“ไพ่เราเผาเรื่อง” เมื่อป๊อปคัลเจอร์ถูกเผาด้วยไพ่ทาโรต์ ความแปลกใหม่จึงกำเนิด

ปัจจุบันสังคมที่ใครหลายคนมักเลือกดูหรือซื้ออะไรสักอย่าง จำเป็นต้องมีรีวิวเพื่อความมั่นใจและประกอบการตัดสินใจเสมอ เพจรีวิวต่างๆ จึงถือกำเนิดขึ้น เราอาจจะเห็นเพจรีวิวหนังสือ ภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งรีวิวของแปลกกันค่อนข้างมาก บางคนสร้างเพจรีวิวเพื่อตอบสนองความชอบของตัวเอง หรือบางคนอาจสร้างเพจเพื่อทดลองแทนผู้อื่น แต่รับรองได้เพจรีวิวที่จะพาทุกคนไปรู้จักในวันนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน!

ไพ่เราเผาเรื่อง” เป็นเพจที่เขียนรีวิวหรือวิจารณ์สื่อประเภทต่างๆ ไปพร้อมกับ ‘เผาเรื่อง’ หรือรีวิวและวิจารณ์เรื่องเหล่านั้นด้วยไพ่ทาโรต์ วันนี้เรามาพูดคุยกับ ภูมิ น้ำวล เจ้าของเพจไพ่เราเผาเรื่อง ที่เป็นทั้งบรรณาธิการหนังสือ นักผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ รวมถึงนักแปลฟรีแลนซ์

“ชื่อเพจ ‘ไพ่เราเผาเรื่อง’ มาจากการคิดแบบขำๆ ล้อสำนวนไทย เพื่อนเราเผาเรือน”

จุดเริ่มต้นของเพจ “ไพ่เราเผาเรื่อง” 

เริ่มจากผมสนใจอยากทำเพจตามแพชชั่นที่ตัวเองมี ซึ่งหลักๆ มีอยู่สองเรื่องคือ รีวิวสื่อบันเทิงประเภทต่างๆ อย่างหนังสือ หนัง เกม อนิเมะ หรือซีรีส์ บางทีอาจทำเป็นบทวิจารณ์เล็กๆ แทรกทฤษฎีการวิจารณ์ไปบ้างตามที่มีโอกาส อีกอย่างคือไพ่ทาโรต์ รวมถึงไพ่ทำนายอื่นๆ อย่างออราเคิลหรือเลอนอร์มองด์ด้วย แต่มองไปทางไหนก็มีคนทำเพจเกี่ยวกับสองเรื่องนี้มาเยอะแล้ว ถ้าจะทำเราอยากทำให้แตกต่างไปอีกสักหน่อย เผื่อมีความน่าสนใจขึ้นมานิดนึง ก็เลยคิดว่าถ้าเอาสองเรื่องนี้มารวมกัน 

นอกจากนั้นการ Work from Home จากสถานการณ์โควิด-19 มันก็ช่วยให้พอมีเวลาเพิ่มขึ้นบ้างจากงานที่ทำอยู่ ผมคิดว่าเป็นโอกาสเหมาะในการเริ่มทำเพจ หลังจากบอกตัวเองมานานว่าอยากทำๆ แต่ไม่ลงมือทำสักที ก็เลยเปิดเพจไปตอนวันสิ้นปี พ.ศ. 2563

ไพ่ทาโรต์คือภาษาแบบหนึ่ง

“ผมมองว่าไพ่ทาโรต์ไม่ได้เป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ทางไสยศาสตร์ มันเป็นคล้ายๆ ภาษารูปแบบหนึ่งมากกว่า”

