Culture

เป็นมา และเป็นไป ความเป็นไทยของวงการการ์ตูนภาพ

เมื่อพูดถึง ‘การ์ตูนภาพ’ หรือ ‘หนังสือการ์ตูน’ เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะนึกถึงการ์ตูนแนว ‘คอมิกส์’ (Comic) ของฝั่งอเมริกา หรือไม่ก็แนว ‘มังงะ’ (Manga) ของญี่ปุ่น หรือถ้าจะให้ทันสมัยหน่อยก็ต้องเป็นแนว ‘มันฮวา’ (Manhwa) ของเกาหลี แต่จริง ๆ แล้วไทยเราเองก็มีการ์ตูนภาพเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน แถมยังมีประวัติความเป็นมายาวนานพอตัว แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ได้รับความนิยมในระดับสากลมากเท่ากับการ์ตูนของต่างประเทศที่กล่าวไป แต่ก็ถือว่ามีฐานคนอ่านในระดับหนึ่ง ซึ่งวันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวงการการ์ตูนภาพของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกัน

 

การ์ตูนล้อการเมือง: จุดเริ่มต้นของการ์ตูนภาพไทย

       ไทยเรารู้จักกับวัฒนธรรมการวาด ‘การ์ตูนภาพ’ อย่างจริง ๆ จัง ๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใครที่ยังพอจำวิชาประวัติศาสตร์สมัยมัธยมได้ก็น่าจะรู้ว่ายุคนั้นไทยเรารับเอาวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ของชาติตะวันตกเข้ามาหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการวาดภาพการ์ตูนนั่นเอง โดยบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น นักวาดการ์ตูนไทยคนแรก คือ ‘ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต’ เจ้าของนามปากกา ‘เปล่ง ไตรปิ่น’ มีผลงานวาดการ์ตูนภาพล้อการเมืองตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น กรุงเทพ เดลิเมล์, ไทยหนุ่ม, บางกอกไทม์ เป็นต้น  ต่อมา ‘สวัสดิ์ จุฑะรพ’ นักวาดการ์ตูนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มวาดการ์ตูนเรื่องยาวคนแรกของไทย ได้ทำการนำวรรณคดีไทย รวมทั้งบทละครพื้นบ้านแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ อีกหลายเรื่องมาดัดแปลงวาดเป็นการ์ตูนเรื่องยาวแล้วตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้เขายังได้สร้างตัวการ์ตูนชื่อ ‘ขุนหมื่น’ ที่แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนฝรั่งอย่าง ‘ป๊อปอาย’ ซึ่งจะคอยไปสร้างสีสันให้กับการ์ตูนของเขาหลาย ๆ เรื่อง ส่งอิทธิพลให้นักวาดการ์ตูนไทยยุคหลังจากนั้นหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างตัวการ์ตูนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเองมากขึ้น

การ์ตูนเล่มละบาท และขายหัวเราะ: การปรับตัวของการ์ตูนไทย

       ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 2470 – 2500 วงการการ์ตูนไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นการ์ตูนล้อการเมืองหรือไม่ก็เป็นการนำวรรณคดีไทยมาดัดแปลงเป็นการ์ตูน จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 2500 – 2510 นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยได้เริ่มเข้ามาตีตลาดการ์ตูนไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทำให้วงการการ์ตูนไทยเริ่มต้องปรับตัวตามจากการ์ตูนภาพดั้งเดิมก็เปลี่ยนแปลงไปเป็น ‘การ์ตูนเล่มละบาท’ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องผีสางนางไม้และความเชื่อต่าง ๆ ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าการ์ตูนเล่มละบาทก็เพราะบรรดาสำนักพิมพ์ในยุคนั้นจำเป็นต้องประหยัดต้นทุนเพื่อสู้กับหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น จึงนำกระดาษเหลือใช้จากโรงพิมพ์มาพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนขนาดเล็ก ขายในราคาเพียง 1 บาท ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากนักอ่านในยุคนั้นอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่การ์ตูนเล่นละบาทค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ 2530 สาเหตุหลักเป็นเพราะการเน้นผลิตผลงานเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ โดยการ์ตูนหลายเล่มคัดลอกเนื้อเรื่องฉบับเก่ามาพิมพ์ขายใหม่ ขาดการสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ บวกกับต้องแข่งขันกับการ์ตูนญี่ปุ่น ทำให้โรงพิมพ์ที่เคยพิมพ์การ์ตูนเล่มละบาททยอยปิดตัวลงเกือบหมด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กยุคใหม่ที่เกิดหลังปี 2540 จะแทบไม่รู้จักการ์ตูนเล่มละบาทอีกต่อไป

         ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่การ์ตูนผีเล่มละบาทถือกำเนิดขึ้น อีกด้านหนึ่งหนังสือการ์ตูนแนวตลกขบขันที่เรียกว่า ‘การ์ตูน 3 ช่อง’ หรือ ‘การ์ตูนแก๊ก’ อย่าง ‘ขายหัวเราะ’ ก็ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2516 โดยมี ‘วิธิต อุตสาหจิต’ หรือ ‘บ.ก.วิธิต’ เป็นบรรณาธิการ และได้ ‘วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ’ เจ้าของนามปากกา ‘อาวัฒน์’ รับหน้าที่วาดการ์ตูน ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากนักอ่านอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน ต่อมาช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 หนึ่งในนักวาดการ์ตูนขายหัวเราะและมหาสนุกอย่าง ‘อารีเฟน ฮะซานี’ เจ้าของนามปากกา ‘เฟน สตูดิโอ’ ก็ได้แยกตัวออกมาทำหนังสือการ์ตูน ‘สาวดอกไม้กับนายกล้วยไข่’ ที่มีเนื้อหาล้อเลียนละคร ภาพยนตร์ หรือวรรณกรรมดัง ๆ ในยุคนนั้น แม้แต่ชื่อ ‘สาวดอกไม้กับนายกล้วยไข่’ ก็เป็นการตั้งล้อกับหนังจีนเรื่อง ‘ดอกไม้กับนายกระจอก’ (An Autumn’s Tale) ซึ่งโด่งดังอย่างมากในยุคนั้น

 

ขายหัวเราะและสาวดอกไม้ฯ: ยุคทองของการ์ตูนไทย

       ระหว่างทศวรรษที่ 2530 – 2540 การ์ตูน ‘ขายหัวเราะ’ และ ‘สาวดอกไม้กับนายกล้วยไข่’ ถือเป็นเสาหลักของวงการการ์ตูนไทยเลยก็ว่าได้ สาเหตุก็เพราะ ‘คอนเทนต์’ ที่การ์ตูนทั้งสองเรื่องนำเสนอนั้นมีความสดใหม่และหลากหลาย ไล่ตั้งแต่ล้อการเมือง, ล้อละครดัง ไปจนถึงล้อเหตุการณ์ในต่างประเทศ อีกทั้งภาษาที่ใช้ก็เข้าใจง่ายและทันสมัย ตอบโจทย์นักอ่านทุกเพศทุกวัย  นอกจากนี้ ‘ตัวการ์ตูน’ ของทั้งสองเรื่องก็มีคาแรคเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จดจำได้ง่าย และสร้างสีสันให้คนอ่านได้เป็นอย่างดี  ดังนั้น หากจะบอกว่าหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะและสาวดอกไม้ฯ ได้สร้างยุคทองของวงการการ์ตูนไทยช่วงทศวรรษที่ 2530 – 2540 ก็คงไม่ผิดนัก ถึงขั้นที่ตัวการ์ตูนในจักรวาลขายหัวเราะ (รวมทั้งมหาสนุก) หลายตัวได้รับความนิยมจนมีการนำไปดัดแปลงทำการ์ตูนแอนิเมชั่นและภาพยนตร์ เช่น บ.ก.วิติ๊ด, ปังปอนด์, หนูหิ่น ฯลฯ  ส่วนการ์ตูนสาวดอกไม้ฯ ก็ยังคงมีการตีพิมพ์ฉบับใหม่ออกมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 300 ฉบับเลยทีเดียว

