Life

ชีวิตที่ไปสุด (ยอด) ของหมอมัณฑนา เมื่อสมการชีวิตบอกว่า การปีนเขามันสำคัญ

วันนี้เรามีนัดสัมภาษณ์ทางไกล กับคุณหมอกุ๊กไก่ - พญ.มัณฑนา ถวิลไพร แพทย์เวชศาสตร์​ฉุกเฉิน และเวชบำบัดวิกฤต ที่ใครหลายคนรู้จักกันในนามของผู้หญิงไทยคนที่ 2 ที่เพิ่งไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์มาหมาดๆ

อย่างที่ทราบกันดีว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ เธอได้แลกมาด้วยอาการบาดเจ็บจากหิมะกัด (Frostbite) ค่อนข้างรุนแรง ทั้งบริเวณใบหน้า และนิ้วเท้าทั้ง 2 ข้าง เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามถึงสภาพร่างกายล่าสุดของเธอเป็นลำดับแรก

“แผลที่หน้าดีขึ้นเยอะแล้ว ส่วนนิ้วเท้าดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย เนื้อตายเริ่มหลุดแล้ว แต่ยังลงน้ำหนักไม่ได้ เดินได้ไม่กี่ก้าว และยืนนานไม่ได้” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม ก่อนที่เราจะเริ่มบทสนทนาเจาะลึกไปถึงเบื้องหลัง ชีวิตที่ไปถึงสุดยอดเขาครั้งนี้

จุดเปลี่ยนของ Material Girl

เมื่อพูดถึงผู้หญิงที่ปีนเขา ภาพจำของคนส่วนใหญ่คงจะเป็นผู้หญิงสายลุย ไม่ยึดติดกับความสวยงาม เพราะต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย อาจลำบากกว่าการเข้าค่ายรด. ด้วยซ้ำ แต่กับหมอกุ๊กไก่ เธอบอกว่าตนเองไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว

“เมื่อก่อนเราก็เป็นผู้หญิงทั่วไปที่รักสวยรักงาม เป็น Material Girl พกคุชชั่น พกลิปสติก 7 อัน ใส่รองเท้าส้นสูง ซื้อเสื้อผ้าแฟชั่น ชอบแต่งตัว อย่างเวลาเราใส่รองเท้าสวยๆ แล้วเปื้อนเลือดคนไข้ ก็จะเครียด แต่พอได้ลองไปปีนเขาครั้งแรก ชีวิตก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ หันมาใช้เสื้อผ้าที่พร้อมลุยน้ำ ลุยฝน ลุยโคลน เลอะเลือดได้ และกลายเป็นคนลุยๆ ไปเลย”  

“ทริปแรกไป Hiking ที่เนปาล ปี 2015 ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อยืด รองเท้าวิ่ง กับกระเป๋าแบ็กแพ็ก มันไม่ใช่ชุดที่เอาไว้ปีนเขาเลย เพราะตั้งใจว่าจะไปเที่ยวแบบ City Tour แต่บังเอิญเจอคนมาขายทัวร์ที่สนามบิน และตกลงไปแบบงงๆ เป็นทริปที่บ้งมาก ชุดไม่พร้อม จบทริปแบบร่างพัง รอดชีวิตมาได้จากของที่ไกด์เช่ามาให้ล้วนๆ แต่ใจเราฟูนะ เพราะการได้ไปเห็นวิวอลังการบนความสูงเกือบ 3,300 เมตร ที่ Poon Hill มันเหมือนเราได้เจอเส้นทางใหม่ของชีวิต”

‘ลาออก’ คือ ‘คำตอบของสมการชีวิต’

“พอคิดว่าต้องมีทริปหน้าอีกแน่ๆ เราก็ศึกษาเพิ่มเติมจากเพื่อนร่วมทาง ว่าเขากินอยู่ยังไง แล้วกลับมาหาข้อมูลเองด้วย ทั้งเทียบราคาอุปกรณ์ปีนเขา การใช้ชีวิต และเตรียมร่างกาย โดยซื้อรองเท้าใหม่ แล้วใช้เป้แบ็กแพ็กแบกของ 16 กก. เดินขึ้นลงบันไดวันละ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งบังเอิญว่าเป็นวิธีเดียวกับที่หนังสือ Doctor on Everest แนะนำไว้ เลยทำแบบนี้มาตลอด ควบคู่กับเรียนเทคนิคการใช้เชือก ทั้งที่ไทยและจีน”

เมื่อทริปเนปาลทำให้ประทับใจจนเกิดจุดเปลี่ยน เธอจึงตั้งเป้าหมายว่าจะทุ่มเทวันหยุดทั้งหมดให้กับการปีนเขาสูงมากมาย และไปพิชิตยอดเอเวอเรสต์ให้ได้ แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้เธอต้องเลือก...

