Pyra: Please Stop Fetishizing Asian Bodies (Thank You!)

เรือนร่างของชาวเอเชีย โดยเฉพาะผู้หญิง มักถูกบันทึกและผลิตซ้ำผ่านมุมมองของเจ้าอาณานิคมผิวขาว แบบกระท่อนกระแท่น ว่าเป็นสิ่งที่น่าหลงไหลจากดินแดนไกลโพ้น จากยุคล่าอาณานิคมมาสู่ยุคสงครามเย็น หญิงชาวเอเชียก็ยังถูกผลิตซ้ำผ่านภาพยนตร์ที่มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ ในฐานะของหญิงขายบริการ หรือหญิงสาวที่ไม่มีความคิด ไม่มีสิทธิ์เสียง จนส่งผลให้เป็นภาพจำระยะยาวมาถึงปัจจุบัน

“Tell me one more time how you love us
Ask me 'bout the price, tell you how much
Don't have to tell your favourite color
Bet you think we're all made in China”

นี่คือบางส่วนของเนื้อเพลง Yellow Fever ของ PYRA ศิลปินไทย ที่จัดจ้านด้วยสไตล์แฟชั่นหลุดโลก แต่นั่นยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของความคิดอ่านอันแหลมคมของเธอ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเพลงอย่าง Plastic World ที่วิพากย์สังคมวัตถุนิยม หรือเพลงที่พูดถึงโลกหลังอารยธรรมมนุษย์อย่าง Dystopia ครั้งนี้เธอปล่อยซิงเกิ้ลล่าสุด อย่าง Yellow Fever ที่เป็นการระเบิดความอัดอั้นของการถูกมองเป็นวัตถุทางเพศผ่านสายตาของชาวต่างชาติ

“Are you a ladyboy?”

Pyra เล่าถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง Yellow Fever ไว้ด้วยอารมณ์คุกรุ่นว่า

“คือมีเพื่อนที่เป็นฝรั่งที่เราเจอที่จีน เขาจะมาเที่ยวไทย พอเขาบินมาถึงเราก็นัดเจอเขา พอมาถึง ทั้งที่เป็นเพื่อนกัน เขากลับเล่นมุขที่โคตรแย่กับเรา โดนเขาถามว่า “อ้อเป็นคนไทยงั้นคุณเป็นเลดี้บอยหรือเปล่า” เราก็แบบ ห๊ะ? เดี๋ยวนะ เพราะว่านี่คือชื่อเสียงของประเทศเรา มันแปลว่าผู้หญิงไทยทุกคนต้องเป็นกะเทยอย่างนั้นเหรอ”

“ทำไมมันถึงกลายเป็นเรื่องตลกที่ล้ำเส้นได้ขนาดนี้ ทั้งที่การเป็นเลดี้บอยนี่มันผิดตรงไหน ก็เลยรู้สึก What the fuck มาก เก็บไว้มาระเบิดกับเพลงนี้ค่ะ ฮ่าๆ”

ไม่ต้องยิ้มสู้ก็ได้

นอกจาก Pyra เองแล้ว ในซิงเกิ้ลนี้เธอยังร่วมมือกับ Ramen Girl ซึ่งเป็นแร็ปเปอร์อันดับต้นๆ ของอินโดนิเซียอยู่ตอนนี้ และศิลปินญี่ปุ่น Yayoi Diamond ที่เธอจำกัดความตัวเองว่าเป็นศิลปินเฟมินิสต์ญี่ปุ่น ทั้งสามสาวร่วมกันแชร์ประสบการณ์ของการเป็นผู้หญิงเอเชียลงในเพลงนี้

“เชื่อว่าผู้หญิงเอเชียทุกคนต้องโดนอะไรแบบนี้โดยฝรั่งกันมาบ้าง ฉันโดนแตะเนื้อต้องตัวก็ต้องยิ้มสู้ ซึ่งแบบ เฮ้ย คุณไม่ต้องยิ้มสู้ คุณหันไปด่าได้เลย เพราะว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ถูกต้อง ถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมามันก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ”

