Daily Pickup

ความผิดพลาดของไอดอล VS พฤติกรรมเนติเซน พอดีหรือมากเกินไป?

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเป็นไอดอลเกาหลีที่โดนสปอร์ตไลท์สาดส่องอยู่ตลอดเวลานั้นมักจะมาพร้อมคำวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะในเวลาที่ทำอะไรพลาดหรือผิดไปจากความคาดหวังของคนหมู่มาก คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นก็จะกลายเป็นตะปูนับพันตัวที่ตอกและย้ำให้ลุกขึ้นมา (แทบ) ไม่ได้อีก ไอดอลบางคนอาจมีงานลดลง บางคนอาจหายจากวงการบันเทิงไปเลย หรือบางคนอาจไม่มีโอกาสได้เริ่มต้นใหม่ 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้แฟนคลับจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของไอดอลกันมากขึ้นเรื่อยๆ มีการรณรงค์ให้มองไอดอลเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้ขาวสะอาด ทำผิดพลาดกันได้ และมีความรู้สึกไม่ต่างจากทุกคน นำไปสู่การตั้งคำถามกับพฤติกรรมของ ’เนติเซน’ หรือชาวเน็ต (Internet + Citizen) ทั้งในเกาหลีและไทยว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมันมากเกินไปหรือเปล่า ต้องรุนแรงอีกแค่ไหนถึงจะเพียงพอกับความผิดพลาดที่ไอดอลทำลงไป และที่หลายคนกำลังทำอยู่นั้นคือการลงโทษที่เขาสมควรได้รับจริงหรือไม่ เพราะหลังจากที่สาดคำพูดรุนแรงเอาไว้แล้ว แม้เรื่องราวจะพลิกล็อกในตอนท้าย หรือบานปลายจนเกิดการสูญเสีย ก็แทบไม่เคยมีคำขอโทษตามมา

ซงจีอากับแบรนด์เนมปลอม

เหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ ที่ทำให้เห็นภาพมากขึ้น คือเมื่อเดือนมกราคม 2022 กับกรณีพี่สาว “ซง จีอา” บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังจากรายการ Single's Inferno ที่ถูกเนติเซนตาดีจับได้ว่าใช้ของแบรนด์เนมปลอม ซึ่งขัดกับภาพลักษณ์สาวสวยไฮโซในรายการ เพราะหลายคนชื่นชอบเธอจากตรงนั้นจนยกให้เป็นผู้นำเทรนด์ด้านแฟชั่นและความสวยความงามแห่งปี  เลยเกิดคำถามขึ้นว่าคนสวยไฮโซที่มีแบรนด์ซัพพอร์ตมากมายอย่างเธอจะต้องมาซื้อของปลอมใช้ทำไมกัน

หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าตัวได้ออกมายอมรับผ่าน IG ส่วนตัวว่าคำวิจารณ์เกี่ยวกับสินค้าที่ใส่ในโซเชียลมีเดียมีบางส่วนที่เป็นจริง เธอเสียใจและขอโทษทุกคน พร้อมลบรูปที่มีของปลอมออกทั้งหมด นั่นทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีก เพราะผิดหวังกับการกระทำของพี่สาวแห่งชาติ เนติเซนบางส่วนด่าทอเธอในเรื่องนี้ ในขณะที่บางส่วน (ใหญ่) ลามไปบูลลี่หน้าตา การกระทำ ไล่เธอไปตาย และรุกรานความเป็นส่วนตัวของครอบครัวเธอ

ต่อมาจีอาได้โพสต์คลิปขอโทษด้วยหน้าตา สายตา และท่าทางที่หลายคนลงความเห็นว่าเธอรู้สึกผิดจริงๆ ใจความว่า “เสียใจกับการกระทำของตัวเองอย่างที่สุด รู้ว่าตัวเองน่าสมเพช แต่ขอร้องว่าอย่าต่อว่าครอบครัวของเธอ เธอพร้อมจะรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง” พร้อมกับซ่อนรูป/คลิปอื่นๆ ก่อนหน้าใน IG และ Youtube ทั้งหมด แฟนคลับหลายคนจึงเริ่มเป็นห่วงสภาพจิตใจของเธอขึ้นมา แล้วย้อนถามคนที่ด่าไม่เลิกราแม้เธอจะขอโทษแล้วว่า มันเกินไปไหม ต้องแค่ไหนถึงจะพอใจ ใช้ของแบรนด์เนมปลอมมีความผิดจริง แต่มันต้องขนาดนี้เลยไหม ฯลฯ

