Culture

ไอรอน’เทย – “แจ็คกี้” กะเทยไทยคนแรกกับการแข่งไตรกีฬาโปรแกรมสุดโหด IRONMAN

“กีฬาเป็นสิ่งที่ยกระดับจิตใจของคนได้ และเราควรมีสิทธิเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตาม” คือประโยคที่ ‘แจ็คกี้ – ยุทธพงศ์ กุลอึ้ง’ ย้ำตลอดทั้งบทสนทนา เธอคือนักกีฬากะเทยคนแรกที่ลงแข่งไตรกีฬาของ “IRONMAN” ซึ่งทำให้เธอเป็น “ไอรอน’เทย” ในปัจจุบัน คุณแจ็คกี้ตั้งปณิธานกับตัวเองเอาไว้ว่าจะเล่นกีฬาอย่างมีความสุข ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไรกับการที่ LGBTQ+ อย่างเธอลงเล่นไตรกีฬา

วันนี้เราก็ได้พูดคุยกับคุณแจ็คกี้ เกี่ยวกับชีวิตของเธอบนเส้นทางกีฬา การเป็นกะเทยในวงการนี้ และทัศนคติเรื่องเพศหลากหลายที่เธออยากจะส่งต่อในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบของเพศตามขนบสังคม

จุดเริ่มต้นของการแข่งขันไตรกีฬา

“แจ็ควิ่งมาราธอนตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ค่ะ แล้วแจ็คไม่เคยรู้จักไตรกีฬามาก่อน จนมาเห็นในแม็กกาซีนเล่มหนึ่ง สมัยนั้นจะมีนักร้องยุค 90s ชื่อ ‘อลานิส มอริสเซตต์’ (Alanis Morissette) ซึ่งเป็นนักวิ่งมาราธอนและไตรกีฬา เขาดังมากในปี พ.ศ. 2538 ที่ทำอัลบั้มชื่อ “Jagged Little Pill” แจ็คเห็นเขาในนิตยสาร “Music Express” แล้วก็สงสัยว่านักร้องที่เราชอบไปทำอะไร เพราะในการเล่นไตรกีฬา เขาต้องลงไปว่ายน้ำในทะเล เราคิดในใจว่า “อุ๊ยตายแล้ว นางบ้ามาก” มุมมองที่มีต่อไตรกีฬาในตอนนั้นก็จะประมาณนี้ จนมาวิ่งมาราธอนที่เหมือนเป็นสเต็ปแรกในวงการกีฬา แล้วแจ็คก็พูดกับเพื่อนคนหนึ่งว่า “ฉันว่าฉันน่าจะเล่นไตรกีฬาได้แหละ” เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เพราะส่วนตัวชอบปั่นจักรยานมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็ชอบว่ายน้ำกับดำน้ำแบบสกินไดฟ์ (Skin dive) อยู่แล้ว แถมตอนนี้เป็นนักวิ่งมาราธอน เพื่อนแจ็คหวีดใหญ่เลยว่า “ไม่นะแจ็คคค (เสียงโหยหวน) ได้โปรด แค่วิ่งมาราธอนเธอก็ดูไม่สวยแล้ว” (หัวเราะ)