Welcome to my territory

https://www.youtube.com/watch?v=3aQHDdE5HTs

ในเอ็มวีเหมือนเราเป็นทัวร์ไกด์ พาฝรั่งมาเที่ยว แล้วก็โดนลวนลามโดยการจับตูดค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเคยโดนจริงๆ ในวงการนี้แหละ ตอนนั้นเราก็ต้องทำเป็นขำไป แล้วก็เพิ่งมานึกได้ว่าเราควรชี้หน้ามันแล้วถามว่าทำอะไรอยู่ กลับมาที่เอ็มวีค่ะ เรามาพามาทัวร์ที่ที่ดูเหมือนย่านโคมแดง แต่จริงๆ  แล้ว กลับกลายเป็นว่าเราเป็นเจ้าของกิจการนี้ เพื่อแสดงว่าผู้หญิงมีพลัง We don’t belong in the kitchen เราเป็นซีอีโอ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นอะไรที่ผู้ชายเป็นได้

“คำว่า Feminism มันมีขึ้นเพราะมันความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด ถ้าคุณสนับสนุนความเท่าเทียมคุณจะก็จะกลายเป็นเฟมินิสต์ไปโดยอัตโนมัติ” 

แล้วคนไทย มี Fetish แบบเดียวกันกับฝรั่งหรือเปล่า?

“เราต้องแยกแยะคำว่า Fetish ออกไปก่อนค่ะ เราชอบผู้หญิงเอเชียได้ เราชอบผู้ชายผิวขาวได้ แต่การทำให้บางอย่างมันเป็น Fetish แบบที่ไพร่าพูดถึง มันคือการอยากไปญี่ปุ่นเพื่อที่จะไปฟัคผู้หญิงที่ใส่ชุดคอสเพลย์ หรือไปฟัคสาวเอวีญี่ปุ่น หรือมาไทยเพื่อที่จะมาดูปิงปองโชว์ที่ซอยคาวบอย นี่คือ Fetish ค่ะ ในโลกนี้คุณจะรักใครก็ได้อยู่แล้ว เราจะมีความชอบทางเพศยังไงก็ได้ แต่มันต้องไม่ไปล่วงล้ำสิทธิของคนอื่น”  

เรื่องบางเรื่องที่ศิลปินหญิงต้องเจอ 

ไม่ว่าจะอเมริกา ยุโรป หรือเอเชีย ก็ต่างเจอปัญหาเดียวกัน โดยที่มันมีความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ โปรดิวเซอร์ผู้หญิงมีแค่ 2 เปอร์เซ็นในโลก แค่สัดส่วนก็น้อยมาก โดยเฉพาะฝั่งอเมริกา ยุโรป ศิลปินผู้หญิงโดนลวนลามเยอะกว่าอีก We must fix this.

“ส่วนตัวเราเองก็เคยโดนโปรโมเตอร์มาเต๊าะไรเงี้ย ทุกคนก็ควรจะออกไปพูดถึงสิ่งนี้ด้วยกัน คุณจองคิวศิลปินผู้หญิงมา ไม่ใช่ว่าคุณอยากจะไปจีบเขา you book an artist because of the music not because you want to fuck them ซึ่งอันเนี่ยมันเป็นปัญหาที่ไปที่ไหนก็จะเจอ แต่เราอาจจะน้อยหน่อยเพราะเราไม่ได้มีลุ๊คน่ารักเรียบร้อยแบบผู้หญิงเอเชียเป็นกัน ซึ่งก็รู้สึกดีใจที่เราได้พูดไป”

“หวังว่า Yellow Fever พอปล่อยออกไปแล้ว มันช่วยให้เราไม่ต้องเจอปัญหานี้อีก"

ติดตามฟังเพลงและผลงานของ Pyra ได้ที่ OnlyPyra