~เคยรู้สึกแปลกๆ ในเวลาที่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างสิ่งที่คิดจริงๆ กับการแสดงออกตามความคาดหวังของอย่างอื่นไหม เช่น เวลาทำข้อสอบปรนัย จากเนื้อหาที่อ่านมาทำให้ต้องกาข้อ ก. แต่สิ่งที่ครูสอนคือ ข้อ ค. แล้วเราก็ต้องเลือกข้อหลังเพราะจะได้คะแนนแน่ๆ ถ้าลองคิดอีกมุม หากเรากล้ายกมือถามตั้งแต่ในชั้นเรียนหรือพูดคุยกับครูได้อย่างสบายใจ ความสงสัยก็จะถูกขัดเกลา ความงดงามของการถกเถียงก็จะถูกมองเห็น และความคิดสร้างสรรค์ก็จะถูกเพาะเมล็ดไว้ตั้งแต่เด็ก
~ในมุมหนึ่ง สาเหตุของความไม่รู้จะไปทางไหน อาจมาจากความขัดแย้งของ Individualism (ความเป็นปัจเจกนิยม) และ Collectivism (วัฒนธรรมรวมหมู่) ซึ่งเป็นรากฐานของคนไทย ยังไม่รวมถึงการต้องตะบี้ตะบันเดินตามความสำเร็จที่สังคมวางไว้ (achievement society) ที่มอบภาวะหมดไฟให้ทุกเจเนอเรชัน ซึ่งทำให้การเผชิญหน้าทั้งตัวเองและคนอื่นมีแต่เรื่องปวดหัว
~แล้วถ้าโลกไม่ได้แบ่งเป็นสองขั้วล่ะ ถ้ามนุษย์มีสองสิ่งนี้เพื่อให้เราหยิบใช้อย่างสร้างสรรค์ล่ะ เราก็อาจไม่ต้องเผชิญภาวะตุ่นๆ อีก เพราะสังคมที่ผสมผสานทั้งสองไอเดียสามารถสร้างมูลค่าให้ทั้งตัวเองและสังคมได้
Individualism - Collectivism กรอบกว้างๆ ของการใช้ชีวิต
~ก่อนเริ่มเสาะหาหน้าตาของพื้นที่ที่สามารถโอบอุ้มทั้งสองแนวคิดนี้ เราอยากชวนทำความเข้าใจก่อนว่า Individualism และ Collectivism ไม่ใช่สิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นสิ่งที่มาจากคนละจุดกำเนิดเท่านั้น และความเข้มข้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเจนเนอเรชันซะมากกว่า
~รากฐานของ Individualism มาจากปรัชญากรีก ให้ความสำคัญกับการคิดเชิงเหตุผล สิทธิส่วนบุคคล และการเติมเต็มความพึงพอใจให้ตนเอง เป็นรากฐานทางความคิดของประเทศยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษและสแกนดิเนเวีย
~ส่วน Collectivism มาจากปรัชญาตะวันออก ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของส่วนรวมมากกว่าความพึงพอใจส่วนบุคคล กลุ่มประเทศที่ยึดโยงแนวคิดนี้มักเป็นประเทศฝั่งเอเชียและแอฟริกา เช่น จีนที่มีลัทธิขงจื๊อ เพื่อจัดระเบียบให้ประชากรจำนวนมหาศาลอยู่ร่วมกันได้ หรือสังคมการทำงานญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมดื่มหลังเลิกงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ทำให้การพักผ่อนกลายเป็นชีวิตที่แยกไม่ออกจากการทำงาน สะท้อนว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับงานจนเป็นคุณค่าหลักของชีวิต
~อย่างไรก็ตาม Individualism และ Collectivism เป็นเพียงกรอบแนวคิดของการใช้ชีวิต ยุคหนึ่ง สังคมเราต้องการการพึ่งพาอาศัยทางเครือญาติเพื่อขับเคลื่อนชีวิตผ่านความยากลำบาก ขณะที่อีกยุคหนึ่ง เราต้องการพลังงานที่สร้างสรรค์ของแต่ละคน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้สังคม แล้วจะดีกว่าไหมหากเราค่อยๆ เรียนรู้ผู้คน ซึ่งไม่ว่าคุณค่าแบบไหน ก็สามารถพาตัวเราและสังคมไปข้างหน้าได้เช่นกัน
รุ่นเราโตมายังไงนะ กำลังเจออะไรกันบ้าง
