Culture

MUM-TIVERSE สังคมตลกร้ายจาก 5 บทบาทของ 'หม่ำ จ๊กมก'

~เมื่อพูดถึงดาราหรือนักแสดงสายตลกของเมืองไทย เชื่อว่าหลายๆ คนจะนึกถึงชื่อ “หม่ำ จ๊กมก” เป็นชื่อแรกๆ โดยเฉพาะคน Gen Y อายุ 30 ต้นๆ ที่แทบจะดูหม่ำแสดงตลกมาตั้งแต่ตอนที่ตัวเองเกิดก็ว่าได้ แน่นอนว่าในสายตาคนส่วนใหญ่ ตลกเงินล้านรายนี้อาจเป็นเพียงนักแสดงที่มีพรสวรรค์เรื่องการเรียกเสียงหัวเราะ ทำให้เขาคร่ำหวอดอยู่ในวงการบันเทิงนานกว่า 30 ปี

~ในอีกมุมหนึ่ง หม่ำถือเป็นศิลปิน “มืออาชีพ” ที่เรื่องราวชีวิตของเขาเต็มสีสันและเรื่องน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาเคยท้าดวลแข่งบอกชื่อดาราไทย-ฮอลลีวูดกับ “ปัญญา นิรันดร์กุล” โดยมีเงินรางวัล 1 ล้านบาทเป็นเดิมพัน แถมยังเป็นฝ่ายชนะจนเสี่ยตาต้องเซ็นต์เช็คให้เขากลางรายการ “ชิงร้อยชิงล้าน” เมื่อปี พ.ศ.2545 หรือเรื่องที่เขาเคยขนญาติพี่น้องเกือบทั้งหมู่บ้านมาช่วยงานคณะตลกสมัยที่เขาเพิ่งเข้าวงการใหม่ๆ รวมถึงเรื่องที่เขาไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง แม้แต่ตอนที่เขาผันตัวจากนักแสดงไปเป็นผู้กำกับ เขาก็ยังคงพยายามหาแนวทางในการพัฒนาบทหนังและตัวละครของเขาให้มีความหลากหลาย

~สังเกตได้ว่าหนังที่หม่ำแสดงช่วงแรกๆ ส่วนมากจะเป็นหนังแนวตลกคลาสสิกที่คนคุ้นเคยกันดี เช่น “จุ๊ย” (2532), “ซี้แบบผีผี” (2534), “ปลุกผีมาจี้ปอบ” (2534), “ปอบทะลุแดด” (2534), “แดร็กคูล่ากับปอบ” (2535),  “ผีไม่กลัวสัปเหร่อ” (2537) เป็นต้น แต่ในช่วงหลังเขาดูเหมือนจะพยายามสลัดภาพจำในฐานะดาราตลกไปรับบทในหนังหลากหลายแนวมากขึ้น ได้เล่นเป็นตัวละครที่มีคาแรคเตอร์ที่ซับซ้อนและท้าทาย อีกทั้งตัวละครของเขายังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมในช่วงเวลานั้นๆ ได้อีกด้วย

~วันนี้เราก็จะพาทุกคนไปสำรวจตัวละครหม่ำที่อยู่ในหนังแต่ละเรื่อง ดูว่าตัวละครของเขามีการเติบโตยังไงและสะท้อนสภาพสังคมอย่างไรบ้าง

