เกาะพะงันรันเวย์ท่ามกลางขุนเขาและทะเลกับ “อุกฤษ ศรีทองกุล”

อุกฤษ ศรีทองกุล รอต้อนรับ EQ ที่บ้านของเขา ซึ่งเป็นอาคารใหญ่สไตล์โมเดิร์นกึ่งบาหลีตั้งบนเนินเขาหินอันเงียบสงบ โอบล้อมไปด้วยต้นไม้และไม้ดอกไม้ประดับหลากสีสันที่เจ้าของบ้านไปเลือกเองกับมือ และนำมาบรรจงวางในตำแหน่งที่พวกเขาได้เบ่งบานประชันความงามโดยที่ไม่มีใครบดบังใคร ไหนจะของตกแต่งที่เจ้าตัวไปสรรหามาทั่วทุกสารทิศและถูกจัดวางไว้ในแต่ละมุมอย่างลงตัว เราถูกเชิญให้นั่งที่มุมรับแขกแบบเปิดโล่งรับลมทะเล ทุกๆ จุดที่สายตามองเห็นบ่งบอกถึงรสนิยมแบบสมัยใหม่บวกกับอัตลักษณ์ของความเป็นคนพื้นเมืองผสมกลิ่นอายของวัฒนธรรมทั้งเอเชียและยุโรปอย่างลงตัว เมื่อได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าไปสำรวจมุมรับแขกด้านใน พลันสายตาก็ปะทะเข้ากับเสื้อผ้าสไตล์เก๋ไก๋ที่ถูกแขวนอยู่บนหุ่นโชว์ แน่นอนว่าจะเป็นฝีมือใครไม่ได้ นอกจากเจ้าของบ้านหลังงามผู้นี้นี่เอง

ถึงตรงนี้เราเริ่มสนใจว่าเกาะพะงันที่ใครๆ ต่างรู้จักเพียงฟูลมูนปาร์ตี้ ที่แทบไม่มีอะไที่เป็นสัญลักษณ์ของโลกสมัยใหม่ หารู้ไม่ว่ากิจกรรมหนึ่งที่ฮอตฮิตที่สุดของชาวบ้านร้านตลาดบนเกาะที่ได้รับการขนานนามว่า “ผลึกแก้วแห่งรัก” เกาะนี้ คือการจัดงานเดินแบบ หรือแฟชั่นโชว์ ที่มักจะปรากฏไปแทบทุกอีเวนต์และทุกๆ ครั้งจะต้องมีผู้ชายชื่อ อุกฤษ ศรีทองกุล สลับบทบาทเป็นทั้งแฟชั่นดีไซน์เนอร์บ้าง เป็นกรรมการตัดสินการประกวดเสื้อผ้าบ้าง คอยสร้างสีสันให้แก่ชุมชนที่ในยามปกติไม่เคยขาดกิจกรรมเลยนี้มาโดยตลอด ที่มาที่ไปของเขาในฐานะนักออกแบบนั้น มีความเป็นมาอย่างไร 

“เราเรียนสาขาพานิชย์ศิลป์และการออกแบบทั่วไป แต่จริงๆ สิ่งที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบมันเกิดจากตอนเด็กๆ เราอยากเรียนแฟชั่น แต่ที่ไม่ได้เรียนเพราะตอนนั้นกลุ่มเพื่อนที่สนิทกันต่างพากันคัดค้านด้วยความหวังดีว่าเมื่อเรียนจบไปอาจจะหางานทำยาก เลยต้องทอดทิ้งความฝันไป ยังดีที่ได้มีโอกาสเรียนคอร์สนึงช่วงอุดมศึกษา ซึ่งก็ยังอุตส่าห์เอาความรู้ที่ได้มาไปใช้สอบเข้าทำงานในตำแหน่งดีไซเนอร์กับบริษัท Arrow ได้ด้วยนะ แต่สุดท้ายเราก็ปฏิเสธไปพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา ทั้งๆ ที่เป็นตำแหน่งที่เราอยากทำมาก”

เมื่อเราหันไปมองรอบบริเวณบ้านก็เข้าใจได้ทันทีว่าทำไมเขาจึงรู้สึกว่างานออกแบบเสื้อผ้าใส่ทำงานสไตล์อนุรักษ์นิยมจึงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้ เพราะทุกๆ รายละเอียดของบ้านเขานั้นล้วนเต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนานของการไล่เฉดสี การจัดวางองค์ประกอบของสิ่งที่ไม่น่าจะเข้ากันให้อยู่ด้วยกันได้อย่างมีศิลปะ จนเราสงสัยว่าอะไรคือแรงบันดาลใจหลักของเขา

