“มันต้อง Find out ตัวเองก่อนว่าอยู่ได้จริงหรือเปล่า บางคนด้วยสายอาชีพก็อยู่ไม่ได้จริงๆ ไม่รู้จะล็อกเขาไว้ทำไม ไปเติบโตที่อื่นเถอะ วันหนึ่งถ้าเหนื่อยล้ากับกรุงเทพฯ เดี๋ยวก็กลับมาเอง”
ในค่ำคืนหนึ่งของย่านเมืองเก่าสงขลา แอม-พิสุทธิ์พักตร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Grandpa Never Drunk Alone สารภาพกับ EQ ว่า ไม่ได้อยากกลับบ้านเกิดมาสานฝันทำบาร์เท่ๆ แต่คล้ายถูกบีบให้กลับบ้านจากพิษสถานการณ์โควิด-19 เสียมากกว่า ทั้งยังเป็นอันอยู่ไม่ได้ในระยะแรก เมื่อเพื่อนเก่าทยอยแต่งงานมีครอบครัว ขณะที่จำต้องห่างเหินจากสังคมในกรุงเทพฯ เพราะมาตรการล็อกดาวน์
คำแนะนำของแอมจึงค่อนข้างตรงไปตรงมาและโดนใจเราว่า การเชียร์ให้กลับบ้านเกิดอาจไม่เหมาะกับทุกคนนัก เราควรอยากกลับเพราะตกผลึกแล้วว่าที่ไหนคือบ้าน และหากการเดินทางพาเราย้อนมาที่จุดเริ่มต้นอย่างโฮมทาวน์ ก็ถึงเวลาทำให้มันน่าอยู่ขึ้นด้วยสองมือและหลากหลายประสบการณ์ที่เราตุนไว้ผ่านการใช้ชีวิตที่อื่น
กว่า 3 ปี หลังจากโควิด-19 สร้างความปั่นป่วน ณ ตอนนี้ บ้านสำหรับแอม คือสงขลา สถานที่ที่เธอยังคงอยากทำอะไรใหม่ๆ เสมอด้วยแววตาเป็นประกาย

ผละออกจากบาร์สักหน่อย ในความเข้าใจทั่วไป สงขลาคือต้นแบบของเมืองที่อาศัยการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และพัฒนาเมือง ดั่งภาพจำของร้านรวงเก่าแก่ คาเฟ่เปิดใหม่ อาร์ตสเปซสุดคูล ร้านหนังสือลุ่มลึก หรือการเป็นเมืองที่สามารถจัดอีเวนต์ได้อย่างสบายๆ
สิ่งเหล่านี้ล้วนผลิดอกออกผลจากความพยายามของคนสงขลา โดยอาจขีดเส้นได้ตั้งแต่ปี 2556 เมื่อภาคีคนรักเมืองสงขลาจดทะเบียนเป็นสมาคมอนุรักษ์เมืองเก่าระดับสากล หรือ Songkhla Heritage Trust (บวกกับความพยายามก่อนหน้านั้นไม่น้อย)
สงขลาค่อยๆ เติบโตจากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ขณะเดียวกัน กลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งก็กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิด บ้างเปิดร้าน บ้างจัดกิจกรรม บ้างทำงานศิลปะ ฯลฯ
เรื่อยมาจนถึงเป็นเจ้าบ้านในอีเวนท์ Pakk Taii Design Week 2024 “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567” วันที่ 17-25 สิงหาคม 2567 ณ เมืองเก่าสงขลา
แต่ใครจะเชื่อว่า สงขลาในภาพลักษณ์ ‘Instagrammable’ หรือถ่ายมุมไหนก็ลงไอจีได้ ครั้งหนึ่งซบเซาลงอย่างน่าใจหาย คล้ายอาการ “เกือบหลับ แต่กลับมาได้”
ก่อนเป็นสงขลา ฉบับ 2024
