Thai Queer Art Movement การเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมด้วยศิลปะเควียร์ไทย

Queer Art’ คืองานศิลปะที่มาจากผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นกลุ่มเควียร์ ถ้าเล่าให้เห็นภาพอย่างชัดเจนก็เป็นภาพของก็มีตั้งแต่ การแสดงแดร็ก การเต้นโว้ก งานเพ้นติ้งนอกขนบเพศ ศิลปะเควียร์เป็นงานศิลปะที่ทั้งตั้งคำถาม ท้าทาย รื้อถอนกรอบเรื่องเพศ ความเชื่อ สังคมและการเมืองมาโดยตลอดเพื่อนำไปสู่ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่มีความลื่นไหลมากขึ้น

ทุกวันนี้ศิลปะเควียร์ในไทยก็เติบโตขึ้นมากมายหลังจากที่ผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในการเคลื่อนไหวที่ชื่อว่า ‘ม็อบตุ้งติ้ง’ คุยกับหนึ่งในผู้ที่สร้างปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวนี้กันกับ ‘แรปเต้อร์ - สิระพล อัปฏโตหิ’ จาก เสรีเทยฺย์พลัส Free Gender TH ว่า การขับเคลื่อนด้วยศิลปะเควียร์ในไทยจะเป็นไปอย่างไรบ้าง ศิลปะเควียร์ในไทยที่นึกถึงคืออะไร? แรปเต้อร์เล่าว่าสิ่งแรกที่เห็นภาพได้ชัดเจนก็คือ “คาบาเรต์โชว์ เราว่ามันเป็นเควียร์อาร์ตไทยที่ชัดเจนและมีชื่อเสียงนะ งานวาดก็จะนึกถึงพี่ ‘โอ๊ต มณเฑียร’ ที่มีภาพนู้ดที่นำเสนอผู้ชายในมุมมองสายตาที่เควียร์ ช่างแต่งหน้าในไทยก็สร้างสรรค์ลุคหลากหลาย ชิบาริ นึกถึง ‘ฟลุ๊ค กะล่อน’ และก็เหล่าแดร็กควีนของไทย ถ้าพูดถึงเควียร์อาร์ตในไทย คิดว่ามันไม่เป็นไปตามขนบสังคม ไม่เป็นไปตามขนบศิลปะที่เป็น ธรรมเนียมดั้งเดิม มันมักจะตั้งคำถามขนบธรรมเนียมและก็กรอบ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นไหนก็ตาม บางครั้งเขาก็นำเสนอบาดแผล เรื่องราวของโลกที่เขาอยากจะเห็น มันมักจะใส่ตัวตนลงไปในนั้นเยอะ อันนี้เราก็จะเห็นว่ามันมีเอกลักษณ์ เขาใส่ตัวตนและความเป็นตัวเองลงไปในงานศิลปะ”

ศิลปะเป็นพลังที่ให้คนสามารถแสดงตัวตน ความคิดของตัวเองลงไปได้แล้วก็การแสดงออกที่เควียร์ผ่านศิลปะของแรปเต้อร์เป็นอย่างไรบ้าง แรปเต้อร์จึงเล่าถึงลุคแดร็กสุดไอคอนนิกและวิธีการใช้ศิลปะในการแสดงออกเฉลิมฉลองความเควียร์ว่า

“การแต่งหน้าแต่งตัว เป็นการแสดงออกทางศิลปะที่เราใช้ เราเห็นว่าในทางการศึกษา เครื่องมือเหล่านี้เป็นสิ่งที่เควียร์มักจะใช้ ก็คือใช้ร่างกายตัวเองเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เราก็มักจะแต่งแดร็ก ขึ้นเวที ขึ้นทำกิจกรรม หนึ่งคือเราต้องการจะแสดงออกว่า มันไม่ได้มีคนตรงเพศออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้อง ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการให้คนเห็นว่า คนที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่าง สามารถมีพื้นที่ในสังคมได้ คนเหล่านี้มีพื้นที่ในสังคม เผชิญปัญหา แต่ก็มีเหมือนกัน เราก็เลือกที่จะสื่อสารตัวตนของเราผ่านการแต่งหน้า การแต่งตัว มีสองลุคที่อยากจะนำเสนอคือ ลุคแรกได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘Elphaba’ แม่มดแห่งทิศตะวันตกจากละครเวที ‘Wicked’ และลุคนักรบของโปรเจค ‘Queer Skin Flashmob’ ”