 

มังงะและคอร์มิก: อิทธิพลต่อนักวาดไทยรุ่นใหม่

       การมาถึงของยุค ‘อินเทอร์เน็ต’ และสื่อแบบ ‘ดิจิตอล’ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2550 เป็นต้นมา ส่งผลให้การ์ตูนไทยแบบดั้งเดิมอย่าง ‘ขายหัวเราะ’ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจมาเน้นคนอ่านบนโลกออนไลน์มากขึ้น มีแอปพลิเคชั่นให้ผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง IOS และ Android รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาของการ์ตูนให้สอดแทรกประเด็นที่สังคมกำลังตื่นตัวอยู่ในขณะนั้น เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น

         ขณะที่นักวาดการ์ตูนไทยรุ่นใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนแนว ‘มังงะ’ ของญี่ปุ่น หรือแนว ‘คอมิกส์’ ของฝั่งอเมริกามากกว่าการ์ตูนแนวดั้งเดิมของไทย ทำให้ลายเส้นและการเล่าเรื่องค่อนข้างคล้ายกับการ์ตูนสองประเภทข้างต้น ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างชื่อเสียงได้ในต่างแดน เช่น ‘สตรีทบอลสะท้านฟ้า’ ของ ‘จักรพันธ์ ห้วยเพชร’ ที่ได้รับรางวัล ‘International MANGA Award’ ของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2552 หรือการ์ตูนคอมิกส์ ‘Romeo and Juliet: The War’ ของ ‘สแตน ลี’ (Stanley) ก็ได้นักวาดไทยอย่าง ‘สกาล ศรีสุวรรณ’ เป็นผู้วาดภาพประกอบ หรือการ์ตูน ‘Before Becoming Buddha’ ของ ‘อดิศักดิ์ พงศ์สัมพันธ์’ ที่เพิ่งไปคว้ารางวัล ‘International MANGA Award’ ที่ประเทศญี่ปุ่นแบบสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เป็นต้น

         นอกจากนี้ การเข้ามาของแพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์อย่าง ‘WEBTOON’ ของเกาหลีใต้ก็ยิ่งทำให้นักวาดการ์ตูนไทยหน้าใหม่ ๆ มีเวทีสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลาย อีกทั้งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าในอดีตหลายเท่า ตัวอย่างเช่น การ์ตูน ‘วันทองไร้ใจ’ ของ ‘มุ’ (Mu) ที่มียอดอ่านรวมเกือบ 60 ล้านครั้ง หรือการ์ตูน ‘คุณแม่วัยใส’ ของ ‘theterm’ ที่มียอดอ่านรวมกว่า 251 ล้านครั้ง และมีการนำไปดัดแปลงสร้างเป็นซีรีส์ ‘คุณแม่วัยใส The Series’ ของ GMMTV เมื่อปี 2560 เป็นต้น

 

ปัจจุบันการ์ตูนไทยยืนอยู่ตรงจุดไหน?