ย้อนไปราว 400 ปี สงขลาเป็นศูนย์กลางการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เคยมีทั้งผู้ปกครองชาวชวา กระทั่งกษัตริย์เชื้อสายเปอร์เซีย รวมถึงมีการค้าขายกับชาวฮอลันดา ก่อนถูกผนวกเข้ากับกรุงศรีอยุธยา จากนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สงขลาได้รับอิทธิพลจากจีนค่อนข้างสูง ทั้งโรงเรียน โรงสี อาคาร ศาลเจ้า และการก่อสร้างสไตล์จีนปรากฏทั่วมุมเมือง โดยมีร่องรอยสถาปัตยกรรมอิสลามและแบบตะวันตกด้วยเช่นกัน
ทว่าความเจริญรุ่งเรืองของเมืองสงขลากลับค่อยๆ โรยราอย่างช้าๆ เพราะคนเชื้อสายจีนจำนวนมากที่มีฐานะ มีค่านิยมส่งลูกหลานศึกษาต่อที่ต่างประเทศหรือกรุงเทพฯ เมื่อคนเหล่านั้นเรียนจบ ก็หางานทำในที่ไกลบ้านต่อไป ประกอบกับสถานีรถไฟหาดใหญ่ ถือกำเนิดขึ้นในปี 2467 ศูนย์กลางการค้าจึงย้ายจากเมืองสงขลาไปที่หาดใหญ่ เมืองสงขลาจึงแปรเปลี่ยนสภาพจากฮับเศรษฐกิจ เป็นเมืองที่เน้นการทำประมงซึ่งต้องใช้รถบรรทุกลำเลียงสินค้าเข้าออกสงขลา ประชากรแฝงและผู้ใช้แรงงานจึงเพิ่มขึ้น ขณะที่คนสงขลาส่วนใหญ่ย้ายไปหาโอกาสใหม่ๆ ในหาดใหญ่
อาคารดั้งเดิมจึงเสื่อมโทรม เมืองไร้ผู้คน บรรยากาศขาดชีวิตชีวา
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะปล่อยให้ความรุ่งเรืองในอดีตหลงเหลือเพียงในความทรงจำ หรือพยายามทำให้สงขลากลับไปเป็นเมืองที่เป็นชุมทางทางเศรษฐกิจอีกครั้ง พวกเขาเลือกผสมผสานวัตถุดิบที่มีอยู่ ปรุงเข้ากับยุคสมัยใหม่อย่างกลมกล่อม ทำให้สงขลาเป็นพื้นที่ให้ศิลปินคนรุ่นใหม่ได้ทดลองฝีมือ แลกเปลี่ยน พูดคุย และต่อลมหายใจให้เมือง
ณ เมืองเก่าสงขลา เราชวนเดินสำรวจ 5 คอมมิวนิตีที่จัดวางตัวเองอย่างอ้อยอิ่งงดงาม หลายคนคือผู้ประกอบการที่เป็นคนสงขลา ทำงานต่างถิ่น ก่อนย้ายกลับมาที่บ้านเกิด ซึ่งพื้นที่ที่พวกเขาสร้าง อาจพร้อมส่งต่อความสร้างสรรค์และบทสนทนาเกี่ยวกับเมืองสงขลาต่อไป
a.e.y.space

เริ่มจากถนนนางงาม อาคารปูนขาว 2 คูหา โครงสร้างรับหลังคาเป็นไม้ มีช่องลมฉลุที่ชั้นล่าง มีคิ้วปูนงอกออกมาเล็กน้อยเหนือหน้าต่าง สิ่งเหล่านี้สะท้อนสถาปัตยกรรมยุโรป และเป็นที่ตั้งของ a.e.y.space
ในอดีต ตึกแถวนี้เป็นร้าน ‘หน่ำเด่า’ ภัตตาคารอาหารฝรั่งของชาวจีน ก่อนที่ เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล จะแปลงโฉมเป็นอาร์ตสเปซของชุมชน
“เราว่าความเก่าที่มันใหม่เป็นสิ่งที่เจ๋ง เหมือนว่าเราสามารถหยิบจับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่ามันจะดี ไม่ดี เชย เฉิ่ม เก่า เอามา adapt หรือ adjust ใหม่ ให้เป็นรูปแบบใหม่ อาจจะเป็นตึกรามบ้านช่อง หรือแม้แต่ทักษะเก่า งานศิลปะเก่า มันเป็น asset สำหรับคนท้องถิ่นมากๆ ซึ่งจะทำให้ความเก่ากลับมางอกงามได้อีกครั้ง”
