Culture

‘บิ๊กฟุต ปานเทพ’ กับเส้นทางนักกีฬา Skate ที่ฝึกเอง แข่งเอง และมาไกลด้วยตัวเอง

‘ถ้าเป็นเรา ไม่ทันได้วิ่งก็น่าจะล้มตั้งแต่ยืนแล้วปะ’ เสียงสนทนาของทีมงานดังขึ้นในวันที่เราไปพูดคุยกับ บิ๊กฟุต - ปานเทพ รุจิเรข นักกีฬา Skate Inline Freestyle Slalom ประเภท Speed Slalom วัย 17 ปี ที่เพิ่งผ่านการคัดตัวเป็นหนึ่งในทีมชาติไทยชุด 19th Asian Game Hangzhou 2022 เพราะเจ้ารองเท้า 4 ล้อที่ขนาดไม่เกิน 80 มม. นี้ มันดูจะทรงตัวยากเกินไป แต่เขากลับใส่มันแล้ววิ่งอ้อมกรวยในระยะหลายสิบเมตรด้วยความเร็วกว่าชัตเตอร์กล้องซะด้วยซ้ำ จนพวกเราถึงกับต้องถามออกไปด้วยความตื่นเต้นว่าสถิติที่ทำได้ดีที่สุดคือเท่าไหร่ 

“ผมเคยทำได้ 4.3 วินาที ในระยะ 30 เมตรครับ” 

‘โคตรเก่ง’ คือคำที่ทุกคนตรงนั้นอุทานออกมาพร้อมกัน แต่สำหรับความคิดของบางคน อาจคิดว่าคนที่ทำได้ดีกว่านี้ เก่งกว่านี้ก็มี ทำได้ประมาณนี้อาจไม่เรียกว่าเก่งหรือเปล่า แน่นอนว่าเราไม่ปฏิเสธ บิ๊กฟุตอาจไม่ได้เก่งถึงขั้นเพอร์เฟคเกินใคร แต่สำหรับเรา เขาเก่งในฐานะเด็กที่ฝึกซ้อมด้วยตัวเองมาตลอด เพราะนอกจากเวลาที่ทำได้ดีแล้ว เขายังคว้ารางวัลทั้งในและต่างประเทศมามากพอสมควรเลยล่ะ

“เหรียญเงิน ชิงแชมป์ประเทศไทย 2018 สนาม 1 จันทบุรี, เหรียญทอง Chuncheon Leisure Cup International Inline Slalom 2018 ประเทศเกาหลีใต้, เหรียญทอง ISUZU X SERIES X TREME SPORTS 2019, อันดับ 10 ของโลก รายการชิงแชมป์โลก World Roller Games 2019 ประเทศสเปน เหรียญทอง SINGHS Inline Freestyle Championship 2020 ฯลฯ”

เราไม่รอช้าที่จะพาชาว EQ ไปรู้จักกับเขา ด้วยความหวัง (ของเรา) ว่านี่จะเป็นแรงผลักดันเล็กๆ ให้คุณอยากลองทำสิ่งใหญ่ๆ ด้วยตัวเองดูบ้าง

จุดเริ่มต้นของเส้นทาง

ทำไมถึงมาเล่นกีฬานี้ มันสนุกหรือพิเศษกว่ากีฬาอื่นตรงไหน “จริงๆ เมื่อก่อนผมเล่นหลายกีฬามาก ทั้งบอล ปิงปอง และมวย ส่วน Skate Inline Freestyle Slalom เพิ่งเล่นมาได้ 5 ปีครับ ผมเริ่มเรียนรู้มาจากรุ่นพี่ในลานสเก็ตที่เล่นมาก่อน แต่ถ้าเป็นประเภท Speed ก็เล่นมาประมาณ 2 ปี ถ้าถามว่าทำไมถึงมาจบที่กีฬาและประเภทนี้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน อาจจะเพราะชอบความเร็วหรือชอบเล่นกับกรวยมั้ง มันมีเสน่ห์แบบบอกไม่ถูกอะ พอเล่นแล้วก็หลงรักไปเลย ถ้าพี่มาลองเล่นก็น่าจะรู้เองครับ (ยิ้ม)” 

เป็นโค้ชให้ตัวเอง 

นักกีฬากับโค้ชมักเป็นของคู่กันในวงการกีฬาอาชีพ แต่กับบิ๊กฟุตเหมือนจะไม่เป็นแบบนั้น “พอเริ่มเล่นเป็นผมก็ซ้อมด้วยตัวเองครับ แกะท่าและเรียนรู้จากนักกีฬาต่างชาติแล้วนำมาปรับใช้กับตัวเอง มีหลักง่ายๆ อยู่ว่าต้องทำให้ดีกว่าเขา สัปดาห์หนึ่งจะซ้อม 6 – 7 วัน มันไม่ลำบากนะ แค่ต้องมีความรับผิดชอบมากหน่อย”

“ไม่มีโค้ชก็ไม่ได้รู้สึกเสียเปรียบอะไรครับ การซ้อมเองก็โอเคดี มันสนุกที่ฝึกฝนให้ตัวเองเก่งขึ้นได้ และทำให้ได้ประสบการณ์เยอะเลย เราสามารถเอาสิ่งได้เรียนรู้ไปโค้ชให้กับคนอื่นต่อได้ด้วย” 

ความท้าทายที่กลายเป็นเรื่องสนุก

ความท้าทายที่สุดคือพื้นสนามแข่งมันไม่ตายตัวครับว่าจะเรียบหรือหยาบ ผมเลยต้องซ้อมหลายที่ พื้นปูนขัดมัน Outdoor บ้าง พื้นเรียบในโดมบ้าง ต้องพยายามปรับตัวให้เก่ง เพื่อให้ชินและสนุกกับสนามทุกรูปแบบ

ต้องก้าวข้ามกำแพง

“อุปสรรคหรือกำแพงที่เจอ เช่น ท้อใจหรือหกล้ม ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติที่เจอได้ไม่ต่างจากกีฬาอื่น เวลาเราผ่านกำแพงแรกไปได้ก็จะมี 2 3 4 ตามมาอีก เราต้องก้าวข้ามมันไปเรื่อยๆ”

ลองยกตัวอย่างและแชร์เทคนิคข้ามกำแพงในแบบของเราให้ฟังหน่อย “เวลาเจอคนเก่งกว่า ปกติคนเราจะมีความกังวลใช่ไหมครับ ผมก็จะพยายามทำทุกอย่างให้ความกดดันนั้นหายไป อย่างตอนซ้อมก็จะถือคติ ‘ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า’ ซ้อมให้หนักให้มันกดดันเต็มที่ไปเลย ตอนแข่งจะได้สบายไม่ต้องกลัวใคร แล้วพอถึงวันจริงก็แค่หายใจเข้าลึกๆ เรียกความมั่นใจก่อนลงสนาม”

ปรับไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับสิ่งที่เลือก

สิ่งสำคัญของการเป็นนักกีฬาที่ซ้อมด้วยตัวเองให้มีประสิทธิภาพคือ “เวลา” เพราะไม่มีโค้ชมาช่วยดูแล การใช้ชีวิตของบิ๊กฟุตเลยต้องปรับหลายอย่างเพื่อให้มีเวลาซ้อมเต็มที่ โดยเฉพาะการเรียนที่ทิ้งไม่ได้ เขาเป็นนักกีฬาอีกคนที่เลือกออกนอกระบบการศึกษาตามปกติ มาเป็นการเรียนทางเลือกที่ศูนย์การเรียนเซนต์ ยอห์นบอสโกแทน 

เขาเล่าว่าการเรียนแบบนี้มันทำให้มีเวลาซ้อมมากขึ้นและโรงเรียนก็สนับสนุนด้วย แต่ช่วงแรกจะลำบากกับการตอบคำถามนิดหน่อย เพราะมีแต่คนถามว่าจะเรียนรู้เรื่องไหม จะจบยังไง แต่ตอนนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดีแล้ว เพื่อนๆ บางคนที่แอนตี้ระบบนี้ก็เข้าเริ่มเข้ามาอยู่ด้วยกันหมด มีทั้งนักกีฬาและดาราเลย 

“การประเมินจะมาจากประสบการณ์ที่เราไปต่างประเทศ ไปหาความรู้ข้างนอกโรงเรียนตามเนื้อหา 8 กลุ่มสาระ และทำใบงานส่ง ถ้าผ่านตามเกณฑ์ก็จะได้วุฒิตามกระทรวงศึกษาธิการ เอาไปใช้เรียนต่อได้ตามปกติ”

ความฝันที่จะไปให้ถึง

ผมอยากเข้าไปแข่งในงานของโอลิมปิก เพราะกีฬานี้ยังไม่มีในโอลิมปิก นอกจากนั้นก็อยากได้เหรียญในรายการ World Roller Games และ Shanghai Slalom Open (SSO) ด้วย 

สนามใหญ่ที่รออยู่

ตอนนี้ผมเพิ่งคัดตัวนักกีฬาทีมชาติชุด Asian Games Hangzhou 2022 ผ่าน กำลังรอเก็บตัวอีกประมาณ 7 เดือนก่อนไปแข่ง แต่ระหว่างนี้ผมก็ยังซ้อมด้วยตัวเองเป็นประจำอยู่ ไม่ขาดซ้อม

“ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ไปเอเชียนเกมส์ คาดหวังว่าอยากติดอันดับสูงๆ และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะติดเหรียญกลับมาครับ”

บิ๊กฟุตเป็นตัวอย่างน่าสนใจที่ทำให้เราเห็นว่าการพึ่งพาตัวเองก็ทำให้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางที่เลือกได้เช่นกัน เพราะแม้ภายหลังจะผู้ใหญ่ใจดีเข้ามาช่วยสนับสนุนอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในบ้าง แต่ต้องยอมรับว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ เขาก็เดินหน้าความฝันมาด้วยฝีมือตัวเอง

ติดตามและอัปเดตผลงานพร้อมให้กำลังใจบิ๊กฟุตได้ที่ Parnthep Rujirek, big._.sezaa