“ตูน ภาคภูมิ” ผู้ไม่เคยหมดไฟใน BMX FLATLAND ตลอด 21 ปี

ความชื่นชอบ ความสนใจ หรือเดี๋ยวนี้เราเรียกกันว่า ‘แพชชั่น’ ก็เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตของเราๆ ทุกคน แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะยังต่อสู้ พยายาม ไม่เหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ ตั้งใจต่อสู้เพื่อสิ่งที่ชอบกับเวลานับสิบปี มันไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย กับความเด็ดเดี่ยวและความมุ่งมั่นในแพชชั่นแบบนี้ในยุคสมัยแบบนี้ 

แต่เมื่อเราได้พูดคุยกับ ตูน - ภาคภูมิ ภู่สอาด นักกีฬา BMX FLATLAND ทีมชาติไทยวัย 37 ปี ที่หลายคนยกให้เป็นตำนานของประเทศและระดับนานาชาติ ตลอดเวลากว่า 21 ปีที่เขาได้สัมผัสกีฬานี้มา ไม่เคยมีความรู้สึกท้อแท้จนหมดความชอบหรือความหลงใหลกับมันเลยสักครั้ง 

“ถ้าถามว่ามีเหนื่อยไหม มันก็มีบ้างเวลาซ้อมหนัก แต่แพชชั่นไม่เคยหมด ผมสนุกกับมันตลอด เพราะแฟลตแลนด์มันท้าทายให้เราอยากเล่นกับมันไปเรื่อยๆ เวลาได้ลองท่าใหม่ก็กลายเป็นสนุกไปอีกแบบ”

ชอบครั้งหนึ่งถึงตลอดไป

BMX FLATLAND หรือจักรยานผาดโผนในทางเรียบ คือกีฬาที่ตูนลองไปเล่นตามรุ่นพี่และเพื่อนๆ เมื่อตอนอายุ 16 ปี จนสุดท้ายเขาเลือกที่จะทุ่มเททั้งชีวิตให้มันมาจนถึงวันนี้ ด้วยคำว่า ‘ชอบ’ เพียงคำเดียว

“จริงๆ มันมาจากความชอบส่วนตัวของผม ผมปั่นจักรยานอยู่แล้ว รู้จักกีฬาชนิดนี้ครั้งแรกจากทีวี แล้วบังเอิญว่ารุ่นพี่แถวบ้านเขาเปิดร้านจักรยาน เขาเล่นโชว์หน้าร้านเลย ผมก็ขอไปเล่นด้วย หลังจากนั้นพอมีรายการแข่งที่ไหนเราก็ไปแข่ง ก็แค่เล่นไปเรื่อยๆ แล้วรู้สึกว่าไม่อยากจะไปทำอย่างอื่นแล้ว อยากจะเล่นให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้”

แฟลตแลนด์ไม่มีสิ้นสุด

เขาเล่าต่อว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ชอบกีฬานี้มากๆ คือความไม่สิ้นสุด ในทุกการแข่งขันนอกจากจะต้องมีท่าพื้นฐานแล้ว บางท่ายังต้องคิดขึ้นมาเองด้วย

“มันโครตฟรีสไตล์เลย มันไม่มีท่าบังคับเหมือนยิมนาสติก ขึ้นอยู่กับความสร้างสรรค์ของแต่ละคน บางท่าผมก็คิดได้ด้วยความบังเอิญ เช่น เวลาล้มแล้วเห็นว่ามุมนี้มันไปได้ก็จะกลับมาลองอีกครั้ง ถ้ามันไปได้ก็จะฝึกแล้วเอามาใช้ หรือบางครั้งคิดได้ระหว่างที่เดินเล่นอยู่ก็มี” 

นิยามของคำว่า “ชอบ” ในแบบของตัวเอง

แค่เริ่มต้นก็ได้ยินคำว่าชอบจากนักกีฬาคนนี้มาแล้วหลายครั้ง เราเลยได้โอกาสถามว่าคำว่า ‘ชอบ’ สำหรับเขาคืออะไร ซึ่งเป็นคำตอบที่น่าสนใจเลยทีเดียว เพราะเขามองว่าความชอบคือสิ่งที่ทำให้เราสนุกและอยู่กับบางสิ่งบางได้เป็นเวลานาน เช่น เวลาที่เขาเล่น BMX Flatland ตอนแดดร้อน ความชอบก็ทำให้สนุกและมีความสุขจนไม่รู้สึกร้อน

