Art

Con-Whal-Sation: บทสนทนาของ Whal & Dolph จากวันวานสู่วันที่วาฬประสบความสำเร็จ

“ผมอยากให้ Whal & Dolph เป็นภาพถ่ายของพวกเราในแต่ละปี เหมือนการบันทึกภาพไว้ในแต่ละช่วงเวลาว่าเราเป็นแบบนี้ เพลงที่ออกมาก็จะเป็นไปตามสิ่งที่เราคิด Whal & Dolph คืออะไรก็ได้ที่รู้สึกอยู่ ณ ตอนนั้น เป็นสิ่งที่ผม และน้ำวนกำลังสนใจ ในอีก 3 ปีข้างหน้าเราอาจจะกลายเป็นวงดนตรีแนวอื่นก็ได้ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปตามอายุ และการใช้ชีวิตของเรา” – ปอ 

ส่วนหนึ่งของคำตอบข้างบนอาจทำให้ใครหลายคนพอจะเดาได้ว่า การสนทนาในครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับการเติบโต และการเปลี่ยนผ่านของวงดนตรีที่มีชื่อว่า ‘Whal & Dolph’ ซึ่งแฟนเพลงจำนวนไม่น้อยขนานนามว่าเป็น ‘วงของคนใจร้าย’ ที่ชอบปล่อยเพลงขมๆ คลอเคล้ากับดนตรีแสนหวานมาเรียกน้ำตาคนฟังอยู่เสมอ วันนี้ EQ จึงถือโอกาสชวน ‘ปอ’ – กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ (ร้องนำ) และ ‘น้ำวน’ – วนนท์ กุลวรรธไพสิฐ (กีตาร์) มาดำดิ่งในจักรวาฬ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในระหว่างทางของการเป็นวงดนตรี ที่กว่าจะประสบความสำเร็จ ต้องผ่านทั้งช่วงเวลาที่สับสน ว่างเปล่า และเฝ้ารอวันที่จะได้กลับมาเล่นดนตรีอย่างมีความสุข รวมถึงทิ้งท้ายด้วยการชวนคุยเกี่ยวกับซิงเกิลใหม่ล่าสุด ‘ไม่เจอตั้งนาน’ เพลงจังหวะคึกคักที่มีฟังก์ชันเพื่อการทักทาย แต่ยังคงเอกลักษณ์ของวงที่เจือปนความรู้สึกเศร้าไว้ภายในบทเพลงได้อย่างลงตัว 

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายดนตรี

น้ำวน: ผมเริ่มเล่นดนตรีช่วง ม.5 ตอนนั้นเล่นกีตาร์ แต่ไม่ได้จริงจังมาก พอดีที่โรงเรียนมีงานประกวดดนตรี ผมเห็นเพื่อนเล่นกันดูเท่ดี เลยอยากเล่นบ้าง พอเริ่มเล่นไปสักพักก็รู้สึกว่า เราชอบสิ่งนี้แล้วล่ะ เลยไปเรียนต่อทางด้านดนตรีช่วงมหาวิทยาลัย แล้วก็ได้เจอกับคุณปอนี่แหละครับ แต่ตอนนั้นเรียนคนละที่กัน อยู่คนละวงด้วย บังเอิญเพื่อนผมอยู่วงเดียวกับปอ เลยมีโอกาสได้มาเจอกัน 

