ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2565 วันที่เป็นเหมือนหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์กัญชาไทย ที่ได้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง กับการประกาศปลดล็อกให้กัญชาได้ออกจากบัญชียาเสพติดของไทย การได้ต่อลมหายใจครั้งนี้ ในแง่มุมของการใช้งานทางการแพทย์ ประวัติศาสตร์ และการศึกษา แต่ในบางแง่มุมก็กลายเป็นลมพิษสำหรับใครหลายๆ คน ที่หยิบเอากัญชามาใช้อย่างไม่ถูกต้อง รู้เท่าไม่ถึงการ หรือแม้แต่ไม่รู้ถึงอันตรายของการใช้งานกัญชาเลยแม้แต่น้อย ทำให้เรามองเห็นถึงช่องโหว่ที่ภาครัฐละเลย ไม่ใส่ใจถึงคุณภาพชีวิตของคนในสังคม
แต่ยังมีคนที่มองเห็น pain point ในจุดนี้ และยังต้องการให้กัญชาสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และถูกใช้อย่างถูกที่ถูกทาง ทำให้คุณ ‘หญิง – ธัญญ์พัธท์ สุวรรณชีพ’ โฮสต์ ของ ‘Ganja 101’ ที่เปิดคลาสสอนวิธีการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง ตั้งแต่วิธีการเลือกใช้ การบริโภค ปริมาณการใช้ให้เหมาะสมในแต่ละคน รวมไปถึงการสร้างภาพลักษณ์แบบใหม่ให้กับกัญชา ผ่านงานดีไซน์ที่ไม่ต้องยึดโยงในแบบเดิมๆ นี่คงจะเป็นอีกหนึ่งทางที่ภาคเอกชนจะได้พยายามสร้างลู่ทางให้กัญชาอยู่ร่วมกับสังคมได้ เฉกเช่นสมุนไพรและพืชชนิดหนึ่ง
แม้ว่าระหว่างทางการเดินเข้าไปภายในบริเวณสถานที่ workshop นั้นอาจจะดูวิเวกวังเวงซักนิดหนึ่ง แต่เมื่อได้ก้าวเข้ามาในห้องแล้วนั้น เหมือนกับเราได้ก้าวเข้าสู่ sanctuary ที่ดูเงียบ สงบ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก พร้อมนั่งลงบนโซฟา bean bag ด้วยความผ่อนคลาย ตามความตั้งใจที่คุณหญิงเตรียมไว้
คุณหญิงได้ไอเดียหรือสไตล์การตกแต่งสถานที่ Workshop มาจากไหน
“มันมาจากการที่เราอยากสร้างภาพจำของกัญชาขึ้นมาใหม่อีกแบบ อยากให้กัญชามีภาพลักษณ์ที่ดูโอเค เราเลยแต่งสถานที่ให้ดูสงบ สว่าง มีแสงแดดเข้ามา บวกกับการที่หญิงทำงานสายออกแบบ ก็เลยออกแบบโปสเตอร์ ภาพตกแต่ง ให้สถานที่มันดูสดใสภายใต้ vibe ของกัญชาด้วย”
“หญิงอยากให้คนใช้กัญชามีภาพลักษณ์ที่ดี เพราะคนที่มาทำ workshop ที่นี่ก็มีหน้าที่การงานที่ดี มันส่วนตัวด้วยแหละ หญิงอยากเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่ง ที่สร้าง Awareness ให้คนที่อยากเริ่มใช้กัญชา ใช้อย่างมีสติ และรู้เท่าถึงการ”
ทำไมถึงเริ่มต้นด้วยการเป็น ‘คาเฟ่กัญญา’
“หญิงก็เริ่มต้นการใช้กัญชาเพราะสันทนาการมาในช่วงแรก หลังๆ มานี้พอเราโตขึ้น ได้ศึกษาเรื่องของกัญชามากขึ้น เราเลยรู้ว่า เออ มันมีประโยชน์ในเชิงของยาด้วยนะ เป็นทั้งยารักษาและเป็นยาเสพติดได้ด้วย มันมีสองด้านที่ทั้งดีและไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันในมุมไหน พอมีโอกาสได้เปิดคาเฟ่ก็เลยเลือกชื่อ ‘กัญญา’ มาใช้”
“ด้วยความที่หญิงก็ใช้กัญชามาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เราก็จะคุ้นชินกับการใช้มัน เพราะฉะนั้นเครื่องดื่มภายในร้านเนี่ย ถ้าจะบอกว่าเหมาะกับมือใหม่ไหม? ก็อาจจะไม่ใช่เสียทีเดียว แต่เหมาะสำหรับคนที่อยากจะลองเชิงอะไรที่มีส่วนผสมของกัญชามากกว่า ชิมภายใต้การดูแลของผู้มีประสบการณ์ โดนเราก็มีเมนูให้เลือกตามความเหมาะสม และชื่นชอบของแต่ละคน”
