ความอ่อนหวาน และเปราะบาง คงเป็นภาพที่หลายคนอาจจะนึกถึง เมื่อเราบอกว่าวันนี้เราจะเข้าไปแตะเรื่องราวของ ‘ผู้หญิง’ นี่คือภาพที่สะท้อนให้เห็นภายใต้ความเป็นผู้หญิง อาจจะแฝงไว้ด้วยการกดทับจากขั้วพลังต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในสังคม ก่อนที่เราจะก้าวเข้าสู่ ‘วันสตรีสากล’ (International Women’s Day) EQ อยากพาทุกคนไปสัมผัสความกดดันที่แฝงเร้นอยู่ในโลกใบนี้ ซึ่งผู้หญิงต้องเผชิญอยู่ไม่เว้นวัน ผ่านลิสต์หนังที่จะทำให้คุณเข้าใจว่าทำไมเราต้องโอบรับ โอบกอด และฉลองความเป็นผู้หญิง
Dogville (2003)
Photo Credit: imbd / archdaily / Film at Lincoln Center
TW: การล่วงละเมิดทางเพศ / การใช้ความรุนแรงและการกดขี่ / การกราดยิง
ภาพยนตร์ดราม่าจากฝีมือผู้กำกับชาวเดนิชอย่าง ลาร์ส ฟอน เทรียร์ (Lars von Trier) ด้วยวิธีการเล่าเรื่องสไตล์ avant-garde ผ่านฉากหลังแบบละครเวที การบรรยายเรื่อง และเส้นเรื่องที่ถูกแบ่งออกเป็น 9 องก์ เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ‘เกรซ มัลลิแกน’ (Grace Mulligan) – รับบทโดย นิโคล คิดแมน (Nicole Kidman) หญิงสาวแปลกหน้าที่หนีการตามล่าจากกลุ่มอันธพาลมายัง ‘ด็อกวิลล์’ หมู่บ้านเล็กๆ แถบเทือกเขาร็อกกี้ ก่อนที่เธอจะได้รับความช่วยเหลือจาก ‘ทอม เอดิสัน จูเนียร์’ (Tom Edison, Jr.) – รับบทโดย พอล เบ็ตตานี (Paul Bettany) ให้เข้ามาซ่อนตัวที่เหมืองในหมู่บ้าน เกรซต้องพิสูจน์ตัวเองกับเหล่าชาวบ้านเพื่อให้เธอได้อยู่ที่นี่ โดยการทำงานใช้แรงงานสารพัด แลกกับเงินน้อยนิด แต่เธอก็อดทนจนกลายเป็นที่ยอมรับ การเข้ามาของเกรซทำให้หมู่บ้านแห่งนี้เปลี่ยนไป ยิ่งนานวันเกรซยิ่งรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เผยให้เห็นความดำมืดในใจของชาวบ้านในหมู่บ้านด็อกวิลล์ก็เกิดขึ้น เกรซต้องเผชิญกับการคุกคาม และล่วงละเมิดทางเพศ การย่ำยีความรู้สึกจนสุดจะกลั้น จากเหล่าชาวบ้าน ก่อนที่เรื่องราวจะหักมุมไปสู่จุดจบ การล้างบางหมู่บ้านแห่งนี้ ที่บอกได้เลยว่านี่คือ การปะทุของอารมณ์อ่อนไหวที่ถูกกดทับที่ทั้งหดหู่ และสาแก่ใจไปในคราวเดียวกัน
The Handmaiden (2016)
Photo Credit: imbd / azcentral / asian movie pulse
TW: เพศสัมพันธ์, ความรุนแรงในครอบครัว และการฆาตกรรม
ความฉ้อฉล ซับซ้อน และเร่าร้อนด้วยกามารมณ์ คงเป็นคำที่อธิบายภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ‘The Handmaiden’ คือภาพยนตร์ที่จะพาทุกคนไปสำรวจโลกของเหล่าผู้หญิงที่ถูกกดทับภายใต้สังคมปิตาธิปไตย ผ่านฉากหลังในยุค 30’s ที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลี โดยเรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อ ‘ซุคฮี’ (Sook-Hee) – รับบทโดย คิมแทรี (Kim Tae Ri) นักต้มตุ๋นสาว