ในช่วงเทศกาลสำคัญอย่าง สงกรานต์, ลอยกระทง, ปีใหม่ หรือแม้แต่ในงานเลี้ยงสังสรรค์บ้าน ๆ อย่าง งานบวช, งานแต่ง, งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ เราก็มักจะได้ยินเพลงจังหวะ ‘3 ช่า’ หรือเพลง ‘โจ๊ะๆ’ รวมถึงเพลงประเภท ‘รีมิกซ์’ (Remix) ที่ดัดแปลงเพลงแนวอื่นให้เป็นเพลงจังหวะ 3 ช่า เปิดสร้างความสนุกสนานกันตั้งแต่เช้ายันค่ำ นอกจากนี้ยังมีการใช้ ‘รถแห่’ ติดเครื่องเสียงเปิดเพลง 3 ช่าเพิ่มดีกรีความมันส์ในการแดนซ์ของสายย่อทั้งหลาย ภาพและบรรยากาศแบบนี้อยู่คู่กับคนไทยมานานจนหลายคนก็ตอบไม่ได้ว่าเพลงจังหวะ 3 ช่า เพลงรีมิกซ์ และดนตรีรถแห่เริ่มได้รับความนิยมในบ้านเราตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่ วันนี้เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบด้วยกัน x
ต้นกำเนิดเพลงจังวะ ‘3 ช่า’
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเพลงจังหวะ ‘3 ช่า’ นั้น ไม่ได้มีต้นกำเนิดที่ประเทศไทย แต่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศคิวบา ช่วงยุคสงครามเย็น เมื่อปี ค.ศ.1950 โดยสากลแล้วเขาจะเรียกเพลงแนวนี้ว่า ‘ช่าช่าช่า’ (Cha Cha Cha) เชื่อกันว่าได้รับการพัฒนามาจากดนตรีแนว ‘แมมโบ้’ (MAMBO) ที่ใช้ประกอบการเต้นลีลาศ ซึ่งได้รับความนิยมในแถบท้องถิ่น ลาติน อเมริกา มาช้านาน โดยเพลงจังหวะ 3 ช่าค่อย ๆ แพร่เข้าสู่สหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรปจนกลายเป็นหนึ่งในแนวเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุค 1960’s ถึงขนาดที่ว่านักวิชาการบางคนเชื่อว่าเพลงแนว 3 ช่านี้คือต้นกำเนิดของเพลงและดนตรีแนว ‘ฮิปฮอป’ (Hip Hop) ก่อนจะพัฒนามาเป็นเพลง ‘แร็ป’ (Rap) ในที่สุด
เพลงจังหวะ 3 ช่าของไทยยุคแรก
สำหรับประเทศไทย เชื่อกันว่าเรารู้จักเพลงจังหวะ 3 ช่าครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1955 โดยมีวงดนตรีฟิลิปปินส์ ชื่อ ‘ซีซ่า วาเลสโก’ (Cesar Velasco) เป็นผู้นำมาเผยแพร่ ด้วยความที่ดนตรีจังหวะ 3 ช่ามีเอกลักษณ์ดนตรีที่แสดงออกถึงความสนุกสนาน มีจังหวะที่เร้าใจ ชวนให้คนฟังอยากลุกขึ้นขยับแข้งขยับขา เข้ากับลักษณะนิสัยของคนไทยที่ชอบความรื่นเริง อีกทั้ง คนไทยเราก็มีรากวัฒนธรรมทางด้านดนตรีที่มีท่วงทำนองสนุกสนาน ครื้นเครง เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะเห็นได้จากเพลง ‘รำวงมาตรฐาน’ และ ‘เพลงฉ่อย’ ของภาคกลาง หรือ ‘หมอลำ’ ของภาคอีสาน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เพลงจังหวะ 3 ช่า ได้รับความนิยมจากคนไทยอย่างรวดเร็ว มีการนำเพลง ‘ไทยเดิม’ มาดัดแปลงใส่ดนตรีจังหวะ 3 ช่า เพื่อใช้เป็นเพลงเต้นรำ เช่น ‘เพลงลาวดำเนินทราย’ และ ‘เพลงลาวสมเด็จ’ ของวงศรีกรุง ในปี ค.ศ.1957
นอกจากการดัดแปลงแล้ว ไทยเราก็ยังมีการแต่งเพลงไทยสากลในจังหวะ 3 ช่า ขึ้นมาใหม่ แต่เร่งจังหวะให้เร็วขึ้นกว่าเพลง 3 ช่าของฝั่ง ลาติน อเมริกา เพื่อเพิ่มความสนุกสนานและเพื่อให้เหมาะกับการเฉลิมฉลองช่วงเทศกาล เช่น เพลงสุขกันเถอะเรา, เพลินเพลงแมมโบ้, ช่าช่าช่าพาเพลิน, เริงลีลาศ ของวงสุนทราภรณ์ วงดนตรีโปรดที่คุ้นหูของคนไทยรุ่น Baby Boomer และหลังจากนั้นเรื่อยมา เพลง 3 ช่าก็ได้กลายเป็นอีกแขนงหนึ่งของเพลงไทยที่นิยมเล่นในงานรื่นเริงช่วงเทศกาลประจำปี และงานเลี้ยงสังสรรค์ของคนไทยที่พบเห็นได้ทั่วไป