เอ๋บอกกับ EQ ว่า เขาเกิดและเติบโตในสงขลา เรียนที่กรุงเทพฯ ศึกษาต่อที่นิวยอร์ก เมื่อเรียนจบ เขาย้อนกลับมาจับตำแหน่ง Art Director ในเมืองกรุง ก่อนจะกลับสงขลาเพื่อช่วยธุรกิจครอบครัว จากนั้นจึงผันตัวทำธุรกิจโรงพิมพ์และสื่อโฆษณาของตัวเอง และทำ a.e.y.space ในที่สุด
“บางทีศิลปะเหล่านั้นมันอยู่ใกล้ตัว จนเราไม่รู้สึกว่ามันมีค่า”
ประสบการณ์การอาศัยอยู่ในเมืองไซส์เล็ก กลาง ใหญ่ ค่อยๆ ทำให้เขารู้สึกว่าตนเป็นคนตัวเล็กคนหนึ่ง และค่อยๆ ถักทอตัวตนให้แข็งแรงเรื่อยมา เขามองบ้านเกิดในมุมใหม่ด้วยช่วงวัยที่เปลี่ยนไป เขาพบว่าสถาปัตยกรรมในเมืองสงขลาคือสิ่งที่มีเสน่ห์ และเริ่มตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากนำศิลปะมาจัดแสดงที่เมืองเงียบๆ อย่างสงขลาในกว่าสิบปีก่อน
แต่ที่สำคัญ การมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ยังมาจากแรงซัพพอร์ตจากคนรอบข้าง ซึ่งเอ๋ได้รับเมื่อกลับมาโฮมทาวน์
“คิดว่าถ้าอยู่กรุงเทพฯ ก็อาจไม่ได้ทำอะไรแบบนี้ เพราะเมืองค่อนข้างใหญ่และตัวเราเล็กมาก พอเราอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ว่าตัวเราใหญ่จนคับนะ แต่เรารู้สึกว่า เราเห็นโอกาสเต็มไปหมด”

ความตั้งใจของเอ๋คือ การทำให้ a.e.y.space เป็นพื้นที่ตรงกลางเพื่อส่งเสริมงานศิลปะให้เข้าสู่ชุมชน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น 5 จาก 11 กิจกรรม WORKSHOP FESTIVAL #2 ของงาน Pakk Taii Design Week 2024 ล้วนจัดขึ้นใน a.e.y.space เช่น MOSSIATA จัดสวนในขวดแก้วหรือสวนถาด, FAKE FLORIST ประดิษฐ์ดอกไม้โดยเทคนิค deconstruction หรือ LIFEWITHNATUREFLOWER สร้างสรรค์สร้อยและกิ๊บหนีบผมด้วยเทคนิคเรซิน UV
ความโปร่งโล่งและมีช่องแสงเพียงพอ ทำให้บริเวณชั้นหนึ่งมักเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะและงานกิจกรรมที่มี ‘ชุมชน’ เป็นพระเอกหลัก เช่น การจัดเวิร์กชอปสเก็ตช์ภาพให้เด็กมัธยมต้นในสงขลา โดย Bangkok Sketcher และ Urban Sketching หรือการจัดนิทรรศการ ‘LUNATIQUE’ ผลงานจากศิลปินยุคใหม่ที่ตั้งคำถามต่อการมีอยู่และไม่มีอยู่ ผ่านศิลปะการจัดวางและภาพถ่ายอีโรติก หรือเพียงจัดฉายภาพยนตร์ก็ยังทำได้
ส่วนบริเวณชั้นสองถูกจัดเป็นที่พำนักของศิลปิน (Artist in Residence) และสามารถเป็นสตูดิโอขนาดย่อมได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินได้พำนัก ผลิตผลงาน และใช้ชีวิตในเมืองสงขลา ซึ่งแน่นอนว่าสามารถจัดแสดงงานที่ชั้นล่างได้
จากการเดินทางหวนกลับมาคล้ายบูมเมอแรง ทำให้เอ๋และ a.e.y.space กลายเป็นฟันเฟืองหนึ่งของเมืองเก่าสงขลา ที่ค่อยๆ ขับเคลื่อนคอมมิวนิตีศิลปะ เพิ่มทางเลือกกิจกรรมของคนในพื้นที่ และส่งต่อไวบ์เหล่านี้กระจายไปทั่วสงขลาและจังหวัดอื่นในภูมิภาค