ปอ: ผมจำได้ว่าเริ่มจับดนตรีแรกๆ น่าจะตอนเด็กเลย ช่วงนั้นพ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยง เพราะต้องออกไปทำงาน เลยส่งไปอยู่บ้านคุณยายคนหนึ่งที่รับเลี้ยงเด็ก เหมือนบ้านเขาเป็นโรงเรียนอะไรสักอย่าง แล้วลูกชายคนโตของยายเป็นนักดนตรี เขาก็จะเล่นกีตาร์ จำได้ว่าเขาเป็นนักแต่งเพลงด้วย แล้วก็ได้รู้ว่าเขาทำงานอยู่ที่ RS ในบ้านเขาจะมีแผ่นเสียง เทป มีฮาร์โมนิกาที่ชอบเอามาเป่าเล่น แล้วเรารู้สึกว่า ชอบเสียงนี้เลยพยายามคลานตามหา อันนั้นน่าจะเป็นความอยากเล่นดนตรีครั้งแรก แต่มาเล่นจริงประมาณ ป.4 เริ่มจากเข้าวงโยทวาธิตแล้วก็ได้เล่นทรัมเป็ต ต่อมาก็เริ่มเล่นกีตาร์ เริ่มฝึกร้องเพลงช่วง ม.3 - 4 เพลงแรกที่เล่นในงานโรงเรียนคือเพลง ‘ทุกอย่าง’ ของ SCRUBB

จากนักร้องคัฟเวอร์สู่การเป็น Whal & Dolph

ปอ: ผมเรียนนิเทศฯ ม.กรุงเทพ จำได้ว่าตอนเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อนในกลุ่มไม่ค่อยมีใครเล่นดนตรี แต่เราอยากเป็นศิลปิน อยากทำเพลง ก็ต้องไปหาเพื่อนนอกมหาวิทยาลัย เลยไปเจอพวกน้ำวนที่เรียนศิลปากร 

น้ำวน: คนรอบตัวเราค่อนข้างคาบเกี่ยวกันครับ เพื่อนผมเป็นเพื่อนปอตอนมัธยม

ปอ: ต้องบอกก่อนว่า การทำเพลงในยุคนั้นไม่สามารถทำให้จบที่บ้านได้ เราไม่ได้มีโฮมสตูดิโอเรคคอร์ดแบบทุกวันนี้ พวกอุปกรณ์การอัด หรือเทคโนโลยีต่างๆ ก็เริ่มมีเยอะแล้วแหละ แต่ประเทศเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น 

น้ำวน: พูดง่ายๆ ว่าการเข้าถึงมันยากกว่าสมัยนี้เยอะครับ

ปอ: ใช่ เลยทำออกมาแค่พอฟังได้ จนถึงช่วงเรียนจบ ได้เจอชีวิตจริง ต้องออกไปทำงาน วงน้ำวนก็มีคนย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด วงของปอคนหนึ่งก็ต้องไปทำงานเป็นวิศวะ คนหนึ่งไปเป็นครู เวลาในการทำตามความฝันของตัวเองก็น้อยลงจนห่างหายกันไป สุดท้ายก็ต้องหยุดความฝันนั้นไว้ กระทั่งผมทำงานประจำเป็นนักตัดต่อวิดีโออยู่บริษัท RS พอดีน้ำวนอยู่แถวบ้านเลยชวนน้ำวนมาช่วยงาน ในระหว่างนั้นพอเรามีความฝันมันก็หยุดไม่ได้ เลยคุยกับน้ำวนว่า ทำเพลงกันไหม เพลงที่ไม่เคยทำ เพลงที่จะเปลี่ยนชีวิตเราได้ เพลงที่คนอื่นฟังแล้วจะเข้าใจสิ่งที่เราอยากสื่อสารออกไป ก็มาจบที่ลองมาทำเพลงป๊อปกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยทำเลย ความคิดนี้เกิดจากการที่เราเคยไปเล่นคัฟเวอร์ตามงานทรีบิวต์วงดนตรีต่างประเทศ ตอนนั้นร้าน Play Yard จัดงานทรีบิวต์ของ Oasis เราก็ไปเล่น พอขึ้นโน้ตแรกมา เห็นคนร้องตามได้ ตอนนั้นขนลุกมาก เลยคิดว่า ถ้าวันหนึ่งได้เล่นเพลงตัวเองแล้วคนร้องตามได้แบบนี้ จะมีความสุขแค่ไหน ก็เลยอยากลองทำเพลงที่คนฟังแล้วน่าจะเข้าใจสิ่งที่เราสื่อสาร นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ Whal & Dolph

