ปลุก ‘ผีปอบ’ จากเรื่องทางไสยศาสตร์สู่การกีดกันทางสังคม

Photo Credit: หอภาพยนตร์

หากพูดถึง “ผีปอบ” หลายคนอาจรู้จักกันดีว่า ผีปอบชอบกินของดิบ ของคาว วิ่งไล่จับคนเพื่อนำอวัยวะร่างกายของผู้คนมากิน ความเชื่อเรื่องผีปอบในสังคมไทยเรียกได้ว่าแพร่หลายในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ ผ่านคำบอกเล่าและตำนานของบรรพบุรุษ รวมถึงในสื่อต่างๆ ทำให้เมื่อพูดถึงผีปอบ เรามักจะมีภาพในหัวขึ้นมาทันที เมื่อเราลองศึกษาจะเห็นได้ว่าผีปอบไม่ใช่แค่เรื่องผีหรือไสยศาสตร์เท่านั้น แต่ผีปอบยังแสดงให้เห็นถึงการกีดกันและความขัดแย้งในสังคมเช่นกัน

ผีปอบตามความเชื่อนั้นเกิดมาจาก 2 สาเหตุด้วยกันคือ การสืบทอดความเป็นปอบให้กับลูกหลาน มักจะเรียกว่า “ปอบเชื้อ” และมาจากผู้เรียนวิชาไสยศาสตร์ แต่รักษาคุณไสยย์ไว้ไม่ได้จะเรียกว่า “ปอบมนต์” โดยพฤติกรรมของผีปอบคือ กินของดิบ เก็บเนื้อเก็บตัวไม่เข้าสังคม เจ้าของร่างกายที่ถูกผีปอบสิงจะมีลักษณะอ่อนแอ เจ็บป่วย และอาจเสียชีวิตลงในที่สุด การรักษาและการขับไล่ปอบจำเป็นต้องอาศัยหมอผี หรือผู้มีวิชาอาคมมารักษา ผ่านการใช้กำลังและวิธีการที่รุนแรง ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ผีปอบกลายเป็นสิ่งน่ากลัวและน่ารังเกียจในสังคม นำมาซึ่งการต่อต้านและกีดกันทางสังคมให้เข้าใจว่าผีปอบเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ต้องกำจัด เพื่อรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยแก่ผู้คนในท้องถิ่น 

Photo Credit: Aeron Alfrey

ความเชื่อเรื่องผีปอบจึงเป็นเหมือนการพิพากษาของสังคม 

สังคมมักจะตัดสินผู้ที่มีลักษณะสันโดษ ไม่พูดคุยกับเพื่อนบ้าน มีความคิดผิดแปลกไปจากความเชื่อและประเพณีประจำท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงผู้ที่เกิดอาการคลุ้มคลั่งจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้คนก็จะพยายามเชื่อมโยงกับความเชื่อเหนือธรรมชาติ ผ่านการตีตราว่าเป็น ผีปอบ เพื่อใช้อธิบายการกระทำนั้นๆ และสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ที่อยู่ศูนย์กลางในสังคมผ่านการจูงใจและใช้มติจากผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นผู้ตัดสินว่า ไม่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลนั้น และจำเป็นต้องขับไล่ให้ออกจากชุมชนโดยวิธีการต่างๆ เพื่อเบียดขับให้กลายเป็น “คนอื่น”

Photo Credit: บ้านผีปอบ2

จากความเชื่อทางไสยศาสตร์เรื่องผีปอบในสังคมสู่วาทกรรมการทำให้เป็นผีปอบ ที่ถูกใช้ในมิติของการกีดกันทางสังคมการแบ่งฝ่ายหรือพลักให้อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง การทำให้เป็นผีปอบอาจจะเริ่มต้นจากความขัดแย้งระหว่างบุคคล และมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพยายามสร้างความน่าเชื่อถือผ่านความเชื่อทางไสยศาสตร์ เพื่อให้ความเชื่อนั้นถูกยกมาเป็นประเด็นที่ใหญ่ขึ้นและขยายเป็นวงกว้างในลักษณะของการส่งต่อความเชื่อ เมื่อความเชื่อนั้นถูกสถาปนา อีกฝ่ายจะถูกทำให้กลายเป็นผีปอบถูกมองว่าเป็นผู้นอกรีต น่ารังเกียจ ต้องถูกกำจัดและเบียดขับออกจากสังคม

Photo Credit: บ้านผีปอบ4

เมื่อการคิดต่างเท่ากับความขัดแย้งผีปอบจึงถูกปลุกขึ้นมา ในรูปแบบของการกีดกันและตีตราให้ “ผู้ที่คิดต่าง” กลายเป็น “ผีปอบ” เราลองมองกลับมาในสังคมปัจจุบัน ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากความเชื่อหลักมักจะถูกทำร้าย ด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ไล่ให้ออกให้ไปอยู่ที่อื่น หรือแม้กระทั่งทำให้สูญหายไปจากสังคม คนบางกลุ่มที่มีอำนาจต้องการสร้างภาพศัตรูอีกฝ่ายให้กลายเป็นผีปอบ ไม่ว่าผ่านไปนานเท่าไหร่ผีปอบก็ยังคงอยู่ในสังคมไทย แต่เมื่อไหร่ที่ผีปอบกลายเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ขึ้น ไม่แน่เราอาจเห็นกองทัพผีปอบลุกขึ้นมาปฏิวัติก็ได้! 

อ้างอิง

กมเลศ โพธิกนิษฐ. 2555. การทำให้เป็น “ผีปอบ” และการกีดกันทางสังคมในมุมมองของการบริหารความขัดแย้ง. วารสารสถาบันพระปกเกล้า. 10(2)ธนเดช ต่อศรีและคณะ. 2560. ความหมายและการดำรงอยู่ของความเชื่อเรื่อง “ผีปอบ” ในบริบทสังคมไทย. วารสารวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. 9(2): 152-167