ที่ตั้ง : 140-142 ถ.นางงาม อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000
IG : @aeyspace
Website : aeyspace.com
Grandpa Never Drunk Alone

เขยิบออกมาจากวงการศิลปะ ใกล้กับประตูเมืองเก่าสงขลา ริมถนนนครใน บาร์ ‘Grandpa Never Drunk Alone’ เชื้อเชิญสายดื่มตั้งแต่ยามบ่าย
ห้องสี่เหลี่ยมกับแสงไฟเรื่อแดงผสานแสงธรรมชาติภายนอก บาร์มีสภาพเป็นร้านกาแฟ 5 เมนู อันได้แก่ ลาเต้ อเมริกาโน่ มัทฉะลาเต้ อัฟโฟกาโต้ และคราฟต์โคล่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะผลจากการล็อกดาวน์ปิดผับบาร์ในช่วงโควิด-19 จึงเพิ่มช่องทางหารายได้จากการขายกาแฟนับแต่นั้น
ดังนั้นหากมาในช่วง 6 โมงเย็น เราอาจได้กาแฟ แอลกอฮอล์ หรือแผ่นป้ายหน้าร้านที่บอกว่า “ไปเซิร์ฟ เดี๋ยวมานะ” เพราะถัดออกไปไม่ไกล หาดชลาทัศน์ เป็นอีกสถานที่เย้ายวนสำหรับชาวเซิร์ฟ เราอาจโต้คลื่นในทะเล ไถสกิมบอร์ดบนหาด หรือเซิ้งกับแผ่นเซิร์ฟสเก็ตบนพื้นคอนกรีตริมหาดก็ได้
หากไม่ใช่ทาง เราอาจขับมอเตอร์ไซค์เล่นรอบเมืองสงขลา ขี่รถวนรอบเกาะยอ นั่งพักให้หายเหนื่อยที่จุดชมวิวเขาเก้าเส้ง แล้วจึงมานั่งคุยกับบาร์เทนเดอร์ก็ได้
Grandpa Never Drunk Alone ถูกปลุกปั้นจาก ออม-พิชชาภา และ แอม-พิสุทธิ์พักตร์ ที่กลับสงขลาบ้านเกิด เริ่มทำร้านจากคอนเซ็ปต์ที่ว่า “เพราะชอบกินเหล้ากับปู่”
แอมเล่าให้ EQ ฟังว่า ความตั้งใจแรก คือการมาช่วยน้องสาวตกแต่งร้านและทำเมนู จากนั้นจะกลับทำงานต่อที่กรุงเทพฯ ทว่ามาตรการล็อกดาวน์ทำให้การเดินทางเป็นอัมพาต ประกอบกับสงขลามีแต่ร้านเหล้าซึ่งไม่ถูกจริตและไม่เป็นมิตรกับสายอโลนมากนัก เธอจึงตัดสินใจหอบไลฟ์สไตล์จากชีวิตก่อนหน้า มาไว้ที่ Grandpa ซะเลย
“เราคิดว่าเราทำเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ ไลฟ์สไตล์เราเป็นแบบนี้ เราก็จะทำแบบนี้ มันเป็นความชอบเรา แล้วจะดึงดูดคนที่เหมือนกันมาเอง เหมือนป้าขายข้าวแกงที่อยู่ได้เพราะว่ามีคนชอบรสชาติของป้า ถ้าเราบอกว่าอยากกินแบบคนกรุงเทพฯ ป้าเปลี่ยนเถอะ มันก็ไม่ใช่”
ก่อนหน้าร้าน Grandpa แอมเคยเปิดบาร์ที่หัวหินและเริ่มทำซีนหนังอาร์ตและดนตรี แต่พบว่าไม่เวิร์ค ซึ่งต่างจากสงขลาที่ทุกคนทำด้วยใจ ซัพพอร์ตกันเองได้
“มันต้อง Find out ตัวเองก่อนว่าอยู่ได้จริงหรือเปล่า บางคนด้วยสายอาชีพก็อยู่ไม่ได้จริงๆ ไม่รู้จะล็อคเขาไว้ทำไม ไปเติบโตที่อื่นเถอะ วันหนึ่งถ้าเหนื่อยล้ากับกรุงเทพฯ เดี๋ยวก็กลับมาเอง เหมือนพี่เอ๋ (แห่ง a.e.y.space) ที่พอเหนื่อยล้า เขาก็กลับมาเอง”