“เมื่อ 8-9 ปีที่แล้วแจ็คมีความกังวลว่ามันโหดไปนะ แล้วการเล่นกีฬาประเภทนี้ก็ต้องดูแมนหน่อย แต่แจ็คมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้ เป็นจังหวะเดียวกันกับที่เพื่อนคนหนึ่งมาชวนไปลงไตรกีฬา เหมือนเป็นเวิร์กช็อปสั้นๆ ก็เลยไปลองดู จึงได้รู้ว่ารายละเอียดการเล่นไตรกีฬามีเยอะมาก เพราะมันคือ 3 ชนิดของกีฬาเลย ว่ายน้ำยังไง ปั่นจักรยานยังไง วิ่งยังไง แล้วจะเชื่อมแต่ละพาร์ทได้ยังไง ซึ่งมันคือการเล่นกีฬาจริงๆ ไม่เหมือนตอนวิ่งมาราธอนที่สามารถชมนกชมไม้ได้ นี่คือการแข่งขันตั้งแต่วินาทีที่เรากระโจนลงไปในน้ำ พอแข่งไตรกีฬาเป็นครั้งแรกในรายการชื่อ “IRONMAN” จากที่กลัวว่าจะทำได้ไหม เพราะต้องซ้อมว่ายน้ำด้วย ปั่นจักรยานด้วย แล้วตอนนั้นก็มีแฟน ซึ่งเราก็กังวลว่าตัวเองจะมีกล้ามเยอะเกินไป ภาวะจิตใจในตอนนั้นยังไม่พร้อมที่จะเป็นกะเทยกล้ามปู (หัวเราะ) เลยลังเลว่าจะไปหรือไม่ไปดี จนแฟนบอกว่า “ถ้าเธอมีความฝัน เราว่าเธอก็ทำไปเถอะ” เราเลยปลดล็อก แล้วก็ซ้อมเต็มที่ ตอนไปแข่งครั้งแรกก็แพนิก (Panic) มากเลยนะ ในทะเลมีแค่ทุ่นบอกระยะทีละ 100 เมตร ตรงยาวไปในทะเลประมาณ 700 เมตรเลย น่ากลัวมาก คิดกับตัวเองในใจว่า “เฮ้ย ฉันจะต้องว่ายไปตรงนั้นเหรอ แบบที่ไม่มีฟิน ไม่มีสน็อกเกิ้ล” แต่พอได้ว่ายจริงๆ ก็รู้สึกดีมาก มันเป็นความรู้สึกที่ว่าเราสามารถทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ พอจบไตรกีฬาครั้งแรก ก็เริ่มไปวิ่งเทรลบ้าง วิ่งมาราธอนบ้าง แข่งมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้เลยค่ะ”

ที่มาของชื่อเพจ “ไอรอน’เทยไทยแลนด์”

“ที่มาของชื่อนี้ก็คือมีพี่คนหนึ่งเชียร์ให้ไปแข่ง “IRONMAN” ตอนนั้นแจ็คคิดว่าตัวเองทำไม่ได้หรอก เท่านี้ก็มาไกลมากแล้ว พี่คนนี้ก็พูดขึ้นมาว่า “ถ้าแจ็คไปแข่ง IRONMAN จะเท่มากเลยนะ เป็นกะเทยคนแรกเลยด้วย” เชียร์กันมากๆ งั้นฉันก็จะเป็นกะเทยคนแรกของ IRONMAN ให้เธอเห็นจ้ะ ในช่วงปี พ.ศ. 2558 เป็นปีที่แจ็คออกสัมภาษณ์หลายๆ รายการ เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น แล้วก็ไปออกรายการของคุณวู้ดดี้ เขาถามแจ็คว่า “ถ้าคุณจบ IRONMAN คุณอยากจะให้ทุกคนประกาศว่าอะไร” เพราะว่าคนที่ไปแข่งรายการนี้ที่ต่างประเทศ เวลาประกาศชื่อเขาจะถือธงชาติ แจ็คเลยตอบไปว่าอยากให้ประกาศว่า ”ไอรอน’เทยไทยแลนด์” แล้วก็บอกกับตัวเองว่าถ้าจบจาก IRONMAN ที่ลังกาวี ฉันจะเรียกตัวเองว่า “ไอรอน’เทย”

คุณสมบัติสำคัญที่ผู้เข้าแข่งขันไตรกีฬาควรมี

‘วินัย’ ค่ะ เพราะว่าการจะซ้อมไตรกีฬาแล้วเล่นให้ได้ประสิทธิภาพ ก็ต้องวางแผนในการฝึกซ้อม ถ้าจะให้ดีเลย วันหนึ่งต้องซ้อม 2 รอบ ตอนเช้ากับตอนเย็น แล้วก็มีช่วงพักด้วย ในหนึ่งสัปดาห์ต้องมีการซ้อมว่ายน้ำ 3 วัน ปั่นจักรยาน 4 วัน แล้วก็วิ่งสัก 3-4 วัน คือต้องซ้อมกีฬาให้ครบทั้ง 3 ชนิด หมายความว่าจะต้องมีการซ้อมระยะยาว ซ้อมการลงคอร์ต ซ้อมสั้นๆ ด้วย นักไตรกีฬาจะเรียกการซ้อมแบบนี้ว่า ‘บริก’ (Brick training) ซึ่งก็คือการซ้อมพาร์ทเชื่อมระหว่างว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน กับการวิ่ง เป็นการเปลี่ยนโหมดกล้ามเนื้อให้เข้ากับกีฬาชนิดนั้นๆ ซึ่งถ้าไม่มีวินัยในการซ้อม มันอาจจะยากเกินไปที่จะเล่น แม้แต่ตัวแจ็คเองก็ต้องซ้อมให้ดีในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะเล่นไตรกีฬาได้อย่างปลอดภัยและสนุก”

ว่ายน้ำ - ปั่นจักรยาน - วิ่ง คิดว่าตัวเองถนัดอะไรมากที่สุด?

