“Navar Art” ประติมากรรมบนบล็อกเชนสุดล้ำที่เป็นมากกว่าแค่แอนิเมชัน 3D

ความโดดเด่นของ Non-Fungible Token (NFT) คือ การเป็นอิสระทั้งในแง่ของมูลค่าทางการเงินและจินตนาการของมนุษย์ เพราะไม่มีขอบเขต ไม่มีข้อจำกัด และไร้ซึ่งการตีกรอบทางความคิด ผลงานจากศิลปินหลายคนจึงพัฒนาไปแบบไม่มีสิ้นสุด สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้เสพงานศิลป์ รวมถึงนักสะสมเป็นอย่างมาก

หนึ่งในนั้นก็คือ แคทซี - เทอดไทย ชัยกิจ เจ้าของแอคเคาท์ Navar Art ที่เราไปเจอมาจากแพลตฟอร์ม Foundation และอยากพามาให้ชาว EQ ได้รู้จัก เพราะเรารู้สึกว่างานของเขาเป็นมากกว่า 3D Animation ทั่วไป สามารถสร้างแรงดึงดูดทางสายตาได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น ด้วยความเท่แบบล้ำๆ และเอกลักษณ์ในการปั้นงานอย่างละเอียดยิบจนต้องบอกว่า ‘ยอมใจ’ 

Navar Art คือประติมากรรม

“ผมแค่มีความคิดที่อยากจะปั้นประติมากรรมสักชิ้นด้วยคอมพิวเตอร์”

จุดเริ่มต้นของแคทในโลก NFT เริ่มต้นด้วยแรงบันดาลใจที่เรียบง่ายและยิ่งใหญ่แบบนี้ ซึ่งเขาเล่าเสริมจากประโยคนั้นว่า ตนเองจบด้านประติมากรรมมา เลยจะมีอารมณ์ร่วมและสนุกกับการปั้นมากกว่าวาดรูป ในช่วงที่เรียนปริญญาตรีก็ได้เริ่มหัดปั้น 3D แล้วรับจ๊อบเล็กๆ น้อยๆ มาตลอด พอมีโอกาสได้ลองทำ NFT ก็อยากเอาความถนัดด้านการปั้นและองค์ความรู้ด้านประติมากรรมมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานในแบบของตัวเอง 

Navar Art คือความครบถ้วน

อย่างที่เราเกริ่นไปตอนต้นแล้วว่างานของแคทละเอียดมาก จนทำให้ผู้พบเห็นสัมผัสได้ถึงความทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไป เพราะกว่าจะมาเป็นชิ้นงานที่เคลื่อนไหวได้อย่างสมบูรณ์แบบในแต่ละครั้ง ต้องแลกมาด้วยการปั้นโมเดล และแทรคกิ้งการขยับของทุกคาแรกเตอร์อยู่หลายสัปดาห์ 

“ที่ต้องละเอียดเพราะอยากให้มันมีครบทุกองค์ประกอบ ทั้งเส้น สี รูปทรง พื้นผิว และน้ำหนัก เพราะว่างานของผมจะมีวัตถุเดียวอยู่กลางเฟรม แตกต่างจากงานของคนอื่นที่เขาอาจจะมีหน่วยต่างๆ มาประกอบเยอะ ถ้างานไม่ละเอียดหรือไม่ครบ อาจจะไม่มีอะไรที่น่าหลงใหล” 

Go to the moon 2 /3 wormhole journey

Navar Art คือพื้นที่ปล่อยของ

“ก่อนหน้าที่จะมาทำ NFT ผมมีอาชีพหลักคือทำแบรนด์จิวเวลรี่ของตัวเองอยู่ ชื่อ Navar Gallery ส่วนตัวพอจะมีทักษะ 3D อยู่บ้างแล้ว แต่ไม่ได้รับจ๊อบมานานมาก มีแค่ช่วยคนสนิทเป็นครั้งคราว Navar Art เลยเป็นเหมือนพื้นที่ปล่อยของจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มา”