เฉิ่ม: กทม.เมืองเจริญที่แสนจอมปลอม

~สำหรับภาพยนตร์ “เฉิ่ม” (2548) หม่ำ รับบทเป็นตัวละครชื่อ “สมบัติ ดีพร้อม” หนุ่มอีสานที่ทำงานเป็นคนขับรถแท็กซี่กะกลางคืน เขาเหมือนคนชายขอบส่วนใหญ่ในยุคนั้นที่ต้องจากบ้านเกิดอันแร้นแค้นมุ่งหน้าเข้าเมืองหลวงเพื่อดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ สมบัติใช้ชีวิตแบบหนุ่มอีสานซื่อๆ มีคติประจำใจที่แสนเชยว่า “ทำดีย่อมได้ดี” ซึ่งสวนทางกับวิถีชีวิตในเมืองกรุงที่ทุกคนต่างต้องดิ้นรนแย่งชิง เขาอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ สภาพไม่น่าอภิรมย์ เวลากินข้าวก็กินคนเดียว นอนก็นอนคนเดียว แม้จะอยู่ท่ามกลางแสงสีของเมืองกรุง แต่เขากลับโดดเดี่ยวยิ่งกว่าตอนอยู่บ้านนอกซะอีก สิ่งเดียวที่พอจะช่วยให้สมบัติคลายเหงาได้ก็คือการฟังรายการวิทยุ เมื่อใดที่เขามีเรื่องไม่สบายใจ เขาจะเขียนจดหมายถึงดีเจรายการวิทยุที่เขาชอบฟังแม้อีกฝ่ายจะไม่เคยอ่านจดหมายของเขาออกอากาศเลยก็ตาม

~ต่อมาสมบัติพบกับจุดเปลี่ยนเมื่อเขาได้พบกับหญิงสาวชื่อ “นวล” (รับบทโดย “นุ่น” วรนุช ภิรมย์ภักดี) สาวอาบอบนวดที่บังเอิญมาขึ้นรถแท็กซี่ของสมบัติหลังเลิกงานตอนกลางคืน เธอก็เหมือนกับสมบัติที่เป็นคนชายขอบที่ดิ้นรนหาเงินในเมืองหลวง เพียงแต่นวลเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในโลกความจริงที่โหดร้าย ผิดกับสมบัติที่มองโลกในแง่ดีและไม่ยอมให้กระแสสังคมมาเปลี่ยนแปลงเขาได้ ทั้งสองจึงค่อยๆ ได้เรียนรู้กันและกัน

~อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ของสมบัติกับนวลล่มลงกลับไม่ใช่การมีความคิดที่ต่างกัน แต่เป็นเพราะความเลวทรามและความจอมปลอมของเมืองกรุง สมบัติที่ถือคติทำดีได้ดีมาตลอดกลับถูกคนหลอกเอาเงินไปจนแทบหมดตัว คุณลุงใจดีที่เขาเคยเก็บเงินไปคืนให้ก็เป็นเกย์จะหลอกพาเขาขึ้นเตียงด้วยซะอย่างงั้น แถมเขายังได้รู้ความจริงอีกว่า รายการวิทยุที่เป็นหมือนเพื่อนสนิทคนเดียวของเขาเป็นเพียงรายการอัดเทปปลอมๆ ไม่ได้มีดีเจจัดรายการจริงๆ ส่วนนวลก็มีเสี่ยใหญ่มารับเธอไปเลี้ยงดูอย่างดีแลกกับการหาความสุขจากร่างกายของเธอ ถ้าจะบอกว่านี่คือบทเรียนที่สังคมอันเน่าเฟะของเมืองกรุงมอบให้หนุ่มชายขอบแสนซื่ออย่างเขาก็คงไม่ผิดนัก

~ในอีกแง่หนึ่งอาจมองได้ว่าตัวละคร “สมบัติ” เป็นเหมือนภาพสะท้อนเรื่องราวชีวิตของตัว “หม่ำ จ๊กมก” สมัยที่เขาเข้ากรุงเทพฯ มาหางานทำเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วก่อนจะโด่งดังกลายเป็นตลกร้อยล้านอย่างในปัจจุบัน สิ่งที่ตัวละครชายขอบอย่างสมบัติพบเจอในสังคมเมืองกรุง ไม่ว่าจะเป็นความเหงา ความโดดเดี่ยว รวมถึงความโหดร้ายและความจอมปลอมต่างๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่หม่ำในฐานะคนชายขอบในตอนนั้นเคยพบเจอมาก่อนไม่มากก็น้อยเช่นกัน

