"เราถ่ายภาพไม่ได้แยกออกมาชัดว่า เราเป็นช่างภาพประเภทไหน? เรามองเห็นภาพรวมและทำงานตาม Message มากกว่า"
นี่คือคำกล่าวของ ตาล - ธนพล แก้วพริ้ง ช่างภาพอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ที่อยู่ในแวดวงภาพถ่ายและมีผลงานสร้างชื่อมากมายมายาวนานกว่า 20 ปี! ปัจจุบันพ่วงตำแหน่ง Director และทำภาพเคลื่อนไหว Visual ด้วยผลงานที่หลากหลายและเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้อาชีพช่างภาพเปรียบเสมือนเส้นทางและงานเฉพาะทางของผู้ชายคนนี้
คุณตาลเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่เรียนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่ง "การถ่ายภาพ" คือเป็นคำตอบสุดท้ายที่เขาเลือกใช้เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโบราณคดีของเขา เพราะวิธีนี้ช่วยให้เห็นภาพรวมและสามารถอธิบายความคิดของเขาได้อย่างครอบคลุม เลยทำให้เขาสนุกและเริ่มจริงจังกับการถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น จนศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 มีโครงการเฟ้นหาสไตล์ลิสต์ ของนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ เขาเลยตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวดจนเข้ารอบและได้รับรางวัลชนะเลิศ จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ทำได้...แต่เขาทำออกมาได้ดีมาก เขาจึงมุ่งมั่น ตั้งใจ และพยายามอย่างจริงจังกับมัน เพราะการถ่ายภาพกลายเป็นสิ่งที่เขาขาดไม่ได้ไปซะแล้ว!
จากสายโบราณคดี เป็น Fine Art สู่การเป็นช่างภาพด้วยตนเอง
"วงการนิตยสารสมัยก่อนเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมาก การที่จะเข้าไปทำงานหัวใหญ่ๆ ต้องมีเส้นมีสายระดับหนึ่ง หลังจากเรียนจบผมก็ลองนำพอร์ทตัวเองส่งสมัครงานตามบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ จนได้งานแรกเป็นช่างภาพของนิตยสาร DNA Magazine ในตำแหน่ง Junior Photographer เป็นงานที่ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ได้ทำงานกับสไตล์ลิสต์ และช่างภาพเก่งๆ หลายคน ผมทำอยู่ประมาณเกือบปี ก็ตัดสินใจลาออกและตั้งใจจะออกไปเป็นเชฟที่เกาะลันตา ช่วงปี 2003 แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ไปเพราะได้งานใหม่ไปก่อน"
จุดเปลี่ยนที่ท้าทาย..อีกครั้ง!
"ตอนออกจาก DNA Magazine รุ่นพี่ที่ทำงานด้วยกันเป็นนักเขียน (พี่ต้อง ธันยพร หงษ์ทอง) เขาให้เอาพอร์ทไปสมัครงาน ซึ่งเป็นงานถ่ายปกคัฟเวอร์ศิลปินและซีดีต่างๆ ตอนนั้นก็เฟื่องฟูมาก ในการทำอาร์ทเวิร์คแผ่นซีดี จับพลัดจับผลูจนได้มาทำนิตยสาร Wallpaper เพราะคุยกับพี่หมู นนทวัฒน์ เจริญชาศรี (ผู้ก่อตั้ง บริษัทออกแบบ DUCTSTORE The Design Guru) ด้วยสไตล์การแต่งตัวและการฟังเพลงที่ชื่นชอบเหมือนกัน