Auto

BMW M Car ชื่อเสียงที่มาพร้อมกับความล้มเหลว

Photo credit: bmw.com

ไม่มีใครได้อะไรทุกอย่าง ทุกความสำเร็จมักมีด้านมืดซ่อนอยู่เสมอ และในกรณี ‘M Car’ รถยนต์สมรรถนะสูงจากแผนกมอเตอร์สปอร์ตของ ‘BMW’ ที่ชื่อเสียงลือลั่นในระดับที่มีสาวกอยู่ทั่วโลกก็ยังต้องแลกกับบางสิ่งบางอย่างเช่นกัน

ในขณะที่ M Car ของ BMW ได้รับการยกย่องเทิดทูนจากเหล่า petrolhead หรือผู้ที่หลงไหลคลั่งไคล้รถยนต์อย่างออกหน้าออกตา แต่รถสปอร์ตของ BMW นั้นแทบจะเรียกได้ว่าไม่เคยลิ้มรสชาติแห่งความสำเร็จในชีวิตแรกของมันเลยแม้แต่รุ่นเดียว นับตั้งแต่แผนก M Division ถือกำเนิดเกิดขึ้น

จุดเริ่มต้นของ BMW M Car มาจากสนามแข่ง

Photo credit: bmw.com

BMW ได้เขียนจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์รถยนต์สมรรถนะสูงของตระกูล M ด้วยผลงาน BMW 3.0 CSL (E9) ในปี ค.ศ. 1972 รถคูเป้น้ำหนักเบา (CSL ย่อมาจาก Coupé Sport Leichtbau หรือ lightweight construction) เจ้าของฉายา ‘Bat Mobile’ เพราะมันมีครีบและหางหลังขนาดมหึมา เพื่อลงแข่งรายการ European Touring Car Championship Group 5 ซึ่งครองแชมป์ถึง 6 สมัย และยังเป็น production car ที่เร็วที่สุดในสนาม Nürburgring Nordschleife ณ เวลานั้น

Photo credit: caranddriver.com

โดยในช่วงเวลาดังกล่าว BMW มีโปรเจกต์รถสปอร์ตทรง Exotic เครื่องวางกลางลำอย่าง BMW Turbo Concept ที่ออกแบบโดย ‘พอล บราค’ (Paul Bracq) ซึ่งในรถต้นแบบนั้นวางเครื่องยนต์ของ BMW 2002 Turbo (BMW พัฒนา Turbo มาก่อน Porsche นานมาก) แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตจริง

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1975 เจ้า Bat Mobile หรือ 3.0 CSL ซึ่งยังไม่ได้ใช้รหัส M เองก็เริ่มชรา กลายเป็นรถตกยุคทั้งบนถนนและสนามแข่ง ทำให้ BMW Turbo Concept ผลงานที่บราคเคยสร้างไว้ถูกนำกลับมาปัดฝุ่น เพื่อพัฒนาต่อภายใต้โปรเจกต์ชื่อ Engineering Concept 26 หรือ E26 เพื่อเป็นรถสปอร์ตทรง Exotic สำหรับการแข่งขัน Group 4 อีกทั้งยังเป็นรถคันแรกที่จะได้ใช้รหัส M

BMW M1 กลายเป็นรถที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า

Photo credit: bmw.com

BMW ทุ่มเทให้กับรหัส M1 มาก (โดยรหัส M1 คือรถ M ลำดับที่ 1 ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนไปใช้ตามรหัสคลาสของรถจริง ไม่ใช่ลำดับโปรเจกต์) มันเป็นรถเพียวสปอร์ตทรง Exotic คันแรกของ BMW ออกแบบโดยพ่อมดอย่าง ‘จิออร์เจ็ตโต จูเจียโร’ (Giorgetto Giugiaro) สมัยที่อยู่ Italdesign Giugiaro สไตลิ่งจึงมีความเป็นอิตาเลียนจัด โดยใช้โครงสร้างสเปซเฟรม ตัวถังไฟเบอร์กลาส (วัสดุที่ล้ำมากในยุคนั้น เทียบกับสมัยนี้ก็อาจเป็นคาร์บอนไฟเบอร์) และจ้างให้ Lamborghini เป็นผู้ผลิตก่อนส่งกลับมาที่แผนก BMW Motorsport เพื่อปิดจ๊อบ

Photo credit: bmw.com

อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ BMW M1 ไม่ได้ราบรื่นมาตั้งแต่แรก Lamborghini ในฐานะผู้รับผลิตก็ประสบปัญหาทางการเงินและล้มละลาย BMW ก็ต้องยกเลิกสัญญา ปรับแผนการผลิตใหม่ ทำให้การเปิดตัว BMW M1 ล่วงเลยมาถึงปี ค.ศ. 1978 จากกำหนดเดิมคือ ค.ศ. 1977