'ยิ้ม' ซิงเกิ้ลแรก ก่อนเป็นนักร้องเต็มตัว

น้ำวน: ผมทำเพลงแรกด้วยกันคือเพลง ‘ยิ้ม’ ตอนนั้นมีกลุ่มในเฟสบุ๊กที่อยู่กันสองคนเพื่อเอาไว้ลงเพลง ทีนี้เพลงไม่สามารถอัปโหลดเป็นไฟล์เสียงได้ ก็ต้องอัปฯ เป็นวิดีโอ ผมเลยเอารูปปลามาใส่ในคลิป เพราะเห็นว่าเหมาะกับเพลงที่ทำ บวกกับก็ไม่รู้จะใส่รูปอะไร ก็เลยเอารูปวาฬกับโลมานี่แหละ แล้วก็ดัดจากสิ่งนั้นกลายมาเป็นชื่อวง ‘Whal & Dolph’ ซึ่งช่วงแรกไม่ได้วางแผนระยะยาวกันเลย คิดแค่ว่าทำให้สำเร็จสักหนึ่งเพลงก่อน พอเริ่มสนุกค่อยทำเพลงต่อไป แต่ตัดภาพมาตอนนี้วางแผนกันทุกเม็ดเลยครับ

ปอ: ผมว่าเราเป็นวงที่ตามใจตัวเองเหมือนกัน ในมุมหนึ่งก็อยากให้วงดำเนินไปได้เรื่อยๆ ต้องยอมรับว่า วงดนตรีที่จะหากินได้ก็ต้องประสบความสำเร็จ ต้องมีเพลงฮิต แต่วงเราไม่ได้จะเอาแค่ความฮิต ไม่ได้ยึดว่า ช่วงนี้คนนิยมฟังเพลงแบบนี้แล้วต้องทำเพลงแนวนี้ออกมา เราอยากให้เพลงฮิตแหละ แต่ฮิตในแบบที่เราเป็น อยากให้ปังจากสิ่งที่คิดขึ้นมาเอง 

“เราอยากเป็นศิลปินที่สร้างสิ่งใหม่ การเป็นศิลปินในมุมมองของเราคือ การสร้างสิ่งที่คิดอยู่ในหัว สื่อสารเสียงที่ได้ยินในใจออกมาสู่คนฟัง แล้ววันหนึ่งถ้าสิ่งเหล่านั้นกลายเป็นที่นิยม เราก็จะเป็นผู้นำเทรนด์” – ปอ

เนื้อร้องที่ไม่เคยถูกแก้ไข และการไว้ใจรสนิยมของเพื่อน

น้ำวน: ตั้งแต่ทำมารู้สึกว่า ไม่มีเพลงไหนง่ายเลย ถ้าในเรื่องขั้นตอนผมว่าเพลง ‘ไม่รู้ทำไม’ ก็ยากนะ จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ แต่จำได้ว่าคิดกันนานมาก กว่าจะสำเร็จขึ้นมา เอาจริงๆ ทุกเพลงยากหมด แค่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพลงนี้ยากแบบหนึ่ง อีกเพลงก็ยากอีกแบบ 

ปอ: เพลงยิ้มก็ยากครับ ใช้เวลาทำนานมาก เพลงส่วนใหญ่จะเป็นรายละเอียดดนตรีที่ยาก

น้ำวน: ถ้าถามถึงเพลงที่ชอบตอนนี้ผมชอบเพลงใหม่นะ หลายอย่างเป็นทางใหม่สำหรับ Whal & Dolph ไลน์กีตาร์ที่พวกผมคิดกัน เมโลดี้ที่ปอแต่ง ผมว่าค่อนข้างสนุก แล้วพอเอาไปเล่นก็ดีครับ 