~แต่อาจต่างกันตรงที่ในกรณีของตัวละคร “สมบัติ ดีพร้อม” ตั้งแต่ต้นเรื่องยันจบเรื่อง เขาก็ยังคงเป็นแค่ชนชั้นแรงงาน เป็นคนชายขอบที่พยายามดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้มีสมบัติ และไม่ได้ดีพร้อมในด้านไหนเลย มีเพียงความหวังและความฝันลมๆ แล้งๆ ของคนชนชั้นรากหญ้าว่าสักวันจะต้องดีพร้อมเหมือนเหมือนคนอื่นเขา แต่สุดท้ายสภาพสังคมและเศรษฐกิจของเมืองกรุงก็มอบสิ่งตรงข้ามให้เขาแทบทุกอย่าง  ในขณะที่ “หม่ำ จ๊กมก” กลับประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ หากมองในแง่นี้ ก็อาจหมายความว่าสังคมเมืองกรุงไม่ได้โหดร้ายเลวทรามถึงขนาดทำให้ชีวิตของหม่ำต้องมีตอนจบที่แสนเศร้าก็เป็นได้

แหยม ยโสธร: สีสันอีสาน ภาพประชดความแร้นแค้น

~สำหรับ “แหยม ยโสธร” (2548) เป็นภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมเมดี้/ย้อนยุค ที่หม่ำรับหน้าที่เป็นทั้งผู้กำกับ คนเขียนบท รวมถึงร่วมแสดงเป็นตัวละครชื่อ “แหยม” หนุ่มอีสานฝีปากแซ่บที่ถูก “เจ้ย” (รับบทโดย เจเน็ต เขียว) สาวอีสานหน้าคมขำตามรุกตามจีบ ทำให้แหยมรู้สึกรำคาญเป็นที่สุด แต่ด้วยความที่เจ้ยคลั่งรักแหยมแบบขั้นสุดจึงพยายามทุกทุกทางให้แหยมยอมรับรักจนเกิดเป็นเรื่องราววุ่นๆ ของหนุ่มสาวแห่งที่ราบสูง โดยลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนใครของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ตัวละครหลักพูดภาษาถิ่นอีสานแทบจะตลอดทั้งเรื่อง แถมงานโปรดักชันยังจงใจใช้เสื้อผ้าสีสันสดใสฉูดฉาดบาดตาจนดู “เหนือจริง” (Surreal) ซึ่งตัดกับฉากหลังที่เป็นบ้านนอกแร้นแค้น มีแต่ท้องไร่ท้องนา เหมือนเป็นการเสียดสีประชดประชันนโยบายการพัฒนาของภาครัฐที่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองกรุง

~นอกจากนี้ แหยม ยโสธร ยังสะท้อนสังคมและวิถีชีวิตของชาวอีสาน โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ขันของคนอีสานที่สามารถตลกหรือหัวเราะได้กับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้มุขตลกหยาบโลน ความทะลึ่ง ความซื่อ ความจริงใจ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตอยู่ในบ้านนอกแร้นแค้น คนอีสานก็นำมาเป็นเรื่องตลกสร้างเสียงหัวเราะได้

~พูดกันตรงๆ แหยม ยโสธร คือผลงานภาพยนตร์ที่หม่ำทั้งในฐานะผู้กำกับ คนเขียนบท และนักแสดงได้พาคนดูไปทำความรู้จักท้องถิ่นแดนอีสานที่เขาเกิดและโตมา โดยหยิบเอาเรื่องใกล้ตัวที่เขาคุ้นเคยดี เช่น วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น ไปจนถึงสภาพความแร้นแค้น ความบ้านนอกคอกนา มาเล่าอย่างมีสีสันบาดตาและตลกขบขัน เสริมด้วยมิวสิกสกอร์และเพลงประกอบภาษาถิ่นอีสานที่ฟังแล้วม่วนซื่นได้กลิ่นอายท้องไร่ท้องนา เรียกได้ว่า แหยม ถือเป็นภาพยนตร์รุ่นบุกเบิกที่พยายามนำเสนอความเป็นอีสานก่อนที่จะมีกระแส “อีสานป๊อป” อย่างทุกวันนี้ 

ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่: ครูราชการไวบ์

~สำหรับ “ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่” (2553) เป็นภาพยนตร์แนวดราม่าย้อนยุคที่รีเมคจากเรื่อง “ครูบ้านนอก” (2521) ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ของ “คำหมาน คนไค” อีกทีหนึ่ง โดยในเรื่องนี้ หม่ำ เป็นนักแสดงสมทบในบท “ครูใหญ่ชาลี” ซึ่งเป็นครูเพียงคนเดียวของโรงเรียนประถมบ้านหนองฮีใหญ่ในชนบทแสนห่างไกลช่วงปี พ.ศ.2520 ต่อมาได้มีครูมาสมทบอีก 3 คน คือ “ครูพิเชษฐ์” (รับบทโดย พิเชษฐ์ กองการ), “ครูสมชาติ” (รับบทโดย อสงไขย ผาธรรม) และ “ครูแสงดาว” (รับบทโดย ฟ้อนฟ้า ผาธรรม) โดยครูพิเชษฐ์เป็นครูไฟแรงที่เลือกมาบรรจุเป็นครูในชนบทอันห่างไกลเอง ส่วนครูสมชาติกับครูแสงดาวมาเพราะรอย้ายเข้าไปเป็นครูในเมือง แต่ตลอดระยะเวลาที่พวกเขาได้สอนหนังสือให้กับเด็กๆ ในชนบทก็อุทิศทั้งกายและใจ จนเป็นที่รักของเด็กๆ ทำให้พวกเขารู้ซึ้งถึงเกียรติยศของอาชีพ “ครู” แต่เพราะครูพิเชษฐ์บังเอิญเปิดโปงขนวนการของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทำให้เขาถูกมือปืนตามมายิงเสียชีวิตถึงหน้าโรงเรียนต่อหน้าต่อหน้าเด็กๆ อย่างโหดเหี้ยม

~แม้ว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้ หม่ำ จ๊กมก จะไม่ได้เป็นผู้กำกับหรืออำนวยการสร้างเอง เป็นเพียงนักแสดงสมทบเท่านั้น แต่ตัวละคร “ครูใหญ่ชาลี” ของเขาก็สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของ “ครูบ้านนอก” สมัยก่อน (อาจจะรวมถึงปัจจุบันด้วย) ที่แทบจะเป็นคนชายขอบของระบบราชการและระบบการศึกษาไทย โอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานค่อนข้างน้อย ค่าตอบแทนก็น้อย แถมสภาพความเป็นอยู่ก็ยากลำบากแร้นแค้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตัวครูใหญ่ชาลีที่เคยเป็นครูไฟแรง อยากเป็นครูที่ดี ค่อยๆ หมดไฟกลายเป็นครูข้าราชการแบบฟรีสไตล์ เช้าชามเย็นชาม เวลาสอนก็มักให้เด็กนักเรียนมาช่วยบีบช่วยนวด ตกเย็นก็มักนั่งดื่มสังสรรค์กับชาวบ้าน วันไหนชาวบ้านมีงานบุญ งานขึ้นบ้านใหม่ หรือแม้แต่คลอดลูก เขาก็มักไปมีส่วนร่วมเสมอ ช่วงเวลาที่เขาดูจะแฮปปี้ที่สุดคือช่วงที่ต้องเดินทางเข้าไปรับซองเงินเดือนที่ตัวจังหวัดเดือนละครั้ง ซึ่งเป็นวันที่ครูใหญ่ชาลีแต่งชุดข้าราชการเต็มยศเพราะจะได้พบกับเพื่อนๆ ข้าราชการในตัวจังหวัดมากหน้าหลายตา ผิดกับตอนที่สอนเด็กๆ ซึ่งเขาจะแต่งตัวแบบฟรีสไตล์