สุดท้ายเรื่องราวถูกปิดฉากด้วยการที่จีอาให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบแบรนด์เนมทั้งหมดที่มีจำนวน 500 ชิ้น พบว่าปลอม 20 ชิ้น เป็นของที่ซื้อเอง 8 ชิ้น และได้เป็นของขวัญ 12 ชิ้น ซึ่งเมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ หลายคนก็ทวงถามว่าการกระทำของเนติเซนเป็นสิ่งที่เธอควรจะได้รับจริงหรือ แต่แน่นอนว่าคงไม่ได้คำตอบ และเรื่องนี้ก็เริ่มจางหายไปตามกาลเวลา

ซอลลี่กับการเป็นตัวเองแต่ไม่ถูกใจคนอื่น

"เมื่อคุณตายไปแล้ว นั่นล่ะ คนทั้งโลกถึงจะกลับมารักคุณ" - ซอลลี่

หนึ่งกรณีที่ถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเสมอเมื่อไอดอลกำลังโดนเนติเซนรุมหนักๆ คือกรณี “ซอลลี่” นักแสดงเกาหลีและอดีตสมาชิกวง f(x) ที่ต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบมานานหลายปี จนสุดท้ายเธอเลือกที่จะจากไปพร้อมสภาพจิตใจที่บอบช้ำในปี 2019 เพียงเพราะการเป็นตัวเองของเธอนั้นไม่ตรงกับความคาดหวังที่สังคมตั้งไว้ในฐานะ ‘ไอดอล’ ไม่ว่าจะเป็นการสนิทกับไอดอลชายมากเกินไป ภาพลักษณ์ที่ดูแรงขึ้น ส่งเสริมเฟมินิสต์ด้วยการโนบราในที่สาธารณะ ฯลฯ จนมีคำพูด (ด่า) ว่าเธอเหลวแหลก มีปัญหาทางจิต เป็นพวกเรียกร้องความสนใจ และอีกสารพัดคำด่า 

โดยหลังจากที่ซอลลี่จากไป มีเนติเซนจำนวนมากที่ออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษที่ครั้งหนึ่งเคยด่าเธอด้วยคำรุนแรง แต่ก็มีอีกบางส่วนที่เลือกจะนิ่งเฉยหรือยึดมั่นว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกต้องแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้หลายคนฉุกคิดถึงความรุนแรงจาก “Cyberbully” และห่วงใยสภาพจิตใจของไอดอลกันมากขึ้น ซึ่งยังส่งผลถึงปัจจุบันอย่างกรณีของจีอาด้วย

คังอินกับความผิดซ้ำสองเรื่องเมาแล้วขับ

อีกกรณีที่เก่ากว่านั้นและเราอยากยกมาพูดคุยกันคือ “คังอิน” อดีตสมาชิกวง Super Junior กับคดีเมาแล้วขับที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง (ปี 2009, 2016) ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนในกลุ่มเนติเซนเกาหลีและไทย เพราะคดีแบบนี้ในเกาหลีใต้ถือว่าร้ายแรง และเจ้าตัวเคยได้รับโอกาสแก้ตัวจากสังคมมาแล้วหนึ่งครั้ง แต่ยังพลาดทำผิดซ้ำอีก จนสุดท้ายต้องประกาศยุติบทบาทศิลปิน และค่อยๆ เลือนหายไปจากวงการบันเทิง

สำหรับกรณีค่อนข้างต่างไปจากสองกรณีแรก เพราะไอดอลทำผิดร้ายแรงซ้ำ หลายคนรวมถึง E.L.F (แฟนคลับของ Super Junior) คิดว่าการโดนด่าหนักๆ ในช่วงแรกจึงไม่แปลกนัก แต่ในปัจจุบันแม้เวลาจะผ่านไปนานหลายปีแล้วก็ยังมีคนขุดเรื่องนี้มาด่าอยู่บ้างประปราย และอาจโยงด่ามั่วในบางเรื่องเพราะอคติส่วนตัวอยู่บ้าง ซึ่งแน่นอนว่ากับประเด็นนี้ก็มีคำถามเกิดขึ้นมาอีกเช่นกันว่า ในเมื่อเขาเลือกจะ Fade ตัวเองออกจากวงการบันเทิงเพื่อรับผิดชอบผลการกระทำแล้ว การขุดเรื่องเก่ามาด่ามันควรจะหมดไปได้หรือยัง เมื่อไหร่จะ Move On 

