‘Burning’ ภาพยนตร์ระทึกขวัญสัญชาติเกาหลี เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อปี ค.ศ. 2018 โดยดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น ‘Barn Burn’ ของ ‘ฮารุกิ มุราคามิ’ (村上 春樹) เป็นผลงานชิ้นเอกต้อนรับการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของผู้กำกับมากฝีมืออย่าง ‘อีชางดง’ (이창동) ที่เคยฝากผลงานภาพยนตร์อันเป็นที่จดจำอย่างเช่นเรื่อง ‘Peppermint Candy’ (1999) และ ’Secret Sunshine’ (2007) แค่ได้เห็นรายชื่อนักแสดงในหนังเรื่องนี้ก็ยิ่งการันตีว่า Burning ต้องแผดเผาทุกคนที่อยู่หน้าจอให้ไหม้ม้วยเป็นจุลอย่างแน่นอน กับรายชื่อนักแสดงชั้นนำของเกาหลีอย่าง ‘ยูอาอิน’ (유아인) และ ‘จอนจงซอ’ (전종서) อีกทั้ง ‘สตีเฟน ยอน’ (Steven Yeun/연상엽) ชาวเอเชียน-อเมริกันคนแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์ ‘Minari’ บนเวที Oscar มาแล้ว
Burning สะท้อนความต่างของชนชั้นฐานะทางสังคม การดิ้นรน ความรัก กามตัณหาของวัยหนุ่มสาว ความอิจฉาริษยา และสอดแทรกเกี่ยวกับปัญหาสังคมเกาหลีใต้ไว้ได้อย่างลงตัว ผู้กำกับเริ่มวางเชื้อเพลิงให้คนดูด้วยเรื่องราวรักสามเส้า ความสัมพันธ์ที่แสนซับซ้อนของหนุ่มสาวโดยดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลักสามตัว ‘อีจงซู’ (이종수 – รับบทโดยยูอาอิน) ชายหนุ่มจากครอบครัวเกษตรกรรมที่ยากจนในพาจู ใกล้ชายแดนเกาหลีเหนือ ผู้มีความฝันอยากเป็นนักเขียน อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังทำงานรับจ้างทั่วไปในเมืองโซล ก็มีสาวสวยวัยเดียวกับเขาเข้ามาทักทาย และบอกว่าชื่อของเธอคือ ‘ชินแฮมี’ (신해미 – รับบทโดยจอนจงซอ) แฮมีแนะนำตัวเองว่าเป็นเพื่อนร่วมชั้นมัธยมปลายของจงซู แม้จะไม่สามารถจำเธอได้ในทันที แต่ด้วยบุคลิกที่เข้าถึงง่ายของแฮมี ทำให้ทั้งสองสานสัมพันธ์กันอย่างรวดเร็ว และจบด้วยเสน่ห์ตัณหาอันเป็นที่มาของความสัมพันธ์ไม่มีชื่อเรียกของทั้งสอง เธอเล่าให้จงซูฟังเกี่ยวกับการเดินทางไปแอฟริกาของเธอในเร็วๆ นี้ และไหว้วานให้จงซูดูแลเจ้าบอยด์ แมวของเธอขณะที่เธอไม่อยู่ เวลาผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ แฮมีก็กลับเกาหลีมาด้วยกันกับ ‘เบน’ (Ben – รับบทโดยสตีเฟน ยอน) ชายหนุ่มปริศนาฐานะดี กลายมาเป็นคนที่สามในความสัมพันธ์ระหว่างจงซูกับแฮมี และแล้วเรื่องราวโกลาหลทั้งหมดก็เกิดขึ้น เมื่อแฮมีได้หายตัวไป และเบนที่เปิดเผยงานอดิเรกลับ ซึ่งก็คือการ ‘เผาโรงเพาะชำ’ แก่จงซู เรื่องราวทั้งหมดถูกยึดโยงกันเอาไว้และกลายเป็นเชื้อเพลิงสุมอยู่ภายใน เผาไหม้จิตใจของจงซูโดยไม่รู้ตัว
ต้องยอมรับเลยว่าไดนามิกใน Burning ทำให้ 2 ชั่วโมงของการเล่าเรื่องเราได้เห็นภาพของการเตรียมการ สุมไฟ และเผาไหม้ อย่างช้าๆ และเป็นขั้นเป็นตอน สกอร์ของหนังสร้างความตื่นเต้นและลุ้นระทึกตามไปได้ทุกจังหวะ
ประเด็นเรื่องช่องว่างระหว่างชนชั้น ที่เป็นประเด็นสังคมสุดฮิตในเกาหลีที่ถูกหยิบมาใช้อยู่บ่อยๆ และ Burning ก็เช่นกัน บทสนทนาที่ทิ่มแทงในชนชั้นแรงงาน ความรันทดของจงซู และแฮมี ที่ต้องดิ้นรนในเมืองหลวง เมื่อตัดภาพที่เบนแล้วมันเหมือนเหรียญคนละด้านที่ไม่มีทางจะพบเจอกันได้เลย คำถามที่จงซูถามเบนว่า “ทำงานอะไร” คำตอบที่ชวนเอาเชื้อไฟในใจให้ประทุจากเบนคือ “เล่น” ยังไม่รวมความสัมพันธ์แบบ เราสองสามคน ที่เกิดขึ้นระหว่าง จงซู แฮมี และเบน ที่เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน และจงซูก็ถูกบีบให้กลายเป็นส่วนเกินในทุกมิติของความสัมพันธ์นี้