“ถ้าให้เรียงลำดับความถนัดเลย ก็คงเป็นการวิ่ง ถัดมาก็ว่ายน้ำ แล้วก็ปั่นจักรยาน จริงๆ แล้วมันยากทุกอย่างแหละ ถ้าจะเล่นไตรกีฬาให้ดีก็ต้องถนัดทั้ง 3 อย่าง แต่จุดแข็งของแจ็คก็คือการวิ่ง เพราะวิ่งมาราธอนมาก่อน ตามด้วยการว่ายน้ำ หลังๆ มานี้แจ็คชอบว่ายน้ำมาก ค้นพบว่าการว่ายน้ำเป็นอะไรที่สงบสุข เพราะถ้าเราว่ายได้อย่างถูกต้อง มันก็ปลอดภัย อย่างถ้าแจ็คเป็นตะคริวที่ขาก็ยังว่ายน้ำได้นะ ก็ใช้มือเอา พอว่ายจนคุ้นชินแล้วก็จะจับจุดได้เอง ส่วนการปั่นจักรยาน แจ็คก็มาค้นพบตอนเล่นไตรกีฬาว่ามันยากนะ มันไม่เหมือนเราปั่นจักรยานไปจ่ายตลาด มันคือการปั่นที่จะต้องเน้นหลายๆ ส่วน เช่น ดูรอบขา สมรรถนะกำลัง การเต้นของหัวใจ ต้องทรงตัวยังไง ปั่นขึ้น ลงเขายังไง แล้วถ้าเป็นการปั่นจักรยานในไตรกีฬา มันจะมีเทคนิคเข้ามาเพิ่มด้วย แจ็คก็เลยรู้สึกว่าตัวเองยังต้องพัฒนาในจุดนี้อีก ถ้าจะเล่นให้ติดโพเดียมก็ต้องซ้อมจริงจังมาก แบบนักกีฬามืออาชีพไปเลย ด้วยวิถีชีวิตของแจ็คที่ต้องเปิดร้านทำผมไปด้วย ก็คิดว่าเราอาจจะเล่นได้ประมาณหนึ่ง แต่ถ้าจะเล่นให้ได้ประสิทธิภาพจริงๆ อาจจะต้องเสียสละอะไรบางอย่างไปเหมือนกัน แจ็คก็เลยมองในมุมที่ว่าเราอยากเล่นไตรกีฬาไปนานๆ ให้ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพและความสุข จะได้ใส่ชุดสวยๆ ไปเล่นกับเพื่อนๆ ในวงการ”

คอลเลคชั่นชุด ‘Tri Suit’ ที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร

“เมื่อวันที่ 18-19 ของเดือนนี้ (มิถุนายน พ.ศ. 2565) แจ็คไปแข่งไตรกีฬาที่พัทลุง จะมีชุดไตรสูท (Tri suit – ชุดรัดรูปสำหรับการแข่งขันไตรกีฬา) ที่เป็นธีมไพรด์ (Pride) พอดีว่าคนที่เป็นผู้สนับสนุนแจ็คคือ ‘คุณหน่อย’ โรงงาน VATEMON’S IN U เขาน่ารักนะ มีความเปิดรับ LGBTQ+ เมื่อก่อนชุดไตรของแจ็คก็จะเป็นชุดแบบบึกบึน (หัวเราะ) เป็นชุดไตรทั่วไป จนแจ็คเริ่มคุยกับเขา ถ้าเทียบเป็นหนังเรื่องหนึ่ง นางคือคนที่เปิดโลกของเราว่ามันมีชุดไตรแบบนี้อยู่ เขาก็เสริมตัวตนให้เราเหมือนกันนะ ตอนนี้ชุดไตรทุกชุดของแจ็คจะมีธีม ชุดแรกที่สั่งตัดเองก็ชื่อ “Ultraviolet” บ่งบอกว่าตัวฉันคือสีม่วง เพราะแจ็คชอบสีม่วง ส่วนชุดที่ 2 ก็เป็นชุดลายเสือที่ทุกคนฮือฮามาก จากนั้นก็มีหลายลายเลย ทั้ง ‘มิกกี้ เม้าส์’ (Mickey Mouse) ศิลปะป็อบอาร์ตของ ‘แอนดี้ วอร์ฮอล์’ (Andy Warhol) ‘เอลซ่า’ (Elsa) ก็มี ซึ่งทาง VATEMON เขาจะส่งมาให้ทุกไตร รวมๆ แล้วตอนนี้แจ็คน่าจะมี 40 กว่าชุด เขาใจถึงมากที่ส่งชุดมาให้จนถึงทุกวันนี้ แล้วแจ็คก็ดีใจที่มีโอกาสได้ใส่ชุดธีมไพรด์สักที โดยเฉพาะในปีนี้ที่ทุกคนตื่นตัวเรื่องสิทธิเท่าเทียมของ LGBTQ+ มากขึ้น นักการเมืองหลายๆ คนหันมาสนใจและตระหนัก ส่วนตัวก็เห็นด้วยกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะว่าเพื่อนๆ หลายคนของแจ็คที่เป็นหญิงรักหญิง หรือชายรักชาย ก็มีปัญหาเรื่องนี้กันอยู่ ปริ่มใจมากที่มีคนออกมาพูดเรื่องนี้กันเยอะขึ้น มันเป็นการขับเคลื่อนทางสังคมที่ดีมากเลย”