~“เป็นพี่ต้องดูแลน้อง” “เป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่” “เป็นเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่” “ต้องตั้งใจเรียน โตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” “อายุ 25 มีบ้านรึยัง” “อายุ 30 แต่งงานรึยัง” ฯลฯ สารพัดอย่างกับสมการตายตัวที่ผู้ใหญ่ถอดรหัสมาให้เราเดินตามทาง ซึ่งว่ากันตามตรง ความคาดหวังแกมคำสั่งเคยได้ผลในยุคที่การเดินตามบรรทัดฐานคือคำตอบ และช่วยวางเป้าหมายให้ชีวิต ทำให้รู้ว่าเราเรียนหนัก ทำงานหนักไปทำไม แต่เหตุผลนั้นเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
~เริ่มจากเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomers) เกิดระหว่างปี 2489-2507 มีอายุประมาณ 60-78 ปี คนรุ่นนี้เกิดในช่วงภาวะหลังสงครามโลก เศรษฐกิจฝืดเคือง แต่เมื่อไทยได้รับเงินสนับสนุนช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ปี 2493 จนถึงปี 2516 ขณะที่ปี 2529 ญี่ปุ่นก็เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมในไทย บูมเมอร์จึงเกิดเติบโตมาในสังคมไทยยุคเศรษฐกิจขยายตัว การทำงานหนักสามารถให้ชีวิต บ้าน รถ และครอบครัวได้ วลีฮอตฮิตอย่าง “งานหนักไม่เคยฆ่าใคร” จึงค่อนข้างเป็นคติประจำใจของคนรุ่นนี้ ซึ่งคนเจน X ที่เติบโตไล่เลี่ยกัน (เกิดระหว่างปี 2508-2522 อายุประมาณ 45-59 ปี) พวกเขาก็ยึดมั่นคติดังกล่าว เพราะการเห็นรุ่นพี่และพ่อแม่ประสบความสำเร็จจากความมุ่งมั่น ต่างตรงที่การเติบโตในบางสายงานจะพบเพดานของบูมเมอร์อยู่ก่อนหน้า และปัจจุบัน เจน X กลับประสบภาวะเครียดกับปัญหาการเงิน รวมถึงรู้สึกไม่มั่นคงกับชีวิตในวัยก่อนเกษียณ
~ส่วน เจน Y หรือมิลเลนเนียลส์ (Millennials) ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2523-2540 อายุประมาณ 27-44 ปี พวกเขาได้รับความเลี้ยงดูจากคนรุ่นบูมเมอร์ เติบโตมาในยุคที่อินเทอร์เน็ตมีบทบาทในชีวิตประจำวัน โลกเปิดพรมแดน พวกเขามีตัวละครและศิลปินระดับไอคอนิกจาก pop culture ยุค 90s - 00s เป็นไอดอล แต่คนรุ่นนี้กลับเผชิญความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น การเติบโตผ่านยุควิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 การเมืองเสื้อสีทศวรรษ 2550 รวมถึงการปะทะโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงวัยทำงาน แม้เติบโตมาในยุคที่ค่านิยมจากบูมเมอร์สอนสั่งให้เชื่อในการทำงานหนัก ไม่เลือกงาน และยึดถือส่วนรวม แต่พวกเขากลับมีความคิดสร้างสรรค์ มีศักยภาพพร้อมจะเรียนรู้ เป็นตัวของตัวเองสูงเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นเพราะสถานะวัยรุ่น 90s ที่วัฒนธรรมป็อบขยายตัวในช่วงวัยเด็ก
~ขณะที่เจน Z เกิดระหว่างปี 2540-2552 อายุ 15-27 ปี พวกเขาเป็นชาวดิจิตอลเต็มตัว เสพข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายช่องทางเพื่อประกอบการตัดสินใจ มั่นใจในตัวเองสูง มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดจนถูกขนานนามอีกชื่อว่า ‘คนรุ่นโบว์ขาว’ ที่สำคัญ พวกเขาคือกลุ่มคน first jobber ในทศวรรษนี้ และกำลังเผชิญกับอัตราแข่งขันในตลาดแรงงานที่สูงลิ่ว และถือเป็นเจนที่ต่อยอดความรักอิสระจากเจน Y เกือบทุกด้าน
