“โค้ชวู” นักพากย์อีสปอร์ตผู้คร่ำหวอดในวงการเกม

"เพราะผมมีจุดยืนคือ อยากให้คนที่ไม่เล่นเกมเข้าใจเรื่องเกมที่ผมทำ"

นี่คือคำกล่าวที่หนักแน่นในเจตจำนงของผู้ที่คร่ำหวอดในวงการเกมของ ปอนด์ ชยุตม์ ฉางทองคำ หรือ โค้ชวู ชื่อสุดคุ้นหูในวงการเกม Esports บ้านเรา บางคนรู้จักเขาในบทบาทนักแข่งเกม Counter Strike อันดับหนึ่งของเมืองไทย หรือโค้ชเกมที่สร้างชื่อให้กับทีมสร้างต่างๆ มากมาย อีกบทบาทหนึ่งที่ถ้าไม่เจ๋งจริงก็อยู่ในวงการ Esports มายาวนานกว่า 20 ปีไม่ได้! นั่นก็คือ นักพากย์อีสปอร์ต นั่นเอง

จากคนชอบเล่นเกมและแข่งขันเกมที่จริงจังในปี 2003 และได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งต่างประเทศตั้งแต่ปี 2004 - 2008 ตลอดระยะเวลา 5 ปี เขาต้องพบปะผู้คนและตอบคำถามสื่อสารพัด แต่กลายเป็นงานถนัดของวูในวันนั้น จนรายการเกมแตะตาและติดต่อให้มาเป็นพิธีกรและผันตัวเป็นนักพากย์ในการแข่งขันเกมจนถึงทุกวันนี้ แถมพ่วงดีกรี CEO บริษัทเอฟพีเอสไทยแลนด์ (FPSThailand) และเป็น Lead of sport ของ MiTH (Made in Thailand) ด้วย

ทลายกำแพงและกล้าที่จะทำ

"ตอนนั้นคิดนานมากเลย เพราะผมเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก แต่ก็ตัดสินใจรับ เพราะอยากทำงานเกี่ยวกับเรื่องเกม ปีแรก 2004 ที่ผมเป็นตัวแทนแข่งขันเกม ผมได้ไปแข่งที่ซานฟรานซิสโก ตอนแรกแค่รู้สึกว่าอยากไปแข่งเกมเฉยๆ แต่พอไปเจองานเขาแล้วรู้สึกอยากทำงานเกี่ยวกับเกม เพราะงานเกมที่ไปเจอมันยิ่งใหญ่มาก เลยรับงานที่เขาชักชวนเพราะคิดว่าจะได้ฝึกฝนตัวเอง"

Voo ชื่อนี้ไม่มีที่มา 

"เพื่อนๆ ชื่อในเกมส่วนใหญ่จะใช้ 3 ตัวอักษร ผมเลยมีความรู้สึกว่า Voo มันเท่ดี เลยใช้ชื่อนี้มาตลอด พอเป็นพิธีกรเป็นนักพากย์ก็ใช้ชื่อ Voo ทุกคนก็เรียกติปากมาตั้งแต่ตอนนั้น เพจผมหลักๆ จะเป็นลักษณะการให้ความรู้ เป็นลักษณะการสอนและการแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส่วนมากคอนเทนต์ผมจะเป็นการพูดคุยมากกว่า ไม่ได้เล่นเกมโชว์ เพราะผมเชื่อว่าการเล่นเกมไปหาดูที่ไหนก็ได้ แต่เราเน้นเอาประสบการณ์ของเรามาบอกน้องๆ หรือแนะนำน้องๆ การให้ข้อมูล ส่วนมากจะเป็น Q&A เป็นหลัก รวมไปถึงถ้ามีหัวข้ออะไรที่ไม่สบายใจเกี่ยวกับคอมมูนิตี้ ผมจะออกมาไลฟ์เอง ส่วนมากจะเป็นเรื่องความรู้และข้อมูลข่าวสาร"

