แชมป์โลกยูยิตสู ผลลัพธ์แห่งความมุ่งมั่นของ KACIE TAN

หลังจากที่เพชรดา เคซี ตัน (PECHRADA KACIE TAN) หรือ เคซี สาวไทยร่างเล็กได้ไปคว้าแชมป์ยูยิตสูชิงแชมป์โลกที่รายการ ABU DHABI WORLD PRO JIU-JITSU CHAMPIONSHIP 2021 ระดับสายม่วง รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม มาครองได้สำเร็จ ก็กลายเป็นที่ฮือฮาของคอกีฬาชาวไทยและคนทั่วไปไม่น้อยเลย เพราะเธอสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ ด้วยการเป็นสาวไทยคนแรกบนเวทีระดับโลกของยูยิตสู ช่วยปลุกกระแสให้คนไทยรู้จักกีฬานี้กันมากขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่นอกจากความสามารถที่น่ายกย่องแล้ว ความมุ่งมั่นบนเส้นทางนักกีฬาของเธอก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าเธอเลือกทิ้งอาชีพสถาปนิกในวัยใกล้ 30 ปี เพื่อมาไล่ตามความฝัน จนคว้าแชมป์โลกได้ภายในเวลาแค้ 2 ปีครึ่ง! เราเลยไม่พลาดที่จะพาเธอมาแชร์เรื่องราวที่น่าสนใจนี้ให้กับชาว EQ ได้สัมผัสกันอย่าง Exclusive

ยูยิตสูสำหรับเคซี

ในโลกนี้มีกีฬาประเภทศิลปะการต่อสู้อยู่เยอะมาก เช่น มวยไทย เทควันโด ปันจักสีลัต หรือคาราเต้ แต่คนที่ไม่เคยเล่นกีฬามาก่อนอย่างเธอกลับเลือกให้ยูยิตสูเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต 

“มันเป็นกีฬาที่ทำให้เราได้เรียนรู้ร่างกายของตัวเอง ว่าถึงแม้เราจะตัวเล็กแต่ก็มีสิทธิ์ชนะคู่ต่อสู้ที่ตัวใหญ่กว่าได้ด้วยเทคนิค ยูยิตสูก็เหมือนกับ Chasing Game ที่เมื่อเจอปัญหาอะไร ก็ต้องแก้ไขด้วยการย้อนกลับไปดูไทม์มิ่ง ดูเทคนิคว่าดีพอหรือยัง  ต้องคิดเป็นระบบ และเป็นกีฬาที่ไม่ได้สร้างแรงกระแทกกับร่างกายเท่าไหร่ ใครๆ ก็เล่นได้ อย่างในอเมริกาพวกคนอายุเยอะจะชอบกันมาก เพราะมันไม่เจ็บ มีแค่ดึง กด ทับ ผลัก ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราเริ่มอึดอัดหรือเจ็บ ก็บอกคู่ต่อสู้ได้ด้วยการแท็บ (Tab) เพื่อขอยอมแพ้ได้”

เริ่มช้าแต่ก้าวไวกว่า

เราเริ่มเล่นกีฬาช้ากว่าคนอื่นมาก คนอื่นเขาเริ่มตั้งแต่ 8-9 ขวบ แต่เรามาเริ่มก็ช่วงอายุ 20 ปลายๆ แล้ว เพราะไม่เคยคิดว่าจะมาลงเอยกับการเป็นนักกีฬา เราเป็นแค่สถาปนิกธรรมดาคนหนึ่ง แต่มีโอกาสได้เดทกับแฟนที่เป็นนักกีฬาและโค้ชยูยิตสู เขาเป็นคนที่จริงจังมาก ซ้อมและออกกำลังกายตลอด พอเราตามไปดูบ่อยๆ ก็ซึมซับสิ่งเหล่านั้นมา ทำให้เริ่มอยากเล่นเป็น เลยให้แฟนสอนมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2019 และตอนหลังก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ แล้วมาตั้งใจซ้อมและแข่งขันอย่างจริงจัง จนได้เป็นแชมป์โลกในเวลา 2 ปีครึ่ง ปัจจุบันก็ขึ้นถึงระดับสายน้ำตาลแล้ว ถือว่าไม่นานสำหรับเส้นทางนักกีฬา 

