Culture

เปิดประวัติศาสตร์ ‘อิโมจิ’ กว่าจะมาเป็นเจ้าหน้ากลมสีเหลืองสุดคิวท์สื่ออารมณ์แบบภาษาสากล

~ในยุคสมัยที่ผู้คนติดต่อสื่อสารกันด้วยการพิมพ์ข้อความส่งผ่านแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียแทบจะตลอด 24 ชั่วโมงอย่างในปัจจุบัน การใช้ ‘อิโมติคอน’ (Emoticon) และ ‘อิโมจิ’ (Emoji) เพื่อสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ แทนการใช้ภาษาเขียนตามปกตินั้นถือเป็นเรื่องที่เราทุกคนทำกันอยู่เป็นประจำ ตัวอย่างเช่น ต๊อดเพื่อนรัก ช่วงนี้ช็อต ขอยืมตังโหน่ยยย (T^T), โอเค จัดปาย (^_^), ขอบคุณค้าบ (^○^) เป็นต้น นอกจากจะช่วยให้สื่ออารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนได้สะดวกและรวดเร็วกว่าการใช้ภาษาเขียนปกติแล้ว ยังช่วยเพิ่มสีสันความน่ารักให้การสนทนาอีกด้วย แต่พวกเราเคยสงสัยกันไหมว่าจริงๆ แล้วไอ้นวัตกรรมทางภาษาที่เรียกว่า อิโมติคอน และ อิโมจิ นี้มีที่มาอย่างไร ใครเป็นคนคิดค้น และมันส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมการสื่อสารของคนทั่วโลกอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน

จุดเริ่มต้น ‘อิโมติคอน’ ก่อนจะกลายเป็น ‘อิโมจิ’ แสนน่าหยิก 

~เรื่องนี้พูดไปแล้วก็ค่อนข้างยาว เพราะในปัจจุบันบรรดานักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ยังคงถกเถียงกันไม่จบว่าจริงๆ แล้วการใช้ ‘อิโมติคอน’ (Emoticon) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด เพราะว่ามันมีหลายเหตุการณ์ให้ถกเถียง ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ.1684 กวีหนุ่มชาวอังกฤษที่ชื่อว่า ‘โรเบิร์ต เฮอร์ริก’ (Robert Herrick) ได้เขียนกลอนขึ้นวรรคหนึ่งว่า ‘Tumble me down, and I will sit Upon my ruins, (smiling yet:)’ ซึ่งประเด็นมันอยู่ที่เครื่องหมาย ‘:)’ ของคุณน้าแกมันดันไปคล้ายกับ อิโมติคอน ‘ใบหน้ายิ้ม’ ที่พวกเรานิยมใช้กันในปัจจุบัน ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่านั่นคือการใช้ อิโมติคอน ครั้งแรกของโลก (รึป่าว?)

~แต่เพราะไม่มีใครฟันธงได้ว่ามันคือการใช้สัญลักษณ์ อิโมติคอน อย่างจงใจ หรือเป็นเพียงความผิดพลาดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้นักภาษาศาสตร์หลายคนจึงเลือกที่ยึดตามหลักฐานที่ชี้ถึงการใช้งาน อิโมติคอน อย่างจงใจครั้งแรก ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1881 โดยนิตยสารล้อเลียนเสียดสีของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ Puck ได้ตีพิมพ์ อิโมติคอน รูปใบหน้า 4 รูป สื่ออารมรณ์สุข, เศร้า, เฉยเมย และประหลาดใจ หลังจากนั้นการใช้สัญลักษณ์ อิโมติคอน เพื่อสื่ออารมณ์ก็ได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ

photo credit: tumblr

~จนกระทั่งถึงช่วงปี ค.ศ.1982 ‘สก็อตต์ ฟาห์ลแมน’ (Scott Fahlman) ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ก็ได้สร้าง อิโมติคอน ‘:-)’ (หน้ายิ้ม) ลงบนเว็บบอร์ดของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการบันทึกจาก กินเนสส์บุ๊ก (Guinness World Records) ให้เป็น ‘อิโมติคอนดิจิทัลตัวแรกของโลก’ และถือจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการใช้ อิโมติคอน ในการพิมพ์สื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์อย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน 

