คายัค – แคนู ประตูสู่ธรรมชาติ

“สุขภาพ” และ “ธรรมชาติ” สองคำที่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่ แต่ในปัจจุบันสามารถนำมารวมกันได้อย่างลงตัว จนเกิดเป็นเทรนด์การเล่นกีฬาในแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป สาเหตุก็เพราะไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่สนใจในธรรมชาติ ชอบความท้าทาย และรักสุขภาพ ที่มักจะรวบกิจกรรมทุกอย่างมาไว้ในการพักผ่อนเพียงครั้งเดียว ทำให้กีฬาท้าทายอย่าง “คายัค - แคนู” ยังคงได้รับความนิยมและไม่มีท่าทีว่าจะสูญหายไปตามกาลเวลา

คายัค VS แคนู

แม้จะถูกเรียกรวมกันอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้ดูเหมือนเป็นเรือประเภทเดียวกันไปโดยปริยาย แต่จริงๆ แล้ว คายัค และ แคนู แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่ง นัท กนกพรรณ สวนสันต์ (Nut - Kanokpan Suansan) อดีตนักกีฬาเรือคายัคหญิงทีมชาติไทย สาวร่างเล็กเจ้าของตำนานเหรียญทองแรกของทีมคายัคหญิงไทย จากการแข่งขันคายัคหญิงเดี่ยว ระยะ 200 เมตร ในซีเกมส์ ปี 2011 ด้วยวัยเพียง 17 ปี, เหรียญทองคายัค 2 คนหญิง ระยะ 200 เมตร และเหรียญทองคายัค 4 คนหญิง ระยะ 200 เมตร ในซีเกมส์ ปี 2015. และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี มาช่วยเราไขความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า

แคนู มีต้นกำเนิดมาจากชาวเอสกิโมที่ใช้ในการดำรงชีวิต ต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลายจนกลายมาเป็นกีฬาที่ใช้แข่งขันไปทั่วโลกรวมถึงในไทยด้วย มีวิธีการพายเป็นเอกลักษณ์ คือต้องคุกเข่าหนึ่งข้าง และใช้ไม้พายใบเดี่ยวในการพาย ซึ่งแต่ก่อนจะมีการแข่งขันแค่ในผู้ชายเท่านั้น ภายหลังถึงจะมีการผลักดันให้ผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขันได้ในโอลิมปิก ส่วน คายัค จะนั่งพายด้วยท่าทางปกติ และใช้ใบพายคู่ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ Racing คือเรือที่ใช้ในการแข่งขัน จะมีความเรียว เล็ก และมีหางเสือไว้ช่วยบังคับทิศทาง และ Touring ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น แม่น้ำ ทะเล คลองในพื้นที่ชุมชน เขื่อน เป็นต้น เรือจะกว้างและบาลานซ์ได้ง่ายกว่าประเภทที่ใช้แข่งขัน

คายัค เครดิตภาพจาก สมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย

แคนู เครดิตภาพจาก roya ann miller

ประตูสู่ทางเดินใหม่

“กีฬาเรือพายทำให้เราได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างในระหว่างที่พาย ทั้งต้นไม้ น้ำ ท้องฟ้า และผู้คน เหมือนได้ไปเที่ยวในขณะที่ฝึกซ้อมหรือแข่งขัน เรารู้สึกว่านี่แหละคือความสุข โดยเฉพาะกับคายัคแคนูที่ได้ใช้เวลาอยู่กับมันมากที่สุด เป็นกีฬาที่เราไม่ต้องไปแข่งขันกับใครเลยนอกจากตัวเอง ต้องมีความพร้อมทั้งกายใจถึงจะชนะ และต้องร่วมมือร่วมใจกับทุกคนในทีมเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย ถือเป็นความท้าทายที่มีเสน่ห์มากๆ”

นัทเล่าถึงเสน่ห์ของกีฬาประเภทนี้ให้เราฟังจากประสบการณ์ตรงที่มีมาอย่างยาวนาน และยังบอกอีกว่า ตอนเด็กๆ เธอเป็นนักกีฬาว่ายน้ำมาก่อน แต่พอฝึกซ้อมไปนานๆ รู้สึกว่ามันเริ่มไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะทุกวันต้องซ้อมอยู่กับสระน้ำ ไม่ค่อยได้เห็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เท่าไหร่ พอดีกับที่ทางสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย (RCAT) เปิดรับสมัครคัดเลือกนักกีฬาใหม่พอดี ซึ่งเป็นกีฬาไม่คุ้นหูเธอที่สุด จึงได้โอกาสเลือกประสบการณ์ใหม่ให้ตัวเอง ตัดสินใจเข้าร่วมการคัดเลือกและได้เป็นนักกีฬาตั้งแต่ปี 2549 หรือตอนเรียนชั้น ป.6 โดยเริ่มจากการเป็นนักกีฬาเรือยาวประเพณีก่อน แล้วผันตัวเองมาเล่นเรือคายัคภายหลัง จนได้เป็นนักกีฬาทีมชาติในที่สุด ด้วยการชักชวนของอ.ประพาฬพงศ์ โภชนสมบูรณ์ และการฝึกสอนของโค้ชขวัญ วิชญ์ธินันต์ ขาลสุวรรณ นอกจากนี้ เธอยังมีโอกาสได้ลงแข่งแคนูในรายการชิงแชมป์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มีการแข่งขันในผู้หญิงด้วย โดยได้เหรียญรางวัลในระยะ 200 เมตร

