Art

เมื่อชีวิตขับเคลื่อนไปด้วยเปลวไฟของโลกศิลปะ

ความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ปรากฏมาทุกยุคทุกสมัยคือ อาชีพศิลปิน เป็นอาชีพที่ไม่ง่ายที่จะประสบความสำเร็จ หรือได้ดิบได้ดีจนมีฐานะมั่นคง ถึงแม้จะมีตัวอย่างให้เห็นอีกมากมายว่าเป็นไปได้ที่จะมีชื่อเสียงและร่ำรวยจากอาชีพนี้ แต่สิ่งที่เราได้รับรู้กันมาคือ มีผลงานอันยิ่งใหญ่มากมายในโลกที่เพิ่งถูกค้นพบหลังจากศิลปินเหล่านั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว และหลายๆ คนอาจจะไม่เคยสัมผัสทั้งชื่อเสียงและเงินทองในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ

นั่นย่อมแสดงว่าในโลกนี้มีผู้คนอีกมากมายที่กำลังรังสรรค์ผลงานอยู่ และกำลังรอคอยการค้นพบ พวกเขาไม่ใช่บุคคลมีชื่อเสียง แต่อาจจะเป็นคนที่คุณคุ้นเคยด้วยมากๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณน้าที่เคยเห็นคุณมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยวิ่งเล่นแถวบ้าน พี่สาวข้างบ้านที่ชอบดอดมาจิบเบียร์กับแม่คุณ เด็กหนุ่มรุ่นน้องที่มีช่วงเวลาวัยเยาว์ด้วยกัน พวกเขาเหล่านี้อาจไม่ได้แสดงตัวหรือโอ้อวดว่าเป็นศิลปิน ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำอยู่คือการทำงานสร้างสรรค์ก็ตาม เราพบว่ามีคนเหล่านี้อยู่มากมายในชุมชนท้องถิ่นที่ค่อนข้างห่างไกลความเป็นเมือง หลายๆ คนไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ตั้งแต่แรก แต่ย้ายเข้ามาแล้วก็อยู่นานจนเป็นคนท้องถิ่นไป ดังเช่นชุมชนเกาะพะงันหรือปาย ที่เต็มไปด้วยชาวโบฮีเมียนทั้งไทยและต่างประเทศที่พากันอพยพมาใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ในดินแดนที่เต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้นจากผู้คนหลากหลายภาษาและวัฒนธรรม

‘แม่ลินดา’ หรือ ‘ลินดา ชั้นสว่าง’ ที่บรรดาหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ในชุมชนคนไทยแห่งเกาะพะงันต่างพากันเรียกเธอว่า ‘คุณแม่’ เพราะรัศมีความเฟียสที่มาพร้อมประสบการณ์ชีวิตสุดเข้มข้น และหัวใจเต็มไปด้วยความรักที่พร้อมจะมอบให้แก่คนรอบข้างเสมอ ลินดาเล่าให้เราฟังว่า เธอได้ย้ายมาอยู่ที่เกาะพะงันได้ราว 10 ปีแล้ว โดยตอนแรกเธอกับสามีจะมาพักผ่อนกันที่นี่ยาวถึง 3-4 เดือน หลังเสร็จสิ้นจากช่วงพักร้อนในยุโรป โดยจะมาติดกันทุกปี เธอและสามีดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายไปกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านอาหารตามสั่งบริการทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนท้องถิ่นตกลงยินยอมให้ซื้อที่ดินของบรรพบุรุษ เพื่อให้เธอสร้างบ้านอาศัยอยู่เป็นการถาวรไปเลย นั่นล่ะคือวันที่เธอเรียกตัวเองว่าเป็นชาวเกาะพะงันอย่างแท้จริง