หากจะใช้ยอดขายเป็นไม้บรรทัดวัดความสำเร็จของ BMW M1 ก็ต้องบอกว่า “เจ๊งยับ” เนื่องจากต้นทุนการผลิต BMW M1 สูงมาก มันจึงไม่ใช่รถราคาถูก แต่อีกส่วนสำคัญคือเครื่องยนต์ 6 สูบ ซึ่งพัฒนามาจาก 3.0 CSL แล้วอัดอากาศด้วยเทอร์โบนั้น ลูกค้าระดับพร้อมจ่ายมองว่ามันไม่สมศักดิ์ศรี ไม่คุ้มเงิน เพราะผู้คนมักมองว่าต่อให้เครื่องนั้นจะดีงามแค่ไหน มันก็ไม่ควรอยู่ในรถระดับนี้

Photo credit: bmw.com

คล้ายกับกรณี Dino ของ Ferrari ที่ ‘เอ็นโซ เฟอร์รารี่’ (Enzo Ferrari) ไม่ยอมให้ใช้ตราสินค้า Ferrari ตั้งแต่แรกเกิด มันจึงต้องใช้ตราอื่นราวกับลูกเมียน้อย (ถ้าใครเรียก Ferrari Dino คือความเข้าใจผิดอย่างแรง) เหตุเพราะเครื่องยนต์เล็กแถมวางกลางลำนั้นเป็นเรื่องเสื่อมเสียเกินกว่าจะติดตราม้าเขย่ง (รถ Ferrari ชั้นสูงจะวางกลางหน้าเสมอตามแนวคิดของเฟอร์รารี่ ยกเว้นรถแข่ง)

รวมถึง Jaguar XJ220 ที่เป็นรถต้นแบบการใช้เครื่อง 12 กระบอกสูบรูปตัววี แต่เมื่อผลิตจริง กระบอกสูบก็หายไปครึ่งหนึ่ง ลูกค้าที่สั่งจองจึงรับไม่ได้ที่ Hypercar ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ แม้ว่ามันจะชดเชยด้วยเทอร์โบ 2 ลูก และเป็นรถเร็วที่สุดในโลก มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

รถบ้านพลังแรงเท่านั้นที่สาวก M ต้องการ

Photo credit: stratstone.com

การที่ BMW M1 ไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย ก็ไม่ได้แปลว่าชื่อเสียงของ M Car จะด้อยค่าลง ขณะที่ BMW ปรับเปลี่ยนทิศทางไปปลุกปั้นรถบ้านให้เร็วอย่างร้ายกาจด้วย BMW M535i (E12) ในปี ค.ศ. 1979 ด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์ 6 สูบแถวเรียง ขนาด 3.5 ลิตร กำลังเกิน 200 แรงม้า เพียงพอต่อการไล่ล่ารถสปอร์ตบนออโต้บาห์น ตามด้วยบิ๊กคูเป้อย่าง M635 CSi ช่วงปี ค.ศ. 1983 และใช้ชื่อ M6 ในบางตลาด 

ยุคทองของ BMW M Car

Photo credit: stratstone.com

อย่างไรก็ตาม BMW M Car ได้มาถึงจุดพีคในยุค 80-90’s ที่รถยนต์ทรงซีดานเป็นใหญ่บนท้องถนน ขณะที่ความนิยมในรถสปอร์ตซึ่งเคยเฟื่องฟูอย่างมากช่วงยุค 60-70’s เริ่มคลี่คลายลง เพราะความสมบูรณ์ของรถซีดานที่วิ่งได้เร็ว นั่งสบาย คล้ายกับที่รถครอสโอเวอร์กำลังลดบทบาทรถยนต์ซีดานอยู่ในตอนนี้

BMW M5 (E28) ในปี ค.ศ. 1985 และ BMW M3 (E30) ก็ตามออกมาในปี ค.ศ. 1986 มันคือความรุ่งโรจน์ของรถตระกูล M และสามารถออกไล่ล่า Porsche 911 ได้ในราคาที่ต่ำกว่า ลุก-นั่งสบาย ไปพร้อมกันได้หลายคน แถมยังเหลือที่เก็บสัมภาระ เพราะมันคือรถยนต์สมรรถนะสูงเทียบเท่ารถสปอร์ต แม้ว่า M3 จะมี 2 ประตู ซึ่งความพิเศษนี้ ทำให้ชื่อเสียงของ M Car ดำเนินต่อไป

M Car ต่างจาก AMG

Photo credit: stratstone.com

สิ่งหนึ่งที่ M Car ต่างจาก AMG คือ ‘แนวคิด’ BMW เลือกสร้างรถสมรรถนะสูงโดยเริ่มต้นจากภายใน ทั้งในแง่บ้านตัวเองและเชิงวิศวกรรม เพราะถึงแม้ M Car จะใช้แพลตฟอร์มร่วมกับรถยนต์ปกติ อย่าง 5 Series หรือ 3 Series แต่ BMW เตรียมการไว้ล่วงหน้าสำหรับโปรเจกต์รถสมรรถนะสูงมาตั้งแต่ต้นในระดับโครงสร้าง