ความเป็นภาษาเกิดขึ้นได้จากเรามีคำศัพท์ และมีไวยากรณ์ที่ช่วยให้เรานำคำมาวางเรียงกันและใช้สื่อสารกันรู้เรื่อง ในภาษาไพ่ ไพ่แต่ละใบคือคำ ใช้สื่อความหมายแทนนาม กริยา วิเศษณ์ คาร์ล จุง (Carl Gustav Jung) นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ บอกว่าไพ่ทาโรต์แต่ละใบเป็นภาพต้นแบบ (Archetype) หรือตัวแทนของสิ่งรูปธรรมและนามธรรมต่างๆ คนออกแบบไพ่นำภาพต้นแบบที่ว่านี้มาถ่ายทอดเป็นภาพหน้าไพ่ วาดลายเส้น ลงสี ใส่สัญลักษณ์ ตรงนี้ก็คล้ายการสร้างตัวอักษรกับเสียงอ่านให้คำแต่ละคำ เพื่อทำให้มนุษย์เราสื่อมันออกมาได้ สิ่งที่ทำให้ไพ่แต่ละชุดดูเหมือนมีนิสัยต่างๆ ก็คือองค์ประกอบเหล่านี้แหละครับ ส่วนไวยากรณ์ของภาษาไพ่ก็คือการเรียงไพ่รูปแบบต่างๆ

ทีนี้แต่ละภาษาก็ไม่เหมือนกันอีก มีประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมแตกต่างกัน นำไปสู่ระบบการสื่อสารต่างกันด้วย ไพ่ก็เหมือนกันครับ บางชุดอ่านด้วยแนวทางที่เป็นสากลได้ บางชุดก็จำเป็นต้องใช้การตีความสัญลักษณ์เฉพาะทางเข้าช่วย ผมเลยมีความสนุกอีกอย่างเวลาเปิดไพ่ต่างชุดกันเพื่อรีวิวสื่ออย่างเดียวกัน ดูว่าในภาษาของไพ่ที่ต่างชุดกันจะพูดถึงของอย่างเดียวกันเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง ถือว่าเป็นการเรียนภาษาไพ่จากป๊อปคัลเจอร์

การเรียบเรียงเรื่องราวที่นำมาเล่าควบคู่กับไพ่

ผมคิดว่าการรีวิวหรือเขียนบทวิจารณ์สิ่งใดก็ตาม ผมควรเสพหรือรับชมสิ่งนั้นมาเต็มที่ก่อน รวมถึงค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งนั้น เพื่อที่เราจะได้มีข้อมูลและประสบการณ์ที่จำเป็นเพียงพอสำหรับการผลิตคอนเทนต์ ต้องขอบคุณโลกทุกวันนี้ที่มีสิ่งที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ต ช่วยให้การสืบค้นข้อมูลต่างๆ ทำได้สะดวก ข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้รับจากสิ่งที่รีวิวจะเป็นกุญแจสำคัญในการประเมินคุณค่าและตัดสินสิ่งนั้น บางอย่างมันก็สัมพันธ์กับสิ่งที่ไพ่จะ “เผาเรื่อง” หรือรีวิวด้วยภาษาของไพ่ให้ผมรับทราบอีกด้วย

ไพ่ทาโรต์ที่ชื่นชอบ

ถ้าตอบแบบนางงาม ผมชอบทุกสำหรับที่ผมมี แต่ชุดที่ปลุกแพชชั่นในการสะสมและศึกษาไพ่ทาโรต์ให้กลับมาอีกครั้ง และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการอยากทำคอนเทนต์จริงจังเกี่ยวกับไพ่ทาโรต์ คือชุดที่ชื่อว่า The Dark Mansion Tarot เป็นไพ่ของผู้ผลิตอินดี้จากโปแลนด์ ตอนแรกเห็นเพื่อนแชร์รูปมาจากกลุ่มสะสมและรีวิวไพ่ทาโรต์แล้วก็หลงรักทันทีครับ สไตล์การวาดเป็นภาพการ์ตูนดูน่ารักแต่ก็หลอนอยู่ในตัว ดูคล้ายๆ สไตล์ของ Tim Burton จริงๆ นี่ก็เป็นไพ่ชุดแรกที่ทำให้ลองซื้อไพ่จากต่างประเทศด้วย