ถูกจ้างให้ปลอมตัวมาเป็นสาวใช้คนสนิทของ ‘เลดี้ฮิเดโกะ’ (Lady Hideko) – รับบทโดย คิมมินฮี (Kim Min Hee) ทายาทตระกูลเศรษฐีชาวญี่ปุ่นจนนำไปสู่สายสัมพันธ์อันลึกซึ้ง และเร่าร้อนจนต้องซู๊ดปากกันเลยทีเดียว เรื่องราวถูกเล่าเป็น 3 พาร์ท ผ่านมุมมองของ 3 ตัวละครอย่าง ซุคฮี ฮิเดโกะ และ ‘ท่านเคานต์ฟูจิวาระ’ (Count Fujiwara) – รับบทโดย ฮาจองอู (Ha Jung-woo) ขุนนางกำมะลอที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวการหลอกลวงแสนสลับซับซ้อนนี้ หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการถูกกดขี่ของฮิเดโกะ โดยมนุษย์เพศชายรอบตัวเธอ เช่นเดียวกับ ซุคฮี ที่ถูกกดทับด้วยการเป็นหญิงยากจนชาวเกาหลี ด้วยอำนาจแห่งสังคมชายเป็นใหญ่ และชนชั้นวรรณะ ทำให้ทั้งสองตัวละครนี้ต่างต้องหาทางปลดแอกสู่อิสรภาพ ภายใต้ความไว้ใจ และสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งเกินกว่านายหญิง และสาวรับใช้
Still Alice (2014)
Photo Credit: imbd / thisable.me / jediyuth / monomax
โรคร้ายกับการสูญสลายความทรงจำ ที่ไม่อาจคงไว้แม้แต่ตัวตนของตัวเอง ‘Still Alice’ ภาพยนตร์ดราม่าที่เล่าเรื่องราวของ ‘อลิส ฮาวแลนด์’ (Alice Howland) – รับบทโดย จูลีแอนน์ มัวร์ (Julianne Moore) อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ที่พบว่าเธอกำลังป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ก่อนวัยอันควร โรคร้ายนี้ค่อยๆ กัดกินความทรงจำของเธอไปทีละน้อย คำศัพท์ในหัวของเธอเริ่มหายไป ชีวิตประจำวันของเธอเริ่มผิดเพี้ยน และในวันหนึ่งแม้แต่ตัวตนของเธอเองก็จะถูกพรากไปเช่นกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อยๆ พาเราเดินทางไปพร้อมกับอลิส และครอบครัวของเธอ อันประกอบไปด้วยสามี และลูกๆ อีก 3 คน ที่ต้องคอยประคับประคองความสัมพันธ์ร่วมไปกับการรับมือโรคร้ายที่ไม่อาจจะยับยั้งได้ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าตัวละครอลิสจะประสบความสำเร็จในแวดวงวิชาการ แต่การที่เธอเป็นผู้หญิงอายุ 50 ปี เธอก็ต้องเผชิญกับการกดดัน และการเลือกปฏิบัติทางเพศอยู่ดี ยิ่งเธอต้องเผชิญกับโรคร้ายที่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเธอลดลง เธอก็ยิ่งรู้สึกแตกสลาย เพราะสิ่งล้ำค่าอย่างความรู้ที่เธอสั่งสมมากำลังถูกพรากไป ยิ่งไปกว่านั่นการที่เธอเป็นผู้หญิง ทำให้เธอต้องถูกมองด้วยความคาดหวัง และแบบแผนทางเพศเดิมๆ เช่น การที่คนในครอบครัวมองว่า เธอแค่สูญเสียความทรงจำตามประสาผู้หญิงที่มีอายุแล้ว จนไม่รับรู้ถึงความรุนแรงของโรคที่อลิสเผชิญอยู่ หรือแม้แต่การที่เธอต้องอยู่กับความคาดหวังว่าจะต้องดูแลเอาใจใส่คนอื่นๆ ได้ ตามประสาผู้หญิงคนหนึ่ง ทั้งๆ ที่ความทรงจำของเธอถูกพรากไป จนแม้แต่การดูแลตัวเองยังเป็นเรื่องยาก ภาพยนตร์เรื่องนี้จะพาเราไปทำความเข้าใจกับโรคอัลไซเมอร์ในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น เมื่อความทรงจำที่หายไป นำพามาซึ่งความสวยงามของความสัมพันธ์ และความสุข