จุดเด่น - จุดแข็ง ของ Voo

"เมื่อก่อนตอนที่เริ่มเป็นนักพากย์ ยังไม่มีใครทำ แล้วเราเรียนรู้ด้วยตัวเอง เลยกลายเป็นไม่สามารถไปลอกเลียนแบบใครได้ จุดเด่นเลยมีเอกลักษณ์และสไตล์ของตัวเอง แต่ถ้าเป็นจุดแข็งของผมคือ ผมเลือกที่จะทำความเข้าใจก่อน แล้วค่อยเอาเรื่องที่เราทำความเข้าใจออกมาอธิบาย เทคนิคของผมคือ ผมต้องการทำให้คนที่ไม่เล่นเกมเข้าใจด้วย อย่างเช่น น้องๆ จะชอบถามว่า 'พี่วูจำได้ยังไง รายละเอียดการแข่งขัน PUBG  คน 64 คน ต่อ 1 รอบ' ผมจะเน้นเรื่องความเข้าใจก่อน เช่น เขาแข่งกันยังไง แข่งแล้วไปที่ไหนต่อ เป็นตัวแทนประเทศไหม เข้ารอบกี่ทีม ได้เงินรางวัลเท่าไหร่ การแข่งขันเป็นแบบไหน คือผมต้องทำการบ้าน ต้องอ่าน ต้องทำความเข้าใจก่อน"

ถ้าต้องเปรียบ Voo เป็นอะไรสักอย่าง

"เป็นคอมมูนิตี้ของคนที่ชอบเล่นเกมและชอบไลฟ์สไตล์ของผม คอมมูนิตี้ที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์ให้กับน้องๆ รุ่นหลังได้ เช่น ผมต้องเรียนอะไรครับถึงได้ทำงานด้านอีสปอร์ต พี่ครับผมอยากเป็นนักกีฬาผมต้องทำยังไง หรือผมอยากจะเป็นนักพากย์ต้องทำยังไง ผมอยากทำงานด้านเกมผมเรียนด้านนี้มาต้องทำแบบไหน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ความรู้ เหมือนประสบการณ์ที่ผมได้เจอมาตลอด 25 ปี"

“ทุกวันนี้ขนาดเป็นนักพากย์มา 20 ปี พรุ่งนี้มีงานผมยังคงซ้อมอยู่ตลอด ไม่มีครั้งไหนเลยที่ไม่ซ้อม เพราะมันพลาดไม่ได้มันเป็นการถ่ายทอดสด”

ความยากง่ายของอาชีพนักพากย์ Esports 

“การทำเรื่องเดิมซ้ำๆ มันคือความยากนะ เพราะบางทีเราทำซ้ำๆ มันจะปล่อยปะละเลย เพราะมันถนัด จริงๆ มันอาจจะดูเหมือนง่ายนะ แต่มันก็เป็นความยากไปในตัวเพราะมันเป็นเรื่องเดิมๆ ถ้าเราปล่อยปะละเลยมันก็จบทันที เราต้องทำงานแบบถ่ายทอดสดตลอดเวลา เพราะฉะนั้น มันมีโอกาสผิดพลาดได้เกือบทุกวินาที เลยต้องทำงานอย่างมีสติและรอบคอบ นักพากย์ต้องทำงานร่วมกับคนอื่นด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่จะคิดว่าทำงานคนเดียว จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยครับ ยิ่งงานใหญ่ๆ ที่มีทัวร์นาเมนท์เราจะทำงานกับบุคคลหลากหลายมาก เช่น โปรดิวส์เซอร์ถ่ายทอดสด ออฟเซิร์ฟเวอร์ที่เป็นคนจับภาพเกม”

“เราทำงานร่วมกับทุกคน มันเลยกลายเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง เราเลยต้องเข้าใจลูปงานทั้งหมดด้วย นอกจากต้องรู้ข้อมูลเกมเราต้องรู้รูปแบบการทำงานด้วย”

สิ่งที่ได้จาการเป็นนักพากย์ Esports

"ได้รู้จักการทำงานเป็นทีม ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น มันทำให้เราเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากประสบการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วเราจะแก้ไขมันยังไง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้คือ เราเป็นคนๆ หนึ่งที่อยู่หน้าฉาก ที่ต้องคอยสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และคอมมูนิตี้ที่เขาติดตามเราอยู่ ให้มันขับเคลื่อนไปอย่างถูกวิธี เราแค่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คอมมูนิตี้นี้เติบโตขึ้น"

วงการนักพากย์ Esports บ้านเราเป็นยังไงบ้าง?