เรื่องราวการเป็นกะเทยในวงการกีฬา

“เวลาที่วิ่งมาราธอน คนก็จะชอบเข้าใจว่าแจ็คเป็นผู้หญิง สมัย 9 ปีที่แล้ว การวิ่งมาราธอนจะแบ่งกลุ่มตามอายุ เวลาที่วิ่งเข้าเส้นชัย เขาจะประกาศชื่อ เพศ อายุ แล้วก็ลำดับการเข้าเส้นชัย ซึ่งสมัยนี้จะประกาศเป็นหมายเลขที่แปะบนหน้าอก แต่ก็ยังมีบางงานที่ยังประกาศแบบเดิมอยู่ แจ็คก็จะถูกประกาศว่าเป็นผู้หญิง อายุ 40 แจ็คปฏิเสธกับเขาเสมอว่าไม่ใช่ผู้หญิง จนมีการแข่งว่ายน้ำอยู่รายการหนึ่งที่เขาแบ่งถ้วยรางวัลเป็นของผู้ชายและผู้หญิง ฝั่งละ 25 ถ้วย ซึ่งเขาให้แจ็คเป็นผู้หญิงที่ได้อันดับที่ 24 แจ็คก็ยืนยันกับเขาว่าไม่ใช่ผู้หญิง แต่ผู้จัดงานน่ารักมาก เขาบอกว่าแจ็คเป็นผู้หญิง ท้ังๆ ที่แจ็คยังไม่ได้แปลงเพศ เป็นผู้หญิงที่มาเกิดในร่างของผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งในใจลึกๆ แจ็คก็กลัวว่าทุกคนที่อยู่ตรงนั้นจะมองว่าโกง กระทั่งตอนเอาถ้วยรางวัลนี้ไปวางบน Hall of fame (หอเกียรติยศ) ที่มีถ้วยระบุว่าเป็นผู้เข้าแข่งขันชายวางอยู่ ก็ยิ่งคิดว่าจะเอาถ้วยไปคืนดีไหม แต่รู้สึกปริ่มนะที่มีคนปรบมือให้แจ็คตอนรับมันมา แล้วก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของผู้หญิงจริงๆ น้องผู้หญิงที่รู้จักกันและได้อันดับที่ 25 ก็บอกว่า “เจ๊เป็นผู้หญิงสำหรับหนูเหมือนกัน” มันเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่แจ็ครับถ้วยรางวัลของผู้หญิง”

