวลล์สร้างและประวัติศาสตร์ของราสตาฟารี ทั้งเอกสาร หนังสือ รูปถ่าย จดหมายในหอสมุด Pinnacle ถูกเผาและทำลายจนแทบจะหมดสิ้น 

ถึงแม้ว่าหลักฐานจะถูกทำลายและผู้คนถูกขับไล่ แต่จิตวิญญาณของราสตาฟารีก็ได้ฝังลึกลงไปในจิตใจของผู้คนชาวจาเมกา ราสตาฟาเรียนจาก Pinnacle หลายคนถูกย้ายไปอาศัยในสลัมของ Trenchtown ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของศิลปินที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกนี้ด้วยเสียงเพลงเร็กเก้

ติดตามเนื้อหาตอนต่อไปได้ที่ ‘Music of the Islands อิสรภาพทางเสียงนตรี’

อ้างอิง

  • The First Rasta, Héléne Lee
  • Chanting Down Babylon, Nathaniel Samuel Murrell
  • The Suppression of Leonard Howell in Late Colonial Jamaica, 1932-1954, D.A. Dunkley
  • Rastafari: The Secret History of the Marijuana Religion, Marc Emery
  • We Know Where We Are From: The Politics of Black Culture from Myal to Marley, Sylvia Wynter
  • Reggae, Rastafari, and the Rhetoric of Social Control, Stephen A. King