Photo credit Wickedplay

“เราเลือกตัวละครนี้ในเรื่องมิวสิคัล Wicked มันเป็นตัวละครที่เกิดมาแล้วแตกต่าง ตัวเขียว แล้วก็ถูกครอบครัวไล่ออกจากบ้าน เลยต้องพิสูจน์ตัวเองกับสังคม นี่คือตัวแทน ของคนที่ถูกขับไล่จากสังคม ถูกผลักให้เป็นชายขอบ ให้กลายเป็นปีศาจ เป็นผีของสังคม ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกผลักจากสังคม ส่วนชุดนักรบทำโดย ‘จรัญ คงมั่น’ ชุดกำลังสื่อสารว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ออกมาสู้กับวัฒนธรรมเก่าก็จะมีบาดแผลบ้าง แต่บาดแผลเหล่านี้ก็เป็นพลังให้เราสู้กันต่อไป ส่วนภาพคอลลาจก็ทำให้คุณ ‘ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์’ ”

Credit photo The Standard

ประเด็นที่เห็นในการเคลื่อนไหวผ่านศิลปะเควียร์ในไทยจะมีการพูดถึงเรื่อง การสมรสเท่าเทียมที่ต้องแก้ไขกฎหมายจากชายหญิงมาให้เป็นบุคคล การเรียกร้องให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกมองเห็น ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมในกฎหมายและมีพื้นที่ปลอดภัยในสังคม ไปจนถึงการเคลื่อนไหวเพื่อให้สังคมเข้าใจว่า ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ถึงคนรอบตัวจะยอมรับและสนับสนุนมันก็อาจจะไม่เพียงพอ ถ้าสังคมยังคงปิดกั้น ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศอยู่ ประเด็นเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านงานศิลปะเควียร์ในเมืองไทยมาโดยตลอด แรปเต้อร์เล่าถึงการเคลื่อนไหวผ่านทางศิลปะและสื่อว่า

“ศิลปะและสื่อ เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการเชฟสังคม เราว่ามันหล่อหลอมสังคมได้ ถ้าสื่อและศิลปะทำหน้าที่ของมัน ถ้าสื่อ ศิลปะ นำเสนอความหลากหลาย สร้างความรู้ความเข้าใจให้คนหลากหลายทางเพศให้เห็นว่าคนเหล่านี้เป็นมนุษย์เหมือนกัน ความแตกต่างหลากหลาย ไม่เท่ากับแปลกแยกจากสังคม มันแปลว่าคนแต่ละคนมีความไม่เหมือนกันอยู่ในนั้น นี่คือสิ่งที่สังคมมันเป็น ไม่ว่าจะสวยงามหรือน่าเกลียด เราต้องอยู่ร่วมกันอย่างไม่ตัดสินในสังคม ถ้าสื่อและศิลปะเปลี่ยน สังคมจะเปลี่ยน”

พื้นที่ปลอดภัยเท่าเทียมทางเพศที่อยากเห็นมันเป็นอย่างไร? และมีคำแนะนำอะไรให้เหล่า ‘Queer Youth’ บ้างไหม แรปเต้อร์แชร์ถึงประเด็นนี้ปิดท้ายบทสนทนาว่า “พื้นที่เท่าเทียมทางเพศ คือพื้นที่ที่ไม่มีการตัดสินตีตรากันเรื่องเพศ อัตลักษณ์ รสนิยม เพราะความไม่ปลอดภัยมันมาจากการตีตราของคนในสังคม”

“สังคมที่เราอยากเห็นคือ สังคมที่ไม่มีการตัดสินว่าเพศใดมันดีกว่าเพศอื่น หรือแปลกแยกจากสังคม สิ่งสำคัญคือ การยอมรับความหลากหลายบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ร่วมกัน แล้วมันจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย”

“คำแนะนำที่มีให้ของเราก็คือ เราอยากให้มีความหวัง เรามองเห็นว่าสังคมไทยมันกำลังเปลี่ยน กำลังเรียนรู้เรื่องเพศ มันอาจจะมีความยากลำบากในบางเวลา หรือว่ามีความเหนื่อยล้า ความเจ็บปวด เกิดขึ้นในประสบการณ์ของชีวิต แต่ไม่ว่าจะยังไง เราอยากให้เชื่อว่าสังคมนี้มันจะดีขึ้นได้ สองคือ คุณไม่ได้อยู่คนเดียว คุณยังมีคนอยู่ในคอมมูนิตี้เดียวกัน คุณยังมีคนคอยเคียงข้างกันอยู่ แล้วก็สิ่งสุดท้ายที่อยากจะบอกก็คือว่า มันไม่เป็นอะไรที่คุณจะเป็นตัวเอง สิ่งที่คุณเป็นไม่ใช่สิ่งที่เป็น สิ่งที่คุณเป็นคือความสวยงาม แม้วันนี้จะยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ มันก็เป็นเรื่องโอเค ขอให้เวลา ประสบการณ์คนที่อยู่รอบข้างพร้อม พร้อมเมื่อไหร่ก็ให้ยืนหยัด เคารพ รักในตัวเองมาก ขอให้โลกนี้สวยงามๆ”

ติดตามเพจและอัพเดตข่าวสารได้ที่ เสรีเทยฺย์พลัส Free Gender TH