ถ้าจะพูดถึงการ์ตูนเจ้าหญิง แฟนตาซี ความฝัน และการผจญภัย ภาพในใจใครหลายๆ คนก็หนีไม่พ้นการ์ตูนดิสนีย์แน่ๆ ซึ่งเจ้าหญิงดิสนีย์คนแรกของโลกคือ ‘สโนว์ไวท์’ (Snow White and the Seven Dwarves, 1937) หลังจากนั้นก็มีเจ้าหญิงจากตำนานเรื่องเล่ารอบโลกอยู่มากมายที่มาครองใจผู้ชมทุกเพศทุกวัย และหนึ่งในคาแร็กเตอร์เจ้าหญิงสุดไอคอนิกที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ‘แอเรียล’ เงือกสาวผมแดงหางเขียวจาก The Little Mermaid (1989) ที่ก็เพิ่งจะมีหนังไลฟ์แอ็กชั่นของตัวเองเข้าฉายไปไม่นานมานี้ด้วย
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เจ้าหญิงดิสนีย์ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของหญิงสาวจากรอบโลก ไม่ว่าจะเป็น ’จัสมิน’ (Aladdin, 1992) ตัวแทนเจ้าหญิงอาหรับ ‘มู่หลาน’ (Mulan, 1998) ตัวแทนเจ้าหญิงจากแดนมังกร หรือ ‘เทียน่า’ (The Princess and the Frog, 2009) ตัวแทนเจ้าหญิงคนดำคนแรกของค่าย ทุกคนต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรื่องราวที่น่าสนใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนดูอยู่เสมอ ว่าแต่เงือกน้อยแอเรียลล่ะ เธอเป็นตัวแทนของคนกลุ่มไหนกันแน่?
มีหลายทฤษฎีวิเคราะห์มากมาย ที่พยายามโยงชาติพันธุ์ของเธอไปอย่างหลายหลาก แต่ในความเป็นจริง เรากำลังพูดถึง ‘เงือก’ สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ในตำนานกันอยู่ เป็นเรื่องปกติที่คนเรามักจะใส่ ‘ความเป็นมนุษย์’ เข้าไปในทุกสิ่ง แท้จริงแล้ว เผ่าพันธุ์ของเงือกอาจไม่ได้แบ่งแยกชนชาติกันแบบที่เราเป็นก็ได้ หากจะให้วิเคราะห์จริงๆ ก็คงหาข้อสรุปไม่ได้เป็นแน่ แต่เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า หาก ‘แอเรียล’ อยู่ในโลกใบนี้ของเราจริงๆ เธอจะอยู่ตรงส่วนไหน หรือในยุคไหนบนหน้าประวัติ
ถึงนั่นจะไม่ได้ให้คำตอบกับเราว่าเชื้อชาติของเงือกคืออะไร แต่ก็จะทำให้เราเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชีวิตของผู้คนในหนังมากขึ้น เมื่อคุณลองกลับไปดู The Little Mermaid อีกครั้ง อาจจะรู้สึกอินกับมันมากขึ้นก็ได้
เมื่อเธอลองมอง ของพวกนี้: ของสะสมอันน่าพิศวงของแอเรียล
ฉากในความทรงจำวัยเด็กของทุกคนเมื่อพูดถึงการ์ตูนเรื่องนี้ ก็คงหนีไม่พ้นฉากในถ้ำใต้ทะเล พร้อมของสะสมมากมายของเงือกสาว และเพลง ‘Part Of Your World’ ที่ทำเราหลั่งน้ำตาทุกครั้งที่ได้ฟัง สำหรับเราแล้ว มันคือเพลงที่บ่งบอกความฝัน ความทะเยอทะยาน และตัวตนของแอเรียลได้เป็นอย่างดี ถ้ำแห่งนี้คือศูนย์รวมจินตนาการ และความรู้เกี่ยวกับโลกมนุษย์ มีวัตถุมากมายปรากฎอยู่ในนั้น แต่ที่อยากพูดถึงอย่างหนึ่งคือ ภาพวาดของหญิงสาวและดวงไฟที่ปรากฎอยู่ในถ้ำ พร้อมกับท่อนที่ร้องว่า ‘อะไรคือไฟ แล้วใยมันจึง…เรียกอะไร? ร้อน’ จริงๆ แล้วภาพนี้อาจมีความหมายแฝงเอาไว้มากกว่าที่เราคิด