ไม่เคยเสียดายกับทุกการตัดสินใจ

บางคนอาจจะคิดว่าวันที่เราตัดสินใจลาออกจากงานประจำเป็นเรื่องยาก แต่จริงๆ แล้วเราเป็นคนที่อะไรก็ได้ อยากทำอะไรก็ทำเลย อย่างตอนเรียนจบ ม.6 อยากเป็นสถาปนิกก็ไปสอบ พอเรียนจบมาทำงานได้สักปีสองปีแล้วรู้สึกเบื่อ ก็เลือกออกไปท่องโลกกว้างที่ออสเตรเลีย ฐานะทางบ้านไม่ได้รวยด้วยนะ แต่เราถือคติ “ถ้ารอให้แก่กว่านี้คงทำไม่ได้อะไร ถ้าจะไปก็ไปตั้งแต่ตอนนี้เลยดีกว่า” มันทำให้ทุกครั้งที่เราตัดสินใจอะไรไป ไม่รู้สึกเสียดายหรือเสียใจ เพราะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ กลับมาเสมอ ตอนนั้นที่เราตัดสินใจแล้วว่าจะเป็นนักกีฬายูยิตสูแน่ๆ เรามองว่ามันอาจจะเป็นความฝันที่เป็นไปได้ยากสักหน่อย แต่ถ้ามันไม่โอเค อย่างน้อยเราก็มั่นใจว่าจะกลับมาทำงานเป็นสถาปนิกได้เหมือนเดิม ก็เลยเซ็นใบลาออก บอกลาคนรอบข้าง หลายคนก็ถามว่าจะบ้าเหรอ จะไหวไหม อายุไม่น้อยแล้ว แต่เราเลือกแล้วก็จะลองดู

สิ่งดีๆ ที่ยูยิตสูมีให้

ยูยิตสูทำให้เราภูมิใจในร่างกายตัวเอง สามารถลบคำสบประมาทที่คนอื่นเคยคิดว่าเราทำไม่ได้ออกไป และทำให้คนรอบข้างภูมิใจด้วย อย่างวันนี้ที่กลายเป็นที่รู้จักของคนไทยไปแล้ว ก็รู้สึกดีที่อย่างน้อยได้ทำให้กีฬาที่เรารักเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้เธอก็จะทำชื่อเสียงให้ประเทศต่อไปเรื่อยๆ ในนามนักกีฬาสายดำคนหนึ่งของสมาคมยูยิตสูแห่งประเทศไทย ตามที่ผศ.ชาญชัย สุขสุวรรณ์ นายกสมาคมฯ ให้ความไว้วางใจ

ความฝันสูงสุดของแชมป์โลก

เราเคยอ่านคอลัมน์บทสัมภาษณ์นักกีฬาหลายๆ คน เห็นเขามีความฝันที่แน่วแน่กัน แต่เป้าหมายและความฝันของเราเนี่ยมันสั่นคลอนตลอดเลย เพราะจากคนธรรมดาที่ต้องเปลี่ยนมาเป็นนักกีฬา ช่วงแรกจะเหนื่อยและท้อมาก รู้สึกว่าไม่เอาแล้ว เรามาทำอะไรอยู่ที่นี่ แต่พอตื่นขึ้นมาอีกวันก็จะรู้สึกว่าไม่ได้ละ ต้องฮึด ต้องสู้ มันก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้ตลอด และพอถึงช่วงที่ใกล้แข่ง เราก็จะมีความรู้สึกว่าอยากชนะ บอกตัวเองว่าต้องซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อมให้มากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าถ้ามาถึงขนาดนี้แล้วไม่ไปต่อแล้วจะซ้อมไปทำไม พอมาถึงวันนี้ได้ก็อยากทำตามฝันต่อให้สุดทาง คือ แข่งชนะได้เหรียญทองตอนที่ได้สายดำแล้ว และพอถึงจุดๆ หนึ่งก็อยากกลับมาเปิดยิมที่ไทย 