~นอกจากนี้ ระบบราชการและระบบการศึกษาไทยถูกยึดโยงเข้ากับผู้มีอำนาจที่ส่วนกลางมากกว่ายึดโยงกับคนในท้องถิ่นยังทำให้ “ครูใหญ่ชาลี” แม้จะมีตำแหน่งเป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียน แต่เวลาของบหรืออุปกรณ์การเรียนก็จำเป็นต้องพินอบพิเทากับผู้ใหญ่จากส่วนกลาง ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่จากส่วนกลางก็ใช้ช่องโหว่นี้ในการทุจริตหรือประพฤติมิชอบถึงขนาดพยายามล่วงละเมิดทางเพศครูแสงดาวในโรงเรียนโดยใช้ตำแหน่งราชการข่มขู่ เท่านั้นยังไม่พอ ชีวิตของครูบ้านนอกยังต้องเผชิญกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือขบวนการผิดกฎหมายที่ฝังตัวอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งข้าราชการครูตัวเล็กๆ ย่อมไม่มีทางต่อกรกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นเหล่านี้ได้ ดังนั้น ตัวละครครูใหญ่ของหม่ำได้สะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษาระดับท้องถิ่นของไทยที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในประเด็นนี้ หม่ำ เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวเสน่ห์ของเรื่องนี้ไว้ว่า “เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้มันมีทุกซีนน่ะ ซึ่งอาจจะกะเทาะกระทรวงการศึกษาก็ได้ ถ้าเขารู้สึกได้นะ เด็กไทยจะฉลาดได้ไง ถ้าการศึกษาไม่ดีใช่ไหม”

วงษ์คำเหลา: รวยล้ำล้นฟ้า เสียดสีความบวมของคนรวย

~สำหรับ “วงษ์คำเหลา” (2552) เป็นภาพยนตร์แนวคอมเมดี้ที่ หม่ำ จ๊กมก นั่งแท่นเป็นผู้กำกับ เขียนบท และแสดงนำเอง โดยรับบทเป็น “ท่านชายเพชราวุธ”  เจ้าของธุรกิจหมื่นล้านที่เป็นเสาหลักดูแลเหล่าสมาชิกในตระกูลวงษ์คำเหลาที่แต่ละคนดูจะมีนิสัยไม่ค่อยเหมือนมนุษย์มนาคนอื่นในสังคมชนชั้นสูงเท่าไรนัก จนกระทั่ง “พิรมน” (รับบทโดย “จักจั่น” อคัมย์สิริ สุวรรณศุข) ครูสอนภาษาอังกฤษคนใหม่ได้ก้าวเข้ามาในคฤหาสน์ตระกูลวงษ์คำเหลา เรื่องวุ่นๆ ก็ตามมาอีกเป็นพรวน สร้างเสียงหัวเราะแห่งความสนุกสนานให้บังเกิดตลอดทั้งเรื่อง

~จุดเด่นของ วงษ์คำเหลา ก็คือ เป็นหนังเกี่ยวกับครอบครัวระดับอภิมหาเศรษฐีที่ค่อนข้างฉีกขนบหนังครอบครัวคนรวยที่เคยมีมาอย่างสิ้นเชิง เพราะสมาชิกทุกคนในครอบครัววงษ์คำเหลาเป็นคน “เชื้อสายอีสาน” (ซึ่งก็มีในชีวิตจริง) แต่มันขัดแย้งกับการรับรู้และความเข้าใจของคนไทย โดยเฉพาะบรรดาคนกรุงทั้งหลายที่ส่วนใหญ่มักติดภาพว่าครอบครัวระดับอภิมหาเศรษฐีจะต้องเป็นคน “เชื้อสายจีน” แม้จะพูดภาษาจีนไม่ได้แล้วก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ต้องมีบรรพบุรุษสักสายเป็นคนจีน