ค่อยเป็นค่อยไปตามธรรมชาติของแฟลตแลนด์

เมื่อย้อนถามว่าช่วงแรกที่เริ่มฝึกเคยรู้สึกว่ามันยากบ้างไหม เพราะสายตาคนนอกมองว่ากีฬาเอ็กซ์ตรีมที่ต้องใช้ความผาดโผนไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ทำได้ ตูนบอกว่า มันก็ยากเป็นปกติ ทุกวันนี้ก็ยังมีล้มอยู่ (หัวเราะ) แต่จริงๆ แล้วกีฬานี้มีแพทเทิร์นในการฝึกคือ ท่าพื้นฐานที่ต้องเริ่มจากเบสิกขึ้นไปก่อน ถ้าฝึกได้ก็จะต่อยอดได้อีกเยอะ เหมือนพีระมิดที่ฐานยิ่งกว้างก็ยิ่งต่อยอดได้สูง แต่ถ้ามาถึงแล้วอยากจะหมุนหรือเล่นท่าแอดวานซ์เลยก็คงเป็นไปไม่ได้

ด้วยความที่พัฒนาฝีมืออย่างค่อยเป็นค่อยไปและเข้าใจในธรรมชาติของกีฬา ทำให้ฝีมือของเขาประจักษ์แก่สายตาคณะกรรมการและคอกีฬาแฟลตแลนด์นี้มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านรางวัลมากมาย เช่น เหรียญทอง Asian Indoor Games 2007 เหรียญทอง Asian Beach Games 2014 เหรียญทอง SEA Games 2019 แชมป์ประเทศไทยหลายปีซ้อน เหรียญทอง SAT Virtual Sports 2021 ฯลฯ พูดได้เลยว่าตั้งแต่เล็กจนโต ผู้เขียนจะได้ยินชื่อตูน ภาคภูมิ หรือเจ้าตูน ในรายการแข่งขันแฟลตแลนด์มาตลอด 

โดยเขาบอกเล่าถึงความประทับใจในทุกรายการว่า “ผมประทับใจทุกงาน เพราะมันเป็นแรงบันดาลใจให้กลับมาฝึกต่อไปเรื่อยๆ เวลาชนะก็กลับมาฝึกต่อเพื่อเอาท่าใหม่ไปแข่ง แต่ถ้าแพ้ก็กลับมาฝึกต่อเพื่อกลับไปชนะอีกทีหนึ่ง”

ทำความชอบให้เป็นชีวิตประจำวัน

ฝีมือที่ดีต่อเนื่องมานานขนาดนี้ ทำให้เราแอบสงสัยเหมือนกันว่าตูน ภาคภูมิ ซ้อมทั้งปีเลยไหม หรือบาลานซ์เวลาซ้อม พักผ่อน และเที่ยวอย่างไร ทำไมดูชีวิตแฮปปี้จนไม่มีช่วงที่เบื่อ เขาตอบว่า

“การซ้อมของผมเหมือนเป็นชีวิตประจำวัน ก็คือทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ซ้อมวันละประมาณ 5 ชั่วโมงขึ้นไป อยู่กับมันทั้งวัน เสาร์อาทิตย์จะพัก ส่วนเวลาท่องเที่ยวก็รวบไปกับตอนออกไปแข่งขันต่างประเทศเลย ถ้าช่วงสถานการณ์ปกติก็ประมาณ 4 - 5 รายการต่อปี” 