“ด้วยความที่เป็นที่ดินบรรพบุรุษ เขาเลยไม่ใช่จะขายให้ใครง่ายๆ ที่เขาขายให้เพราะอยากให้เราอยู่ที่นี่ มาเป็นคนพะงันด้วยกัน เราก็เอาล่ะสิ พอมาเป็นคนของที่นี่อย่างเป็นทางการ เราก็ต้องแสดงความเคารพต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนเกาะนี้ ความที่ตรงนี้มันเงียบสงบมาก เราก็ได้อานิสงส์ไปเต็มๆ จนอยากเผื่อแผ่ให้คนอื่นบ้าง เราเลยทำบ้านให้คนเช่าอยู่ สร้างบรรยากาศจากตัวตนของเรา เพื่อให้เขารักบ้าน เหมือนกับที่เรารักจริงๆ”

เรามองรอบๆ บ้านที่เต็มไปด้วยงานศิลป์อันน่าตื่นตาตื่นใจ ทุกซอกทุกมุมแทบไม่มีที่ว่างอันปราศจากความงดงามและความใส่ใจในทุกรายละเอียด ที่สำคัญ ภาพเขียนและงานอาร์ตทุกอย่างที่ปรากฏบนเครื่องใช้ไม้สอยเหล่านี้ ล้วนถูกรังสรรค์โดยฝีมือลินดา เราสงสัยมากว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอเปลี่ยนบทบาทจากแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง มาเป็นศิลปินอย่างในทุกวันนี้

“เราไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่จะทำให้เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินได้หรอกนะ เราเริ่มทำงานศิลปะเพราะอยากจะมีสติและสมาธิในการดำเนินชีวิต แต่จะให้ไปเข้าวัดมันก็ไม่ใช่ เราถามตัวเองว่าจะทำอะไรดีที่ทำให้เราอยู่บ้านได้ ดูแลสามีได้ ฝึกสมาธิได้ และเป็นสิ่งที่ชอบ การทำงานศิลปะก็ได้กลายเป็นคำตอบจนมาถึงทุกวันนี้”

“เราได้แรงบันดาลใจเยอะ ทั้งจากการท่องเที่ยวและก็ได้ไปเห็นผลงานของคนอื่นในงานเฟสติวัลต่างๆ รวมทั้งการได้ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่เต็มไปด้วยสีสันอย่างในเกาะพะงัน แต่งานของเราไม่ได้เป็นแบบสมจริง เคยพยายามมาหลายครั้งแล้ว แต่สุดท้ายมันก็ออกมาเป็นสีสันอย่างที่เห็น เราว่ามันได้อิทธิพลมาจากการที่เราอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสีสันและความสดใส เรานั่งทำงานท่ามกลางธรรมชาติอยู่แบบนี้ทุกวัน เห็นอะไรต่อมิอะไรก็เอามันมาใส่ในงาน แต่ออกมาเป็นแบบที่เรามองเห็นนะ ไม่ได้เหมือนกับที่คนอื่นมองมันหรอก”

“พอสามีเห็นเราชอบก็เริ่มสนับสนุน ซื้อหาอุปกรณ์ต่างๆ มาให้เราใช้ เราก็ทุ่มให้มันเต็มที่ไปเลย ช่วงที่เริ่มสร้างบ้านหลังนี้คือเราสองคนทำทุกอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเคลียร์หน้าดิน ขุดดิน พอพักเที่ยงก็ขี่รถกลับมาทานข้าวที่บ้าน ช่วงนั้นแหละ เราก็จะเติมโน่นนิดนี่หน่อยลงไปในงาน คือเรามีความสุขมากๆ ที่ได้ทำ ไม่เคยสนว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่กับมัน วันหนึ่งขอแค่ให้ได้จับ มีเวลากับการทำงานศิลปะบ้างก็ถือว่าเป็นโบนัสของวันแล้ว