เพลงจังหวะ 3 ช่าของไทยยุคปัจจุบัน
เพลงจังหวะ 3 ช่าของไทยถูกพัฒนาแบบก้าวกระโดดช่วงยุค 1990’s ถึง 2000’s ค่ายเพลงหลายค่ายมีการแข่งขันทำเพลงจังหวะ 3 ช่า สไตล์ ‘ยูโรแดนซ์’ ที่เหมาะกับการเปิดในผับหรือดิสโก้เทค รวมถึงมีการนำเพลงไทยสารพัดแนวไป ‘รีมิกซ์’ (Remix) ให้มีจังหวะโจ๊ะ ๆ เหมาะกับการเต้น เช่น เพลงลูกทุ่งคลาสสิกอย่าง ‘รักจางที่บางปะกง’ ของ ‘สดใส รุ่งโพธิ์ทอง’ หรือเพลงฮิตของวัยรุ่นยุคนั้นอย่าง ‘ที่หนึ่งไม่ไหว’ ของวง ไอน้ำ ก็ถูกนำมารีมิกซ์ใหม่โดย ‘นายครรชิต’ กับ ‘ทิดแหลม’ กลายเป็นเพลง ‘ตีหนึ่งไม่ไหว’ ให้วัยรุ่นขาโจ๋ได้โยกกันจนถึงเช้า
ในยุคที่อินเทอร์เน็ตทั้งเร็วและแรง เข้าถึงได้ง่าย ๆ ได้จากทุกมุมโลกอย่างทุกวันนี้ ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถทำเพลงได้ แถมยังสามารถเผยแพร่ผลงานผ่านโซเชียลมีเดียได้ง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ผู้คนที่รักในเสียงเพลงไม่ต้องง้อค่ายเพลงใหญ่ ๆ อีกต่อไปแล้ว ทำให้มีเพลง 3 ช่าจังหวะโจ๊ะ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง หลายเพลงโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ อย่างเช่น เพลง ‘ชอบเธออะ’ ของ ‘Sakarin’ หรือเพลง ‘มองนาน ๆ’ ของวง ‘Vitamin A’ ที่หลายคนคงคุ้นหูจาก TIKTOK ต่างก็เคยเป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลกมาแล้ว
นอกจากนี้ บรรดาเพลงฮิตที่กำลังเป็นที่นิยมไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยหรือเพลงต่างประเทศก็มักถูกนำไปรีมิกซ์เป็นเพลง 3 ช่าที่มีจังหวะตื๊ด ๆ โจ๊ะ ๆ ให้สายแดนซ์สายย่อทั้งหลายนำไปเต้นได้แบบสุดเหวี่ยงเช่นกัน มีหลายเพลงที่ยังคงเป็นไวรัลในโลกโซเชียลมาจนถึงตอนนี้ เช่น เพลงจากราชาเพลงลูกกรุงในตำนานอย่าง ‘เป็นโสดทำไม’ ของ ‘สุรพล สมบัติเจริญ’ ที่ถูกดัดแปลงเป็นเวอร์ชันรีมิกซ์ 3 ช่าจนฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง ไปงานบวช หรือ เล่นน้ำสงกรานต์ก็ต้องได้ยิน หรือกระทั่งเพลงเพื่อชีวิตที่หลายคนฟังแล้วถึงกับขนลุกอย่างเพลง ‘ผู้ปิดทองหลังพระ’ ของน้า ‘แอ๊ด คาราบาว’ ก็ถูกนำไปดัดแปลงเป็นเวอร์ชันรีมิกซ์ 3 ช่า โดย ‘TRAP COMBO TEAM’ ด้วยเหมือนกัน อย่างที่บอกว่าคนไทยเป็นคนรักความสนุกสนานมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะเพลงสากล ลูกทุ่ง ลูกกรุง หรือแม้แต่เพลงชาติ ขอเพียงเร่งจังหวะแล้วแปะข้อความว่า ‘รีมิกซ์’ เข้าไปก็เป็นที่เข้าใจกันว่า นี่คือเพลงจังหวะ 3 ช่า โจ๊ะ ๆ ที่พร้อมจะสร้างรอยยิ้ม และความสนุกหลังจากที่ได้ฟังในทันที ยิ่งเมื่อนำไปรวมกับวงดนตรีสไตล์ ‘รถแห่’ แบบอีสานด้วยแล้วละก็ เราก็จะได้เวทีแดนซ์เคลื่อนที่ที่สามารถเคลื่อยย้ายไปสร้างสีสันและความสนุกสนานได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เมื่อถึงช่วงเทศกาลประจำปีอย่าง สงกรานต์, ลอยกระทง, ปีใหม่ ฯลฯ เรามักจะเห็นกองทัพรถแห่ตระเวนเปิดเพลงให้สายย่อ สายแดนซ์ได้มันกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