~ส่วนเจ้า ‘อิโมจิ’ (Emoji) ตัวกลมๆ น่ารักๆ ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น หากจะบอกว่ามันคือการพัฒนาต่อยอดจาก อิโมติคอน ก็คงไม่ผิดนัก เพราะจุดประสงค์ของทั้ง อิโมติคอน และ อิโมจิ ก็คือการสื่ออารมณ์ผ่านสัญลักษณ์หรือรูปภาพแทนการใช้ข้อความ โดยต้นกำเนิดของ อิโมจิ เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1999 โดยครีเอเตอร์ชาวญี่ปุ่นชื่อ ‘ชิเกตากะ คุริตะ’ (Shigetaka Kurita) ได้ประดิษฐ์ตัว อิโมจิ กว่า 176 แบบ จุดประสงค์เพื่อประหยัดพื้นที่ตัวอักษรในการส่งข้อความทางโทรศัพท์ ให้การสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือทำได้ง่ายขึ้น 

photo credit: hypebeast

~แต่หลังจากเจ้า อิโมจิ ถูกเผยแพร่ออกไป ผู้คนก็หลงใหลในความน่ารักและความสะดวกในการใช้งานของมัน ทำให้การใช้ อิโมจิ ขยายความนิยมไปทั่วญี่ปุ่นและกระจายออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว  อย่างไรก็ตาม อิโมจิ ยุคแรกๆ ที่คุณน้าคุริตะประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีลักษณะเป็นพิกเซลเหลี่ยมๆ ไม่ได้เป็นตัวสีเหลืองกลมๆ เหมือนในปัจจุบัน ต้องรอถึงปี ค.ศ.2007 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาอย่าง ‘Apple’ จึงได้ประดิษฐ์ อิโมจิ 😀 (รูปหน้าคนตัวกลมสีเหลือง) ออกมาใช้งานเป็นครั้งแรก โดยว่ากันว่าทาง Apple ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘Smiley’ สัญลักษณ์หน้ายิ้มสีเหลืองอันโด่งดังที่ออกแบบโดย ‘ฮาร์วีย์ รอส บอล’ (Harvey Ross Ball) นักออกแบบชาวอเมริกันเมื่อปี ค.ศ.1963

~นอกจากนี้ ในทางจิตวิทยาแล้ว ‘สีเหลือง’ ให้ความรู้สึกอบอุ่น มีความหวัง เป็นสีที่ทำให้ผู้คนยิ้มได้ มีผลต่ออารมณ์เชิงบวก ด้วยเหตุนี้ อิโมจิ ตัวกลมสีเหลืองจึงช่วยสร้างสีสันในการตอบข้อความระหว่างกันได้ กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้บนสมาร์ทโฟนทุกรุ่นไปโดยปริยาย  

photo credit: emojipedia

อิมแพ็คความคิวท์ของ ‘อิโมจิ’  ต่อวัฒนธรมการสื่อสารทั่วโลก

~ปัจจุบัน การพัฒนาและการใช้งาน ‘อิโมจิ’ ก้าวหน้าไปจากยุคแรกเริ่มมาก ทุกวันนี้เรามีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อ ‘Unicode Consortium’ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานกลางของ อิโมจิ ให้มีรูปร่างและความหมายเดียวกันไม่ว่าจะถูกนำไปใช้ในแพลตฟอร์มไหน ไม่ว่าจะ iOS, Windows หรือ Android เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิดระหว่างผู้ส่งและผู้รับ โดยปัจจุบันมี อิโมจิ ภายใต้การกำกับดูแลของ Unicode มากกว่า 3,000 รูปแบบและยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

~ทั้งนี้ ตามรายงานของ Adobe Emoji Trend Report เมื่อปี 2019 พบว่า การใช้ อิโมจิ ในการติดต่อสื่อสารมีผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้สึกใกล้ชิดและคุ้นเคยกับร้านที่ใช้ อิโมจิ ในการติดต่อสื่อสาร เหมือนการส่งข้อความพูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว ซึ่งจากการสำรวจผู้ใช้งาน อิโมจิ อายุระหว่าง 16-73 ปี จำนวน 1,000 คนในสหรัฐอเมริกา พบว่ากว่า 51% เลือกใช้บริการร้านค้าหรือแบรนด์ที่ใช้ อิโมจิ ที่เข้ากับลักษณะนิสัยของพวกเขา และกลุ่มตัวอย่างกว่า 44% บอกว่าพวกเขามีแนวโน้มจะซื้อสินค้าของแบรนด์ที่ใช้ อิโมจิ ในการโฆษณาและสนทนามากกว่าการสนทนาด้วยข้อความ

~เรียกได้ว่าการใช้ อิโมจิ มีส่วนในการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานอยากมีส่วนร่วมกับแบรนด์ รวมถึงกระตุ้นความอยากซื้อสินค้ามากขึ้นด้วย  ดังนั้นจึงไม่แปลกที่แบรนด์สินค้า รวมถึงธุรกิจห้างร้านต่างๆ จะมีการใช้ ‘ภาษาอิโมจิ’ สื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