แม่เป็นคนที่ไม่ว่าจะลงมือทำอะไรจะใส่ความรักลงไปในทุกอย่างที่ทำ บ้านหลังนี้ก็ทุ่มเททำขึ้นมาด้วยมือและความรักของเราสองคนตายาย พอเริ่มทำงานศิลปะก็คิดแค่ว่าจะได้เอามาตกแต่งบ้านให้สวยงามสมกับที่เรารักมัน ไม่ต่างจากเวลาเราทำอาหารหรือต้อนรับเพื่อนๆ เวลามาที่บ้าน เราใส่ใจทุกรายละเอียด ทุกขั้นตอนที่ทำ นึกถึงคนโน้นคนนี้ว่าใครชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แม้แต่จานชามข้าวของหรืออุปกรณ์เครื่องใช้อะไรๆ แม่จะปล่อยให้มันโล้นๆ แบบเดิมไม่ได้ เมื่อเข้ามาอยู่ในบ้านเราแล้ว ก็ต้องแต่งแต้มสีสันให้กับเขา จนออกมาเป็นอย่างที่เห็น”

เรามองข้าวของทุกชิ้นที่ถูกแต่งแต้มด้วยพู่กันและสีอะคริลิคในบ้านของคนที่บอกว่าตัวเองไม่ใช่ศิลปิน จึงทำให้มีคำถามถึงคำจำกัดความของคำว่าศิลปิน ว่ามันคืออะไรกันแน่ เมื่อแม่ลินดายืนยันว่าตัวเองเป็นแค่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่มีศิลปะเป็นลมหายใจเท่านั้น เราจึงไปคุยกับ ‘แคท – ภาณุพงศ์ เจริญรัตน์’ นักร้องนำวง ‘Mr.cat and friends’ วงดนตรีที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองสุดๆ และกำลังมาแรงในเชียงใหม่ บ้านเกิดของเขา ณ ตอนนี้

แคทไม่ใช่คนที่ตั้งใจจะเป็นศิลปินมาตั้งแต่แรก แต่ได้รับแรงบันดาลใจขณะอยู่ในค่ายทหาร ใช่แล้ว เขาไปแจ้งเกิดในฐานะศิลปินขณะเป็นทหารเกณฑ์ ทั้งแร็ปโชว์ ต่อด้วยเต้นบีบอยท่ามกลางเสียงเชียร์โห่ร้องจากเพื่อนๆ ทหาร แคทเล่าให้ฟังว่า เดิมทีเขาไม่เคยมองตัวเองว่ามีความสามารถอะไรเลย แต่ก็สนิทสนมกับเพื่อนๆ ที่เป็นนักเต้นบีบอย รวมทั้งคอยติดตามและให้การสนับสนุนพวกเขาอยู่เสมอในฐานะแฟน แต่ไม่เคยมองว่าตัวเองจะไปอยู่ตรงจุดที่พวกเขาอยู่ได้เลย

“ตอนอยู่ในค่ายทหาร ชีวิตมันสาหัสมาก ครูฝึกตั้งใจฝึกให้โหดเพื่อเล่นกับจิตวิทยาของเรา โดยสั่งให้ทำอะไรเกินความสามารถเข้าไว้ก่อน ส้วมนี่เต็มตั้งแต่เช้าเพราะไม่พอต่อจำนวนคน ผมลุกมาวันแรกเจอแบบนี้ก็บอกกับตัวเองเลยว่า จะไม่ยอมตื่นสายมาเข้าส้วมเต็มอีกเด็ดขาด เราเลยลุกมาให้เช้ากว่าคนอื่น ตื่นมาก็ซ้อมเลย วิ่ง ร้องเพลงให้ดัง ฝึกปอด ครูเขาสั่งให้ทำอะไรเราก็ทำ คิดแค่ว่าจะอยู่ตรงนั้นยังไงให้ได้ ทั้งที่เราเองก็ไม่ชอบเลย

แต่มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราขยายขอบเขตความกล้าหาญในตัวเองหลังจากที่ทำเพราะโดนบังคับ กลายเป็นว่าเพราะอยากคงสภาพจิตใจให้มันปกติสุข เราเลยต้องเอาตัวรอดโดยการสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง หาวิธีที่จะมีความสุขกับตรงนั้นให้ได้ แล้วเราก็ทำมันได้จริงๆ ทำให้หลังจากนั้นมา เราก็ไม่เคยกลัวอะไรอีกเลย แม้แต่ความฝันในการเป็นศิลปิน แต่มันก็ใช้เวลาหลายปีกว่าที่อะไรๆ จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