ระหว่างบทสนทนาในค่ำคืน แอมชี้ไม้ชี้มือพร้อมให้ข้อมูลว่า โซนที่ตั้งของร้านเคยเป็นย่านโคมแดง ซอยด้านข้างเคยเป็นซ่อง เพื่อรองรับชาวประมงที่ขึ้นฝั่ง และในหลายปีถัดมา เธอนิยามเหล่าผู้คนที่แวะเวียนมาในร้านนี้ว่า “เหมือนร้านคนเหงา เพราะมีคำว่า Alone อยู่ ก็เลยดึงดูดคนเหงา (หัวเราะ)”
ขณะที่ ‘ชาวปู่’ (คำใช้เรียกลูกค้าของร้าน) มากมายกำลังเม้าท์เมืองอย่างเมามัน แอมเผยว่า ในอนาคตอยากทำ Beach Club ที่รวบรวมกีฬาริมหาดเอาไว้ หากเกิดขึ้นจริง เธอเชื่อว่าไวบ์ร้านอาหารริมทะเลจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งบรรยากาศ การบริการ การตกแต่ง และความสะอาด
“จะทำให้เห็นว่าห้องน้ำที่ดีสำหรับการอยู่ริมทะเลมันเป็นยังไง มีที่ล้างตัว มีที่ฝากกระเป๋า มีที่ฝากอุปกรณ์กีฬา เราคือเมืองทะเลนะเว้ย”
ความเด็ดอีกอย่างคือข้อความเล็กๆ ใต้ป้ายชื่อร้าน ความว่า “My friend are getting married, I’m getting drunk” คอนทราสต์กับความอ้อยอิ่งเงียบสงบของเมืองสงขลาเป็นอย่างดี แม้อาจเพื่อปลอบตัวเอง แต่ก็เป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่า ชาวสงขลาหรือชาวปู่ต่างถิ่น ไม่จำเป็นต้องเดินตามบรรทัดฐานที่สังคมขีดไว้ และย่านเมืองเก่าไม่ได้มีเพียงร้านรวงยามกลางวันให้เช็คอินเท่านั้น
ระหว่างจิบค็อกเทล มือโอบแก้ว และสมองคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แวบหนึ่งเราอาจตะกอนได้ว่า สงขลาคล้ายภาพสะท้อนของวัยเด็กในช่วงอายุที่ล่วงเลยวัยรุ่น เป็นชีวิตที่ผ่านการรีโนเวท การเดินทางในต่างถิ่น เพียงเพื่อกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง
ในแก้วเหล้า แถวบ้านหลังเก่า เราอาจพบว่าตัวตนของเราถูกสร้างไว้เสร็จสรรพตั้งแต่วัยเยาว์
Grandpa Never Drunk Alone เปิดทุกวัน 18.00-24.00 น.
ที่ตั้ง : 263 ถ.นครใน ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000
ยับ เอี่ยน ฉ่อย

มีเมือง ย่อมต้องมีห้องสมุด
‘ยับ เอี่ยน ฉ่อย’ ถือเป็นห้องสมุดแห่งแรกในโครงการห้องสมุดประจำเมือง ดำเนินงานสนับสนุนโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิวิชาหนังสือ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ และชาวสงขลา
ในปี 2019 เกล้ามาศ ยิบอินซอย เจ้าของโกดังข้าวเก่าบนถนนนครนอก ยกพื้นที่ให้โครงการพัฒนาระบบหนังสือต้นแบบ ก่อนในปี 2022 โกดังข้าวในสมัยรัชกาลที่ 7 จะเปลี่ยนโฉมเป็นห้องสมุดยับ เอี่ยน ฉ่อย
เชื่อว่าสิ่งที่เตะตาย่อมเป็นเสาหนังสือกลางอาคาร ที่ตั้งเป็นเกลียววงกลมล้อมเสา เว้นช่องไฟเป็นลายตารางหมากรุก สิ่งนี้คือจุดเด่นของผู้พบเห็นภายนอก แต่เสาหนังสือยังช่วยเสริมความแข็งแรงให้เสาอาคารที่เป็นจุดเดินชนกระแทกได้ง่ายและมีความอ่อนไหว เพราะเดิมที ห้องสมุดแห่งนี้เป็นโกดังรับฝากข้าวสารเพื่อส่งขายต่อในที่ต่างๆ จึงมีร่องรอยตะไคร่น้ำตามผนังและต้องทะนุถนอมเป็นพิเศษตามฉบับอาคารอนุรักษ์