Navar Art คือการร้อยเรียงสิ่งต่างๆ ในชีวิต

พูดถึงภาพรวมของการทำงานกันไปแล้ว ถึงคราวมาเจาะลึกถึงตัวชิ้นงานกันบ้างว่าแต่ละชิ้นเป็นมาอย่างไร อะไรคือสตอรี่ที่แคทอยากจะสื่อถึงนักสะสม 

Mr.Deng เขาเล่าว่าเป็นงานชิ้นแรกที่เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว คือนำปลาทองของตัวเองที่เคยเลี้ยงไว้แต่ตายไปแล้วมาเป็นต้นแบบ และใช้ทักษะด้านประติมากรรมมาเชื่อมต่อแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อให้เคลื่อนไหวได้เป็นธรรมชาติ ใกล้เคียงปลาจริงๆ ซึ่งพอปล่อยงานไปแล้วปรากฏว่าคนชอบมาก เลยรู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว และมีกำลังใจในการทำงานชิ้นต่อไป 

“การเลี้ยงปลามันเหมือนกับการจดบันทึกในช่วงระยะเวลาหนึ่งของผม ปลาจะอยู่กับผมและแฟนในหลายเหตุการณ์ ช่วยกันเลี้ยงจนจำได้เลยว่าตัวไหนเป็นยังไง ชอบอะไร และตัวไหนที่เรารักมันเป็นพิเศษ”

Good Time ยังเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับปลาทองอยู่ แต่เพิ่มลูกเล่นเป็นคาแรกเตอร์ของเขาและแฟนเข้าไปที่กระพุ้งแก้มของปลา เพราะสร้างผลงานด้วยความคิดถึงอดีตที่มีความสุข อย่างการได้เที่ยวบ่อยๆ ในช่วงที่บ้านเมืองดีและหน้าที่การงานดีกว่านี้

“จากชิ้นแรกจนมาถึงชิ้นนี้ ผมรู้สึกว่าเริ่มสนุกกับการทำอนิเมชั่น เพราะว่างานที่ปั้นจะเน้นเรื่องข้อต่อและกลไกของการเคลื่อนไหว ตอนทำงานก็จะนึกถึงการขยับของมันจริงๆ เพื่อให้ทุกการเคลื่อนไหวมันเมคเซนส์”

Snail หอยทากที่หน้าตาและสีสันดูล้ำสมัย เป็นงานที่เขาต่อยอดมาจากปลากัดในชิ้นก่อนหน้า โดยใช้เทคนิคการทำงานประติมากรรมที่เป็นการสร้างภาพหรือปรากฏการณ์ใหม่จากสิ่งที่เราเห็นจนชินตา 

“หอยทากเป็นสัตว์ธรรมดาทั่วไปที่แทบไม่มีอะไรเลย แต่ถ้าศึกษาให้ลึกจะรู้ว่าตอนมันเคลื่อนไหวจะมันมีเซลล์ที่เหมือนขากำลังขยับอยู่ เป็นเซลล์ที่เรียงตัวแบบแปลกตา ผมเลยอยากเอาองค์ความรู้ที่ได้ไปศึกษามาใส่จินตนาการเข้าไปแทนองค์ประกอบต่างๆ ด้วย Visual Elements (ทัศนธาตุ) เพื่อสร้างการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่”

Navar Art x Ninja Collab Project

อีกหนึ่งผลงานที่เราคิดว่าคุณแคทเจ๋งมากๆ เรื่องฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ คือ ‘Tetris’ ที่คอลแล็บกับวง Mirrr  จากค่าย What The Duck ในการสร้าง NFT สำหรับเพลง ‘นินจา’ ภายใต้คอนเซ็ปต์ The Lonely Girl and The Watcher 

