Life

มนต์ขลังที่หายไปของเงินแห่งอนาคต - อัปเดตสถานการณ์คริปโตฯ ในปัจจุบัน และแนวโน้มตลาด

Photo credit: BeInCrypto

ต้องยอมรับว่าในช่วงแรกๆ ที่หลายสิ่งหลายอย่างต้องหยุดชะงักลงเพราะโควิด 19 ได้ทำให้สิ่งที่มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องลวงโลกหรือเพ้อฝันอย่าง ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ และ ‘NFT’ ได้รับความนิยมมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว มีทั้งโปรเจกต์ใหม่ๆ และผู้ลงทุนรายใหม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะเป็นการเงินรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกสักเท่าไหร่ สามารถทำธุรกรรมได้ตลอดเวลา และเชื่อมต่อกับผู้คนทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย 

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มกลับสู่สภาวะใกล้เคียงปกติ ก็ดูเหมือนว่าโลกคริปโตฯ จะมีความเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่คนแห่เข้าสู่ตลาดมาตลอดเกือบ 3 ปี ก็กลายเป็นว่าตลาดเงียบลง และหลายคนกลับมาเรียกมันว่าเรื่องลวงโลกอีกครั้ง – ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

คนมองว่าเหรียญคริปโตฯ ไม่ได้ไร้ผู้ควบคุมอย่างแท้จริง

Photo credit: CCN

คอนเซ็ปต์ของเหรียญคริปโตฯ ส่วนใหญ่คือการเป็น DeFi (Decentralized Finance) ที่ไร้ผู้มีอำนาจมาควบคุม และจะกระจายอำนาจทางการเงินไปสู่ทุกคน แต่ความจริงกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะมักจะมีนักลงทุนรายใหญ่ที่ทำให้ค่าเงินผันผวน เสมือนควบคุมทิศทางของเหรียญได้ และนักลงทุนรายย่อยก็กลายเป็นเหยื่อไปโดยปริยาย เข้าทำนอง ‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ ไม่ต่างจากระบบเงิน Fiat ยกตัวอย่างกรณีของ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) เจ้าพ่อเทคโนโลยีและ CEO ของบริษัท Tesla ที่ทุกการกระทำและคำพูด สามารถเปลี่ยนมูลค่าเงินได้ เช่น

  • 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 มัสก์ซื้อบิตคอยน์ด้วยเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และประกาศว่าพร้อมรับบิตคอยน์จากลูกค้าที่ซื้อรถ Tesla ทำให้บิตคอยน์มีมูลค่าพุ่งขึ้นถึง 47,493 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในการซื้อขายที่ตลาดเอเชีย
  • 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 มัสก์ทวีตประกาศยุติการรับบิตคอยน์สำหรับซื้อรถของทางบริษัท ทำให้มูลค่าบิตคอยน์ร่วงลงถึง 13%
Photo credit: iPhone-Droid

คนมองว่าเหรียญคริปโตฯ ยังใช้แทนเงิน Fiat ไม่ได้

แม้ว่าผู้ลงทุนในตลาดคริปโตฯ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่แมส เพราะในหลายประเทศ รวมถึงไทยเองก็ยังไม่ยอมรับให้เหรียญคริปโตฯ สกุลต่างๆ เข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นได้ชัดจากกรณีเหล่านี้

  • 1 เมษายน พ.ศ. 2565 ก.ล.ต. ไทย บังคับใช้กฎหมาย ห้ามจ่ายค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโตฯ (ยกเว้นการลงทุน) เพราะ เชื่อว่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงให้ประชาชนและภาคธุรกิจ เช่น เสี่ยงสูญเงินจากความผันผวนของราคา เสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือเสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน เป็นต้น
  • 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 อีลอน มัสก์ เทขายบิตคอยน์ในพอร์ตของ Tesla กว่า 75% เพราะจำเป็นต้องใช้เงินสดกว่า 936 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มความคล่องทางการเงิน
Photo credit: CoinDesk

