‘ฟ้า ชุติกาญจน์’ ผู้พา BMX Racing ไทย ไปไกลถึงโอลิมปิก 2020

โอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกครั้งที่มีการจัดแข่งขันจักรยานวิบาก หรือ BMX Racing แต่ครั้งนี้พิเศษหน่อยที่มีนักกีฬาจากประเทศไทยได้ร่วมเข้าแข่งขันด้วย คือ ฟ้า - ชุติกาญจน์ กิจวานิชเสถียร นักปั่นสาวไทยร่างเล็ก มือวางอันดับ 64 ของโลก ตัวแทนหนึ่งเดียวจากภูมิภาคอาเซียน บนเวทีโอลิมปิก 2020 ในวัยเพียง 22 ปีเท่านั้น 

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งนักกีฬาที่ทำผลงานได้ดีตั้งแต่อายุยังน้อย แม้เธอจะตัวเล็กกว่าคู่ต่อสู้ทุกสนาม แต่ก่อนที่จะได้ตั๋วไปโอลิมปิกครั้งนี้ เธอก็เป็นคว้ารางวัลทั้งในประเทศและระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย อาทิ แชมป์ประเทศไทย 12 สมัย เหรียญทอง BMX 2016 BMX Banyuwangi International เหรียญเงินซีเกมส์ 2017 เหรียญเงินชิงแชมป์เอเชีย 2018 และเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2018 

อะไรที่ทำให้เธอรักมั่นคงใน BMX มากว่า 11 ปี และอะไรที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว เธอยินดีแชร์แบบหมดเปลือกที่นี่ เพราะหวังว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของชีวิตเธอจะสร้างพลังบวกให้กับนักอ่าน EQ ได้

เติบโตในครอบครัวนักปั่น

เธอเล่าว่าตัวเองอาจจะโชคดีที่เกิดและโตในครอบครัวนักปั่น มีคุณพ่อ (อนุชิต กิจวานิชเสถียร) และพี่ชายทั้ง 2 คนเป็นแชมป์ BMX ประเทศไทยมาหลายสมัย ทำให้ได้ซึมซับและได้เล่นกีฬานี้มาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งเธอเริ่มเล่นจริงจังเมื่ออายุประมาณ 11 ปี และได้แชมป์ประเทศไทยครั้งแรกตอนอายุ 12 ปี หลังจากนั้นคุณพ่อก็เป็นโค้ชช่วยฝึกซ้อมมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นแชมป์ติดต่อกันมา 12 สมัย และพออายุ 17 ปี ก็ได้เข้าเป็นหนึ่งในนักกีฬาทีมชาติไทยไปแข่งรายการชิงแชมป์เอเชีย 2018 ได้เหรียญเงินรุ่นเยาวชนหญิงกลับมา แล้วก็เป็นทีมชาติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ลงหลักปักฐานกับ BMX

จักรยานมีหลายประเภท เช่น เสือภูเขา จักรยานคันใหญ่ที่ขี่ทางไกลตามภูเขา หรือ BMX คันเล็กกว่าประเภทอื่น ซึ่งแบ่งย่อยเป็น Racing แข่งขันบนทางวิบาก, Freestyle แข่งทำท่าทางผาดโผน และ Flatland ปั่นจักรยานผาดโผนในทางเรียบ 

“ส่วนตัวเคยเล่นมาหลายอย่างแล้ว แต่สุดท้ายเลือกขี่แบบ Racing ค่ะ เพราะมันผาดโผน ใช้เวลาแข่งไม่นาน และใช้ความเร็ว 60 กม./ชม. ขึ้นไปเลย ซึ่งสนุกมาก ต้องใช้ความกล้าในการขี่สูงมากด้วย และอีกอย่างคือมันมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะเวลาแข่งจะปล่อยพร้อมกัน 8 คัน ถ้าพลาดนิดเดียวก็อาจจะมีชนกัน กระแทกกันได้บ้าง เราไม่สามารถเดาได้เลยว่าใครจะเข้าที่หนึ่ง เหมือนทุกคนมีโอกาสหมด เป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้เลย บางครั้งตัวเต็งของรายการอาจจะไม่เข้าที่ 1 ก็ได้”

เส้นทางแชมป์

ที่คว้าแชมป์ได้แต่ตั้งแต่ยังเด็กเป็นเพราะแรงสนับสนุนจากครอบครัวเป็นหลักเลยค่ะ รองลงมาก็แรงสนับสนุนจากทางโรงเรียนที่เขาเข้าใจเรา เพราะการเป็นนักกีฬาเราต้องซ้อมเช้า-เย็นมาตั้งแต่เด็กๆ มีกระทบกับการเรียนบ้าง การมีเพื่อนและคุณครูที่คอยช่วยเหลือเป็นเรื่องดี สุดท้ายก็คงเป็นความตั้งใจและความมุ่งมั่นของเราเองด้วยค่ะ ที่พยายามพาตัวเองไปให้รอดทั้งเรื่องเรียนและกีฬา

‘ตัวเล็ก’ อุปสรรคเล็กๆ ของฟ้า

“ถึงตัวเล็กจะได้เปรียบเรื่องคล่องตัว แต่ก็ยอมรับว่ามีอุปสรรคในด้านอื่นบ้าง เช่น จังหวะกระแทกหรือเบียด ที่บางทีก็สู้แรงเขาไม่ไหว เลยต้องเพิ่มเทคนิคในด้านอื่นแทน”