~ทว่าสำหรับ วงษ์คำเหลา ตัวละครในเรื่องแทบจะเว้าอีสานกันอยู่แล้ว ยิ่งตัวละครท่านชายเพชราวุธของหม่ำจะพกความเป็นอีสานมาแบบเต็มคาราเบลทั้งสำเนียงพูด สำเนียงร้อง เพียงแต่ยังคงใส่สูทผูกไทตามสไตล์ชาวกรุง เหมือนเป็นการเสียดสีสังคมคนรวย รวมถึงชนชั้นกลางในเมืองบางกลุ่มที่ชอบเหยียดคนจากที่ราบสูงอยู่กลายๆ เพราะสภาพสังคมและเศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษ 2550 ที่หนังออกฉายนั้น บทบาทของคนอีสานในเมืองใหญ่มักเป็นบทบาทของผู้ใช้แรงงาน ดังนั้น การที่ตัวละครมีโครงหน้าแบบคนอีสาน เว้าด้วยสำเนียงอีสาน แต่ดันแต่งตัวแบบเศรษฐีใหญ่เมืองกรุง จึงดูเป็นสิ่งตลกขบขัน เพราะในโลกความเป็นจริง (อย่างน้อยก็ในปีที่หนังออกฉาย) นั้นไม่มีทางเป็นไปได้ในความรู้สึกของคนกรุงบางส่วนนั่นเอง

~นอกจากนี้โครงเรื่องของ วงษ์คำเหลา ยังเป็นการนำพล็อตละครน้ำเน่าแนว “บ้านทรายทอง” ของคนกรุงมายำใหญ่ใส่สารพัด เสียดสีความบวมและความเจ้ายศเจ้าอย่างของคนรวย รวมถึงมีตัวละครที่มีสถานะทางสังคมที่ต่างกันอย่าง “ท่านชายเพชราวุธ” กับ “พิรมน” ให้อามรณ์คล้ายๆ “ชายกลาง” กับ “พจมาน” แห่งบ้านทรายทองยังไงยังงั้น เรียกได้ว่าเป็นการนำเอาโครงการละครหลังข่าวที่คนกรุงคุ้นเคยกันดีมาล้อเลียน/เสียดสีด้วยลีลาแบบหนังคอมเมดี้ อีกทั้งยังเสียดสีประชดประชันภาพจำของคนกรุงส่วนมากมักเข้าใจว่าคนอีสานจนและไม่มีการศึกษาด้วย

เมอร์เด้อเหรอ: ตำรวจหัวแข็งผู้โดนเด็กถอนหงอก

~ภาพยนตร์ “เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ” (2566) หม่ำ จ๊กมก รับบทเป็น “สารวัตร” ที่ต้องไขคดีฆาตกรรมยกครัว 7 ศพ ซึ่งหลักฐานต่างๆ ล้วนชี้ว่าเป็นฝีมือของ “เอิร์ล” เขยฝรั่งที่เดินทางมาภาคอีสานเพื่อเยี่ยมเยียนครอบครัวของ “ทราย” แฟนสาวชาวไทย แต่เพราะตัวสารวัตรมีอคติกับชาวต่างชาติ เนื่องจากเขาเคยถูกผู้ต้องหาที่เป็นชาวต่างชาติทำร้ายจนมีแผลเป็นที่ใบหน้า ทำให้เขามั่นใจว่า เอิร์ล คือคนร้ายตัวจริง แต่เมื่อเขาสืบลึกลงไปกลับพบว่าความจริงกับซับซ้อนและ “อิหยังวะ” มากกว่าที่คิด