เลยทำให้ได้เข้าทำงาน ซึ่งช่วงที่ทำงานตอนแรกๆ ค่อนข้างเครียด เพราะเรามาจากสายช่างภาพไม่ใช่สายเทคนิค เลยต้องศึกษาหนังสือที่ทำ คุณภาพของภาพ และงานที่ดีที่ควรจะออกมา เพราะตอนนั้นเริ่มใช้กล้องใหญ่ ใช้ฟิลม์ขนาดใหญ่ และเราก็ไม่มีความรู้ทางด้านนี้ เลยเรียนรู้จากผู้ช่วยช่างภาพที่เขาไปช่วยเรา และลองหัดใช้เครื่องมือ ซึ่งจริงๆ ก็ค้นพบว่ามันไม่ได้ยากอะไร"
“ช่วงนั้นยังไม่มีการ Snap ภาพ แต่เราดันไป Snap เลยโดนเละ! เพราะเราได้ React กลับมาจากการถ่ายภาพ เลยเริ่มทำงานทดลอง และกลายเป็นคาแรกเตอร์ของเรามาเรื่อยๆ”
แนวทางการถ่ายของของตนเอง
"สิ่งที่อยากจะบอกคือพยายามทำอะไร ที่อาจรู้สึกใหม่สำหรับเรา เพื่อการเรียนรู้และทดลองอะไรใหม่ๆ และในแง่ของการทำงาน การรับโจทย์จากลูกค้า เราก็พยายามทำสองอย่างควบคู่กันไป ซึ่งสองสามปีหลังเราได้ทำภาพเคลื่อนไหว พอเราเข้าใจในแง่ของสิ่งที่เราต้องการสื่อสารกับคน มันก็ช่วยเราได้เยอะ เพราะหลายๆ อย่างมันเอื้อกันและเราก็ชอบถ่ายงานหลากหลายรูปแบบ ชอบถ่ายทุกอย่าง พอถ่ายแฟชั่นนานๆ เบื่อเลยหยุดเพื่อไปถ่ายอย่างอื่นบ้าง"
“ถ้าถามถึงงานที่ชอบที่สุดคงไม่มี เพราะชอบทำทุกงาน และชอบกลับมาดูข้อดีข้อเสีย เลยสามารถเล่าได้ทั้งความประทับใจ สิ่งที่ได้เรียนรู้ และสิ่งที่ไม่ประทับใจด้วย เหมือนเป็นบทเรียนที่ได้เรียนมากกว่า”
นิทรรศการ Dear Cancer
"เกิดจากพี่หลิง พีรดา พีรศิลป์ ซึ่งเป็นโรคมะเร็ง โทรชวนให้ทำโปรเจ็กต์นี้ ตัวคอนเซ็ปต์ที่วางค่อนข้างชัด เราแค่เล่าอีกพาร์ทหนึ่ง โดยเริ่มจากการพูดคุยถึงแบคกราวด์การเป็นมะเร็งของแกและความรู้สึก ที่เน้นโปรดักชั่นตอนถ่ายทำมากกว่า ซึ่งเราต้องเริ่มรู้สึกกับมันก่อน จึงถ่ายมันออกไป เหมือนเราเป็นสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้แกเล่าเรื่องราวออกมา ซึ่งต้องพูดคุยกับตัวเองเยอะมากในการให้กำลังใจเพื่อให้ผ่านพ้นเรื่องนี้ไป ผมแค่เอาโจทย์ไปตั้งหลังกล้องและปล่อยให้แกถ่ายตัวเองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจ แล้วผมจึงเข้ามา บางซีนที่ถ่ายก็เกิดจากการพูดคุยกันหลังกล้อง มันน่าจะเป็นเรื่องความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างการถ่ายและถ่ายทอดออกมา"
งานถ่ายภาพ ภาษาสากล ที่เลือกเสพได้
"ล่าสุดได้ไปทำกับ Somewhere Magazine ในอินสตาแกรม ซึ่งมีคนติดตามเป็นหลักล้าน เป็นงานครีเอทีฟอินสไปเรชั่นที่เอารูปต่างๆ มาทำโปรเจค NFT ร่วมกัน ร่วมกับศิลปินที่เยอรมัน เขาก็จะเอางานเราไปทำ 3D Visual และขายใน NFT จึงเป็นแรงกระตุ้นให้กลับมาทำงานค่อนข้างเยอะ ซึ่งตอนนี้ยังติดต่อและทำงานกับต่างประเทศอยู่จริงๆ งานเราอาจจะถูกจริตกับต่างประเทศมากกว่า เพราะคนที่ซื้องานเรามีแต่ต่างชาติ งานถ่ายภาพมันเป็นภาษาสากลที่เราไม่ได้ตัดสินมัน แม้กระทั่งงานที่เป็นไทยมากๆ แต่พร้อมที่จะสื่อสารกับคนทั่วโลก มันค่อนข้างรู้สึกได้ ถ้าเป็นงานที่ละลายไปกับคนทั่วโลก"