ถึงตรงนี้เราคงพูดได้เต็มปากว่า จังหวะ 3 ช่า เป็นแนวเพลงที่อยู่คู่กับคนไทยมาไม่ต่ำกว่า 60-70 ปี และหากจะบอกว่า เพลง 3 ช่าและเพลงรีมิกซ์สายย่อของไทยถือเป็นหนึ่งใน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) ที่โดดเด่นของไทยก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงนัก
รถแห่ 3 ช่า: มหรสพเคลื่อนที่ยุคใหม่ของชาวอีสาน
เมื่อพูดถึงเพลงจังหวะ 3 ช่า เพลงโจ๊ะ ๆ แล้วจะไม่พูดถึง ‘รถแห่’ ก็คงเหมือนขาดอะไรไป เพราะยุคนี้เพลง 3 ช่ากับรถแห่แทบจะเป็นของคู่กัน มีรถแห่ที่ไหนต้องมีเพลง 3 ช่าที่นั่น ซึ่งวัฒนธรรมรถแห่นี้เป็นมหรสพที่มีมานานแล้วในภาคอีสาน เพียงแต่ในอดีตชาวอีสานเพียงแค่นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านไปตั้งเล่นตามงานสังสรรค์ต่าง ๆ พอเสร็จงานก็ยกเครื่องดนตรีขึ้นรถกลับ ต่อมาจึงพัฒนากลุ่มนักดนตรีกลองยาว หรือคณะหมอลำที่สามารถใส่นักดนตรี เครื่องดนตรี และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ในรถกระบะ รถบรรทุก เพื่อเวลาเดินทางไปแสดงตามงานสังสรรค์ต่าง ๆ เช่น งานบวช, งานแต่ง ไปจนถึงงานเทศกาล งานบุญบั้งไฟ, ปีใหม่ และสงกรานต์ งานใหญ่ประจำปีของสังคมบ้านเราเสมอมา แล้วเมื่อทำงานเสร็จก็สามารถขับรถกลับ หรือไปแสดงต่องานอื่นได้เลย จนกระทั่งพัฒนามาเป็น ‘รถแห่’ สมัยใหม่ที่บนรถจะมีทั้งเครื่องเสียงและเครื่องดนตรีครบครัน ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับเพลงแดนซ์ตื๊ด ๆ จังหวะ 3 ช่า และเพลงรีมิกซ์ที่เป็นวัฒนธรรมดนตรีของภาคกลางก็ทำให้รถแห่กลายเป็นคอมโบความสนุกเปรียบเหมือน ‘เวทีมหรสพเคลื่อนที่’ หรือ ความสนุกสนานแบบติดล้อ สามารถจอดรถจัดเวทีแดนซ์ขนาดย่อม ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องง้อเวทีประกอบหรือเวทีแบบนั่งร้าน
ส่วนสาเหตุว่าทำไมดนตรีรถแห่จึงได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่นไทยยุคปัจจุบันนั้น อ้างอิงจากงานวิจัยของ ‘จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์’ ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ส่วนหนึ่งเป็น เพราะความยืดหยุ่นของดนตรีรถแห่ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปเปิดเวทีแดนซ์ได้แทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นริมถนน, ลานกว้างในชุมชน , ลานวัด หรือแม้กระทั่งสนามกีฬาหน้าโรงงาน อีกทั้งคนฟังสามารถมีส่วนร่วมกับการแสดงได้อย่างเต็มที่ จะเต้นรูดเสาไฟ เต้นท่ากระเด้งพื้น หรือจะโหนต้นไม้ตีลังกาก็ทำได้ตามสะดวก ตอบโจทย์งานรื่นเริงตามช่วงเทศกาลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การที่ชาวอีสานจำนวนมากอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่ว่าจะเพื่อทำงานหรือเรียน ก็ยิ่งเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมดนตรีแบบรถแห่ รวมทั้งเพลงแนว ‘อีสานป๊อป’ ให้เป็นที่นิยมมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้คนที่อาจจะไม่ได้มีเชื้อสายอีสานรับรู้และยอมรับวัฒนธรรมดนตรีรถแห่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เพลง 3 ช่าจังหวะโจ๊ะ ๆ รวมถึงดนตรีสไตล์รถแห่ มักจะถูกมองว่าเป็นมหรสพของกลุ่ม ‘ตลาดล่าง’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรือการศึกษาไม่สูงมากนัก และยังเป็นคำที่มีนัยยะของการแบ่งชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในตัวเองเหมือนกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มเป้าหมายหรือฐานลูกค้าหลักของดนตรี 3 ช่าและรถแห่ก็คือกลุ่มคนทั่วไปหรือถ้าพูดให้เฉพาะเจาะจงก็คือ กลุ่มคนที่อยู่ในตลาดแรงงานซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะเข้าถึงมหรสพของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ตลาดบน’ แต่ไม่ว่าอย่างไร รสนิยมด้านความบันเทิงเป็นเรื่องของ ‘ปัจเจก’ ที่บางครั้งเราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลซับซ้อน ขอเพียงแค่ชื่นชอบและไม่ได้ละเมิดสิทธิของคนอื่น จะตลาดบนหรือตลาดล่างก็ไม่ใช่ปัญหา
หากย้อนกลับไปดูพัฒนาการของเพลง 3 ช่าและดนตรีแบบรถแห่นับตั้งแต่อดีต จะเห็นได้ว่ามันมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ถ้าลองนำเพลง 3 ช่าดั้งเดิมของ ลาติน อเมริกา มาเทียบกับเพลง 3 ช่า โจ๊ะ ๆ ของวัยรุ่นไทยในตอนนี้ ก็จะเห็นว่ามันต่างกันโดยสิ้นเชิง ในปัจจุบันเพลง 3 ช่าของไทยถูกพัฒนาจนถือว่าเป็นแนวเพลงของตัวเอง และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยของเราที่ไม่ว่าจะสงกรานต์ งานบวช งานแต่ง หรือบางที่จ้างมาวิ่งงานศพด้วย แถมได้รับความนิยมจนเกิดปรากฏการณ์ไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ว่าได้เพราะนอกจากในไทยแล้วความโจ๊ะยังเป็นที่นิยมในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ฟิลิปปินส์ พม่า หรือ อินโดนีเซีย ทั้งแนวเพลงแบบดัดแปลงของ 3 ช่า แบบเขาเอง และเพลง 3 ช่าไทยที่ไปดังต่างประเทศด้วย แม้แต่ฝรั่งมังค่ายังยกนิ้วโป้งให้มีเอกลักษณ์ม่วนคักไม่เหมือนใคร แล้วอนาคตเพลง 3 ช่าและดนตรีรถแห่ไทยก็น่าจะพัฒนาต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความบันเทิงของคนในสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ แนวเพลงไทย ดนตรีไทยทั้งหลายได้เข้าไปมีบทบาทในงานสากลกันมากขึ้นเช่นกันอย่างวงอินเตอร์ชื่อ Yin Yin ที่ได้นำหมอลำไทยไปเป็นส่วนประกอบในเพลงพวกเขาด้วย ดังนั้นหากศิลปะดนตรีไทยได้รับการสนับสนุนต่อยอดจากรัฐบาลอย่างจริงจัง (ไม่ใช่แค่แปะป้ายบอกว่านี่คือ ซอฟต์พาวเวอร์) ในอนาคตเราอาจได้เห็นรถแห่ 3 ช่าไทยถูกส่งออกไปทั่วโลก ในงานเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง Coachella, Tomorrowland, Summerfest และอื่นๆ ดนตรีที่เคยผ่านการถูกมองด้วยหางตาอาจจะเป็นกลไกที่จะพาความเป็นไทยไปทั่วโลก
References
https://museumsiam.org/km-detail.php?CID=177&CONID=3448
https://thestandard.co/isan-parade-car-history/
https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=32957
https://prachatai.com/journal/2022/09/100326
https://voicetv.co.th/read/ztapb_lPG