ปอ: เพลงของเราทั้งหมด เวลาแต่งเนื้อร้องออกมาผมตั้งใจมาก อยากให้ทุกอย่างเป็นมาสเตอร์พีซ ณ ตอนนั้น พอเสร็จแล้วจะได้ไม่เสียใจทีหลัง ตอนนี้น่าจะมี 30 กว่าเพลงแล้ว อยากบอกว่า เนื้อเพลงทุกคำที่เขียนไม่มีใครมาแก้ของผมนะครับ ถ้าเพลงทั้งหมดเป็นหนังสือ 1 เล่ม ทุกคำที่เห็นในนั้นไม่เคยมีใครมาเปลี่ยนเลย เป็นคำของผมทั้งหมด ผมเลยชอบทุกเพลงที่ทำ แต่ถ้าจะให้เลือกหนึ่งเพลงที่รู้สึกว่าเกินความคาดหมาย ก็จะมีเพลง ‘ฉันยังเก็บไว้’ เพลงนี้ตอนแต่งเรามองมุมหนึ่ง แต่พอปล่อยออกมาคนเอาไปตีความแล้วสร้างความหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าที่คิด เลยรู้สึกภูมิใจกับมัน

น้ำวน: ตั้งแต่ทำงานด้วยกันมา แทบไม่มีช่วงที่คิดไม่ตรงกันเลยครับ ยิ่งเรื่องเนื้อเพลงยิ่งไม่มีเลย เพราะให้ปอทำเต็มที่

ปอ: เรื่องทำดนตรีก็มีนิดหน่อยแต่น้อยมาก น่าจะเพราะเราเติบโตมาด้วยกัน

น้ำวน: ผมกับปอไม่ได้มีความคิดซ้ายกับขวาไปเลย แค่อาจจะมีบางความคิดที่ไม่ได้แมทช์กัน 100% บางอย่างที่ปอทำผมอาจจะไม่ได้ชอบทั้งหมด แต่ถ้าเห็นว่าเขาภูมิใจนำเสนอ เราก็โอเค ผมคิดว่าปอก็น่าจะเหมือนกัน อาจจะไม่ได้ชอบสิ่งที่ผมทำทั้งหมด แต่พอเห็นว่าเป็นความชอบของอีกคน เราก็…ได้ดิ ลองเลย

ปอ: อาจจะมีช่วงแรกๆ ที่น้ำวนบอกว่าอยากทำเพลงแนวนี้ ผมก็จะรู้สึกติดอยู่บ้าง ก็ถามเลยว่า น้ำวนชอบจริงๆ หรือเปล่า ถ้าชอบจริงก็ลุยกัน แล้วพอผ่านเวลาไปเริ่มรู้สึกว่า เออ เราก็ชอบนะ นี่คือผลจากการไว้ใจเทสต์ของเพื่อน 

น้ำวน: บางอย่างอาจจะไม่ได้เก็ทกันในตอนแรก แต่สุดท้ายแล้วมันออกมาดีครับ

ปอ: ผมว่าเจ๋งนะ การไว้ใจเพื่อนโดยที่ไม่เอาความคิดของเราไปยัดใส่เขาว่า มันยังไม่เจ๋งตรงไหน

วงดนตรีของคนใจร้ายที่ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง

ปอ: ไม่รู้เหมือนกันว่าแฟนเพลงชอบอะไรในตัวเรา (หัวเราะ) สำหรับผม Whal & Dolph คือกีตาร์แบนด์ที่มีลักษณะเฉพาะ มีสำเนียงที่คนจำได้ ด้วยเนื้อเรื่องของเพลง ความเป็นเราสองคนที่มีลักษณะเฉพาะอยู่แล้วด้วยมั้ง ไม่ว่าจะสร้างเพลงไหนออกมาก็จะมีตัวตนของเราอยู่ในนั้น แต่ถ้าให้พูดรวมๆ ผมว่าแฟนเพลงชอบที่พวกเราเป็นคนธรรมดานี่แหละ Whal & Dolph คือ คนธรรมดาที่เป็นเหมือนเพื่อน มาดูพวกเราก็เหมือนดูเพื่อนเล่นดนตรี แค่เราอาจจะเป็นคนธรรมดาที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขา บางคนเห็นเราแล้วอาจจะรู้สึกว่า สองคนนี้ทำได้ เขาก็คงทำได้เหมือนกัน ที่จริงต้องบอกว่า เราเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน ผมคิดว่าแฟนเพลงที่มาดูคงได้รับอะไรบางอย่างกลับไปเหมือนที่ผมได้รับมาจากพวกเขา 

น้ำวน: เขาคงชอบมาดูพวกผมเล่นกีตาร์ด้วยมั้งครับ ชอบเสียงปอร้อง แต่ผมว่าเขาชอบเพลงวงเราแหละถึงมาฟัง

ปอ: ถ้ามีคนมาบอกว่าเพลงเราใจร้ายก็เป็นเรื่องดีนะ แปลว่า เขาเห็นเอกลักษณ์ของเรื่องที่เราเล่า หลายเรื่องในเพลงอาจจะดูใจร้าย แต่ผมรู้สึกว่า มันแฟร์ที่จะเขียนเรื่องพวกนี้ออกไป เราไม่ได้เฟคกับสิ่งที่ถ่ายทอดว่า ฉันเป็นคนดีทุกอย่าง บางสถานการณ์ บางความรู้สึกก็เกิดขึ้นในชีวิตพวกเรา แล้วผมคิดว่าเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปด้วย บางเรื่องคนฟังแล้วอาจจะกระทบจิตใจ เลยรู้สึกว่าเพลงใจร้ายจัง แต่ความใจร้ายนั้นก็เป็นความจริงที่พบเห็นได้ เพียงแค่คุณจะเล่าออกมารึเปล่า หรือคุณจะเงียบ เราก็แค่เลือกที่จะเล่าเรื่องเหล่านี้ให้คนฟัง

น้ำวน: บางคนก็อาจจะต้องใช้เวลาถึงจะเข้าใจมุมมอง หรือสิ่งที่ปอถ่ายทอด

ปอ: ผมเข้าไปดูฟีดแบ็กนะ อย่าง MV เพลง ‘ไม่รู้ทำไม’ มีคนบอกว่า 3 ปีที่แล้ว ฟังแล้วรู้สึกว่า เพลงนี้ใจร้ายจัง แต่ปีนี้ฉันกลายเป็นคนคนนั้นแล้ว 

“เหมือนเขาเริ่มเข้าใจความรู้สึกนั้น แล้วก็เข้าใจว่า สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้จริง บางคนเจอเรื่องที่หนักกว่าที่ปอเขียนอีกครับ ผมว่าบางทีชีวิตจริงโหดร้ายกว่าเพลงที่ปอแต่งอีกนะ” – น้ำวน

สุขและทุกข์กับช่วงเวลาที่มีความหมาย

ปอ: ความสุขของพวกเราคือ การได้ออกไปเล่นดนตรี การที่ยังมีงานให้เล่น ยังมีคนฟังอยากฟังเพลงของเรา การได้ปล่อยเพลง ได้ทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับกิจกรรมของวง นั่นแหละเป็นความสุขของพวกผม

น้ำวน: ตั้งแต่หมดโควิดแล้วได้กลับมาเล่นดนตรี เหมือนกลับมามีชีวิตเลยครับ ทำวงมา 3-4 ปี อยู่ดีๆ เจอโควิดแล้วไม่ได้เล่นดนตรีก็เหมือนคนตกงาน ทุกอย่างนิ่งจนถามตัวเองว่า ชีวิตเราทำอะไรอยู่ แต่ก็มีความหวังว่าจะได้กลับไป พองานแรกที่ได้กลับไปเล่น มันดีกว่าที่คิดอีกครับ คิดไว้ว่าคงมีความสุขแหละ แต่เอาจริงผมมีความสุขกว่าที่คิดไว้มากๆ