Photo credit: Arthur Bechtel

ต่างจาก Mercedes-Benz ที่ไม่เคยสนใจรถเล็ก และยังคงมุ่งมั่นกับเครื่องใหญ่พลังเยอะ ไปด้วยพลังแบบสุขุม ส่วน AMG คือสำนักแต่งนอกที่เอารถ Mercedes-Benz 300 SEL (w111) ไปดัดแปลงจนมีชื่อเสียงจากเจ้าหมูแดงหรือ ‘Red Pig’ เรียกได้ว่าโด่งดังเหมือน Alpina หรือ AC Schnitzer ที่ทำกับรถของ BMW

Mercedes-Benz เพิ่งเริ่มต้นรถเล็กของตนเองจริงๆ ก็ตอน 190E หรือ W201 พร้อมเวอร์ชั่นแรงอย่าง Evolution ก็เพราะ BMW รวมถึงการซื้อรวบ AMG มาเป็นของตัวเองในภายหลังก็มี BMW M Car เป็นอีกเหตุผลหนึ่งเช่นกัน

บิดาของ M Car

Photo credit: motorsport-magazine

ถ้าพูดถึง M Car ของ BMW บุคคลที่สำคัญมากที่สุดคนหนึ่งก็คือ ‘พอล ฮอร์เช’ (Paul Rosche) ซึ่งเข้ามานั่งอยู่ใน BMW ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 โดยมีหลายบทบาท แต่ภาพที่หลายคนจดจำคือตัวเขาในฐานะผู้นำทีมพัฒนาและออกแบบรถยนต์สมรรถนะสูง โดยเฉพาะเครื่องยนต์วิเศษ ตั้งแต่ก่อนแผนก M จะเกิดเสียอีก

Photo credit: bmw-m.com

อันที่จริง M Car เริ่มฉายแววออกมาตั้งแต่ BMW 2002 Turbo รถเล็กแต่จี๊ดระดับตัวพ่อ หรือ 3.0 CSL ไปจนถึงเครื่องยนต์ 6.0 ลิตร 12 กระบอกสูบ รูปตัววี ในรถแข่งโปรโตไทป์ล้อปิดสำหรับรายการเลอมังส์อย่าง BMW V12 LMR ซึ่งเคยอยู่ใน McLaren F1 มาก่อน รวมถึงเครื่องยนต์ของ M Car จนถึงปี ค.ศ. 1999 ล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของฮอร์เช ซึ่งเราถือว่ามันเป็นยุคทองของ M Car ที่พิเศษจริงๆ  

ความสำเร็จที่ BMW ต้องแลก

Photo credit: bmw.com

เป็นที่น่าสนใจว่า ถึง BMW จะทำเครื่องยนต์ได้ดีเพียงใด แชสซีส์แสนวิเศษหรือการขับขี่จะเลอเลิศแค่ไหน แต่ BMW กลับไม่เคยทำรถสปอร์ตใหญ่ทรง Exotic สำเร็จตั้งแต่ BMW M1 เป็นต้นมา ต่อด้วย BMW 8 Series (E31) ที่ไม่ Exotic มาก ซึ่งเกือบจะมี M8 แต่ก็ไม่มี (และอย่างน้อยแผนก M Division ก็ร่วมพัฒนารถรุ่นนี้) เรื่อยมาจนถึง BMW i8 ทุกรุ่นไม่อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายนัก

อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า กลุ่มลูกค้า BMW ส่วนใหญ่ค่อนข้างอายุน้อย และหากไม่ใช่สาวกกันจริงๆ กลุ่มคนที่มีพลังซื้อสูง หากต้องจ่ายในราคาซูเปอร์คาร์ มักจะข้ามไปเล่นรถที่เหนือกว่าอย่าง Porsche ขึ้นไป

Photo credit: stratstone.com

ภาพลักษณ์ของ BMW จึงมักจะหยุดอยู่ที่รถซีดานหรือรถคูเป้ โดยมี M Car เป็นเพชรยอดมงกุฎ ขณะที่รถสปอร์ตรุ่นใหญ่ทรง Exotic เป็นได้เพียงรถประดับในช่วงชีวิตแรกของมันเท่านั้น แต่ด้วยยอดขายกับจำนวนผลิตที่ต่ำเตี้ย ทำให้ชีวิตที่สองของมันกลับมาพิเศษอีกครั้ง นั่นอาจเป็นสิ่งที่รถสปอร์ตใหญ่โดนสาปไว้ด้วย M Car