Little Women (2019)
Photo Credit: moma / minimore / The New York Times / The Noiz Mag
ภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายสุดคลาสสิกในชื่อเรื่องเดียวกัน ผ่านมุมมองการเล่าโดยผู้กำกับหญิงอย่าง ‘เกรตา เกอร์วิก’ (Greta Gerwig) เล่าเรื่องของสี่พี่น้องตระกูลมาร์ช ในช่วงศตวรรษที่ 19 ท่ามกลางสภาวะแร้นแค้นของสงคราม กับการแยกย้ายไปเติบโตบนเส้นทางชีวิตของทั้งสี่ดรุณี กระทั่งวันหนึ่งมีเรื่องราวให้พวกเธอต้องกลับมารวมตัวกัน เมื่อน้องสาวคนสุดท้องของบ้านป่วยหนัก และเหลือเวลาอยู่อีกไม่นาน Little Women ดำเนินเรื่องผ่านตัวละคร ‘โจเซฟีน “โจ” มาร์ช’ (Josephine “Jo” March) – รับบทโดย เซอร์ชา โรนัน (Saoirse Ronan) ลูกสาวคนที่สองของบ้าน โจเป็นสาวห้าว หัวแข็ง และแสนจะอินดี้ ที่มาพร้อมความฝันในการเป็นนักเขียน แต่เธอก็ต้องพลาดหวังเพราะความชายเป็นใหญ่ในวงการนักเขียน เท่านั้นยังไม่พอเธอยังต้องเผชิญกับความกดดันเรื่องการแต่งงาน ภายใต้วัฒนธรรมความเป็นผู้หญิง แต่ถึงอย่างนั้น โจก็ปฏิเสธความสัมพันธ์ และการแต่งงานมาตลอด อีกหนึ่งตัวละครที่บอกเล่าถึงความกดดันของผู้หญิงได้ชัดเจน คือ ‘เอมี่ มาร์ช’ (Amy March) – รับบทโดย ฟลอเรนซ์ พิว (Florence Pugh) น้องสาวคนที่สามของครอบครัว ตัวละครแสนทะเยอทะยานในโลกที่ครอบงำโดยผู้ชาย แม้เธอจะพยายามเอาชนะสังคมชายเป็นใหญ่อย่างไร เอมี่ก็ยังติดอยู่กับข้อจำกัดของความเป็นผู้หญิง และสภาวะจำยอมพึ่งพาผู้ชายร่ำรวย เพื่อความมั่นคงทางการเงิน และสถานะทางสังคมของครอบครัวอยู่ดี นอกจากนี้ Little Women ยังพูดถึงมุมมองของผู้หญิงที่ต้องหาเลี้ยงตัวเองอย่างยากลำบากในยุคที่ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า นี่คือการบอกเล่าการถูกกดทับของผู้หญิงที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย เพื่อคว้าความฝันในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยคุณค่า และความคาดหวังของสังคมชายเป็นใหญ่ ผ่านภาพยนตร์ได้อย่างทันสมัยทีเดียว
Hidden Figures (2016)
Photo Credit: imbd / intofilm / 20th century studios / The Atlantic
แรงบันดาลใจจากเรื่องจริง สู่เรื่องราวอบอุ่นหัวใจของ 3 นักคณิตศาสตร์หญิงเชื้อสาย แอฟริกัน-อเมริกัน ในองค์กร NASA กับเป้าหมายในการส่งยานอวกาศเข้าสู่วงโคจร เรื่องราวเกิดขึ้นในยุค 60’s โดยมีฉากหลังเป็นสงครามการสำรวจอวกาศระหว่างอเมริกา และรัสเซีย บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครเพื่อนซี้สามคม ได้แก่ ‘แคเธอรีน จอห์นสัน’ (Katherine