ปอ: ช่วงที่สับสนก็มีอยู่แล้วครับ ผมไม่รู้น้ำวนเป็นหรือเปล่าแต่ผมเป็นนะ ช่วงปี 2019 ที่งานเยอะๆ บางครั้งผมรู้สึกไม่อยากออกไปเล่นคอนเสิร์ต เหมือนเราแบกความคาดหวังของสิ่งต่างๆ ไว้ ความคาดหวังของคนที่จ้างเรา ความคาดหวังของแฟนเพลง เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนไฮป์วงมาก ช่วงที่ปล่อยเพลงไม่รู้ทำไม เพลงใจสลาย บางทีก็คิดว่าถ้าร้านจ้างไปแล้วเราเล่นไม่ดีจะเป็นยังไง ก็เลยสับสนในตัวเอง พอต่อด้วยโควิดก็สับสนหนักเลย นี่เราทำอะไรอยู่ อยู่แต่บ้าน ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้เล่นดนตรี ไม่ได้สร้างผลงาน แต่พอได้กลับมาเล่นดนตรีหลายอย่างก็ดีขึ้น ตอนนี้ผ่านมาประมาณสองปีก็เริ่มเข้าใจ เพราะโตขึ้นด้วยมั้งถึงได้รู้ว่าจริงๆ ไม่มีอะไรเลย แค่มีความสุขกับการทำงาน ทำเพลงที่ชอบ ออกไปเล่นเพลงที่เราแต่ง ไปเล่นกับเพื่อน ไปเจอแฟนเพลงที่อยากฟังเพลง ผมไม่สนแล้วว่าคนที่มาฟังจะมากน้อยแค่ไหน ขอแค่คนฟังมีความสุขกับการที่เรายืนอยู่ตรงนั้นผมก็มีความสุขแล้ว

น้ำวน: แต่ละงานจะมีความประทับใจที่ไม่เหมือนกัน ผมว่างานที่ดีขึ้นอยู่กับใครมาดูมากกว่า ถ้าคนฟังตั้งใจมาดูแล้วเอนจอยกับโชว์จริงๆ ผมเล่นที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ อาจจะเป็นสถานที่ไม่ใหญ่มากแต่คนฟังดีมาก สุดท้ายมันก็เป็นงานที่ดีสำหรับผมนะ

ปอ: งานล่าสุดที่เล่นแล้วรู้สึกชอบคือ งาน ‘Fish Paradise Concert’ ตอนแรกคุยกันว่างานประมาณ 1 ชั่วโมง แต่เราบอกว่า ขอเล่น 2 ชั่วโมงได้ไหม เพราะอยากเล่น (หัวเราะ) วันนั้นก็เลยได้เล่นเพลงเยอะมาก คนที่ซื้อบัตรมาดูก็เป็นแฟนเพลงเราทั้งนั้น จำได้ว่าสนุกมาก จนคิดในใจว่า อยากพกคนพวกนี้ไปทุกงานเลย คิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ตั้งแต่ยุคแรกๆ ได้เล่นเพลง ‘โอ๊ย’ เพลง ‘ละเมอ’ เป็นงานที่ได้เล่นหลายเพลงที่เรารู้สึกคิดถึง

บางคนถามว่า อยากฟังเพลงนั้นเพลงนี้จังเลย ทำไมไม่ค่อยได้ฟัง ผมก็จะบอกว่า บางงานไม่ได้เหมาะที่จะเล่น ด้วยสถานที่ ผู้คน ลิสต์เพลง ต้องบอกว่า เพลงวงเราเยอะนะ พอลิสต์ออกมาคนก็จะถามอีก ทำไมไม่เล่นเพล