~อิโมจิ ยังถูกทำให้เป็น ‘สินค้า’ มีการนำ อิโมจิ ไปคอลแลปกับแบรนด์ดังมากมาย เช่น คอลแลปกับ ‘สตาร์ วอร์ส’ เป็น อิโมจิ ตัวละครเรื่อง สตาร์ วอร์ส (Star Wars) หรือคอลแลปกับ ‘ดิสนีย์’ (Disney) เป็น อิโมจิ ตัวการ์ตูนต่างๆ ของดิสนีย์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการนำธีม อิโมจิ ไปสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง ‘The Emoji Movie’ (2017) อีกด้วย 

~นอกจากนี้ การที่ อิโมจิ ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกแพลตฟอร์มทั่วทุกมุมโลก ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ผู้พัฒนาออกแบบตัว อิโมจิ ที่มีความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ และวัฒนธรรม โดยเคสที่ดังที่สุดที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินก็คือ แคมเปญ ‘DIVERSIFY MY EMOJI’ เมื่อปี 2015 ที่ผู้ใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ของ Apple ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ทาง Apple เคารพความหลากหลายทางสีผิว และให้ออก อิโมจิ ที่สามารถเปลี่ยนสีผิวได้ จนทาง Apple ต้องออกอัพเดต iOS 8.3 ที่นำเสนอ อิโมจิ ที่สามารถในการเปลี่ยนสีผิว รวมถึง อิโมจิ คู่รักเพศเดียวกัน เช่นเดียวกับทางองค์กร Unicode Consortium ที่ได้อัพเดต อิโมจิ ให้เป็นมาตรฐาน Unicode 8.0 เพื่อให้ผู้พัฒนา อิโมจิ สามารถปรับแต่งสีผิวได้ถึง 5 สีผิว  นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังมีการเพิ่ม อิโมจิ ที่สอดรับกับศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายอีกจำนวนนับไม่ถ้วน เช่น อิโมจิโบสต์คริสต์, อิโมจิสุเหร่า, อิโมจิพระ, อิโมจิพิซซ่า, อิโมจิซูมิ, อิโมจิสปาเก็ตตี้, อิโมจิทาโก้, อิโมจิเกี๊ยว ฯลฯ  

Photo credit: dosomething

~อย่างไรก็ตาม การที่ อิโมจิ กลายเป็นภาษาสากลอีกหนึ่งภาษา ผลกระทบที่ตามมาอีกอย่างก็คือ การนำ อิโมจิ ไปใช้ในทางที่อาจเรียกได้ว่าไม่ได้มีความหมายในเชิงบวก แต่นำไปใช้โจมตี/ก่อกวนทางโซเชียลมีเดีย บางครั้งการใช้ อิโมจิ แค่ไม่กี่ตัวก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ดราม่าระดับโลกได้เลยทีเดียว

~ถ้าใครยังจำเหตุการณ์บูลลี่ข้ามทศวรรษระหว่างเจ้าแม่เพลงป๊อปอย่าง ‘เทเลอร์ สวิฟต์’ (Taylor Swift) กับคู่รักตัวบิดามารดาอย่าง ‘คิม คาร์เดเชียน’ (Kim Kardashian) และ ‘คานเย่ เวสต์’ (Kanye West) ได้ นี่คือตัวอย่างที่ดีมาก โดยเหตุดราม่านี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2016 เมื่อ คานเย่ เวสต์ ปล่อยเพลงใหม่ชื่อ ‘Famous’ ที่มีเนื้อเพลงพาดพิง เทเลอร์ โดยอ้างว่าได้โทรไปขออนุญาต เทย์เลอร์ แล้ว แต่ฝั่ง เทย์เลอร์ กลับออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยอนุญาต จน คิม คาร์เดเชียน ต้องออกมาปล่อยคลิปเสียงบทสนทนาที่ทั้งสองโทรพูดคุยขออนุญาตกับ เทย์เลอร์ ต่อมา คิม คาร์เดเชียน ได้โพสต์ทวิตเตอร์เป็น อิโมจิ รูปงู 37 ตัว เป็นการแซะ เทย์เลอร์ ว่าเป็นนังงูพิษ หลังจากนั้นแฟนๆ ของ คาร์เดเชียน กับ คานเย่ นับล้านก็ได้รุมโพสต์ อิโมจิ รูปงูใส่ เทย์เลอร์ ในโซเชียลมีเดียแทบทุกช่องทางที่มี ต่อมาในปี 2019 เทย์เลอร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ช่วงที่เธอถูกชาวรุมเน็ตถล่มด้วย อิโมจิ รูปงูในโซเชียลคือช่วงที่เธอ ‘รู้สึกแย่ที่สุดในชีวิต’ 