คนมองว่าโลกคริปโตฯ ไม่ปลอดภัย

ด้วยความที่โลกคริปโตฯ เติบโตเร็วเกินไป ทำให้คนที่เข้าสู่ตลาดมีทั้งคนที่เข้าใจโลกการเงินดิจิทัลอย่างแท้จริง และคนที่หวังเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ จึงมักจะมีการหลอกลวงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งนักต้มตุ๋น แฮกเกอร์ และโปรเจกต์ขายฝันอีกนับร้อยพัน ที่เห็นได้จากทั้งฝั่งเหรียญคริปโตฯ และ NFT ซึ่งประเด็นนี้ขออ้างอิงความเห็นของ ‘แอรอน เดวิส’ (Aaron Davis) และ ‘แดน ฟินเลย์’ (Dan Finlay) ผู้ก่อตั้งกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ Metamask เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยทั้งคู่กล่าวว่า “ตลาดคริปโตฯ  ช่วงนี้เหมือนบ่อนคาสิโนที่เต็มไปด้วยการแชร์ลูกโซ่อันตรายมากมาย ขอไม่แนะนำให้ใครนำเงินเก็บทั้งชีวิตไปไว้ในนั้น”

Photo credit: Bitcoin.com

นี่เป็นเพราะผู้พัฒนาและนักลงทุนแห่กันเข้ามาสู่ตลาดเพื่อหวังรวยทางลัด แต่ไม่ได้เข้าใจเทคโนโลยีจริงๆ สุดท้ายจึงพังไม่เป็นท่า รวมถึงระบบป้องกันความปลอดภัยของหลายโปรเจกต์เองก็ยังไม่ดีพอ เพียงแค่คลิกลิงก์ผิดก็สูญเสียเงิน (ผู้เขียนเชื่อว่าคนไทยในแวดวง NFT คงเจออะไรแบบนี้กันไม่น้อย) หรือแค่โดนแฮกรหัสกระเป๋าเงินก็สามารถหมดตัวได้ในพริบตา

คนมองว่าโลกคริปโตฯ เสี่ยงสูญเงินจากการผันผวน

แน่นอนว่าผู้ที่เข้าสู่ตลาดคริปโตฯ ทั้งเหรียญคริปโตฯ และ NFT ต้องทราบอยู่แล้วว่ามูลค่าเหรียญแปรผันกับความต้องการของตลาด แต่ในช่วงหนึ่งปีมานี้ มูลค่าเหรียญนั้นผันผวนมาก และดิ่งลงมากด้วย ทำให้หลายคนติดดอยจนต้อง cut loss หรือ Hodl ไว้นานข้ามปี เพื่อรอวันที่จะแลกเปลี่ยนเป็นเงิน Fiat ได้แบบไม่ขาดทุน

Photo credit: Los Angeles Times

ซึ่งหนึ่งในกรณีฮอตที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเหรียญ ‘LUNA’ ที่โดนโจมตีจุดอ่อนจนค่าเหรียญผันผวน และถึงคราวล่มสลาย ทำให้นักลงทุนเสียหายกันอย่างมหาศาล (รายละเอียดเพิ่มเติม สรุป สิ่งที่เกิดขึ้นกับเหรียญ LUNA - FINNOMENA) ไม่เว้นแม้แต่ Zipmex Thailand ที่ได้รับผลกระทบจากการที่คู่ค้าขาดสภาพคล่อง จนกระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ทางบริษัทต้องระงับการถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มเป็นการชั่วคราว และประกาศทำการฟ้องร้องคู่ค้าอย่าง Babel Finance ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

คนมองว่า NFT อาจจะยังเป็นได้แค่ทางเลือกไม่ใช่ทางรอดของสายอาร์ต

ประเด็นนี้สืบเนื่องมาจากความผันผวนของมูลค่าเหรียญคริปโตฯ โดยตรง เพราะในทุกขั้นตอนของ NFT ตั้งแต่ Gas Fee ในการลงงาน ตลอดจนถึงการซื้อ-ขาย ต้องใช้เหรียญเหล่านี้ทั้งสิ้น ซึ่งจากการติดตามความเคลื่อนไหวของคอมมูนิตี้นี้ในเฟซบุ๊ก ผู้เขียนพบว่ามีหลายครั้งที่มูลค่าเหรียญได้สร้างผลกระทบไว้มากมาย เช่น เมื่อประมาณเดือนสิงหาคมของปี พ.ศ. 2564 ราคาเหรียญ ETH พุ่งขึ้นต่อเนื่อง คนที่ถือเหรียญไว้ในมือจึงได้กำไร แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ Gas Fee ของ ‘Opensea’ แพงขึ้นมาก จนศิลปินหน้าใหม่และนักลงทุนต้องย้ายหนีไปแพลตฟอร์มอื่น ทำให้นักพัฒนาโปรเจกต์ต่างๆ ได้สร้างแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย NFT ใหม่ขึ้นมามากมาย เพื่อชูจุดขายเรื่องค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า