เคล็ดไม่ลับฉบับแชมป์

ในเรื่องของการคว้าชัยชนะจากรายการแข่งขันต่างๆ ตูนแชร์ว่า เคล็ดลับคือให้มองทุกงานแข่งขันเป็นแรงบันดาลใจ แล้วมีวินัย ความอดทน และความพยายามในการซ้อมให้มาก เพราะแฟลตแลนด์เป็นกีฬาที่ต้องใช้เวลากับมันเยอะ อย่างท่าเล่นก็ต้องอัปเดตอยู่ตลอดเหมือนกับอัปเดทแอปโทรศัพท์ และที่สำคัญต้องพยายามแข่งกับตัวเอง เพราะการเล่นของแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ต่างคนต่างก็มีท่าของตัวเอง ตลอด 3 นาทีจะมีแค่เราเล่นอยู่ตรงนั้นคนเดียว ซึ่งถ้าทุ่มเทให้มันมากพอแน่นอนว่าผลลัพธ์จะออกมาดี 

และถ้าถามว่าที่ผ่านมาเขาทุ่มเทให้กีฬานี้มากแค่ไหน บอกได้เลยว่ามันมากกว่าที่ทุกคนคิด เพราะหลังจากเรียนจบปริญญาตรีในปี 2005 เขาก็คุยกับแม่ว่า “ผมจะไม่ทำอะไรเลยนอกจากลองขี่จักรยานอย่างจริงจังดูสักหนึ่งปี” ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ฝึกอย่างหนักจนได้แชมป์ในรายการ Asian Indoor Games 2007

อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้อยากจะแนะนำให้ทุกคนทำตาม เพราะแต่ละคนมีรูปแบบการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน และอาจจะมีปัจจัยหลายอย่างเป็นข้อจำกัด เช่น ความคิดของคนในครอบครัว ดังนั้นควรหาจุดให้เจอก่อนว่าตรงไหนที่จะสามารถอยู่กับมันได้ หรือจะสร้างรายได้ทางไหนได้บ้างทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งตอนแรกเขาเองก็ไม่เคยคิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ แต่พอดีช่วงที่เล่นเป็นจังหวะที่มีรายการแข่งขันเข้ามาให้ได้ลอง มันเลยทำให้เขาไปต่อได้ และรางวัลต่างๆ ก็เป็นคำตอบให้คนในบ้านเห็นได้ว่าเขาทำได้โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรเพิ่มเติม

เป้าหมายของภาคภูมิ

สำหรับเป้าหมายสูงสุดในชีวิตหลังจากพิชิตมาแล้วหลายรางวัล เจ้าตัวบอกว่าความสำเร็จของแต่ละคนไม่เท่ากัน ตอนนี้เขายังสนุกกับแฟลตแลนด์อยู่ ยังออกมาซ้อม มาขี่จักรยานได้ทุกวัน เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เลยไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ หรือเลิกไปแล้วจะทำอะไร แค่ตอนนี้อยากทำอะไรที่รู้สึกแฮปปี้แบบนี้ต่อไป

Flatland ไทยในอดีต จากนี้ และต่อไป

“ตอนที่ผมเริ่มเล่นกีฬานี้ ก็เริ่มได้รับความนิยมแล้วอาจจะด้วยความแปลกใหม่ พอเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันเริ่มแยกย้ายกันไปทำอย่างอื่น กระแสก็เบาลง แต่ไม่ได้หายไปไหน มันยังอยู่มาตลอด 20 กว่าปีนี่แหละ ถ้าเทียบเป็นกราฟก็คือมีช่วงที่มันเคยพุ่งสูงมาก แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นเส้นตรง ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมกีฬาเอ็กซ์ตรีมฯ มีการจัดการแข่งขันอยู่ตลอด แต่แค่อาจจะไม่ได้รับความนิยมจากคอกีฬาจนถึงขั้นขายตั๋วเข้าชมการแข่งขันเหมือนต่างประเทศ”

นอกจากนี้ ตูน ภาคภูมิได้บอกกับเราถึงสิ่งที่เขาอยากเห็นในอนาคตว่า อยากเห็นทุกคนออกมาขี่ BMX Flatland สนุกๆ ไปด้วยกัน 

“คนที่อยากเล่นแฟลตแลนด์น่ะ ถ้าชอบหรืออยากลองก็ลองเลย ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก แค่มีจักรยานกับใจก็พอ”

ติดตามความหลงใหลใน BMX และอัปเดตผลงานทั้งหมดได้ที่

INSTAGRAM: TOONFLAT
FACEBOOK PAGE: Pakphum Poosa-art: Toon /ภาคภูมิ ภู่สอาด