การพัฒนาความน่ารักของ ‘อิโมจิ’ ในยุคแห่ง AI 

~ปัจจุบัน การออกแบบ อิโมจิ กำลังก้าวเข้าสู่ยุค AI ที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทุกคนก็จะสามารถออกแบบ อิโมจิ ของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหรือดาวน์โหลดจากค่ายผู้พัฒนา อิโมจิ อีกต่อไป ขอเพียงแค่มีสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชัน  AI ออกแบบ อิโมจิ ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็มี อิโมจิ แบบต่างๆ ออกมาให้ใช้ได้ตามใจชอบ โดยแอปที่น่าจับตามองมาก ๆ ก็คือ ‘Genmoji’ ของ Apple ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวในงาน WWDC24 เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทีเด็ดของมันคือสามารถสร้างตัวละคร อิโมจิ ส่วนตัวของผู้ใช้ได้ง่าย ๆ เพียงแค่พิมพ์คำสั่ง หรือใช้รูปถ่ายในเครื่องเป็นต้นแบบ AI ก็จะเรนเดอร์ภาพ อิโมจิ ออกมาตามสั่ง ซึ่งมันก็จะมีความน่ารักที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หาโหลดที่ไหนไม่ได้อย่างแน่นอน และในอนาคตเชื่อว่าแอปพลิเคชันที่ใช้ AI ออกแบบสร้าง อิโมจิ แบบเดียวกับ Genmoji นี้จะทยอยเปิดตัวออกมามากขึ้น

~อย่างไรก็ตาม อิโมจิ ที่เป็นค่ามาตรฐานที่ในอยู่ในการกำกับดูแลของ Unicode ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า 3,000 ตัวนั้น ก็คงไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน เพราะ อิโมจิ เหล่านี้ถูกใช้งานอยู่ในหลายแพลตฟอร์ม เรียกว่าเล่นโซเชียลแอปไหนก็เจอ อีกทั้งทาง Unicode ยังคงนโยบายพัฒนา อิโมจิ อย่างต่อเนื่อง มีการอัพเดตชุด อิโมจิ มาตรฐานทุกปีเพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มทั่วโลก เวอร์ชั่นสุดเป็น Unicode 16.0 เข้าไปแล้ว เรียกว่าพัฒนามาไกลจากยุคแรกเริ่มเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วมากและยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ

~พูดมาถึงตรงนี้หลายคนก็คงจะอึ้งว่า อิโมจิ ตัวเล็กน่ารักๆ ที่เป็นเพียงกระแสอิเล็กตรอนที่อยู่ในสมาร์ทโฟน แต่มันกลับสร้างอิมแพคต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้ถึงขนาดนี้  สำหรับหลายๆ คนแล้ว อิโมจิ กลายเป็นการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่สามารถสื่ออารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนเกินกว่าการเขียนข้อความแบบปกติจะสื่อออกไปได้ ยกตัวอย่าง หากเราพิมพ์ข้อความบอกเพื่อนว่า ‘วันนี้ฉันลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ที่บ้าน’ เพื่อนก็รู้แค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่รู้อารมณ์ความรู้สึกของเรา แต่หากเราใช้ อิโมจิ เข้ามาช่วยว่า ‘วันนี้ฉันลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ที่บ้าน 😂’ เพื่อนก็จะรู้ว่าเราหัวเราะตัวเองให้กับความขี้ลืมของตัวเอง แต่ก็ใช่ว่า อิโมจิ จะสื่อความหมายตรงตัวเหมือนกันหมด แต่มันยังเปิดช่องให้ผู้รับได้ตีความอารมณ์จากอีโมจิที่คู่สนทนาส่งมา ซึ่งนี่ถือเป็นเสน่ห์ของการใช้ อิโมจิ ในการสื่อสารที่หลายๆ คนน่าจะคุ้นชินกับมัน และมันก็น่าจะยังเป็นส่วนประกอบเล็กๆ อยู่ใน Pop Culture ของเราไปอีกนานแสนนาน ตราบใดที่มนุษย์เรายังคงมีการสื่อสารด้วยการรับ-ส่งข้อความแบบข้อความอิเล็กทรอนิกส์อยู่ 

ที่มา

https://thestandard.co/emoji-history/

https://www.beartai.com/buzz/viral/794358

https://thematter.co/life/history-of-emoji/33882

https://tips.thaiware.com/1701.html

https://kindconnext.com/kindcult/อิโมจิ-emoji-ต้นกำเนิดภาษา/

https://www.emojiall.com/th/blog/325

https://www.huffpost.com/entry/the-diversity-of-emojis_b_7038798

https://www.iphonemod.net/สร้างอิโมจิส่วนตัวได้ง.html

https://nymag.com/intelligencer/2016/07/taylor-swift-and-the-case-of-the-vanishing-snake-emoji.html