Johnson) – รับบทโดย ทาราจิ พี. เฮนสัน (Taraji P. Henson) ‘โดโรธี วอห์น’ (Dorothy Vaughan) – รับบทโดย ออคตาเวีย สเปนเซอร์ (Octavia Spencer) และ ‘แมรี่ แจ็กสัน’ (Marry Jackson) – รับบทโดย จาแนลล์ โมเน่ (Janelle Monáe) นักคณิตศาสตร์ในองค์กร NASA มากความสามารถ แต่กลับถูกกีดกันด้วยเพศ และเชื้อชาติของพวกเธอ วันหนึ่งแคเธอรีนถูกเรียกตัวไปช่วยคำนวณวิถีโคจรภายใน Space Task Group แต่เนื่องจากเธอคือ ผู้หญิงผิวสีคนแรกของหน่วยงานนี้ ในยุคที่มีการแบ่งแยก และจำกัดพื้นที่สำหรับคนผิวสีชัดเจน แคเธอรีนต้องเสียเวลางานไปกับการเข้าห้องน้ำในโซนของคนแอฟริกัน-อเมริกัน เนื่องจากในตึกไม่มีห้องน้ำสำหรับเธอ ซึ่งนี่คือ อุปสรรคที่กีดกันโอกาสที่เธอจะได้แสดงความสามารถของเธอออกมาอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับโดโรธี ที่รับหน้าที่รักษาการแทนหัวหน้ากลุ่ม Colored Computing Group แต่ก็ถูกตัดโอกาสในการตัดสินใจเนื่องจากเธอไม่ได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นเป็นหัวหน้างานอย่างเต็มตัวสักที สำหรับแมรี่เองก็ไม่แพ้กัน เธอมีความฝันอยากเป็นวิศวะกรของ NASA แต่กลับถูกกฎระเบียบเรื่องการรับสมัครพนักงานตัดตอนความฝันไปตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม เรื่องราวค่อยๆ ดำเนินไปพร้อมเส้นทางการต่อสู้ของทั้งสามสาว ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจร เกิดเป็นความประทับใจ ตามสไตล์หนังฟีลกู้ดที่อยากแนะนำให้ดูสักครั้ง
รถไฟฟ้า…มาหานะเธอ (2009)
Photo Credit: The Standard / wikipedia / soccersuck
ใครจะไปคิดว่าหนังโรแมนติก-คอมเมดี้ ที่ครองใจใครหลายๆ คนเรื่องนี้ จะถูกนำมาอยู่ในลิสต์ของเราด้วย กับเรื่องราวความรักระหว่างพนักงานบริษัทสาวโสด กับหนุ่มวิศวกรรถไฟฟ้าอย่าง ‘เหมยลี่’ – รับบทโดย คริส หอวัง และ ‘ลุง’ – รับบทโดย เคน ธีรเดช ที่ถูกบอกเล่าผ่านประเด็นการดิ้นรนตามหารักแท้ของสาวโสดอายุ 30 ที่มาพร้อมรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ จนถูกจัดขึ้นหิ้งหนังรักขวัญใจใครต่อใครไปไม่น้อย แต่ภายใต้เสียงหัวเราะ ก็แอบฉาบไว้ด้วยประเด็นการกดทับผู้หญิงในสังคมไทย เริ่มตั้งแต่ความกดดันของสาวโสด ในครอบครัวเอเชีย กับภาพหวังของสังคมที่ผู้หญิงต้องลงหลักปักฐานด้วยการมีลูก มีผัว นี่คือบทบาททางเพศที่เหมยลี่ต้องเผชิญ และมันนำให้เธอเข้าสู่วงโคจรของการตามหาความรัก (ที่เป็นแกนของหนังเรื่องนี้) ไหนจะการกีดกัน และการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ที่ปิดกั้นโอกาสการพัฒนาของผู้หญิง ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดอยู่ถึงทุกวันนี้ (แม้จะผ่านเวลามากว่าสิบปีแล้วก็เถอะ) นอกจากนี้ยังมีประเด็นการคุกคามทางเพศอย่าง ‘สตอล์กเกอร์’ ที่ผู้หญิงต้องเผชิญเมื่ออยู่ลำพังอีกด้วย (นี่ยังไม่รวมการกดทับด้วยมาตรฐานความงามแบบอุดมคติที่เหมยลี่ต้องเจออีกนะ) โดยรวมแล้วถึงภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่ก็ยังมีประเด็นเรื่องการกดทับความเป็นผู้หญิงในสังคมไทยแฝงเอาไว้ให้เราได้คิด ทั้งนี้เราไม่ได้บอกว่าคุณห้ามสนุก หรือหัวเราะไปกับหนังเรื่องนี้ เพียงแต่เราอยากให้คุณได้ลองมองถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ ประเด็นที่ผู้หญิงในสังคมไทยต้องเผชิญ (และยังคงต้องเจออยู่จนตอนนี้) อย่างน้อยที่สุด คุณก็จะได้เข้าใจว่าทำไม ใครๆ ถึงสามารถเป็นเหมยลี่กันได้ทั้งนั้น
Encanto (2022)
Photo Credit: Disney Thailand / sanook / wannasin / Mary Farsaci Quinn /Disney Wiki Fandom
Encanto คืออีกภาพของความสดใสที่เราหยิบยกมาใส่ลิสต์ของ EQ ในครั้งนี้ เรื่องราวของครอบครัวที่มาพร้อมกับพลังมหัศจรรย์เหนือจินตนาการ และทายาทผู้ไร้พลังหนึ่งเดียวอย่าง ‘มิราเบล’ เธอคือ เด็กผู้หญิงที่เกิดมาพร้อมความคาดหวังว่าจะได้รับพลังวิเศษเหมือนญาติพี่น้องคนอื่นๆ ในบ้าน แต่แล้วพลังนั้นก็ไม่อยู่ข้างเธอ การเติบโตมารายล้อมด้วยผู้คนมากความสามารถ และความผิดหวังแบบผู้ไร้พลัง ย่อมเป็นความกดดันที่เด็กหญิงคนหนึ่งต้องแบกรับและอดกลั้น ใช่แล้ว ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้เริ่มเล่าเรื่องเหมือนมิราเบลคือ ตัวละครที่ต้องแบกรับ และเก็บกดความรู้สึกต่างๆ เอาไว้แต่เพียงผู้เดียว จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง และเปิดเผยปมที่อยู่ลึกๆ ในใจของสองตัวละคร อย่าง ‘อิซาเบลล่า’ พี่สาวที่แสนเพอร์เฟ็กต์กับพลังดอกไม้แสนสง่างาม ทุกอย่างรอบตัวเธอดูสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงเส้นทางชีวิตของเธอที่มีแบบแผนไร้อุปสรรค แต่ใครเลยจะรู้ว่านี่คือ ‘กรงขัง’ อิซาเบลล่ารู้สึกไร้ซึ่งอิสระภาพ และถูกตรึงไว้ในกรอบของภาพผู้หญิงเพอร์เฟ็กต์ตามที่ครอบครัวหวัง เช่นเดียวกับ ‘ลุยซ่า’ พี่สาวสุดแข็งแกร่ง กับพละกำลังที่ทำให้เธอกลายเป็นเรี่ยวแรงของคนทั้งเมือง ภาระหนักอึ้งนี้ (ที่หมายถึงหนักจนอึ้งไปเลยจริงๆ ทั้งยกตึก ยกสะพาน) คือ สิ่งที่ติดตัวเธอมาพร้อมพลังวิเศษ และท้ายที่สุดเธอต้องการปล่อยมันลง และนอนทิ้งตัวเบาๆ บ้างก็เพียงเท่านั้น สิ่งที่ถูกซ่อนไว้ในการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องนี้ คือภาพสะท้อนของความคาดหวัง และความกดดันที่ผู้หญิงในปัจจุบันต้องแบกไว้ ว่าพวกเธอต้องเป็น ‘อะไรสักอย่าง’ จนตัวตนของพวกเธอถูกกลืนกินไป Encanto เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นสุดน่ารักสดใส ที่มาพร้อมกับเพลงเพราะๆ แสนติดหู ที่เราอยากชวนให้ทุกคนดูให้ลึกลงไปถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน