ในปัจจุบัน กระแสสตรีนิยม (Feminism) ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง และในหลากหลายประเทศก็มีการตระหนักถึงการกระทำที่เคยริดรอนสิทธิของเพศพญิงไม่ว่าจะโดยวัฒนธรรม ประเพณี หรือความคุ้นชินในสังคม แต่อีกหนึ่งประเทศที่คำว่าเฟมินิสต์เป็นเหมือนของแสลงที่พูดขึ้นมาคราวใด ต้องมีประเด็นกันไปอีกยาว จะเป็นประเทศไหนไปได้นอกจากประเทศเกาหลีใต้ แม้ว่าจะเริ่มการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่วายที่จะมีกลุ่มแอนตี้เฟมินิสต์หวนขึ้นมาต่อต้านอีก
ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ คนในวงการบันเทิงเกาหลีก็ไม่ได้เพิกเฉยแม้ว่าจะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ แต่ก็มีความพยายามที่จะร่วมแสดงจุดยืนพร้อมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของเฟมินิสต์ในเกาหลี
Park Ye-Eun (Wonder Girls)
Photo credit: dbkpop, allaccessasia, wgsnsdfx, jazminemedia
พัค เยอึน อดีตสมาชิกวง Wonder Girls ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสื่อเกาหลี เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2020 โดยแสดงจุดยืนและพูดถึงเฟมินิสต์ไว้ว่า “ฉันไม่คิดว่าต้องระมัดระวัง คอยหลบซ่อน หรือถูกต่อว่า เพียงเพราะฉันเป็นเฟมินิสต์” ไม่เพียงเท่านี้ เยอึนได้นำความคิดเห็นแง่ลบจากเหล่าแอนตี้เฟมินิสต์ ที่ส่งถึงเธอในกล่องข้อความบน Instragram มาโพสต์ลงสตอรี่ของตัวเอง ทั้งยังตอบโต้ด้วยความคิดเห็นกลับไปอีกด้วย
Red Velvet
Photo credit: kissasian, jaktimnews, myseoulbox, koreaboo, myseoulbox
สำหรับวง Red Velvet จะไม่พูดถึงคงไม่ได้เพราะสมาชิกในวงอย่าง จอย และ ไอรีน ได้จุดกระแสเฟมินิสต์ขึ้นมาให้เป็นที่พูดถึงในวงการ เมื่อจอยได้โพสต์ภาพลงในอินสตาแกรม โดยสวมเสื้อที่มีข้อความสนับสนุนข้อคิดสตรีนิยมว่า “We should all be feminists” และยังกดถูกใจโพสต์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การปกครองแบบปิตาธิปไตยของ กวาง จองอึน นักเขียนและนักจัดรายการวิทยุ นอกจากนี้ระหว่างงานแจกลายเซ็น แฟนคลับของไอรีนได้ถามถึงหนังสือที่อ่านในช่วงนี้ เธอจึงพูดถึงเรื่อง “Kim Ji-Young Born 1982” หนังสือฝั่งสตรีนิยมที่เคยนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ซึ่งเล่าถึงหญิงสาวผู้ถูกกดทับจากระบอบชายเป็นใหญ่ จึงเกิดประเด็นให้แฟนคลับชายบางคนออกมาทำลายและเผาโปสการ์ดรูปของไอรีน พร้อมทั้งต่อว่าและเลิกสนับสนุนพวกเธออีกด้วย
Tiffany (Girls’ Generation)
Photo credit: allkpop, hashtaglegend, deviantart, wgsnsdfx
Into The New World จากวง Girls’ Generation (โซนยอชิแด) นับเป็นเพลงที่ถูกหยิบยกมาใช้ในการประท้วงของประเทศเกาหลีหลายต่อหลายครั้ง ด้วยเนื้อหาที่กล่าวถึงโลกใบใหม่ หรือแม้แต่ชื่อวงเองก็แปลตรงตัวว่ายุคสมัยของหญิงสาว ซึ่งหนึ่งในสมาชิกวงอย่าง ทิฟฟานี่ ได้ให้สัมภาษณ์เนื่องในโอกาสครอบรอบ 10 ปีของวงไว้ว่า “ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเพลงนี้ เป็นช่วงเวลาที่น่าภาคภูมิใจในฐานะสมาชิกวงเกิลส์เจเนอเรชัน” เธอยังเสริมอีกว่า “นี่คือยุคของเฟมินิสต์ ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องสื่อสารกันให้มากขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้หญิงคนอื่นๆ ฉันดีใจที่เพลงของพวกเราถูกนำไปใช้ในบทบาทด้านนี้”
Sulli
Photo credit: suryamalang, koreaboo, kpopboo, kpopstarz
“การเหยียดเพศและการเหยียดเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ฉันเกลียดที่สุด” คือประโยคที่มาจากปากของ ซอลลี่ (ชเว จินรี) อดีตสมาชิกวง f(x) ไอดอลผู้เป็นกระบอกเสียงให้เหล่าผู้หญิงเสมอมา ในครั้งที่มีการเปลี่ยนกฎหมายยกเลิกการห้ามทำแท้งในเกาหลีใต้ ซอลลี่เป็นหนึ่งในคนดังที่ออกมาแสดงจุดยืน ว่าตนเป็นผู้สนับสนุนสิทธิสตรีในการทำแท้ง ทั้งยังสวมเสื้อที่มีข้อความแนวคิดสตรีนิยม เช่น “GIRLS SUPPORTING GIRLS” ผ่านรายการทอล์กโชว์เกาหลีใต้อย่าง ‘The Night of Hate Comments’ แม้ว่าจะมีกระแสในแง่ลบออกมาเพราะการสนับสนุนเฟมินิสต์ของเธอ ซอลลี่ก็ยังคงผลักดันความเท่าเทียมทางเพศอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้โนบราให้เป็นเรื่องปกติ หรือการแจกผ้าอนามัยในงานแฟนมีตติ้ง พร้อมให้แนวคิดการแก้ปัญหาเรื่องผ้าอนามัย
Bae Suzy
Photo credit: nme, koreaboo, starbiz, kpopping
มาถึงคนสุดท้ายกับ เบ ซูจี อดีตสมาชิกวงมิสเอ เธอริเริ่มทำหนังสือเผยเคล็ดลับความงามที่มีชื่อว่า OBSESSION WITH เพื่อนำรายได้ทั้งหมดไปจัดซื้อผ้าอนามัย และบริจาคแก่เด็กผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนในครอบครัวยากจน ซูจีมองว่าประจำเดือนเป็นสิ่งที่ผู้หญิงแทบทุกคนมี และการแจกจ่ายของเธอน่าจะพอช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวของเหล่าเด็กสาว ไม่เพียงเท่านั้น หนังสือของเธอที่นอกจากจะพูดถึงเคล็ดลับความงาม ก็ยังพูดถึงสิ่งสำคัญ นั่นก็คือการสร้างความมั่นใจให้กับเหล่าหญิงสาว เพราะเธอเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนมีความสวยเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ ในคดีคุกคามทางเพศของยูทูบเบอร์สาว ยาง เยวอน ซูจีก็ได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมต่อคดีนี้ ถึงแม้ในภายหลังจะพบว่าเป็นการให้เท็จ แต่ก็ทำให้เห็นได้ว่าซูจีเป็นอีกหนึ่งคนที่คอยสนันสนุนแนวคิดสตรีนิยมอยู่เรื่อยมา
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เหล่าดารา ศิลปิน ไอดอล ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเฟมินิสต์ในสังคมเกาหลีนั้น ต่างล้วนโดนคุกคาม โดนกระแสสังคมตีกลับ หรือในกรณีของซอลลี่ที่ได้เลือกทางเดินของเธอในอีกทาง ทำให้เห็นว่าคำว่า “เฟมินิสต์” ในสังคมเกาหลีนั้น ยังไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ ก็ไม่ต่างอะไรกับระดับสิทธิสตรีของผู้หญิงในเกาหลีที่ยังถูกกดทับมาอย่างต่อเนื่อง แต่มองในแง่ดีเรื่องราวเหล่านี้ก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้น ที่คนในวงการบันเทิงกล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นและไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมในสังคม ถึงแม้ว่าราคาที่จ่ายไปในบางครั้งมันจะสูงถึงชีวิตคนคนหนึ่งเลยดีทีเดียว
ติดตามและอัปเดตเรื่องราวใหม่ๆ กับพวกเราได้ที่ Exotic Quixotic
อ้างอิง