แคทอธิบายผลงานนี้ว่าตัวละครหลักเป็นผู้หญิงที่กำลังรอใครสักคนอยู่ แล้วมีนินจาเป็นผู้เฝ้ามองอยู่ไกลๆ โดยเปรียบการรอคอยอยู่ตลอดเวลานั้นเหมือนเกมตัวต่อ (Tetris) ที่ไม่ลงล็อกและก่อตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นความคิดที่ไม่ค่อยลงร่องลงรอย และเกิดช่องว่างในจิตใจที่เติมไม่เต็ม ซึ่งเธอก็ปล่อยให้มันเป็นแบบนั้นเรื่อยๆ ในขณะที่นินจาที่เฝ้ามองอยู่ก็พยายามช่วยให้ตัวต่อมันลงล็อก เพื่อทลายกำแพงของผู้หญิงลงไป 

และถ้าถามว่าเขาชอบงานที่ตัวเองทำหรือชอบงานที่คอลแล็บกับคนอื่นมากกว่ากัน เขาให้คำตอบว่าชอบทั้งคู่ เพราะตั้งใจทำงานทุกชิ้นและสนุกกับมัน ส่วนการร่วมงานกับคนอื่นก็เหมือนได้โจทย์ที่ท้าทาย ชาเลนจ์เราขึ้นอีกหนึ่งระดับ 

“ผมพยายามบอกตัวเองเสมอว่าจะไม่ห่วงอัตลักษณ์ของตัวเองเลย เพราะอยากให้มันปรับเปลี่ยนไปได้ตามคอนเซ็ปท์ที่กำหนดมาให้ รู้สึกว่ามันก็สนุกไปอีกแบบนึง”

Navar Art กับตลาด NFT

ด้วยกระบวนการทำงานของ 3D ที่ค่อนข้างซับซ้อนและใช้เวลานาน จำเป็นต้องตั้งราคาขายสูงประมาณหนึ่ง ทำให้หลายคนมองว่ามันอาจจะขายยากกว่าภาพวาดทั่วๆ ไป แต่แคทบอกกับเราว่า

“เคยคิดนะครับว่ามันจะขายยาก แต่พอได้มาลองทำงานจริงและลองลงขายดู ผมรู้สึกว่าก็ไม่ได้ขายยากอย่างที่คิด เพราะนักสะสมที่ชื่นชอบงาน 3D Animation ยังมีอยู่ ศิลปินต่างชาติหลายคนที่ทำงานแนวนี้แล้วขายได้หมดทุกชิ้นก็มีเยอะ คิดว่าถ้างานดีและถูกจังหวะยังไงก็ขายได้ อย่างเช่นงานที่เป็นรูปปลากัดของผมก็เคยขายไม่ออกมาก่อน อาจจะเพราะมันยังไม่มีจังหวะได้เจอนักสะสมที่สนใจงานแนวนี้ แต่สุดท้ายพอมีคนโพสต์ตามหางานที่ตรงกับสไตล์งานของเรา เลยมีโอกาสได้ไปฝากผลงานด้วย แล้วผมโพสต์ไปไม่ถึงชั่วโมง เขาก็ซื้อแล้ว”

Go to the moon 1/3

ประสบการณ์ที่ Navar Art อยากแชร์

บางคนอาจกลัวหรือกังวลเรื่องมิจฉาชีพที่คอยจ้องจะแฮก e-Wallet จากช่องโหว่ต่างๆ จนไม่มั่นใจที่จะเริ่มทำ NFT แต่ผมคิดว่านี่ไม่ใช่จุดด้อยของมัน เพราะไม่ว่าจะโลกออฟไลน์หรือออนไลน์มันก็มีมิจฉาชีพหมดครับ มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เราแค่ต้องระมัดระวังและปรับตัวกันไปเรื่อยๆ เพราะอย่างธนาคารก็ยังเคยโดนแฮกมาแล้วเลย ถ้าเจออะไรที่เราไม่มั่นใจ ก็ให้ลองไปสอบถามในกลุ่มเฟซบุ๊ค สเปซในทวิตเตอร์ หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เพื่อที่จะได้ทราบข้อมูลและไม่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงของมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ 

Betta

ติดตามและอัปเดตผลงานประติมากรรมบนบล็อกเชนสุดล้ำทั้งหมดได้ที่ 

Twitter: @ArtNavar

Foundation: Navar_Art

Facebook: นาวา Navar Gallery