“ผมทำทุกคอนเทนต์เหมือนงานเขียนทุกชิ้นที่เคยเขียน อยากเขียนงานที่พอตัวเองมาอ่านทีหลังแล้วมีความสุขในการอ่านทุกครั้ง มันเป็นการย้ำตัวเองด้วยว่า ครั้งนึงเราเคยทำได้แบบนี้ แล้วตอนนี้เราจะยอมแพ้ตัวเองในตอนนั้นเหรอ”

คอนเทนต์ที่อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาสทำ

ถ้าเอาแค่เรื่องที่อยากเปิดไพ่ “เผาเรื่อง” ก็มีหลายอย่างเลยครับ ต้องไปเรียบเรียงความคิดเพิ่ม แล้วก็ต้องดูด้วยว่าเรื่องที่เอามาพูดถึง เราไม่ได้เอาความชอบของเราไปเผยแพร่ให้คนอื่นอย่างเดียวเท่านั้น เราต้องพยายามหาแง่มุมที่เชื่อมโยงกับคนอื่นได้ และเชื่อมโยงโลกของไพ่กับโลกของคนที่เสพป๊อปคัลเจอร์ในสังคมร่วมสมัย

คอนเทนต์อีกรูปแบบที่ผมอยากทำมาเรื่อยๆ คือเอาแง่มุมทางวิชาการ พวกประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา วัฒนธรรม มาพูดถึงไพ่ทาโรต์บ้าง เพราะตัวของไพ่ทาโรต์รวมถึงไพ่พยากรณ์อย่างอื่น มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยควบคู่กับมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมกว่าจะมาเป็นไพ่ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน มันมีแง่มุมที่สนุกและน่าสนใจมากกว่าเป็นแค่เครื่องมือสายมูฯ อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นหรือเปล่า นอกจากนั้นก็อยากทำคอนเทนต์ในรูปแบบอื่นที่นอกเหนือจากงานเขียนอย่างทำวิดีโอ แล้วก็อยากทำคอนเทนต์ “เผาเรื่อง” ร่วมกับผู้ผลิตคอนเทนต์รายอื่นทั้งในเรื่องไพ่และเรื่องรีวิวด้วยครับ

คนรุ่นใหม่กับกระแสมูเตลู

“ผมว่าปัจจุบันเป็นสังคมโพสต์โมเดิร์น ช่วงยุคพรีโมเดิร์นมันห่างจากความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ เราเชื่อหมดอย่างไม่ค่อยมีหลักการ ยุคโมเดิร์นเชื่ออะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้เท่านั้น อะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ก็ตัดออกไป มาถึงยุคโพสต์โมเดิร์น เรายังคงมีหลักการอยู่ แต่เราเอาหลักการไปขยายในสิ่งที่เราเคยมองว่าลี้ลับ”

ทุกวันนี้จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ เอาเป็นว่า Gen Z ลงไป ให้ความสนใจกับอะไรที่ “มูเตลู” กันมาก ไพ่ทาโรต์ก็ด้วย กลุ่มนี้ใช้บริการหมอดูไพ่เยอะ สะสมไพ่ก็เยอะ บางคนหันมาศึกษาไพ่และการทำไพ่ กลายเป็นหมอดูออนไลน์และผู้ผลิตไพ่ แถมล่าสุดมีเทรนด์นำภาพไพ่มาตั้งเป็นวอลล์เปเปอร์สมาร์ทโฟนแทนเครื่องรางเพื่อให้ได้ผลแบบที่ต้องการ

บางคนอาจมองว่าทำไมย้อนแย้งจัง คนรุ่นใหม่แต่ไปสนใจไสยศาสตร์ บางคนก็บอกว่าพวกนี้ขาดที่พึ่งทางใจเลยพร้อมเชื่อทุกอย่าง แต่ส่วนตัวผมมองว่า คนกลุ่มนี้แหละคือมนุษย์แบบโพสต์โมเดิร์น เขาโตมากับความคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้ทดลองและพิสูจน์สิ่งต่างๆ พอได้สัมผัสเรื่องสายมูฯ อย่างไพ่ ได้ทดลองใช้วอลล์เปเปอร์รูปไพ่ ได้เห็นผลว่าจริงไม่จริง ก็มีการบอกต่อๆ กันไป เลยยิ่งมีคนอยากทดลองมากขึ้น ดึงให้คนนอกวงสายมูฯ เข้ามาสนใจไปด้วย

เปิดไพ่รีวิวสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้

เมื่อพูดถึงประเทศไทย ก็ขอเลือกไพ่ธีมไทยๆ ให้เข้ากันนะครับ เอาเป็นชุด "1 Baht Tarot" ที่วาดด้วยลายเส้นแบบการ์ตูนผีเล่มละบาทในสมัยก่อน ฝีมือคุณแดน สุดสาคร เจ้าพ่อการ์ตูนผีเมืองไทย

ใบที่ 1 - The Hermit สื่อถึงความสันโดษ การปลีกวิเวก แล้วบนหน้าไพ่จะเห็นว่าฤาษีท่านนั่งสมาธิอยู่ท่ามกลางสัตว์ป่าดุร้าย เหมือนพวกเราที่อยู่ในช่วงล็อกดาวน์ เก็บตัวอยู่แยกกันท่ามกลางโรคระบาดร้ายแรง

ใบที่ 3 - Eight of Wands ใบนี้หมายถึงข่าวสาร การสื่อสาร รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ แม้สังคมจะหยุดนิ่งไปครึ่งหนึ่งจากการล็อกดาวน์ แต่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ก็แพร่กระจายไปหมดจากทุกฝ่าย จริงบ้าง Fake บ้าง เสพกันให้สนุกไปข้าง

กลับมาสรุปในใบที่ 2 - Four of Swords สื่อถึงการพักผ่อนหรือพักฟื้น ก็คือประเทศไทยกำลังรอฟื้นตัวจากวิกฤตต่างๆ

“ผมขอแถมให้อีกชุด คราวนี้ใช้ไพ่ธีมไทยอีกแบบ เป็นไทยแท้ดั้งเดิม "Siamese Tarot" โดย สุกิจ ภักดีดินแดน”

ใบที่ 1 - Four of Cups หมายถึง การเลือกรับสิ่งที่คนอื่นหยิบยื่นให้ ไม่ได้รับทุกอย่างที่เขาเสนอมา

ใบที่ 3 - Justice ตรงนี้ไม่ได้หมายถึงความยุติธรรมตามชื่อไพ่แน่ๆ แต่สื่อถึงการคิดไตร่ตรองอย่างมีสติและวิจารณญาณ

ปิดท้ายด้วยใบที่ 2 - Ten of Pentacles ใบนี้ความหมายพื้นฐานคือ ครอบครัว แต่มันก็หมายถึงมรดกตกทอดได้ด้วย

พออ่านรวม 3 ใบแล้ว ไพ่ชุดนี้บอกว่า ตอนนี้คนไทย(ส่วนใหญ่) กำลังเรียนรู้ที่จะเลือกรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างมีสติและวิจารณญาณมากขึ้น เพื่อคัดกรองข่าวจริงออกจากข่าวปลอม และกระบวนการคิดแบบนี้จะเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดลงไปยังคนรุ่นถัดๆ ไปด้วย ถือว่าเป็นมุมมองที่ดูมีความหวังกว่าไพ่ชุดแรกนะ

การรีวิวสื่อบันเทิงและการเผาไพ่ของเพจ “ไพ่เราเผาเรื่อง” มีความน่าสนใจมาก ไม่ใช่แค่เพจรีวิวทั่วไปเท่านั้นแต่ยังแฝงมุมมองที่แปลกใหม่ให้ผู้อ่านได้เรียนรู้เรื่องราวไปพร้อมๆ กับการสอดแทรกเกร็ดความรู้เรื่องไพ่ ถ้าใครสนใจเรื่องราวของไพ่ทาโรต์ที่นอกเหนือจากสายมูฯ เพจ “ไพ่เราเผาเรื่อง” ตอบโจทย์คุณอย่างแน่นอน!

ติดตามและอัพเดทการ “เผาเรื่อง” ต่างๆ ด้วยไพ่ได้ที่ ไพ่เราเผาเรื่อง