ห้องสมุดแตกต่างจากร้านหนังสือในแง่ที่ว่า ห้องสมุดเก็บข้อมูลลายลักษณ์อักษรและหลักฐานที่ผ่านการรับรอง ให้ข้อมูลเมืองสงขลาอย่างครบถ้วนกระบวนความ เป็นแหล่งอ้างอิงทำวิจัย และมีบรรณารักษ์คอยให้คำแนะนำ (แต่ก็มีหนังสือในหมวดนวนิยาย-ความเรียงด้วยนะ) นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสงขลาแก่ชุมชน ชาวบ้าน ภาคธุรกิจ หรือนักท่องเที่ยวได้อย่างครบถ้วน
เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่บนถนนนครนอก พื้นที่ด้านหลังของยับ เอี่ยน ฉ่อย จึงเป็นพื้นที่โล่งติดทะเลสาบสงขลา มีเรือนไม้แยกออกจากตัวอาคาร สามารถอ่านหนังสือ ถ่ายรูป และเป็นสถานที่ทำกิจกรรมได้หลายรูปแบบ ยับ เอี่ยน ฉ่อย จึงมีเสน่ห์ทั่งในแง่ฟังก์ชันการใช้งาน สถาปัตยกรรม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และคงจะดีไม่น้อย หากทุกชุมชนมีห้องสมุดเป็นของตัวเอง
ยับ เอี่ยน ฉ่อย เปิดทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร)
ที่ตั้ง : 213, 215 ถ.นครนอก ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000
FB : facebook.com/YipInTsoiLibrary/
Nusantara Songkhla

“สงขลามีแกลอรี่แล้ว มีห้องสมุดแล้ว มีงานกราฟิกดีไซน์แล้ว เราคนนึงที่รู้จักดนตรี เราก็เลยทำเรื่องเกี่ยวกับดนตรีผ่านการทำร้านแผ่นเสียง”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกหนึ่งคอมมิวนิตีที่ทำให้เมืองรื่นรมย์มากขึ้นคือ ‘เสียงเพลง’ ซึ่งความตั้งใจข้างต้นของ ปอ-ไพโรฒ ดำคง ผสมผสานกับความหลงใหลในเสียงเพลงของ ยูโกะ-Yugo Tham เป็นที่มาของ ‘Nusantara Songkhla’ ร้านขายแผ่นเสียง ร้านชา และคาเฟ่บนถนนนครใน
นอกจากนี้ Nusantara ยังเป็นร้านฝาแฝดกับ 22 Nakhonnok Listening Bar บนถนนนครนอก ที่มีเจ้าของเดียวกัน แต่เปิดต่างช่วงเวลากัน Nusantara จะครองโสตประสาทของคุณในช่วงกลางวัน ส่วน 22 Nakhonnok จะโอบกอดคุณในยามค่ำคืน
Nusantara หรือ นูซันตารา มาจากภาษาชวา เป็นคำที่ประกอบจากคำว่า “นูซา” หมายถึง หมู่เกาะ ส่วน “อันตารา” หมายถึง รอบนอก เมื่อรวมกันจึงแปลว่า หมู่เกาะรอบนอก สื่อถึงหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย และดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้อาณาจักรโบราณมัชปาหิต
ขณะที่ตำแหน่งของสงขลาติดกับสามจังหวัดชายแดนใต้และได้รับอิทธิพลจากมลายูไม่น้อย Nusantara จึงไม่ได้มีกลุ่มลูกค้าเพียงคนไทยเท่านั้น แต่กลับมีลูกค้าต่างชาติมากมาย โดยเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างชาวมาเลเซีย