~สำหรับตัวละคร “สารวัตร” ที่แสดงโดยหม่ำนั้น สะท้อนชุดความคิดที่โบราณคร่ำครึของคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้ชนิดที่อยากจะปฏิเสธก็ปฏิเสธไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีอคติต่อคนต่างชาติ การรับข้อมูลเพียงด้านเดียว รวมถึงความเชื่อเรื่องดวงและคำทำนายมากกว่าเหตุผล ทำให้สารวัตรเชื่อมั่นว่าเขยฝรั่งอย่างเอิร์ลคือฆาตกร 100% ทั้งที่ยังสืบคดีไม่เสร็จ จนกระทั่งตัวละครเด็กสาวที่ชื่อ “จูน” นำหลักฐานเป็นคลิปจากโทรศัพท์มือถือมาช่วยให้เอิร์ลพ้นผิด ซึ่งหากตัวละครสารวัตรของหม่ำคือผู้ใหญ่หัวโบราณแล้วล่ะก็ ตัวละครจูนก็คือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักรู้ถึงปัญหาของพวกผู้ใหญ่หัวโบราณแต่ดันมีอำนาจในมือ แถมยังไม่ยอมรับข้อมูลให้ครบทุกด้าน ซึ่งเด็กอย่างจูนก็ใช้เทคโนโลยีคือ “โทรศัพท์มือถือ” ในการแก้ปัญหา เปรียบเหมือนกับคนรุ่นใหม่ที่รู้จักใช้เทคโนโลยีในการรับข้อมูลข่าวสารจากรอบด้านทำให้ตระหนักรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมากกว่า

~ถ้าใครยังนึกไม่ออกก็ขอลองคิดเล่นๆ ว่า หากสมัยก่อนมีโทรศัพท์มือถือที่ใช้แอบถ่ายวิดีโอเป็นหลักฐานได้เหมือนสมัยนี้ ลองคิดดูว่าความจริงหรือสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นความจริงสักกี่เรื่องที่ถูกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

~ขณะเดียวกัน ตัวละครสารวัตรก็สะท้อนให้เห็นว่า เด็กรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือและใช้จนเชี่ยวชาญโดยไม่มีผู้ใหญ่คอยแนะนำ ก็อาจเป็นอันตรายได้ ซึ่งน่าเสียดายที่ผู้ใหญ่ในเรื่องไม่ว่าจะสารวัตร รวมถึงปู่กับยาของจูนล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่ที่ความคิดล้าหลัง ทำให้ไม่สามารถแนะนำสิ่งที่ถูกให้กับจูนได้ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์หายนะในเรื่อง แถมตัวสารวัตรเองแม้แต่ตอนจบก็ยังไม่รู้ตัวว่ากำลังโดนเด็กน้อยอย่างจูนถอนหงอกอีกต่างหาก

~จากบทบาทของหม่ำในภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า คาแรคเตอร์หม่ำสะท้อนเรื่องราวของคนหลายกลุ่มในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนอีสานในเมืองกรุง คนอีสานในบ้านเกิด ข้าราชการอีสาน ไปจนถึงคนรวยอีสานในคราบผู้ดีเมืองกรุง ความตลกของตัวละครที่หม่ำแสดงส่วนหนึ่งจึงมีพื้นฐานมาจากสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างเมืองกรุงกับอีสาน (หรือชนบท) นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าตัวละครของหม่ำมักจะเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญหน้าหรือต้องรับมือกับความเปลี่ยนเปลี่ยงในชีวิตตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสมบัติคนขับแท็กซี่ที่หาเช้ากินค่ำ แหยมหนุ่มบ้านนอกคอกนาห่างไกลความเจริญ ครูใหญ่ชาลีจากโรงเรียนชนบทไกลปืนเที่ยง สารวัตรบ้านนอกที่ต้องสืบหาตัวฆาตกรตัวจริง หรือแม้แต่ท่านชายเพชราวุธที่รวยล้นฟ้า แต่ก็ต้องคอยรับมือกับสมาชิกในครอบครัวอยู่ตลอด ซึ่งหม่ำก็ใช้พฤติกรรมหรือการกระทำที่ตัวละครเหล่านี้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้ามาเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู ถือเป็นสามารถที่ตัวจับยากของตลกเงินล้านที่ชื่อ “หม่ำ จ๊กมก” คนนี้

อ้างอิง