จากการใช้เพื่อสันทนาการ มาเป็นการทำ Workshop ได้อย่างไร
“พอวันที่กัญชามันเสรีแล้ว หญิงเห็นเลยว่ากัญชาหลั่งไหลออกมาจากไหนก็ไม่รู้เยอะมาก แบบเยอะมากจริงๆ กัญชาเหมือนพืชทั่วไปตรงที่มันก็มีสายพันธุ์ของมัน แต่ละสายพันธุ์ก็ออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน บางอย่างสูบแล้วไปเที่ยวต่อได้ ไปเฟสติวัลต่อได้ บางอย่างสูบแล้วอยู่บ้าน นอนดูหนัง หรือกินแล้วสามารถโฟกัสจดจ่อ ทำงานได้ดี ซึ่งเราเห็นว่าเรื่องแบบนี้ผู้บริโภคต้องทราบ และต้องเลือกให้เหมาะในการใช้งานกับสถานที่ สถานการณ์ ไม่อย่างนั้นมันจะเป็น bad experience ของผู้ใช้เอง เพราะฉะนั้นใน workshop เราจะพูดถึงเรื่องของสันทนาการตามแบบที่ว่ามาในข้างต้น เน้นความปลอดภัย ปริมาณที่เหมาะสม และสายพันธ์ุที่เหมาะกับกิจกรรมที่จะทำ”
“จุดประสงค์หลักของ workshop คือการให้ความรู้ว่าใช้อย่างไรให้ปลอดภัย อันนี้คือหัวใจเลย แล้วหญิงอยากสร้างให้คอมมูนิตี้ของคนใช้กัญชาหน้าใหม่มีความตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้ ทำให้สังคมกัญชาน่าอยู่ น่าเชิญชวนให้คนอื่นเข้ามาร่วมด้วย แบบไม่เคอะเขิน และไม่ต้องอ้อมแอ้มเวลาบอกใครว่าใช้กัญชา หญิงว่าการจะสร้างความเชื่อมันต่อสังคมแบบนี้ต้องใช้ความรับผิดชอบร่วมกันของคนในสังคมกัญชาด้วย”
อยากให้คุณหญิงเล่า Journey ใน Workshop ‘Ganja 101’ ให้เราฟังหน่อย
“ระยะเวลาจะอยู่ที่ประมาณ 3 ชั่วโมง เริ่มแรกเราจะอธิบายเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นของกัญชาทั้งหมด สิ่งที่ผู้บริโภคพึงจะรู้ ส่วนไหนบริโภคอย่างไร เอาส่วนนี้ไปทำอะไรได้ เรียนอนาโตมี่ของกัญชา ฟอร์มต่างๆ ของกัญชาในรูปแบบที่เราจะบริโภคเข้าไป อุปกรณ์เราใช้อะไรบ้าง มือใหม่ควรจะใช้แบบไหน แล้วก็คุณภาพของกัญชา จากนั้นก็จะมีการให้ทดลองใช้ ทดลองสูบ แต่มันก็จะมีกิมมิคบางอย่างที่เล่าตรงนี้ไม่ได้ ก็อยากให้มาลองดูกัน”
“หลักๆ หญิงจะพยายามให้ทุกคนในเซสชั่นมีปฏิสัมพันธ์กัน ใครมือใหม่ ใครเคยมีประสบการณ์ไม่ดี ใครเคยลองแล้วเป็นยังไง พยายามให้ทุกคนแชร์มันออกมา เราพยายามสร้างบรรยากาศให้มัน Comfortable ที่สุด พอทุกคนไม่มีมาด ไม่มีกำแพงแล้ว ตัวตนของแต่ละคนก็จะเปิดออก ก็จะเริ่มกล้าสูบ กล้าพูดคุย หญิงก็จะปล่อยให้เขานั่งคุยกันเอง ผูกมิตรกันเอง โดยทั้งหมดอยู่ในสายตาของเรา และเรามีพยาบาลที่คอยดูแลทุกคนอยู่ด้วย ความปลอดภัยคือมั่นใจได้”
“อีกอย่างที่หญิงเล่าไปตอนต้นคือบรรยากาศ เราควบคุมบรรยากาศทั้งหมดให้มันมีความเป็นส่วนตัว อบอุ่น สว่าง โปร่งๆ ไม่ได้ดูอุดอู้ สังเกตได้ว่าโทนการตกแต่งจะเป็นสีครีม เขียว ปล่อยให้แสงแดดเข้าถึง สถานที่ค่อนข้างมิดชิด มัน make sure ได้ว่าจะไม่มีใครก็ไม่รู้เดินมาเปิดประตู แล้วเห็นพวกคุณกำลังลองสูบกัญชากันอยู่แน่นอน”
นอกจากคนที่สนใจกัญชาแล้ว Ganja 101 มีเป้าหมายเป็นใครอีกไหม