“เขาคือ The Great Gatsby”
“หมายความว่ายังไง”
“พวกคนลึกลับที่หนุ่มแน่นและร่ำรวย แต่เธอจะไม่มีวันรู้ว่าเขาทำมาหากินอะไร”
นอกจากความรวยและสังคมที่เขาอยู่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เล่าเกี่ยวกับตัวเบนมากนัก ผู้กำกับมักจะใช้ลวดลายที่เป็นพื้นกระจก และผิวสะท้อนแสงซ้ำๆ เป็นการสื่อโดยนัยว่าจงซูและเบนเป็นเหมือนภาพสะท้อนอีกด้านของกันและกัน ในบางครั้งก็มักจะฉายมุมมองสายตาของจงซูที่มองผ่านกระจกกั้นกำแพง ทำให้บางฉากส่งความรู้สึกอัดอัดที่ถูกแบ่งแยกมาให้คนดูรับรู้ได้เต็มๆ ว่าเชื้อเพลิงแห่งความคับข้องใจค่อยๆ สุมอยู่ภายในใจของจงซู เหลือเพียงรอเวลาที่ได้จุดให้ไฟมันลุกโชนเท่านั้น
สิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็น
ตั้งแต่เริ่มเรื่องที่แฮมีกับจงซูพบกันครั้งแรก แฮมีเล่าเรื่องที่เธอกำลังเรียนละครใบ้และได้แสดงให้จงซูดูว่ากำลังกินส้มอยู่ เธอบอกเขาว่า “หลักสำคัญไม่ใช่การเชื่อว่ามันมี แต่คือการต้องลืมว่ามันไม่มีอยู่ต่างหาก” ตั้งแต่เริ่มต้นยันจบ Burning มักจะเล่นกับความคิดของคนดูอยู่เสมอว่าสิ่งที่ตัวละครทั้งสามพูดและทำนั้นคือความจริงหรือไม่ แม้กระทั่งตอนที่จงซูไปให้อาหารแมวที่ห้องแฮมีตามคำร้องขอ นอกจากอาหารแมว และกระบะทราย เราก็ยังไม่เคยเห็นตัวแมวจริงๆ เสียด้วยซ้ำ จนแว๊บหนึ่ง จงซูยังคิดเลยว่าแฮมีเลี้ยงแมวจริงหรือเปล่า
ด้วยความที่ตัวละครหลักอย่างจงซูเรียนจบด้านงานเขียน ตัวบทก็เลยดูเหมือนจงใจทำให้เต็มไปด้วยประโยคที่ต้องตีความ ใช้คำอุปมาเล่นกับความคิด ในตอนที่เบนบอกความลับกับจงซูว่าเขาจะเผาโรงเพาะชำร้างทุกๆ เดือน แถมยังพูดทิ้งท้ายเสียน่าขนลุกอีกว่าการ ‘เผา’ ครั้งถัดไปกำลังจะเกิดขึ้นไม่ไกลจากบ้านของจงซู ทำเอาจงซูถึงกลับหลอน ออกจากบ้านทุกเช้าเพื่อตรวจดูโรงเพาะชำแถวบ้านกันเลยทีเดียว ประจวบเหมาะกับการที่แฮมีหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย มันทำให้เรากลับมาคิดไปพร้อมกับจงซูว่า ‘เรือนเพาะชำ’ ที่เบนต้องการจะ ‘เผา’ นั้น มันคือเรือนเพาะชำจริงๆ หรือหมายถึง ‘คน’ กันแน่ เพราะหากมองในอีกมุมหนึ่ง เราก็จะตีความคิดของเบนที่เป็นชนชั้นอีลีทได้ว่า เขาให้ค่าคนที่มีฐานะต่ำกว่าเป็นแค่เรือนเพาะชำร้างๆ จะเผาทิ้งไปสักเท่าไหร่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต
Burning จะดำเนินเรื่องโดยค่อยๆ เติมเชื้อเพลิงเข้าสู่ความรู้สึกของคนดูทีละเล็กทีละน้อย จนมันถาโถมมาเป็นกองไฟกองใหญ่ทีเดียวตอนท้ายเรื่อง มันไม่ใช่หนังที่ดูครั้งเดียวแล้วสามารถเข้าใจได้ในทันที ในแบบหนังที่ต้องปีนบันไดดู ที่เป็นลายเซ็นของผู้กับกับอีชางดงที่ชอบปล่อยจังหวะว่างในหนัง เพื่อให้คนดูคิดเอาเองว่าตัวละครรู้สึกอะไร หรือมักจะฝากคำถามไว้ให้คนดูว่า “จบแบบนี้ แล้วยังไงต่อ?” เหมือนเป็นการบังคับกลายๆ ว่าเราต้องพึ่งพาจินตนาการของตัวเองในการเติมเต็มช่องว่างที่ผู้กำกับทิ้งเอาไว้ให้
กวีภาพเรื่องนี้เต็มไปด้วยองค์ประกอบที่สวยงาม การแสดงที่ดึงความสนใจของคนดูเอาตลอดทั้งเรื่อง ทั้งแววตา สีหน้า ท่าทาง ซึ่งส่งอารมณ์มาถึงคนดูเต็มๆ ประเด็นเรื่องความแตกต่างของชนชั้นที่ทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตและสังคมรอบข้างก็ถูกแสดงออกมาให้เห็นทั้งแบบนามธรรมและรูปธรรม ถึงแม้หนังจะมีสัญญะและนัยยะที่ต้องเก็บมาตีความอยู่เยอะมาก แต่หากคุณสามารถเข้าใจแก่นของเนื้อเรื่องได้แล้ว คุณจะยกให้ Burning เป็นภาพยนตร์ที่คุ้มค่าแก่การรับชมแน่นอน
ขอขอบคุณรูปภาพจาก Netflix