พอออกมาจากค่ายทหาร เราก็ฟอร์มวงขึ้นมากับเพื่อนๆ แต่ยังก๊องๆ แก๊งๆ เพราะไม่มีใครรู้ดนตรีสักคน รู้แค่ว่ามันสนุก ครั้งแรกชวนกันเล่นเร็กเก้ ซึ่งก็ไม่มีใครรู้จักสักเท่าไหร่ แต่งตัวก็ประหลาด แถมเอาเพลงที่แต่งเองมาเล่นอีก ยุคนั้นคือไม่มีใครยอมรับเลยนะ เพื่อนยังด่าเลยว่ามึงกล้าดียังไงเอาเพลงตัวเองมาเล่น เล่นด้วยกันสักพักเพื่อนๆ ก็เริ่มถอนตัว เพราะพวกเขาบอกว่าเราเริ่มกันช้าไป อายุ 20 กว่าแล้ว ใครเขาเพิ่งมาเริ่มเล่นกัน แต่เราไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย เพราะไม่ได้เล่นเพื่อความดังหรืออยากมีชื่อเสียงอะไร เราเล่นเพื่อพัฒนาตัวเอง เราชอบศิลปะ ชอบวาดรูป ประดิษฐ์ประดอยมาตั้งแต่เด็ก เอาของเหลือใช้มาอัพไซเคิลนี่ถนัดมาก เราไม่ได้เข้าใจหรอกว่าสิ่งที่ทำคือศิลปะ แต่พอได้เริ่มฝึก เริ่มหัดทำอะไร ก็อยากจะทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ใช่คนที่ร้องเพลงหรือแกะเพลงออกมาไพเราะเหมือนคนอื่น เคยพยายามแล้วที่จะร้องคัฟเวอร์ให้เพราะ แต่ทำไม่ได้จริงๆ ลองกี่ทีก็ยังทำไม่ได้ สุดท้ายเราเลยตัดสินใจทำมันออกมาแบบที่หัวใจบอกให้ทำ คือเป็นตัวของตัวเองไปเลย ผมโชคดีที่พี่ ‘จีน มหาสมุทร’ มักจะชวนให้ไปเล่นที่กรุงเทพฯ ได้มีช่วงเวลาที่สนุกมากๆ ด้วยกัน”

“ตอนนั้นผมเริ่มเล่นไวโอลินแล้วล่ะ ไม่ใช่อะไรหรอก เพราะฝีมือกีตาร์ของผมมันไปไม่สุด และคิดว่าน่าจะหาอุปกรณ์อะไรที่มันแตกต่าง คือผมไม่มีอะไรแล้วตอนนั้น 8 ปีไม่ได้ขยับเลย ช้ามาก ครูฝึกก็ไม่มี มีอย่างเดียวคือความคิดที่ว่า “กูอยากเป็นศิลปิน“ เท่านั้น แต่ความจริงก็ปรากฏให้เห็นว่าเรายังไม่พร้อม ผมก็แค่เด็กหนุ่มลุยๆ คนหนึ่งที่อยากจะเล่นไวโอลิน แต่ยังไม่เก๋าจริง พอเขาให้แสดงจริงๆ บนเวที ผมก็เห็นเลยว่าเรายังต้องพัฒนาอีกเยอะ