ภาพนี้มีชื่อว่า ‘Magdalen with the Smoking Flame’ ที่วาดโดยศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ จอร์จ เดอ ลา ทัวร์ (Georges de la Tour) ในช่วงปี 1640 ซึ่งหญิงสาวในภาพคือ แมรี่ แม็กดาเลน (Mary Magdalen) ผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ เธอถูกอาบไปด้วยแสงเทียน และกำลังจ้องมองไปยังเทียนนั้น บนตักของเธอมีหัวกะโหลกวางอยู่ ซึ่งหากตีความแล้ว กะโหลกศีรษะ และเปลวไฟในภาพนี้สื่อถึง Memento Mori ซึ่งเป็นคติภาษาละติน แปลออกมาได้ประมาณว่า ‘ความตายเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้’ และการที่แมรี่จ้องมองไปยังเปลวไฟ อาจสื่อถึงการรำพึงรำพันของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งนั่นก็เหมือนกับแอเรียล ที่ตกอยู่ในห้วงรำพึงรำพันเช่นกัน แต่สำหรับเงือกสาว สิ่งที่เธอหมกมุ่นอยู่คือ การมีชีวิต หรือ ‘การเป็นมนุษย์’ แม้จะเป็นคนละเรื่องกัน แต่ทั้งสองก็กำลังหาคำตอบให้กับสิ่งที่ตัวเองสงสัย ‘แมรี่ คือ การดับสูญ ส่วนแอเรียล คือ ชีวิตใหม่ในโลกอีกใบ’
ภาพวาดนี้ยังแสดงถึงความหยิ่งทะนงในตนเอง การถูกครอบงำ และชี้นำโดยเพศชาย ตามเรื่องราวของแมรี่ที่มีตัวตนอยู่ในยุคสมัยที่บทบาททางเพศของผู้หญิงถูกกดทับเอาไว้ ก็เหมือนกับแอเรียลที่ถูกชี้นำโดยตัวละครชายแทบทั้งหมด (ราชาไตรตัน, เซบาสเตียน, ฟลาวเดอร์ ฯลฯ) นั่นเอง
ชุดนอนของแอเรียล / ชุดนอนของหญิงชั้นสูงในศตวรรษที่ 19
ทุ่มเทฝันใฝ่ อยู่ในโลกเธอ: แฟชั่นแห่งอาณาจักรอันไกลโพ้น
มุมมองหนึ่งที่สามารถหยิบยกขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ยุคสมัย และสถานที่ของเรื่องราวใน The Little Mermaid ได้ คือ ‘การแต่งตัว’ ซึ่งเครื่องแต่งกายของตัวละครในเรื่องนั้น มีทั้งแบบที่ร่วมสมัย เป็นกิมมิกที่มาจากการ์ตูนเจ้าหญิงเรื่องก่อนหน้า และชุดที่ออกไปในแนวทางยุคเดียวกัน ชุดแรกที่อยากพูดถึงคือ ชุดนอนสีชมพูของแอเรียล สไตล์ชุดผ้าฝ้ายกระโปรง รายละเอียดตรงปกเสื้อ หรือตามแขนเสื้อที่ประดับด้วยลูกไม้ โบว์ หรือลวดลายเย็บปัก เป็นลักษณะของชุดนอนของหญิงสาวยุโรปชั้นสูง ในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งทั้งหมดจะเป็นงานที่ทำด้วยมือ และจะต้องเป็นสีขาว ซึ่งถือว่าเป็นสีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการใส่นอน แม้ชุดนอนของแอเรียลจะถูกออกแบบมาให้เป็นสีชมพู แต่รายละเอียดที่เหลือก็นับว่าตรงตามหน้าประวัติศาสตร์มากๆ
ชุดแต่งงานของแอเรียล / ชุดที่เป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 19
อีกชุดหนึ่งที่บ่งบอกยุคสมัยของหนังเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนคือ ชุดแต่งงานในตอนท้ายเรื่อง ชุดเจ้าสาวสีขาวเช่นนี้ เป็นชุดแต่งงานดั้งเดิมจากศตวรรษที่ 19 เช่นกัน ผู้หญิงเพิ่งจะมานิยมใส่ชุดเจ้าสาวสีขาวกันในช่วงนี้ เป็นเพราะอิทธิพลจากราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ และภาพถ่าย เมื่อราชินีวิคตอเรียแต่งงานกับเจ้าชายอัลเบิร์ตในปี 1840 พระองค์ได้ใส่ชุดแต่งงานที่เป็นสีขาว และเมื่อภาพถ่ายนั้นแพร่สะพัดออกมา มันก็กำหนดเทรนด์ของชุดแต่งงานให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งในยุคก่อนหน้านั้น เจ้าสาวที่มีกำลังทรัพย์มากพอมักจะใส่ชุดแต่งงานสีขาว ส่วนหญิงชนชั้นสูงจะยังนิยมใส่สีทอง หรือน้ำเงิน หรือสีอะไรก็ได้ที่เข้ากับชุดมากที่สุด ส่วนแพทเทิร์นชุดแขนพองๆ ที่เชื่อมด้วยแขนเสื้อยาวปิดข้อมือ ก็เป็นเทรนด์ชุดที่นิยมกันในปลายศตวรรษที่ 19 เช่นกัน