“เราไม่ได้มีเจตนาจะโกงผู้หญิงหรอก พวกเขาเป็นแม่ เพื่อนสาว พี่สาว น้องสาว แล้วก็เชื่อว่าคนข้ามเพศคนอื่นๆ ที่เป็นนักกีฬาก็ไม่ได้แข่งเพื่อโกงเหมือนกัน บางคนสภาพแบบ ‘ปอย ตรีชฎา’ จะให้ไปยืนบนโพเดียมกับผู้ชายก็ใจร้ายไปหน่อยไหม (หัวเราะ) แต่ถ้าไปยืนบนโพเดียมผู้หญิงก็อาจจะเป็นประเด็นได้ กะเทยอย่างแจ็คเลยโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ส่วนตัวรู้สึกว่ากีฬามันเป็นเรื่องของการฝึกซ้อม เป็นเรื่องของจิตใจที่ทุกคนเท่ากันด้วยซ้ำไป มันเป็นการวัดศักยภาพที่มาทำกันสนุกๆ แต่ก็เข้าใจด้วยว่ามันมีความต่างทางด้านสรีระร่างกายอยู่ ประเด็นนี้เลยยังเป็นเรื่องที่บอบบาง ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ ครั้งก็คงมีคนเห็นแจ็คแพ้ผู้หญิงหรือชนะผู้ชาย ก็เลยไม่คิดว่าผู้ชายจะได้เปรียบหรือผู้หญิงจะเสียเปรียบต่อคนอย่างแจ็ค บนเส้นทางของกีฬา”

“กีฬามีแพ้ มีชนะ มีสปิริตอยู่ในนั้น แจ็คค้นพบว่ากีฬาสามารถยกระดับจิตใจของคนได้ และโลกจะดีขึ้นกว่าไหม ถ้าเราไม่ละเลยกันและกัน”

ห้องน้ำ / ห้องแต่งตัวไม่แบ่งเพศสำหรับนักกีฬา จำเป็นหรือไม่จำเป็น?

“ตอนนั้นแจ็คไปแข่ง IRONMAN อีกรายการหนึ่ง เวลาที่ทรานซิชั่นในการแข่งระยะยาว ทุกคนขึ้นมาจากน้ำแล้วเปลี่ยนชุดไปปั่นจักรยานต่อ มันจะมีห้องแต่งตัวซึ่งแบ่งเป็นของผู้ชายกับผู้หญิง ก็มีคนถามแจ็คว่าจะเข้าห้องไหน เหมือนกับถามว่าเราจะเข้าห้องน้ำหญิงหรือชาย คนที่ฟังก็อาจจะขำๆ นะ แต่สำหรับกะเทย พูดเลยว่าลำบากใจ ก็ต้องจำใจเข้าห้องแต่งตัวของผู้ชาย เพราะจะเข้าห้องผู้หญิงก็คงโดนมองแปลกๆ เหมือนกัน เพราะเขาก็จะรีบเปลี่ยนชุดกันแบบไวๆ ของผู้ชายก็เป็นแบบนั้น แต่อย่างน้อยเครื่องเพศก็ไม่ต่างกัน ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากเข้าไปดูใครแก้ผ้าหรอก ต่างคนต่างมีสิ่งที่ต้องทำก่อนไปแข่งต่อทั้งนั้น แล้วแจ็คก็อายที่ต้องแก้ผ้าต่อหน้าคนอื่นในห้องนั้น วิธีแก้ไขปัญหาของแจ็คเลยเป็นการเอาผ้าถุงเข้าไปคลุมแก้เขิน ถ้ามีห้องน้ำหรือห้องแต่งตัวที่ไม่แบ่งเพศสำหรับ LGBTQ+ ก็คงจะดีมากเลย แต่จะมีใครมาทำให้หรือเปล่า” (หัวเราะ)

สิ่งที่ภูมิใจในการเป็นนักกีฬากะเทยคนแรกๆ ของประเทศไทย

“แจ็คยังไม่เคยเห็นกะเทยเล่นไตรกีฬาจริงจังนะ แล้วก็ยังไม่เห็นกะเทยที่ IRONMAN เหมือนกัน รู้สึกว่าการเป็นไอรอน’เทยของแจ็ค มันคือคำตอบว่าจริงๆ แล้วไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร ก็สามารถทำสิ่งที่คนอื่นไม่คาดคิดได้ แล้วแจ็คก็เชื่อว่าทุกคนไม่ควรมาจำกัดกันว่าใครทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ก่อนจะไปแข่ง แจ็คก็ซ้อมและพัฒนาตัวเองทุกครั้ง มันเลยไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเพศอะไร ภาพจำของหลายๆ คนอาจจะมองว่ากะเทยอ่อนแอ โดนผู้ชายแกล้ง บางคนก็ไม่ได้ยอมรับหรือมองว่าเพศสภาพของเราเท่ากันกับเขา มันน่าจะถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องมาปรับกันเรื่องการแบ่งเพศของนักกีฬา เพราะ LGBTQ+ ที่เป็นคนชายขอบอย่างแจ็คก็ไม่ได้อยากโดนมองว่าโกงหรือได้เปรียบ ถ้าเป็นไ