“ก่อนหน้านี้เป็นหมออยู่ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ทำงานที่ ER และที่ ICU อย่างละครึ่ง เรารักงานตรงนี้มาก ไม่เคยคิดว่าจะลาออกเลย แต่การปีนเขาต้องลางานหลายวัน ทำให้คนทำงานมีไม่พอ เราเลยจำเป็นต้องลาออก เพราะตอนนั้นสมการชีวิตของเราบอกว่า การปีนเขามันสำคัญกว่า

แรงจูงใจที่ทำให้อยากพิชิตเอเวอเรสต์

หลังจากลาออกมาแล้ว การอยากไปพิชิตยอดเอเวอเรสต์ของเธอ ต้องใช้โอกาสถึง 2 ครั้ง กว่าจะสำเร็จ รอบแรกปี 2022 ขึ้นไปถึง 8,217 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลแล้ว แต่ต้องกลับลงมาก่อน เพราะสภาพอากาศไม่ดี แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอล้มเลิกความตั้งใจ หนึ่งปีให้หลัง เธอกลับมาทำตามฝันอีกครั้ง ด้วยเหตุผลอันน่าสนใจ

“เราอยากไปถึงยอดเอเวอเรสต์ให้ได้ เพราะชอบเรื่องสรีรวิทยาในที่สูง เราอยากรู้ว่าถ้ามนุษย์ไปอยู่ในที่สูง ออกซิเจนลดลงมากๆ ร่างกายจะรับได้แค่ไหน จะเกิดโรคอะไรได้บ้าง และเรามีความฝันคือ อยากร่วมทีมวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้ แต่ยังไม่เป็นจริงเลย (หัวเราะ) ซึ่งทีมวิจัยจะต้องมีประสบการณ์ในการปีนเขา เราเลยต้องออกไปเก็บประสบการณ์”

“ช่วงที่เรารอคิวปีนอยู่ Base Camp ก็มีการขนคนเจ็บ ขนศพลงมาจากข้างบนเรื่อยๆ เราก็ยืนดูกับเพื่อน แล้วรู้สึก ละเหี่ยใจมากเลยนะ เพื่อนร่วมทีมบางคนถึงกับถอนตัวไปเลย ส่วนเราก็มีความกังวลบ้าง เพราะยิ่งปีนก็ยิ่งรู้ว่ามันมีสิทธิ์ตายได้ตลอด แต่เราทำใจยอมรับความเสี่ยงเรื่องนี้ได้ คือเตรียมตัวเผื่อไว้ตลอด พร้อมไปได้ทุกเมื่อ แบบไม่ทิ้งภาระไว้ให้ใคร”

“ปกติในฐานะนักปีนเขา เราจะต้องพยายามเก็บทุกรยางค์เอาไว้ให้มากที่สุด เพื่อเอาไว้ปีนเขาลูกต่อไป ดังนั้นถ้าเรารู้แม้แต่นิดเดียว ว่ามันเกิด Frostbite จะตัดสินใจลงทันที

อยากไปเทือกเขาเทียนชาน และเทือกเขาในมองโกเลีย เพราะมันอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมาก กว่าจะเดินทางไปถึง เราก็จะได้ผ่านวัฒนธรรม ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของคนในพื้นที่นานเป็นเดือน ถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ที่ดีมาก”

พลังงานบวก และเพื่อนร่วมทาง

“แค่คำว่ามือสมัครเล่นยังไม่กล้าเลย เพราะว่าคำว่าสมัครเล่นมันก็มีหลายดีกรีมาก ตอนนี้เราให้ตัวเองอยู่จุดต่ำสุดเลย เพราะปีหนึ่งเราให้เวลากับการปีนเขาได้แค่ 1-2 เดือนเท่านั้น“ หมอไก่ตอบเมื่อเราถามว่า ณ ตอนนี้เธอเรียกตัวเองว่าเป็นมืออาชีพแล้วหรือยัง?

สุดท้ายนี้ เราขอให้เธอแชร์ประสบการณ์ร่วมทริปกับเพื่อนนักปีนเขาต่างชาติ และต่างเพศ ที่มีข้อจำกัดด้านสรีระต่างกันอย่างชัดเจน เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า บางเส้นทางก็ไม่สามารถแบกเป้ลุยเดี่ยวได้

“ธรรมชาติร่างกายของชายกับหญิงไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เช่น กล้ามเนื้อเล็กกว่า ก็แบกน้ำหนักได้น้อยกว่า อย่างเราเตี้ยเพราะกรรมพันธุ์ ก็ก้าวได้สั้นกว่า ซึ่งถ้าเราทำให้ทีมช้า มันมีแน่นอนคนที่มองว่าเราเป็นปัญหา แค่ไม่บ่นให้เราได้ยิน มันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เราก็ทำได้แค่ปล่อยไป เพราะถ้าเรายิ่งคิด พลังด้านลบจะทำให้เราเครียด และทำให้พลังกายเราลดลง”

อย่างไรก็ตาม เธอได้เน้นย้ำว่า การปีนเขาไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้ารู้จักประเมินความเสี่ยง อีกทั้งการร่วมทริปกับคนไม่รู้จักก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพราะบางคนที่ใจกว้าง เข้าใจข้อจำกัดทางสรีระก็มีเช่นเดียวกัน

สำหรับใครที่สนใจอ่านประสบการณ์พิชิตยอดเอเวอเรสต์ของหมอกุ๊กไก่แบบจัดเต็ม แอบกระซิบว่ากำลังจะมีพ็อกเกตบุ๊กออกมาให้ติดตามกันในเร็วๆ นี้ ซึ่งรับรองว่าข้อมูลจะเต็มอิ่ม อ่านแล้วเหมือนได้ปีนเขาไปพร้อมกับเธอ สามารถติดตามประสบการณ์พิชิตยอดเขาสูงของหมอกุ๊กไก่ได้ที่

Facebook​: มัณฑนา ปีนเขา Montana.Climb และ Montana Twinprai