“ที่นี่ค่อนข้างโชคดีด้วยที่ใกล้กับมาเลเซีย แล้วคนมาเลฟังแผ่นเสียงเยอะกว่าคนไทย เพราะเขาฟังเพลงฝรั่งอยู่แล้ว เรามีลูกค้าจากฝั่งมาเลเซียเยอะ มาจากปีนัง มาจากเคดาห์ หรือเมืองอื่นในละแวกที่ไม่ได้ไกลจากที่นี่”
นอกจากแผ่นเสียงเพลงต่างชาติที่ขายได้แล้ว ปอบอกกับ EQ ว่า สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ คนมาเลเขาก็ฟังเพลงไทยเหมือนกัน
“มีคนมาซื้อเพลงไทยด้วยนะ แล้วเป็นเพลงไทยใหม่ๆ หมายความว่าเพลงไทยใหม่ๆ เป็นที่รู้จักในมาเลเซีย ถ้าเกิดเขาจะซื้อของอย่างแผ่นเสียงไทย แต่ก่อนอาจต้องไปกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้เขาสามารถขับรถมาหาดใหญ่ มาสงขลา เพื่อซื้อเพลงพวกนี้ได้เลย”

แสงไฟอ่อนเหลืองละเลียดไปกับเฟอร์นิเจอร์ไม้วินเทจสีน้ำตาล ช่วยทำให้การเลือกหยิบ เลือกเสพ และคัดสรรแผ่นเสียงสักแผ่น ย่อมมีความรู้สึกแตกต่างจากการหยิบของใส่ตะกร้าร้านค้าออนไลน์ พื้นที่ออฟไลน์ยังทำหน้าที่นำคนรักแผ่นเสียงมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน และการมีเมนูเครื่องดื่มก็กระตุ้นให้คนเข้าร้าน โดยไม่ต้องรับแรงกดดันว่า ต้องสอยแผ่นเสียงติดไม้ติดมือกลับไป ซึ่งท้ายสุดย่อมนำบรรยากาศดีๆ มาสู่ชุมชน
ในมุมของคนพื้นที่ที่กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิด ปอชี้ว่าการทำงานด้วยใจจะทำให้ความเป็นเมืองและความเป็นชุมชนน่าอยู่ขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
“มันไม่มีธุรกิจ เราทำ (ร้านแผ่นเสียง) เพราะเราชอบ แค่อยากจะทำ แค่อยากให้สงขลาเป็นอย่างที่เราคิด แค่อยากให้เพื่อนที่อยู่กรุงเทพฯ มาเที่ยวที่นี่แล้วรู้สึกว่ามันดี มันสนุก มันมีอย่างนี้ด้วยนะ คนจากญี่ปุ่น หรือเพื่อนจากอังกฤษที่มาเที่ยวจะได้เห็นสิ่งใหม่ นอกจากบ้านเก่า ก๋วยเตี๋ยวอร่อยแล้ว มันยังมีควาร่วมสมัยที่อยู่กับเมืองได้”
“Do something that you know, I mean knowledge and passionate about it. Not only business” ยูโกะกล่าวเสริม
ปัจจุบัน Nusantara มีแผ่นเสียงไล่ตั้งแต่ยุค 60-80 มีหลากสไตล์ ทั้งแจ๊ส ป๊อบ ร็อค กระทั่งเวิลด์มิวสิค ราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน และมีแพลนจะขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับแผ่นเสียงอย่างครบวงจร
“ในอนาคต ถ้าคัลเจอร์นี้มันเพิ่มมากขึ้น เราอาจจะมีงาน Festival ดีๆ มีงานดนตรีดีๆ มาก็ได้” ปอทิ้งท้าย
Nusantara Songkhla เปิดบริการทุกวัน เวลา 12.00-20.00 น. (ปิดทุกวันอังคาร)