เมื่อมาถึงตรงนี้ผู้เขียนเลยอยากชวนชาว EQ มาวิเคราะห์ไปพร้อมกันว่าจากกรณีตัวอย่างและการกระทำของเนติเซนมีอะไรซ่อนอยู่บ้าง 

สังคมแห่งความคาดหวัง จากเกาหลีสู่ไทย

อย่างที่รู้กันดีว่าสังคมเกาหลีใต้มีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะกับวงการไอดอลที่ต้องแข่งกันตั้งแต่ออดิชั่น เป็นเด็กฝึก เดบิวต์ ตลอดจนรักษาชื่อเสียงให้คงอยู่ ดังนั้นคนที่ชนะมาทุกด่านจนกลายเป็นไอดอลที่ประสบความสำเร็จได้ จะกลายเป็นที่ยกย่องเชิดชูของสังคม ซึ่งการยกย่องก็มักจะมาพร้อมความคาดหวังสูงว่าไอดอลต้องดีเลิศ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของคนอื่น เพราะอยู่ในจุดที่สปอร์ตไลท์ส่องถึง และไอดอลอยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุนของสังคม โดยความคาดหวังที่สูงลิ่วนี่ไม่ได้จบอยู่แค่ในสังคมเกาหลี แต่ยังส่งผ่านมาสู่สังคมแฟนด้อมในไทยด้วย เมื่อไหร่ที่ไอดอลทำผิดไปจากที่คาด จึงทำให้เนติเซนทั้งเกาหลีและไทยพากันเหยียบย่ำซ้ำเติมกันอย่างหนักหน่วง และคิดว่านี่เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ จนอาจหลงลืมไปว่าไอดอลก็มีความรู้สึก และอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าไอดอลมีอารมณ์ที่อ่อนไหวมากเป็นพิเศษ (งานวิจัยจาก University of Westminster ปี 2016 พบว่านักดนตรีมีอัตราเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าสายอาชีพอื่น 

Source: https://www.musicmindsmatter.org.uk/the-study/

ร่วมโจมตีเพราะ FOMO

การที่เนติเซนทั้งเกาหลีและไทยก้าวร้าวรุนแรงขึ้นทุกวัน ผู้เขียนสังเกตว่าสาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรม FOMO (Fear of Missing Out)  หรือการกลัวตกเทรนด์ของคน Generation ใหม่ๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต เพราะหากไม่ทำตัวให้กลมกลืนกับสังคม อาจถูกมองว่าแปลกแยกได้ ดังนั้นบางคนอาจไม่ได้โกรธแค้นไอดอลอะไรมากมาย แต่เพื่อนด่า คนรอบตัวด่า ตัวเองเลยต้องด่า เพื่อให้คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง จนอาจละเลย ‘ขอบเขต’ อะไรบางอย่าง

เนติเซนเป็นนัก Educate 

สิ่งหนึ่งที่เรามักจะเจอได้บ่อยทั้งในสังคมเนติเซนเกาหลีและไทย คือนัก Educate ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างทันทีทันใด ทั้งๆ ที่ความรู้ในเรื่องนั้นอาจจะยังไม่มากพอ หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘ร้อนวิชา’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการโจมตี การทะเลาะเบาะแว้ง กลายเป็นเงาแค้นกันแบบไม่จบไม่สิ้น

ความพอดีของแต่ละคนไม่เท่ากัน

สิ่งสุดท้ายที่มองเห็นคือ คำว่า “พอดี” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน เลยไม่รู้ว่าการกระทำแบบไหนที่เรียกว่าเกินพอดี บางคนอาจมองว่าความผิดพลาดของไอดอลเชื่อมโยงกับการสั่งสอนของครอบครัว เลยต้องกล่าวหาครอบครัวด้วย แต่บางคนมองว่าความผิดพลาดคือเรื่องส่วนบุคคล ควรจบแค่การด่าตัวบุคคลและความผิดที่ก่อเท่านั้น ไม่ควรลากไปถึงการบูลลี่หน้าตา ครอบครัว หรือเรื่องอื่นๆ ทำให้เกิดข้อถกเถียงไปมาอย่างเช่นทุกวันนี้

สุดท้ายแล้วผู้เขียนเองคงไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าการกระทำของเนติเซนทั้งฝั่งเกาหลีและไทยนั้นพอดีหรือมากเกินไป แต่คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้เกิดการฉุกคิดในบางประเด็น และนำไปสู่สังคมแฟนด้อมที่อุดม (ไปด้วย) สุข