“งานของผมจะได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวซึ่งคือธรรมชาติเพราะเราเป็นคนพะงันโดยกำเนิด ก็อยู่กับทะเลมาตั้งแต่เด็ก มีความคุ้นเคยกับธรรมชาติและวัสดุที่เจอเวลาไปทะเลทุกวัน เวลาใครอยากจะให้เล่นกับธีมอะไรเรานึกออกทันทีว่าควรจะไปหาวัสดุมาจากไหนเพื่อให้ได้งานที่ตรงตามคอนเซ็ปต์ ไม่ว่าจะเป็นกะลาหรือทางมะพร้าว อย่างชิ้นนี้ก็ทำมาจากดอกปอทะเล หรืออย่างเมื่อสองเดือนก่อนที่เกาะจัดงานแฟชั่นโชว์เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจถึงพฤติกรรมการบริโภคของเราว่ามันมีผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างไร เราเห็นแหที่หมดอายุการใช้งานแล้วกลายเป็นขยะทะเลมาตลอด ถึงมันจะเป็นขยะแต่เรากลับมองเห็นแรงบันดาลใจจากมัน เราก็ไปสรรหาวัสดุที่ดูคล้ายแหเอามาไล่เฉดสีให้ดูคล้ายกับดอกไม้ทะเลที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กมารวมกัน มันก็ออกมาเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อไปได้ สะท้อนสิ่งที่งานพยายามจะสื่อคือ ทุกอย่างอยู่ที่มุมมองของเราเอง พี่เป็นคนเห็นทุกสิ่งทุกอย่างมีความงามแฝงอยู่ในตัวมัน แม้จะเป็นของที่เราเห็นจนชินตาในชีวิตประจำวัน หรือเป็นของที่ดูเหมือนหมดค่าและไร้ราคาเหมือนอย่างพวกขยะทะเล พอเราใส่มุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ของเราลงไป มันก็กลายเป็นของที่ดูดีขึ้นมา เราจะใช้วัสดุที่เก็บมาได้อย่างพวกเชือกหรือแหไนล่อนที่ถูกทิ้งแล้วมาทำรองเท้า หรือเสื้อผ้าใส่ปาร์ตี้เราก็ทำได้ เพราะเราสามารถเย็บข้างในไม่ให้คัน ด้วยความที่เกาะนี้เค้าจะมีปาร์ตี้ตลอด ก็เหมาะถ้าเราจะทำชุดมาให้เขาเช่าใส่ออกงานเป็นครั้งๆ ไป เราก็อาจจะประยุกต์เพิ่มเติมโดยการใส่สีแบล็คไลท์เข้าไป จะทำให้ผู้สวมใส่ยิ่งดูโดดเด่นขึ้นมาอีก”

แม้วัตถุดิบที่เลือกใช้จะเป็นของพื้นบ้าน แต่ด้วยรสนิยมไฮแฟชั่น ที่สร้างผลงานจนเป็นที่ลือลั่นไปทั่วเกาะ เรียกได้ว่างานใหญ่ๆ จะขาดเขาไม่ได้เลย ทำให้สงสัยว่า เขาได้ใช้ความสามารถนี้สร้างอาชีพเลยหรือไม่ เพราะความสามารถระดับเขา สามารถเปิดห้องเสื้อบูติคเป็นของตัวเองได้สบาย 

“ผมไม่ได้ทำงานออกแบบเสื้อผ้าเป็นอาชีพ แต่มีความสุขเวลาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน มีความรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้มีโอกาสใช้พรสวรรค์ให้เกิดประโยชน์บ้าง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตามที่คนนึกถึงเรา ผมก็จะไปให้เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวกับแฟชั่นหรือความงาม แต่งานจริงๆ ผมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและออกแบบบ้านครับ”

เราจึงได้พากันเดินสำรวจความงดงามของบ้านคุณอุกฤษซึ่งเปิดโอกาสให้เราซักถามถึงที่มาที่ไปของของแต่งบ้านแต่ละชิ้น และไอเดียของแต่ละมุมอย่างเต็มที่ เรียกว่าแต่ละตารางเมตรนั้นอัดแน่นไปด้วยรายละเอียดครบครันที่เอื้อให้เกิดการใช้งานสูงสุดโดยคำนึงถึงแสงแดดและทิศทางลมในแต่ละช่วงวัน โดยไม่ทิ้งสไตล์ที่เน้นความเก๋ไก๋แบบโมเดิร์นคอนเทมโพรารี่ ทุกๆ มุมที่เขาพาเราเดินชมทำให้เรานึกภาพตามและเห็นบรรยากาศยามที่เพื่อนฝูงของเขาพากันมาจัดปาร์ตี้บ้าง หรือดินเนอร์ร่วมกัน หรือพักผ่อนสบายๆ ในบรรยากาศรีสอร์ต  ทุกจุดถูกจัดสรรร้อยเรียงเพื่อการใช้สอยอย่างลงตัว เราจึงอยากรู้ว่าเขาเริ่มต้นทำธุรกิจออกแบบบ้านมานานเท่าไหร่แล้ว

“ผมจับธุรกิจนี้มาเกือบยี่สิบปีแล้ว โดยเริ่มจากเพื่อนชาวต่างชาติชื่อคุณ Aron Piera ซึ่งเป็นสถาปนิกเป็นคนชวน และเขาก็มีส่วนในการช่วยออกแบบบ้านหลังนี้ เราเองชอบทำงานกับเขาและที่สำคัญเคยเรียนออกแบบมาบ้างเลยอยากลองดูเหมือนกัน ตอนแรกที่ทำเราไม่เคยได้ลูกค้าคนไทยเลย มีแต่คนต่างชาติที่ย้ายมาอยู่เกาะสมุยและพะงัน จนมาไม่กี่ปีหลังนี่แหละที่เราได้ลูกค้าคนไทยแล้ว ผมจะมีความสุชมากเวลาที่ขับรถไปไหนแล้วได้เห็นบ้านที่เราบรรจงออกแบบมาไม่ให้ซ้ำกับใคร อ้อ บอกก่อนนะผมเป็นคนเลือกงานทุกชิ้นก่อนจะตัดสินใจรับรับ งานประเภทตึกแถวที่ไม่เน้นความสวยงามเราจะไม่รับ ที่ไม่รับเพราะเราไม่ได้เห็นเงินเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งเวลารับงาน แต่เป็นความสุขใจทั้งของคนที่ได้อยู่อาศัย และตัวผมเองทุกครั้งที่ได้เห็นมัน”