22 Nakhonnok Listening Bar เปิดทุกวันพฤหัสบดี-อาทิตย์ เวลา 18.00-24.00 น.
ที่ตั้ง : 261 ถ.นครใน ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000
FB : facebook.com/people/Nusantara-Songkhla
IG : @nusatara.ska
dot.b

ความเจ๋งของร้านหนังสือในตึกทรงชิโน-ยูโรเปียน อายุ 80 ปี บนถนนนครใน คือเปิดเที่ยงวัน ปิดเที่ยงคืน และเพียงแสดงบัตรนักเรียน-นักศึกษา ก็รับส่วนลดหนังสือไปเลย 10%
แม้ร้านหนังสือไม่ได้มอบผลกำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในปัจจุบัน แต่กลับทำให้เมืองมีความเป็นเมืองมากขึ้นอย่างยากจะปฏิเสธ
dot.b ชั้น 1 เรียกได้ว่าเป็นร้านหนังสือเต็มตัว ขณะที่ชั้น 2 มีเก้าอี้และโต๊ะถูกจัดวางสำหรับนักอ่าน รวมถึงเป็นพื้นที่เล่นบอร์ดเกม แหล่งซ่องสุมสนทนาของวัยรุ่นในพื้นที่ และเป็น space สำหรับจัดอีเวนต์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
dot.b ก่อตั้งโดย โก้-ธีระพล วานิชชัง คนสงขลาที่ร่ำเรียนในหาดใหญ่ ทำงานในกรุงเทพฯ และกลับมาเปิดร้านกาแฟ dot ที่หาดใหญ่ เมื่อตึกใกล้หมดสัญญาเช่า เขาจึงตัดสินใจมองหาทำเลใหม่ในเมืองสงขลา ก่อนได้ตึกของเพื่อนแม่ในราคาเช่าที่ไม่แพงนัก เปิดร้านกาแฟ dot บนถนนนครนอก โดยหลังร้านกาแฟมีพื้นที่เชื่อมกับตึกอีกแห่งซึ่งทะลุออกถนนนครใน และที่แห่งนั้น โก้ตัดสินใจเปิดเป็นร้านหนังสือเมื่อต้นปี 2023
“ตั้งแต่ทำร้านกาแฟที่หาดใหญ่ เราเอาทุกอย่างที่ชอบมารวมกันในที่เดียว แต่ที่เลือกเปิดร้านกาแฟก่อน เพราะมันเข้าถึงง่ายกว่า ส่วนการกระโดดไปเปิดร้านหนังสือโดยไม่มีความรู้ ไม่มีคอนเนคชั่น มันก็ค่อนข้างยาก”
ท่ามกลางงานวรรณกรรม งานแปล งานเขียนเชิงสังคม ประวัติศาสตร์ และการเมือง ตั้งตระหง่านเรียงรายบนชั้นว่าง โก้เล่าต่อว่า เป็นเวลาประจวบเหมาะพอดี เพราะร้าน dot.b ถือว่ากำเนิดจากความช่วยเหลือของ เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ เจ้าของร้านหนังสือ “ร้านหนังสือเล็กๆ” ที่ย้ายถิ่นฐานจากสงขลาไปยังเชียงใหม่ เอ๋มอบหนังสือล็อตใหญ่และคำแนะนำต่างๆ สงขลาจึงยังคงมีร้านหนังสืออิสระจนถึงปัจจุบัน
“เราตั้งร้านชื่อ Dot (.) ก็คือตั้งใจให้มันเป็น ‘จุด’ เพื่อให้คนที่เข้ามาใช้สามารถต่อยอดได้”

โก้ชี้ว่าการทำ Third Place หรือพื้นที่อิสระให้คนผ่อนคลายเป็นความตั้งใจที่มีเสมอมาตั้งแต่การทำร้านกาแฟครั้งแรกที่หาดใหญ่ และแน่นอนว่า dot.b ในปัจจุบันตอบความตั้งใจนั้นได้อย่างดี
“อยากสร้างสเปซที่เปิดโอกาสให้ทุกคน อย่างเมื่อก่อนไม่มีร้านบอร์ดเกมในเมือง ไม่มีร้านหนังสือในเมือง เราเชื่อว่าสิ่งพวกนี้มันสร้างคุณค่าให้กับเมืองได้ นั่นคือสิ่งที่ทำอยู่ แค่ร้านเปิดไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เมืองมีชีวิตแล้ว ถ้าร้านแบบนี้อยู่ได้ แสดงว่าเมืองมันมีอะไร”
เขาย้ำอีกครั้งว่า “ไม่รู้ว่าเป็น mission ใหญ่โตรึเปล่า เพราะพวกนี้ไม่เห็นผลใน 1-2 ปี และร้านหนังสืออาจต้องใช้เวลา 5-6 ปี ถึงจะรู้ว่าการที่คนเข้าร้านวันนี้ จะมีผลกับเขายังไงใน 10 ปีข้างหน้า”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าชื่นใจคือ กลุ่มลูกค้าหลักของ dot.b เป็นนักเรียน-นักศึกษา ไวบ์เหล่านี้บอกกลายๆ ได้ว่า สงขลายังคงเป็นเมืองที่อบอุ่นและเป็นมิตรกับคนรุ่นใหม่ รวมถึงมีการเติบโตที่น่าสนใจทีเดียว
ร้าน dot.b เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.00-24.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 10.00-24.00 น.
ที่ตั้ง : 115 ถ.นครใน อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000
FB : facebook.com/dot.b.bookstore
IG : @dot.b.bookstore
อ้างอิง
- Heritage Trust กับการพัฒนาย่านเมืองเก่าสงขลา
- readthecloud.co
- cont-reading.com
- readthecloud.co
- adaymagazine.com
- facebook.com/adaymagazine
- thepeople.co