Kayak Touring Never Dies

ในประเทศไทย คายัค-แคนูเพื่อการแข่งขันยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากนักเมื่อเทียบกับในอดีต เพราะเป็นกีฬาที่ต้องใช้สถานที่และอุปกรณ์เฉพาะ แต่ถ้าในแง่ของการท่องเที่ยว เราจะเห็นได้ว่าคายัคได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากคนรุ่นใหม่ ทำให้มีกิจกรรมพายเรืออยู่ในทุกที่ที่มีน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะมีส่วนช่วยให้วงการกีฬามีการพัฒนา เป็นที่รู้จัก และทำให้คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้นด้วย

“เราอยากให้ทุกคนลองมาลองเล่นกันดูนะคะ แล้วจะหลงรักในเสน่ห์ของเรือคายัคแคนูเหมือนกับเรา ที่แม้ปัจจุบันจะไม่ได้รับใช้ชาติแล้ว แต่ก็ยังคงหาเวลาว่างกลับไปพายเล่นอยู่”

เช่นเดียวกับเซลล์สาวจากเมืองกรุง อย่าง แตงไทย - ชมพูนุท เจียมทรัพย์ (Thang-Thai - Chompunoot Jiemsap) ที่หลงใหลในความได้ใกล้ชิดธรรมชาติของคายัคไม่ต่างจากคุณนัท มากว่า 15 ปี เธอคนนี้พิชิตมาหมดแล้วทั้ง ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ กาญจนบุรี หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว

ความเหนื่อยที่คุ้มค่า

แตงไทยเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เธอหลงใหลในคายัคจนถอนตัวไม่ขึ้นว่า เสน่ห์คือการได้คอยลุ้นว่าจะเจอวิวแบบไหนตอนพายแต่ละครั้ง แต่ก่อนจะพายได้นั้นเรากับเรือต้องคุยกันให้รู้เรื่องก่อน ต้องสื่อสารกันให้ได้ ซึ่งอาจใช้เวลานิดหน่อย แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเมื่อเล่นเป็นแล้วจะรู้เลยว่ามันคุ้มค่ามาก เธอได้ยกตัวอย่างทริปสุดประทับใจให้เราฟังด้วยว่า “เป็นทริปที่กระบี่ ซื้อทริปไปกับเพื่อนเกือบ 10 คน จำได้ว่าพายนานมาก ได้ชมครบทุกวิว ตั้งแต่แม่น้ำ ป่าชายเลน และทะเล เหนื่อยแทบตาย (หัวเราะ) มือพอง ผิวไหม้ พายไปบ่นไป แต่สนุกมากๆ แล้วก็ที่วังเวียง สปป.ลาว เป็นล่องแก่งที่ adventure สุดๆ น้ำเชี่ยวมาก แก่งเยอะ ตกน้ำอยู่หลายครั้ง เรียกได้ว่าเป็นทริปที่เหนื่อยมากแต่ก็สนุกมากเหมือนกัน รู้สึกคุ้มค่ากับประกันการเดินทางที่ซื้อเพิ่มมากจริงๆ (หัวเราะ)”

อีกอย่างคือคายัคตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อย่างเธอที่ชอบอะไรท้าทาย ชอบท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ และชอบถ่ายรูปเพื่ออัปเดทลงโซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี เพราะคายัคเนี่ยถ่ายรูปสวยมาก วิวไม่ซ้ำกันเลย

“ในไทยเรามีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติสวย ๆ อยู่เยอะมาก มีทริปให้เลือกไปเยอะมากด้วย ซึ่งเจ้าเรือคายัคสามารถพาเราไปได้ทุกที่เลย เช่น ลอดถ้ำในทะเลแล้วไปโผล่จุด unseen ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้เราได้ออกไปลองสถานที่ใหม่ๆ เปิดมุมมองใหม่ๆ ได้มีประสบการณ์ที่หายาก เล่าวันเดียวคงไม่หมด อยากให้ทุกคนลองมาเจอด้วยตัวเอง”