แม้เส้นทางการเป็นนักกีฬาของเธอจะดูพร้อมไปเสียทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้วเส้นทางนักกีฬาของเธอก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบขนาดนั้น เพราะรูปร่าง ‘เล็ก’ กว่าคู่แข่งในหลายสนาม ทำให้บางจังหวะก็สู้คนตัวใหญ่ไม่ได้บ้าง และการเพิ่มน้ำหนักไม่ใช่เรื่องง่าย เธอเลยต้องพยายามอย่างหนักในการสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายด้วยการเล่นเวทเป็นประจำ สลับกับการซ้อมปั่นจักรยาน เพื่อให้ตัวเองมีแรงระเบิดเท่าคนตัวใหญ่กว่า 

รู้ตัวก่อนไปโอลิมปิกเพียง 1 เดือน

ถ้าคิดว่าตัวเล็กเป็นอุปสรรคเดียวของเธอแล้วล่ะก็…คุณคิดผิด เพราะในช่วงที่นักกีฬาหลายคนอาจจะมีเวลาเตรียมตัวฝึกซ้อมไปโอลิมปิกกันนานหลายเดือน ฟ้า ชุติกาญจน์ กลับโอกาสเตรียมตัวเข้มข้นเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้รายการแข่งขัน Qualified หลายสนามต้องชะงักลง คะแนนรวมของนักกีฬาทั่วโลกตลอดทั้ง 2 ปี ยังไม่ถึงที่กำหนด เลยต้องมีการจัดแข่งแบบเร่งด่วนเพิ่มอีก 2 สนามเมื่อกลางปี 2021 ที่ผ่านมานี้เอง เพื่อคัดเลือก 24 คนที่ทำคะแนนดีที่สุดเข้าสู่สนามโอลิมปิก ซึ่งเธอก็ทำคะแนนผ่านเข้ารอบไปได้ไม่ยาก แต่การเข้ารอบโอลิมปิกก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด เพราะต้องแลกมากับอาการบาดเจ็บจากการล้มจนเอ็นนิ้วก้อยมือขวาขาด ในสนาม Qualified รอบสุดท้ายที่ประเทศโคลอมเบีย 

“ตอนนั้นมีหลายปัญหาเกิดขึ้น เราต้องกลับมากักตัวที่ไทย 14 วัน ทำให้ไม่ได้ซ้อมเลยสองสัปดาห์และยังไม่ได้รักษาตัวด้วย ตอนรู้ผลว่าได้ไปโอลิมปิกก็ยังกักตัวอยู่เลย เท่ากับรู้ก่อนแค่เดือนเดียว พอกักตัวเสร็จเลยต้องออกมาซ้อมไปพร้อมๆ กับรักษาตัว ทำให้อาการบาดเจ็บก็ต่อเนื่องไปถึงโอลิมปิกครั้งนี้ด้วยค่ะ”

จะเล่น BMX ต้องรับให้ได้กับการเจ็บตัว

หลายคนถ้าเคยประสบอุบัติเหตุจนเจ็บตัวมาแล้ว คงพยายามเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะทำให้ตัวเองเจ็บอีก แต่ฟ้ายังเลือกที่จะเล่น BMX ต่อไป

“ถ้ามั่นใจแล้วว่าอยากเล่นกีฬานี้ ต้องยอมรับให้ได้กับการบาดเจ็บ ถึงจะมีอุปกรณ์เซฟตี้ตั้งแต่หัวจรดเท้าก็ไม่ได้กันเจ็บได้ร้อยเปอร์เซนต์ การบาดเจ็บมันเหมือนการเช็คอินว่าเรามาถึงสนามแล้วมากกว่า แต่ไม่ได้ทำให้เรากลัวจนเลิกขี่ ในช่วงเจ็บใหม่ๆ อาจจะมีแหยงๆ บ้าง แต่จะพยายามซ้อมเท่าที่ได้ ใช้แรงเท่าที่มั่นใจ และเข้าสนามให้บ่อยขึ้น ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง ทุกอย่างอยู่ที่ความกล้า ถ้าใจยังกล้าก็ปั่นต่อได้”

BMX คือครอบครัว

จักรยาน BMX เป็นเหมือนครอบครัว เพราะเราเห็นมาตั้งแต่จำความได้และอยากอยู่ด้วยกันทุกช่วงของชีวิต เขาทำให้เราได้ประสบการณ์ดีๆ ได้มิตรภาพ ได้เจอผู้คนหลายแบบ ทำให้เราเติบโตขึ้นมาก หากไม่ได้เป็นนักกีฬาคงจะไม่ได้เจออะไรแบบนี้ ถ้าอนาคตแข่งไม่ไหวแล้วก็จะยังคงอยู่กับ BMX จะกลับสระบุรีไปช่วยคุณพ่อปั้นเด็กนักกีฬารุ่นใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ สร้างโอกาสให้เด็กในต่างจังหวัด ซึ่งตอนนี้เด็กในทีมที่คุณพ่อดูแลอยู่ก็มีแชมป์ประเทศไทยอยู่หลายคนแล้ว

ผลงานที่ให้อยากคนไทยรอเชียร์

“ตอนนี้ฟ้ากำลังเตรียมตัวแข่งเอเชียนเกมส์ในปีหน้าอยู่ค่ะ น่าจะได้สักเหรียญกลับมานะ ส่วนโอลิมปิก 2024 ก็จะเริ่มมีสนามให้เก็บคะแนนกลางปีหน้าแล้ว ครั้งนี้จะรักษาสภาพร่างกายให้พร้อม ดูแลตัวเองให้ดี ทำคะแนนให้ได้เยอะๆ เพื่อให้มีโอกาสได้ไปโอลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศส และเข้าไปให้ถึงรอบไฟนอลค่ะ”