~เมื่อรุ่นราวชาวเจนใหม่ มีชุดความคิดสุดฟรีที่ได้มาพร้อมกับการท่องโลกดิจิทัล ต่างคนต่างมีค่านิยม ความเชื่อ และการกระทำที่แตกต่าง การตามหา ‘ตัวตน’ และ ‘สิ่งที่ชอบ’ จึงกลายเป็นหมุดหมายใหม่บนถนนที่ทอดยาวของชีวิต
~ถ้าลองถามเพื่อนสัก 10 คนเล่นๆ ดูว่า “เป้าหมายในชีวิตคืออะไร?” เราคงได้คำตอบที่หลากหลาย แต่หนึ่งคำตอบที่เชื่อว่าต้องโผล่มา 5 ใน 10 คือ “ได้ทำอะไรเป็นของตัวเอง ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก” จึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นคนอายุน้อยๆ ลองทำนู่นนี่ ล้มบ้าง ลุกบ้าง ทั้งธุรกิจส่วนตัว โปรเจกต์พิเศษนอกเหนือจากงานประจำ และงานอดิเรกเจ๋งๆ อีกมากมายที่มี ‘ความคิดสร้างสรรค์’ เป็น medium
~แต่เมื่อเราไปถึงสุดทางของถนนของชีวิต ได้เจอกับสิ่งที่ตัวเองตามหามานาน เราอาจจะยืนชมเชยมันสักพัก สุดท้ายเราก็จะจับเอามันยัดใส่กระเป๋า แบกกลับบ้านแล้วแกะกล่องความคิดสร้างสรรค์นั้นร่วมกับใครก็ตามที่พกมันไว้ในกระเป๋าเดินทางเหมือนๆ กัน
~Individualism และ Collectivism จึงไม่ใช่แรงปะทะเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นแรงประสานสำหรับการทำงานสร้างสรรค์ ทำให้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่มากหน้าหลายตา เกาะกลุ่มโดยมีความชอบส่วนตัวที่เหมือนกันเป็นกาว เชื่อมความคิด ความสามารถ ของทุกคนเอาไว้ เพื่อสรรสร้างสิ่งใหม่ๆ ในสังคมที่โอบอุ้มทั้งสองไอเดียนี้ แล้วขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปด้วยกัน
สังคมที่มีพื้นที่สร้างสรรค์จากการควบรวมทั้งสองไอเดียจะเป็นยังไง?
~ก็จะกลายเป็นสังคมที่เปิดกว้างทางด้านความคิดและขับเคลื่อนด้วย ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ นั่นเอง จากรายงานของ Creative Economy Agency พบว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ไทยนั้นมีหลักๆ อยู่ทั้งหมด 15 ข้อ โดยมี 5 ข้อที่ยึดโยงกับทั้ง Individualism และ Collectivism อย่างชัดเจน
~อย่างแรกคือ ‘Self-actualization’ หรือการที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อตนเองในด้านความสำเร็จในรูปแบบต่างๆ อย่างที่สองคือ ‘Social democratization’ - การเรียนรู้ที่เปิดกว้าง การแพร่หลายของประชาธิปไตยและความเท่าเทียม อย่างที่สาม ‘Borderless connectivity’ - เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมองค์ความรู้และข้อมูล โดยเฉพาะการเชื่อมต่ออย่างไร้พรมแดน อย่างที่สี่ ‘Limitless imagination’ - จินตนาการและสร้างสรรค์ผลงานของผู้คนมีมากขึ้น จากการมีพื้นที่สร้างสรรค์และแหล่งข้อมูลที่เปิดกว้าง และท้ายสุด ‘High value heritage’ - วัฒนธรรมอาจถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพสังคมมากขึ้น
~แล้วสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเรายังไงบ้าง?