       ปัจจุบัน วงการการ์ตูนไทยค่อนข้างมีความหลากหลาย การ์ตูนแนวดั้งเดิมของไทยอย่าง ขายหัวเราะ หรือแม้แต่การ์ตูนผีก็ยังคงมีออกมาเรื่อย ๆ หรือจะเป็นการ์ตูนแนวมังงะ คอมิกส์ รวมถึงเว็บตูนที่เป็นผลงานของนักวาดไทยรุ่นใหม่ก็ยิ่งมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีอีเวนต์วงการการ์ตูนที่จัดขึ้นทุก ๆ ปี เช่น Bangkok Comic Con, Thailand Comic Con, THAI COMICS ART งานนิทรรศการ ศิลปะการ์ตูนไทย 2567 ระหว่างวันที่ 3 - 30 เมษายน 2567  นี่ชี้ให้เห็นว่าวงการการ์ตูนไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย ‘อดิศักดิ์ พงศ์สัมพันธ์’ นักวาดไทยเจ้าของผลงาน ‘Before Becoming Buddha’ เชื่อว่า ฝีมือของนักวาดการ์ตูนไทยนั้น ‘ไม่แพ้ชาติใดในโลก’ เพราะจะเห็นได้ว่ามีผลงานของนักวาดไทยที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติแทบทุกปี เพียงแต่ที่ผ่านมา ภาครัฐไม่เคยให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ทำให้นักเขียนไทยรุ่นใหม่ ๆ ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จะช่วยให้พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ออกมาได้อย่างสม่ำเสมอ ส่วนทางด้าน ‘ธเนตร ปรีดารัตน์’ บก.บห.การ์ตูนไทยสตูดิโอ สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ ก็มองคล้ายกันว่า ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ค่อยเปิดใจให้กับวงการการ์ตูนไทยจึงแทบไม่มีโครงการส่งเสริมการ์ตูนไทยในระยะยาว มีเพียงแค่โครงการระยะสั้น เช่น การประกวดวาดการ์ตูน ที่จัดแล้วก็หายไปเท่านั้น

         สุดท้ายนี้ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักวาดการ์ตูนไทย ก็ต้องบอกว่าโลกยุคปัจจุบันเป็นยุคไร้พรมแดน ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นนักวาดการ์ตูนได้ รวมถึงสามารถเผยแพร่ผลงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ได้หลายช่องทาง ไม่จำเป็นต้องมานั่งง้อสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ เหมือนแต่ก่อน แต่นั่นหมายความว่าจะต้องเจอกับการแข่งขันและความกดดันที่สูงมากตามไปด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ ‘ธัญลักษณ์ เตชศรีสุธี’ บรรณาธิการ Let’s Comics นิตยสารการ์ตูนไทยเคยแสดงความเห็นไว้ว่า เดี๋ยวนี้อุตสาหกรรมการ์ตูนไทยวัดคุณค่ากันง่ายเพราะดูแค่ ‘ตัวเลข’ เช่น ยอดคนอ่านเท่าไหร่, ยอดไลค์เท่าไหร่, ยอดซื้อเท่าไหร่ ฯลฯ พอเป็นแบบนี้ก็ยิ่งทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ความกดดันก็ยิ่งมากขึ้น การ์ตูนบางเรื่องไม่มีความสวยงามในเชิงศิลปะ แต่กลับเป็นที่นิยมมากกว่า ขณะที่บางเรื่องอาจจะดูเป็นศิลปะมากกว่า แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่า ซึ่งนี่เป็นแง่มุมที่โหดร้ายที่คนที่ทำงานด้านนี้จะต้องเตรียมใจให้พร้อม และสำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักวงการการ์ตูนไทย หรืออาจจะเคยอ่านการ์ตูนต่างประเทศ แต่ไม่เคยอ่านการ์ตูนไทยมาก่อนก็อาจจะต้องอาศัยการ ‘เปิดใจ’ สักเล็กน้อย เพื่อช่วยกันผลักดันการ์ตูนไทย ให้ไปไกลในระดับโลกมากยิ่งขึ้น

 

Reference

https://mrmeestudio.com/ความเป็นมาของวงการ/

https://www.sarakadeelite.com/faces/thai-cartoonists/

https://www.thaipbspodcast.com/article/144/การ์ตูนผีเล่มละบาท

https://thepotential.org/creative-learning/cartoonist-fan/

https://readthecloud.co/kaihuaror/

https://positioningmag.com/1154505

https://cont-reading.com/thinking/fane-studio/

https://www.thaipbs.or.th/now/content/854

https://www.online-station.net/entertainment/167511/

https://adaymagazine.com/lets-comics/

https://jobbkk.com/variety/detail/654

https://thematter.co/entertainment/comicwriting-101-process-and-balancing/186290