ความพ่ายแพ้ทำให้เกิดแชมป์

เห็นเคซีเก่งกาจขนาดนี้ แต่ก็ใช่ว่าคนอย่างเธอไม่เคยแพ้มาก่อน  “มีครั้งหนึ่งเราเคยไปแข่งที่อเมริกา ตอนนั้นอยู่ระดับสายน้ำเงิน มีประสบการณ์มาแล้ว 5 เดือน จำได้ว่าก่อนแข่ง 2 สัปดาห์ เรากับแฟนช่วยกันนั่งวิเคราะห์รายละเอียดคู่แข่งกันละเอียดยิบและซ้อมหนักมาก ทั้งเช้า กลางวัน เย็น ซ้อมจนร่างกายปวดร้าวไปหมด แต่พอไปแข่งจริง 30 วินาทีก็แพ้แล้ว ยังไม่ทันได้ใช้โชว์อะไรเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นร้องไห้หนักมาก แต่ต้องขอบคุณแมตช์นั้น ที่ทำให้เราเปลี่ยนจากเด็กผู้หญิงที่อ่อนประสบการณ์ไปเป็นผู้หญิงที่โตขึ้น เพราะหลังจากนั้นเราก็พยายามซ้อมหนักขึ้น จนชนะติดๆ กันมา และเป็นแชมป์โลกได้”

แรงผลักดันสำคัญ

สิ่งสำคัญที่ทำให้เรามาได้ไกลแบบทุกวันนี้ อย่างแรกก็คือแฟนหรือสามีนี่แหละ เขาเป็นโค้ชที่ชี้นำทางที่ถูกต้องให้เราและคอยเชียร์อัพกันตลอด อย่างเวลาที่ท้อเขาก็จะบอกว่า You เกิดมาทั้งทีไม่คิดจะลองให้เต็มที่หรอ ไม่อยากลองทำให้ชื่อตัวเองอยู่ในประวัติศาสตร์เหรอ เพราะตอนเป็นสถาปนิกมันไม่มีชื่อเราอยู่ในวิกิพีเดียนะ แต่ถ้า You เป็นแชมป์โลกได้ เวลาใครไปเสิร์ชก็จะเจอ หรือถ้ามีลูก เราก็เล่าให้เขาฟังได้ว่าแม่เคยเป็นแชมป์โลกมาก่อนนะ มันเลยทำให้เราอยากที่จะทำให้ได้ ส่วนอีกอย่างก็คงจะเป็นที่ตัวเราเอง เพราะเรามีความพยายามและไม่ยอมแพ้หรือละทิ้งเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราจะจินตนาการถึงความหอมหวานของชัยชนะไว้ล่วงหน้า และพอเราชนะก็จะขอบคุณตัวเองที่ไม่ยอมแพ้

ยูยิตสูในประเทศไทย

ในฐานะผู้มีประสบการณ์ที่ได้ไปสัมผัสกับกีฬายูยิตสูในหลายประเทศมาแล้ว เราเลยอดไม่ได้ที่จะชวนเคซีมาวิเคราะห์ถึงกีฬายูยิตสูในประเทศไทยกันบ้าง ว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ในอนาคตจะมีเคซีเบอร์ 2, 3, 4…. ไปคว้าแชมป์โลกกลับมาได้อีก เธอบอกกับเราว่า ธรรมชาติของคนไทยเป็นคนที่ Work Hard โดดเด่นเรื่องการซ้อมหนักและขยัน ตอนนี้บ้านเราก็ถือว่าโอเคในระดับหนึ่ง สู้กับต่างชาติได้ เห็นจากที่นักกีฬาไทยไปคว้ารางวัลในระดับเอเชียเมื่อไม่นานมานี้ และถ้าหากได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ อย่างต่างประเทศ เช่น UAE เรามั่นใจว่าคนไทยต้องทำผลงานที่ดีขึ้นได้แน่นอน

ฝากถึงคนที่ต้องตัดสินใจ

ไม่ว่าจะเลือกเป็นนักกีฬาหรือทำอะไรก็ตาม การจะตัดสินใจต้องดูก่อนว่าเราชอบสิ่งนั้นจริงไหมและมีความมุ่งมั่นจริงหรือเปล่า ถ้าจะตัดสินใจไปทำแต่ไม่คิดที่จะจริงจังก็อย่าไปทำให้เสียเวลาเลยดีกว่า แต่ถ้าคิดว่ามันโอเค เราอยากจะทำจริงๆ ก็ทำให้สุดๆ ไปเลย แล้วสุดท้ายแล้วมันจะมีลู่ทางให้ไปต่อได้เอง

ติดตามอัพเดทเส้นทางเดินสายนักกีฬายูยิตสูของเธอได้ที่ KACIE