- เกิดการตีความวัฒนธรรมไทยในมุมมองใหม่
~วัฒนธรรมไทยถูกนำมาตีความ และสร้างมูลค่าใหม่ ก่อให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมแบบร่วมสมัยที่ไม่เหมือนใคร เช่น การสร้างคลังดิจิทัลของศิลปะพื้นเมือง การนำอาหารท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่าด้วยการผนวกรวมอาหารเข้ากับศิลปะ หรือการส่งเสริมรูปแบบดนตรีและการเต้นรําแบบดั้งเดิมผ่านการตีความใหม่
- เกิดงานสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมทั้ง ‘ตัวตน’ และ ‘ความหลากหลาย’
~มีการสื่อสารความหลากหลายของเชื้อชาติ รสนิยมทางเพศ ศาสนา ความเชื่อ ประเด็นทางสังคม และความสามารถที่แตกต่างกันผ่านศิลปะ สื่อโฆษณา ภาพยนตร์และสื่อสร้างสรรค์ประเภทอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็มีงานสร้างสรรค์ ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์และตัวตนของศิลปินหรือผู้ผลิตชิ้นงานนั้นๆ
- เกิดการออกแบบที่เน้น ‘ความเป็นมนุษย์’
~มีงานออกแบบที่เน้นการทําความเข้าใจถึง พฤติกรรม อารมณ์ แรงจูงใจ และความต้องการของผู้ใช้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการให้ได้มากที่สุด เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั้งแบบดิจิทัลและแบบเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ หรือ นวัตกรรมล้ำๆ ถือเป็นการส่งเสริมการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม
- เกิดการทํางานร่วมกันระหว่างศิลปิน นักออกแบบ และชุมชน
~ส่งเสริมให้คนที่มีพื้นเพหลากหลายมาทํางานร่วมกันในโปรเจ็กต์สร้างสรรค์ต่างๆ เกิดเป็นงานที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร ผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนและความเข้าใจทางวัฒนธรรม เช่น งาน Design Week ที่จัดในหลายๆ เมือง ที่ส่งผลให้เกิด ‘ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ พัฒนาพื้นที่และชุมชนอย่างยั่งยืน
~ด้วยพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้ใส่ความเป็นตัวเองและได้ผลักดันบางอย่างร่วมกัน ทำให้ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ สามารถสร้างรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้กว่า 1.705 ล้านล้านบาท ในปี 2565 - 2566 แม้ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีกิจการขนาดเล็ก แต่ก็ผลิดอกออกผลกว่า 83,329 กิจการในปี 2566 โดยมีแรงงานครีเอทีฟกว่า 963,549 คนวนเวียนอยู่ในตลาด ส่วนมากอยู่ในกลุ่มงานฝีมือหัตถกรรมและอุตสาหกรรมโฆษณา
~มูลค่าการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ของไทย (Free on Board: FOB) ปี 2565 มีมูลค่ารวม 2.52 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.53% ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าสร้างสรรค์มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเราส่งออกสินค้าในหมวด ดีไซน์ (สถาปัตยกรรม, แฟชั่น, เครื่องแก้วต่างๆ, ตกแต่งภายใน, เครื่องประดับ, และของเล่น) สูงถึง 86.14% และมีสินค้าประเภท ศิลปะและหัตถกรรม (พรม, กระดาษ, เครื่องหวาย, สิ่งทอ, และงานหัตถกรรมอื่นๆ) อยู่ที่ 5% เป็นลำดับรองลงมา
~สุดท้ายแล้ว สังคมที่โอบรับแนวคิดและค่านิยมที่หลากหลาย อนุญาตให้เราได้เป็นตัวเอง มีอิสระ ให้คุณค่ากับสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง ก็ย่อมสร้างแรงจูงใจให้คนสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าเดิมไปเรื่อยๆ หรือลงมือลงแรงทำธุรกิจ ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจให้รุดไปข้างหน้า การบวกรวมหยินกับหยาง ขาวกับดำ ไม่ได้ออกมาเป็นพื้นที่สีเทา แต่เป็นพื้นที่หลากสีตรงกลางที่เปิดโล่งสำหรับการหว่านเมล็ดพันธ์ุให้สร้างสรรค์และเติบโตต่อไป