Photo credit: Jumpstart

แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปีนี้ ที่มูลค่าของหลายๆ เหรียญในตลาดลดลงเทียบกับในอดีต ทำให้ตลาด NFT ก้าวเข้าสู่ช่วงขาลง อ้างอิงจาก The Wall Street Journal ที่รายงานสภาพตลาด NFT เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ไว้ว่า “สถิติของเว็บไซต์ NonFungible.com ที่เก็บข้อมูลการซื้อขาย NFT ทั่วโลก โดยภาพรวมแล้วมีจำนวนการซื้อขายอยู่ราว 19,000 รายการต่อวัน ซึ่งลดลง 92% จากช่วงพีคเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ที่มีประมาณ 225,000 ธุรกรรมต่อวัน ส่วนปริมาณวอลเล็ตที่ยังทำธุรกรรมในตลาด NFT เหลืออยู่ 14,000 บัญชี นับว่าลดลง 88% จากช่วงพีค ซึ่งก็คือมากกว่า 119,000 บัญชีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564” ทำให้ศิลปินหน้าเก่าที่ขายเหรียญไม่ทัน จะได้รับค่าแรงในการสร้างสรรค์ผลงานน้อยลงกว่าที่คิดไว้ ในขณะที่ศิลปิน NFT ทั้งหมดในตลาดต้องเจอกับสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น เพราะปริมาณงานที่ขายมีมากกว่าจำนวนนักลงทุน

ดังนั้นศิลปิน NFT หลายคนที่ EQ สัมภาษณ์ในช่วงนี้ จึงให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า NFT เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงขายงานศิลปะที่น่าสนใจ แต่ยังไม่สามารถนำมาทดแทนการขายงานที่จับต้องได้แบบ 100% เพราะแต่ละตลาดมีเสน่ห์เป็นของตัวเอง และค่าเงินคริปโตฯ ผันผวนมากเกินไป ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากกว่าการขายงานตามปกติ

คาดการณ์แนวโน้มในอนาคต

ข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมาคือสถานการณ์ของโลกคริปโตเคอร์เรนซีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าคริปโตฯ จะล่มสลายทันทีที่เกิดปัญหา เพราะผู้เขียนมองว่าการจะเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ รวมถึงการปรับความคิดของคนให้รองรับการเงินยุคใหม่ได้นั้นต้องใช้เวลา เช่นเดียวกับตอนที่เปลี่ยนจากระบบแลกเปลี่ยนสินค้ามาใช้เงิน Fiat 

Photo credit: CoinGape

ส่วนแนวโน้มในอนาคตนั้น ถ้าโลกคริปโตฯ มีการอุดรอยรั่วที่ทำให้คนไม่มั่นใจในระบบเหรียญคริปโตฯ และ NFT ได้ เช่น ความปลอดภัย ความผันผวน การควบคุมนักลงทุนรายใหญ่ การคัดกรองความเป็นไปได้ของโปรเจกต์ ฯลฯ และมีการขยายคุณประโยชน์ให้เป็นมากกว่าการทำธุรกรรมซื้อ-ขาย-ฝาก-โอน-ถอน คริปโตเคอร์เรนซีก็จะยังเป็นสิ่งที่สามารถเติบโตได้อีก และอาจสร้างสิ่งใหม่ในระบบเศรษฐกิจโลกได้ อ้างอิงคำพูดตอนหนึ่งของ ‘ท๊อป – จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา‘ ผู้ก่อตั้ง Bitkub ที่เพิ่งกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า “หากมองในระยะยาวจะเห็นว่าบริษัทใหญ่ๆ ยังคงเตรียมพร้อมสำหรับการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสินทรัพย์ดิจิทัล และในอนาคต ตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลจะใหญ่ขึ้น โดยจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า” 

แต่ทั้งนี้ คริปโตฯ จะเข้ามาแทนที่เงิน Fiat ได้ไหม ยังคงต้องติดตามกันต่อไปอีกยาวๆ 

อ้างอิง

RYT9

Workpoint Today

Thairath

Beartai

Vice

Zipmex Thailand

The Wall Street Journal

The Standard

คมชัดลึก