เที่ยวเพลินเดินเล่น ขอเป็นเช่นคน: อาณาจักรของเจ้าชายเอริค
จากการแต่งกายของแอเรียล เราก็พอจะเดาได้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ทีนี้ขั้นต่อไปคือ มันเกิดขึ้นที่ไหนล่ะ? อ้างอิงจากคลิป ‘Fun Facts About Ariel! How Many Do You Know?’ ในช่องยูทูปของ Disney Princess ได้มีการระบุไว้ว่า อาณาจักรของเจ้าชายเอริคอยู่ที่ไหนสักแห่งในประเทศอิตาลี แต่มันจะอยู่ส่วนไหนของอิตาลีกันแน่
พายุเฮอริเคนใน The Little Mermaid
สิ่งที่พอจะวิเคราะห์ได้จากหนังคือ อาณาจักรของเอริคอาจตั้งอยู่ในเกาะแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของอิตาลี สิ่งที่เป็นตัวบ่งบอกอย่างชัดเจนคือ ฉากเรือล่มของเอริคที่นายเรือตะโกนว่า ‘เฮอริเคนมาแล้ว’ ซึ่งพายุเฮอริเคนนั้นจะปรากฎเฉพาะทางตอนใต้ของทวีปยุโรปเท่านั้น เช่น สเปน, โปรตุเกส และเกาะซิซิลีในประเทศอิตาลี เหตุผลก็เพราะ เฮอริเคนเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดในอากาศเขตร้อน และต้องเป็นบริเวณที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงนั่นเอง
ฉากที่แอเรียลกับเอริคนั่งบนรถม้า / ภาพราชินีวิคตอเรียวัยเด็กบนรถม้า / ฉากในเมืองของเจ้าชายเอริค
สิ่งอื่นๆ ที่เราเห็นในอาณาจักรของเอริค ต่างเป็นลักษณะที่พบเห็นได้จากเมืองในทวีปยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรถม้าที่เอริคกับแอเรียลนั่ง เรียกว่า ‘รถม้าแฟตัน’ (Phaeton Carriage) ที่มีสี่ล้อ หลังคาเปิด ไม่มีประตู นั่งได้สองคน และคนขับคือคนที่นั่งบนรถม้าด้วย นอกจากนี้ฉากในเมืองที่โผล่มาแบบไวๆ ในหนัง จะมีหอนาฬิกา และตะเกียงแก๊สที่ตั้งอยู่ตามทาง ซึ่งเจ้าตะเกียงชนิดนี้เป็นสิ่งให้แสงสว่างในที่สาธารณะมาตั้งแต่ปี 1809
อยู่บนโลกงาม: ความแตกต่างที่เหมือนกันของแอเรียล และใครหลายคน
The Little Mermaid นับว่าเป็นการ์ตูนดิสนีย์อีกเรื่องหนึ่งที่ถ่ายทอดความปรารถนา และความฝันได้เป็นอย่างดี เงือกน้อยผู้ฝันอยากเป็นมนุษย์ อยากออกไปจากสถานะที่ตัวเองเป็นอยู่ และไม่ย่อท้อที่จะทำให้ฝันของตัวเองเป็นจริง (แม้จะมีหรือไม่มีเอริคก็ตาม) เชื่อว่าหลายคนเองก็คงรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละครตัวนี้ได้ไม่มากก็น้อย การมีความฝันไม่ใช่เรื่องผิด แม้จะดูเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ในท้ายที่สุดแล้วเราจะไปถึงจุดที่เราฝันไว้ในไม่ช้า ขอให้ทุกคนอย่าหยุดฝัน และไม่ลดละความพยายาม และค้นพบสิ่งที่ตัวเองต้องการในที่สุด
อ้างอิง
Recollection
frockflicks
Art Docent Program
@raeynbowboi
Susiephone
HistoryHouse