พอเห็นอย่างนั้นก็หันมาทดลองกับไวโอลินซะเยอะ ใช้ทั้งเวลาและพลังงานไปกับมันเยอะมาก จนเริ่มรู้แล้วว่าอันไหนทำได้หรือไม่ได้ แต่พอเหลียวกลับมาดูชีวิตตัวเองอีกที ฉิบหายแล้ว ไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นสักอย่างเลย! เพราะเรามัวแต่เอาเวลาไปให้ดนตรี แต่ความเป็นอยู่ทั่วไปยังไม่ได้ดีขึ้น 10 ปีที่เราเล่นด้วยความรักจริงๆ เล่นฟรีเป็นปกติ เพราะคิดว่าเรายังไม่เก่งอะไร แค่อยากให้เขารู้จัก ไปเล่นเป็นวงเปิดบ้าง วงปิดบ้าง แถมเพลงที่เล่นยังเป็นเพลงของตัวเองที่ไม่มีใครอินด้วย มันก็ไปไม่สุดสักทีหรอก แต่ผมก็เลือกที่จะทำเพลงของตัวเอง สร้างเมโลดี้เอง ทำคีย์กับคอร์ดเองหมด ใจผมอยากเห็นนักดนตรีเข้าใจเพลงที่ผมแต่งและเล่นให้เรา ในขณะที่เราเป็นนักร้องนำและมาพร้อมไวโอลิน ซึ่งมันยังเป็นสิ่งที่แปลกใหม่อยู่ ยังไม่ค่อยมีใครทำ”

“หลังจากต่อสู้มาจนคนเริ่มจดจำผลงานได้ ตอนนี้ผมเริ่มมีงานเข้ามาเยอะขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ที่มีงานไม่เคยขาด ผมได้เล่นโชว์เพลงของตัวเองอย่างที่ฝันไว้ ถามว่าฝีมือมันดีพอหรือยัง ผมก็รู้ว่ามันยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบอยู่มาก แต่ผมรู้ดีว่าข้อดีที่เด่นชัดที่สุดของตัวเองคือความขยัน และทำในสิ่งที่หัวใจบอกให้ทำเท่านั้น ซึ่งบางครั้งคนอาจจะมองว่าเป็นความเห็นแก่ตัว แต่พอเราเติบโตและเข้าใจว่าอะไรคือการให้ อะไรคือการรับ เราจะรู้เองว่าขอบเขตของการให้คนอื่นควรจะมีแค่ไหน เพื่อที่ขอบเขตของเราจะได้คงไว้ โดยที่ไม่ต้องสูญเสียความเป็นตัวเอง และนั่นคือพื้นฐาน คุณไม่ต้องกลัว ที่จะทำตามหัวใจของคุณ ในวันนี้ แล้วคุณจะรู้ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหน”

หากใครสนใจจะติดตามผลงานของแม่ลินดาและแคทก็ไปตามได้เลยที่เพจของพวกเขา

แม่ลินดา: Psybohea Lynda

Mr.cat and friends: Mr.cat and friends

และคนสุดท้ายที่เราอยากจะแนะนำให้รู้จัก เป็นท่านเดียวที่มีเส้นทางชีวิตที่ชัดเจนในฐานะคนที่ยึดอาชีพศิลปินหล่อเลี้ยงชีวิตมาอย่างยาวนาน และได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้าง เขาคือ ‘สะอาด นิลคง’ อดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เดิมทีพี่อาดเป็นคนจังหวัดน่าน แต่ย้ายมาอยู่ปายตั้งแต่ปี ค.ศ. 2540

พี่อาดนับว่าเป็นศิลปินที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในชุมชนปาย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยยอดฮิตของบรรดาศิลปินจากหลายพื้นที่ ผลงานของพี่อาดเป็นที่รับรู้กันว่าเต็มไปด้วยสีสันและไอเดียสุดบรรเจิด มันจะพาผู้ทัศนะก้าวข้ามมิติแห่งกาลเวลา ไปสู่ห้วงอนันต์แห่งการรับรู้ที่นอกเหนือจากประสาทสัมผัสการรับรู้โดยทั่วไป เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงเลือกมาอยู่ที่ปาย พี่อาดเล่าว่าเลือกที่จะมาอาศัยอยู่ปายเพราะเพื่อนๆ ในแวดวงศิลปะต่างพากันพูดถึงเมืองเล็กๆ น่ารักๆ ท่ามกลางหุบเขาอันยิ่งใหญ่ทางภาคเหนือของไทย ที่มีศิลปินมากมายมารวมตัวกันเพื่อใช้เป็นที่รังสรรค์ผลงาน เมื่อได้มาสัมผัสเมืองนี้ด้ว