“ตอนนี้ที่ดูไว้มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกจะเป็นคนที่ชอบทำ Workshop ชอบทำอะไรก็ได้ที่เป็น workshop ปั้นดิน ปักพรม ทำเทียน อบขนม กินกาแฟ ของเราก็เป็นกัญชา กลุ่มนี้เขาจะหากิจกรรมทำไปเรื่อยๆ พวกนี้เขาทำเป็นไลฟ์สไตล์กันเลย เราก็ได้ฟีดแบคกลับมาบ้างจากกลุ่มนี้ ก็ค่อนข้างแฮปปี้กัน ได้ลองอะไรใหม่ๆ ได้เห็นมุมใหม่ๆ ของกัญชา หลายคนก็มีเปิดบริสุทธิ์ครั้งแรกกับกัญชาที่นี่ (หัวเราะ)”
“อีกกลุ่มที่สนใจคือ กลุ่มผู้ปกครองเขาจะเหมาเซสชั่นมาเลย แล้วเอาเพื่อนๆ หรือลูกของเพื่อนๆ มาจอยกัน แล้วทำความรู้จักกับกัญชา เพราะถ้าจะให้ผู้ปกครองมาสอนเรื่องกัญชากับลูกเองก็ดูกระอักกระอ่วน ด้วยความเป็นสังคมไทยด้วย มันก็เป็นเรื่องยาก จะให้พ่อแม่มาบอกลูกก็ไม่ฟังแล้วหนึ่ง ฟังแล้วเด็กมานั่งคิดทำไมพ่อแม่รู้ล่ะ แอบใช้มาก่อนเหรอ (หัวเราะ) เพราะงั้นเรารับหน้าที่นั้นเองดีกว่า
อีกอย่างที่สนใจเกี่ยวกับกลุ่มนี้คือเราอยากให้ความรู้กับเยาวชนด้วย เพราะทุกวันนี้กัญชาหาซื้อง่ายมาก และร้านค้าต่างๆ หญิงเลยอยากให้ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ตัวเด็กๆ เอง ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ มันอาจจะไม่ใช่การสั่งมาทารเอง แต่ถ้าวันหนึ่งไปสังสรรค์แล้วเพื่อนหยิบให้ทาง ก็อยากให้เด็กๆ เยาวชน รู้และเข้าใจปริมาณการกินเข้าไป เพราะการเลยป้ายก็เป็นความเสี่ยงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น”
อนาคตของการทำ Workshop ที่ตั้งใจไว้
“เราไม่ได้วางตัวเองเป็นผู้รู้หรือกูรูอะไรขนาดนั้น เราก็ต้องหาข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ พัฒนาหลักสูตรให้มันน่าสนใจ ให้คนที่เคยมาเขาอยากมาอีก แล้วก็อยากเข้าไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนอื่นๆ ยกระดับการใช้กัญชาให้มันเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย อย่างที่หญิงบอกเลย เราสูบกัญชา แต่เราสูบแบบมีสติ มันเอาไปต่อยอดอะไรได้อีกเยอะมาก ไปร่วมกับฝั่งดีไซน์ ฝั่งศิลปิน ทำงานร่วมกัน ก็น่าจะเป็นภาพที่ดีขึ้นสำหรับสังคมกัญชาไทย”
ปัญหาระหว่างการทำเซสชั่นมีอะไรบ้าง
“เอาจริงๆ เลยนะ ตอนนี้หญิงนำโปรเจกต์อยู่คนเดียว ก็จะได้เพื่อนๆ มาช่วยบ้าง สต๊าฟแบบที่เราต้องการมันอาจจะค่อนข้างหายากนิดนึง เพราะหญิงเน้นให้ความรู้เบื้องต้น มันเลยต้องมีหลายส่วนในคลาส การให้ความรู้ การทดลองครั้งแรก การสังเกตอาการ ของแต่ละคน เราเลยต้องการคนที่มีทักษะค่อนข้างรอบตัว มันก็จะหายากนิดหนึ่ง”
ท้ายที่สุดนี้ EQ หวังว่า ใครที่สนใจในกัญชา ไม่จำเป็นว่าจะต้องสนใจในการสูบ การบริโภค แต่อยากทำความรู้จักกับกัญชาให้มากขึ้น มีความเข้าใจในวัฒนธรรมและเปิดประตูของโลกกัญชาให้กว้างขึ้น Ganja 101 น่าจะเป็นคำตอบสำหรับคุณ และอยากให้รอติดตามกันว่า ทาง EQ จะมีโปรเจกต์อะไรมัน(ส์)ๆ กับทาง Ganja 101 เพราะเราไม่อยากให้คุณพลาด
ติดตาม workshop ‘Ganja 101’ ได้ที่
Facebook: ร้านกาแฟ กัญญา คาเฟ่ : Ganja Café
Instagram: ganjacafebangkok