ตัวเอง คือความท้าทาย
"อุปสรรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่ต้องเกิด เพราะปัญหากับการทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความท้าทายเดียวคือ ตัวเราเอง เพราะเราต้องผลักดันตัวเอง เราเลยวัยที่พลุ่งพล่านแล้ว ทำให้เข้าใจว่ากำแพงที่เราต้องข้ามคืออะไร พอทำงานกับคนรุ่นเดียวกันหรือแก่กว่ากันมันไม่มีไฟ แต่เรายังอยากทำอยู่ยังอยากมีไฟอยู่ การทำงานกับเด็กหรือกลุ่มคนที่เราไม่คุ้นเคย มันก็ช่วยเติมมุมมองอะไรบางอย่าง เอามาขมวดใช้กับงานเราได้ เรายังอยากเป็นคนที่กระเสือกกระสน"
“เรียนรู้ เข้าใจ ในสิ่งที่เขาต้องการ และทำมันออกมาให้ดีที่สุด ไม่เอาตัวเองไปครอบงานเขา ออกแบบและปรับเปลี่ยนงานให้ตอบโจทย์เขาให้ได้”
งานที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ
"เราไม่จำเป็นต้องอธิบาย แต่เราต้องเข้าใจในงานและสิ่งที่เราทำมากขึ้น บางอย่างเมื่อก่อน ตัวเราเองยังไม่เข้าใจเลยว่าทำทำไม มันเลยทำให้เรียนรู้ว่า ณ ตอนนั้นมันเกิดสิ่งนี้อยู่ ด้วยประสบการณ์ของเรา เรายังไม่รู้เท่าทันตัวเอง บางทีก็ค้นพบว่าเป็นเพราะเราเติบโตมากับสิ่งเหล่านี้ พอเวลาเราทำงานจริงเลยมองหาเรื่องราวในอดีตที่เอามาปรับใช้กับงานที่เราทำ ซึ่งตอนนี้ก็ยังทำอยู่เวลาได้โจทย์จากลูกค้ามา มันเลยสนุกตรงที่เราจะดีไซน์ให้เขาเข้าใจงานเราได้มากน้อยขนาดไหน บางครั้งเขาอาจมีไอเดียเพิ่มเติมจากคนที่เขาเห็นงานเราเลยกลายเป็นเรื่องที่สนุก"
“งานที่ถูกที่ ถูกทาง และถูกเวลา มันอาจจะเป็นความงดงามของความสมบูรณ์แบบมากกว่า”
แพลนการทำงานในอนาคต
"ปีนี้มีเวลาจริงๆ จังๆ เลยแบ่งเป็น 2 พาร์ทคือ งานส่วนตัวจะเข้มข้นมากขึ้น กลับมาทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ เพราะเราทำงานหาเงินที่ใช้เราและเราใช้มันซึ่งกินพลังไปมาก อาจกลับมาพัฒนางานให้เป็นรูปร่างมากยิ่งขึ้น กับอีกส่วนคือรูปแบบบริษัท ที่ต้องวางให้เป็นหลักเป็นฐานมากยิ่งขึ้น เพราะมีทีมงานข้างหลังมานานแล้ว ส่วนในแง่ของธุรกิจอาจไปลุยเมืองนอก ที่มองๆ ไว้ คือ แถบตะวันออกกลางชาติอาหรับ เพราะตะวันออกกลางเป็นระดับ High-end ที่ลูกค้ามีศักยภาพเรื่องบัดเจ็ต ซึ่งอยู่ในช่วงการวางแผนครับ งานเอ็กซิบิชั่นของเราก็สามารถไปได้ด้วย และที่สำคัญคือ อยากให้งานที่เราทำกลายเป็นงานก้อนใหญ่ที่ค่อยๆ เพิ่มขนาดให้กลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินให้เราได้จริง"
“งานต่างๆ เราไม่หยุดที่จะทดลอง ไม่อยากจำกัดมันให้อยู่ในนิยาม เพราะเรายังอยู่กับมันและอยากจะทำมันต่อไป พยายามพัฒนามันไปเรื่อยๆ”
ติดตามและอัพเดทรูปภาพของตาล ธนพล ได้ที่ tanapol_kaewpring