"ผมว่าเติบโตขึ้นเยอะ และเริ่มมีอาชีพนักพากย์เกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย และเริ่มมีรายได้จากการทำอาชีพนักพากย์อย่างจริงจังมากขึ้น มากกว่ายุคผมเยอะ เมื่อก่อนผมเริ่มพากย์ตั้งแต่ 200 บาท จนปัจจุบันนี้แล้วแต่ความสามารถ แล้วแต่คาแรกเตอร์ ผมเคยได้ยินมาว่า ถึงขั้นวันหนึ่งหลักหมื่นก็มีในยุคนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับ ทักษะ ความชำนาญ หรือจริตที่ลูกค้าจะเลือก" 

นักพากย์ กับ สถานการณ์โควิด

"นักพากย์ยังคงทำงานในสถานการณ์โควิดได้เหมือนเดิม แต่นักพากย์ต้องลงทุนมากขึ้นในเรื่องอุปกรณ์เพื่อการพากย์ออนไลน์ เช่น ไมค์โครโฟนที่ให้คุณภาพเสียงที่ดี กล้องต้องตั้งแบบไหน ไฟต้องทำยังไง เพราะเราต้องเซ็ทเองทั้งหมด ต้องมีความรู้เรื่องอุปกรณ์มากยิ่งขึ้น และต้องเรียนรู้เรื่องการเซ็ทด้วยตัวเองมากขึ้น แต่งานอาจจะน้อยลงตามปกติ งานแข่งขันตามห้าง งานใหญ่ๆ ประจำปีตอนนี้ก็แทบจะไม่มีแล้ว ส่วนมากที่ทำตอนนี้จะเป็นงานออนไลน์เป็นหลักครับ" 

อยากให้นักพากย์และอาชีพโค้ชเกมเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น

"ปัจจุบันผมทำงานหลายอย่างมาก ผมอยากปูพื้นฐานให้อาชีพนักพากย์ถูกยอมรับในวงการเกม ซึ่งเราจะทำมันอย่างเต็มที่ที่สุดเพื่อให้น้องๆ หรือ บุคคลอื่นๆ ได้มีอาชีพนี้ในอนาคต ซึ่งผมมองว่าตลาดมันเริ่มเข้าใจนักพากย์ Esports มากยิ่งขึ้น ตอนนี้ผมก็จะผันตัวเองไปทำอย่างอื่น อย่างการทำหน้าทีโค้ชเกมก็จะมากยิ่งขึ้น โดยวางกลยุทธ์จากที่เราเคยได้ประสบการณ์จากการแข่งเกม เราก็เอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาสร้างทีม มาสอนคนในอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนักพากย์แล้ว ก็อยากให้ในอนาคตอาชีพโค้ชเกมเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในวงการเกม ส่วนเพจผมก็อยากให้เป็นคอมมูนิตี้เกี่ยวกับเกมที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือมีปัญหาสามารถ Q&A ถามตอบกันได้"

ถ้าต้องนิยามสิ่งที่ตัวเองทำ

"สิ่งที่ผมทำคือ สิ่งที่รัก นั่นก็คือ เกม แล้วผมเดินมันด้วยแพชชั่นนำมาโดยตลอด มันเลยทำให้ผมอยู่ในวงการนี้ได้นาน ผมอยากให้ทุกคนที่ทำงาน หรือทำอะไรเกี่ยวกับเกม ให้มองแพชชั่นก่อนเรื่องเงิน เมื่อเรามีแพชชั่นอย่างเต็มที่ เงินก็จะมาเอง"

หากขาดนักพากย์เกมไป การแข่งขันเกมในโลกของอีสปอร์ตคงไม่สนุกและขาดอรรถรสไปแน่ๆ เราจะเห็นได้ว่าโค้ชวูมีความมุ่งมั่นกับทุกบทบาทที่ทำเป็นอย่างมาก และความรักกับทุกบทบาทหน้าที่ทำให้โค้ชวูก้าวมาถึงจุดนี้และประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ

ติดตามและอัพเดทข่าวสารของโค้ชวู ได้ที่ Voo, FPS Thailand, MiTH